ทลายกำแพงเมืองป่วยสู่เมืองแห่งสุขภาวะ

กรุงเทพฯ – มหานครที่อยู่ท่ามกลางฝุ่นผง PM 2.5 ปัญหารถติด ที่อยู่อาศัยแออัด ตลอดจนการแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ นำมาสู่ประเด็นที่ชวนใคร่ครวญว่า เราต่างกำลังอาศัยอยู่ในเมืองที่ควรมีความหมายถึงการมีความสุขหรือเมืองที่ป่วยไข้กันแน่?

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงจัดเวที ‘สช.เจาะประเด็น สานพลังเปลี่ยนเมืองป่วย’ เพื่อสางประเด็นของปัญหาผ่านการชำแหละสภาพปัญหาเขตเมืองสู่วิกฤติสุขภาพไทย โดยมีการเรียนรู้ต้นแบบโครงการพัฒนาเมืองสำหรับทุกคนจาก ‘นครสวรรค์โมเดล’ ไปจนถึงการพัฒนาพื้นที่ภายใต้แนวคิดเมืองสุขภาวะจากภาคเอกชน และถอดบทเรียนเมืองสุขภาวะจากต่างประเทศ เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในประเทศไทย

ภารนี สวัสดิรักษ์ รองประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2562 กล่าวว่า การจะตอบว่าเมืองป่วยหรือไม่นั้น ต้องมองให้เห็นเกี่ยวข้องต่อเรื่องต่างๆ ว่าทำให้เกิดภาวะที่ไม่ปกติหรือไม่ เพราะเมืองนั้นเปรียบเสมือนคน ประกอบด้วยอวัยวะหลายอย่าง ทั้งเมือง ชุมชน คน สิ่งแวดล้อม กิจกรรมต่างๆ รวมทั้งธรรมชาติของเมืองแต่ละเมือง ถ้ามีสิ่งที่เรียกว่าเป็นภาวะไม่ปกติ ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเมืองเริ่มมีสุขภาวะที่ไม่ดี

ภารนี สวัสดิรักษ์

ระดับของความป่วย

อาการผิดปกติหรือความป่วยของเมืองในมุมของภารนี ถ้าจะมองให้เห็นถึงระดับของความป่วย ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าปัจจัยการกำหนดสุขภาพการอยู่อาศัยที่ดีในเมือง แบ่งออกเป็นหลายเรื่องคือ ตัวบุคคล ตัวชุมชน พฤติกรรม เช่น เราบริโภคอาหารที่ปลอดภัยในเมืองหรือไม่ หรือสถานที่จำหน่ายอาหารมีการจัดการสุขภาวะที่ดีหรือเปล่า จากนั้นจึงมองให้เห็นในระดับชุมชน เช่น ที่อยู่อาศัย มีพื้นที่ มีทางเดิน มีการจัดการบ้านเรือนให้มีความปลอดภัยเพียงใด อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย การก่อสร้าง การใช้วัสดุที่เป็นอันตราย การกำหนดโซนนิ่ง เช่น บ่อขยะ เหล่านี้เป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพ ซึ่งแต่ละปัจจัยก็จะมีการวัดในหลายๆ แบบ

“ปัจจัยกำหนดสุขภาวะมันเกี่ยวกันหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของคน เรื่องของภารกิจร่วม และไม่ใช่เป็นของทุกคน เพราะฉะนั้นคำถามว่าใครทำให้เมืองป่วย มันไม่ใช่เรื่องของการกล่าวโทษกัน แต่เป็นเรื่องที่ว่าใครควรจะเป็นผู้ที่มีส่วนทำให้เมืองมีสุขภาวะแข็งแรงตามปัจจัยกำหนดสุขภาพ ถ้าเมืองป่วย คนป่วย โรค NCD (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) เราจะเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องนั้นมีหลายเรื่อง เช่น โรคไม่ติดต่อที่มีสาเหตุมาจากการไม่ยอมออกกำลังกาย แต่บางทีเมืองก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เอื้อต่อการออกกำลังกาย เพราะฉะนั้นนี่เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ ที่ควรจะต้องเอื้อให้เกิดการทำกิจกรรมทางกายที่ทำให้ผู้คนไม่ป่วยด้วยโรค NCD เป็นต้น”

จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ

เมืองสำหรับทุกคน

“เป็นที่ทราบกันดี นครสวรรค์เราเป็นเมืองที่น้ำท่วมตลอด สมัยก่อนๆ ห้าปีจะมีท่วมใหญ่ครั้งหนึ่ง เราก็พยายามที่จะพัฒนาเมืองเรา เรามีเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ตอนนี้มีแล้วรอบเมือง รวมทั้งระบบป้องกันเรียบร้อยหมด ผมคิดว่าเราเองก็เคยเจ็บป่วย”

เพื่อฉายให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการเยียวยาเมืองป่วยจนนำไปสู่เมืองที่มีสุขภาวะที่ดีได้ จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ เล่าอดีตของจังหวัดนครสวรรค์ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา ว่าได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนเมืองซึ่งเคยเจ็บป่วยด้วยการสร้างสวนสาธารณะที่เป็น Green City มีสวนสาธารณะอุทยานสวรรค์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นครสวรรค์เป็นเมืองที่สภาพอากาศดี มีการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

วิธีเยียวยา

จิตตเกษมณ์กล่าวว่า เมื่อตนได้มาเป็นนายกเทศมนตรี ก็เกิดความคิดว่าทำอย่างไรให้คนนครสวรรค์มีสุขภาวะที่ดี ประชาชนไม่ป่วย จึงเกิดความคิดในการทำลานออกกำลังกายทั่วอุทยานสวรรค์ พร้อมกับการปลูกต้นไม้ เพื่อให้ประชาชนได้มาออกกำลังกาย

“เราทำเรื่องน้ำด้วย เราได้รับรางวัลอาเซียนเรื่องน้ำ คือหนึ่ง – น้ำประปาของเราดื่มได้ เราได้รับการรับรองจากกรมอนามัย สอง – เรื่องน้ำเสีย เราบำบัดน้ำเสียวันละ 36,000 คิว ก่อนที่จะปล่อยลงแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเราก็เอาน้ำเสียมารีไซเคิลใช้ในอุทยานสวรรค์ของเรา นอกจากนี้เรายังทำเรื่องขยะด้วย เรามีบ่อบำบัด 266 ไร่ ที่ให้ อปท. ทั้งหมดมาทิ้งร่วมกับเราได้ และฝังกลบอย่างถูกต้อง เหล่านี้ก็คือสิ่งที่เราทำอยู่ในเมืองของเรา”

หากแต่การสร้างสุขภาพผ่านลานออกกำลังกายและการบำบัดน้ำเสียยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการพัฒนาเมืองในมุมของจิตตเกษมณ์ จึงนำไปสู่การปรับปรุงที่อยู่อาศัยในชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้เมืองป่วย ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนลงไปสู่ชุมชนต่างๆ ทั้งหมด 71 ชุมชน โดยมีประมาณ 40 ชุมชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพราะไม่อยากให้อาการป่วยของเมืองกลับมาอีกครั้ง

“เรากำลังเน้นว่า หนึ่ง – เมืองน่าอยู่ที่เราอยากจะทำต้องเป็นเมือง safety สอง – ต้องเป็นพื้นที่ wealthy มีสุขภาพที่ดี สาม – ต้องมี wealthy ต้องมีเศรษฐกิจที่ดีด้วย แล้วก็เป็นเมืองที่สะอาด เพราะฉะนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประชาชนต้องเข้ามาร่วมกัน ซึ่งต้องลงไปในชุมชนต่างๆ ให้เขาทราบว่าเราต้องการการมีส่วนร่วม”

พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์

ศักยภาพเอกชนเพื่อพัฒนาเมืองสุขภาวะ

ตัวแทนจากภาคเอกชน พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บอกว่า ในมุมมองของตนนั้นไม่จำกัดแค่เมืองเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงประเทศป่วย ประชาชนทุกคนป่วย ทั้งป่วยกายและป่วยใจ โดยมีระบบราชการเป็นตัวการสำคัญของอาการป่วยไข้ที่ดื้อยา และยังไม่ยอมรับการรักษา เพราะราชการในมุมของพรนริศต้องการเพียงแค่การลงนามในฐานะเอกชนคู่สัญญามากกว่าสนใจข้อเสนอแท้จริง

“อันที่จริงแล้ว เอกชนจะอยู่เฉยๆ ก็ได้ ซื้อที่ไปเรื่อยๆ ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำไป จะมีกี่คนกันที่กล้าออกมาบอกว่า คุณทำให้อาการป่วยของเมืองกระจายตัวออกไป”

ผลของการขยายตัวของเมืองที่ป่วยไข้ออกไป ภาคเอกชนเองย่อมได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ตัวอย่างเช่น หากคุณภาพของเมืองไม่ดี ไม่มีสุขภาวะ ผู้อยู่อาศัยก็จะมีสุขภาพแย่ตามไปด้วย เงินที่หามาได้ต้องหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล ผู้คนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย เอกชนก็ขายสินค้าไม่ได้ ดังนั้นคุณภาพเมืองย่อมส่งผลต่อทุกๆ สมาชิกในเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

“ภาคเอกชนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมือง โดยปัจจุบันเรามีการตั้งบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาในจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่นพัฒนาเมือง ภูเก็ตพัฒนาเมือง เชียงใหม่พัฒนาเมือง ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างเมืองที่มีสุขภาวะที่ดี”

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล

ถอดบทเรียนเมืองสุขภาวะจากต่างประเทศ

ในขณะที่สุขภาพของคนเมืองย่ำแย่ไปพร้อมๆ กับสภาพเศรษฐกิจ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวว่า คงไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าเมืองมีผลต่อคนผู้อยู่อาศัยอย่างไร การดูเมืองเมืองหนึ่ง เราต้องดูว่าคนที่นั่นมีชีวิตอย่างไร ผู้คนส่วนใหญ่ต้องใช้รถยนต์ หรือสามารถเดินไปไหนมาไหนได้หรือไม่

“ดังนั้นเมื่อไรที่เรารู้สึกว่าเราจน เราอ้วน อย่าเพิ่งโทษตัวเองนะคะ ให้โทษโครงสร้างเมืองก่อน ดูก่อนว่ามันเป็นสาเหตุให้เราจน อ้วน หรือเปล่า ซึ่งเมืองเป็นของคู่กันกับโรคภัยอยู่แล้ว ถ้าคุณอยู่ในเมืองที่สามารถเดินออกกำลังกายได้ สัดส่วนของคนที่มีอัตราเสี่ยงเป็นโรคอ้วนจะลดลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์

“เรื่องเศรษฐกิจสำคัญ เมืองที่คนเดินได้เดินดี โอกาสที่จะกระจายความมั่งคั่งก็จะไม่ได้หยุดอยู่แค่ผู้ประกอบการรายใหญ่ โอกาสในการจับจ่ายใช้สอย ห้างไม่ใช่คำตอบเดียว ยกตัวอย่างเช่น เมืองปารีส ที่เดินมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันก็ยังไม่ลดละที่จะทำให้เมืองเป็นเมืองที่เอื้อต่อการเดินและไม่ใช้รถยนต์

“ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ก็เป็นปัญหาใหญ่ของปารีสเช่นกัน ซึ่งการใช้จักรยานหรือการเดินนั้นใช้พื้นที่น้อย เพราะเขาทราบดีว่าเครื่องยนต์นั้นผลิตควันพิษออกมา เพราะฉะนั้นเรื่องของการลงทุนสาธารณะที่นำไปสู่การส่งเสริมสิ่งแวดล้อม การเดิน และการปั่นจักรยานยังมีมากอยู่ ซึ่งเหล่านี้เป็นความคาดหวังที่เราควรจะมี ในฐานะที่เราเป็นผู้อยู่อาศัยในเมืองเมืองหนึ่งและเป็นผู้เสียภาษี”

ทลายกำแพงเมืองป่วย

การสะสางประเด็นให้เห็นถึงการที่เมืองเมืองหนึ่งป่วยไข้ นำไปสู่หนทางแก้ และมีตัวอย่างที่สำเร็จแล้ว ภารนีมองปัจจัยที่จะทำให้เมืองหายจากอาการป่วยไข้แล้วฟื้นกลับมาเป็นเมืองที่มีสุขภาวะได้นั้น กำแพงหนึ่งที่คนในสังคมจะต้องทลายลงให้ได้ คือกำแพงของตัวเราเอง เราจะต้องทลายกำแพงของตัวเองก่อน เช่นที่ภาคเอกชนและท้องถิ่นทำ

“คือลงมือทำเองเลย ซึ่งมันอาจจะมีกำแพงของเรื่องงบประมาณ กำลังพล ข้อกฎหมาย แต่ถ้าเราคิดว่าปัญหาอยู่ที่คนอื่น แล้วเราปล่อยให้เขาแก้ มันจะไม่เกิด เช่น ในนครนายก ที่ไม่ได้ใช้การทลายกำแพง แต่ใช้กลไกที่เรียกว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของคนที่อยู่ในมุมต่างๆ ของเมืองเข้ามาร่วมคิด ว่าเราจะทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีของเมืองได้อย่างไร”

ฝากถึงรัฐบาลใหม่

ช่วงใกล้การเลือกตั้ง ภารนีมีประเด็นที่อยากฝากไปถึงรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับสุขภาวะของคนเมือง โดยกล่าวว่า แม้ในตอนนี้ประเทศจะมียุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่รัฐบาลใหม่อย่าได้แยกเรื่องของสุขภาพกับเรื่องของเมืองเป็นแค่เรื่องการก่อสร้าง

“อยากให้นำมิติสุขภาพ มิติการสร้างพลังทางสังคมเข้าไปอยู่ในเรื่องของเมืองอัจฉริยะด้วย ไม่ใช่มองแค่การก่อสร้าง ความทันสมัย หรือตอบโจทย์เศรษฐกิจอย่างเดียว”

ขณะที่นิรมลสะท้อนมุมมองจากต่างประเทศ และชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ระบบราชการแบบเดียวกับที่พรนริศมองไว้ คืออยากให้ว่าที่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งช่วยกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นแบบเป็นรูปธรรม คือให้อำนาจไปพร้อมกับให้เงินตามไปด้วย ก่อนจะทิ้งท้ายว่า

“เมืองสวยๆ ที่เราเห็นอย่างปารีส ญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 1975 มันเกิดการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น เขตแต่ละเขตจะเลือกตั้งนายกฯ เขต แต่ของเราเป็น ผอ.เขต ที่มาจากการแต่งตั้ง ถามว่าเรารู้จักชื่อ ผอ.เขตของเราไหมคะ ไม่มีทาง เพราะว่าเป็นการแต่งตั้งลงมาแล้วย้ายบ่อย ทั้งยังขึ้นตรงกับปลัดและผู้ว่าฯ แต่ที่ญี่ปุ่น ปี 1975 เขามีการเลือกตั้ง ผอ.เขตเล็กๆ ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ และคนญี่ปุ่นสามารถร่วมกันพัฒนาประเทศได้อย่างพลิกฟ้าพลิกดิน เปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ ที่เป็นหน่วยปกครองท้องถิ่นพิเศษ ซึ่งมีท่านผู้ว่าฯ คนเดียวดูแลทั้งเมือง ต่อให้เก่งขนาดไหน ภายใต้ระบบราชการแบบนี้ก็อาจจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทุกอย่างเป็นปัญหาหมด”

เช่นนี้แล้ว การจะแก้ปัญหาเมืองป่วย นอกจากจะต้องทลายกำแพงตัวเองแล้ว อีกกำแพงที่จำเป็นจะต้องทลาย คือกำแพงของการหวงแหนอำนาจรัฐไว้ที่รัฐบาลส่วนกลาง เลิกตั้งโจทย์ที่จะพัฒนาเมืองโดยเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง แต่ให้เมืองแต่ละจังหวัด แต่ละท้องถิ่นได้บริหารจัดการตัวเอง ให้แต่ละเมืองได้มีโอกาสหายป่วย เพื่อฟื้นสู่เมืองที่เต็มไปด้วยสุขภาวะแท้จริง