ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา ขับเคลื่อนเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สุรินทร์ บุรีรัมย์


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 ขับเคลื่อนงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนในพื้นที่ 9 อำเภอ ของจังหวัดสุรินทร์ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างความเข้มแข็งในการจัดการปัญหาเครื่องสำอางปลอมเลขจดแจ้ง และยาแผนโบราณปนปลอมสาร สเตียรอยด์ รวมถึงการส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสมในชุมชน ในวันที่ ๒๔ พ.ค. ๒๕๖๐

เภสัขกรบรรจง กิติรัตน์ตระการ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๙ นครราชสีมา กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๙ นครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ และ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดโครงการขับเคลื่อนเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัดสุรินทร์ ใน ๙ อำเภอ ได้แก่ อำภอรัตนบุรี อำเภอบัวเชด อำเภอสนม อำเภอโนนนารายน์อำเภอกาบเชิง อำเภอศรีขรภูมิ อำเภอท่าตูม อำเภอสังขะ อำเภอเขวาสินรินทร์ ณ โรงแรมทองธารินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ผู้เข้ารับการอบรม คือ เจ้าหน้าที่ รพ.สต. รพช. สสอ. สสจ. และ อสม.ตำบลละ ๒ คน รวมทั้งสิ้น ๒๘๖ คน โดยมีนายแพทย์วราวุธ ชื่นตา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธาน กล่าวเปิดงาน

ในการอบรม มีการบรรยายอันตรายของผลิตภัณฑ์สุขภาพ การตรวจดูผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายด้วยหน้าต่างแจ้งเตือนภัย และการใช้ชุดทดสอบอย่างง่าย ๔ ชุด ได้แก่สารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ทั้ง สารปรอท ไฮโดรควิโนน กรดเรติโนอิก. และสารเสตียรอยด์ในยาแผนโบราณ

ภาคฝึกปฏิบัติแยกกลุ่ม อสม.ฝึกปฏิบัติการใช้ชุดทดสอบ กลุ่มจนท.สธ. ใช้ฐานข้อมูลจากหน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ และการจัดตั้งศูนย์แจ้งเตือนภัยในพื้นที่ รวมทั้งมีการลงทะเบียนใช้หน้าต่างแจ้งเตือนภัยถึง ๑๑๑ หน่วยงาน (ร้อยละ๑๐๐)

การประเมินผลความรู้ก่อน-หลังการอบรม พบว่าก่อนการอบรมมีค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้ที่ร้อยละ ๗๕.๖๖ (ตอบแบบประเมิน ๒๕๒ คน ) หลังการอบรมพบว่ามีค่าเฉลี่ยคะแนนเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ ๘๕.๓๓ (ตอบแบบประเมิน ๒๖๘ คน)

 

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ได้สื่อสารและแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาเครื่องสำอางปลอมเลขจดแจ้งและผสมสารห้ามใช้ เช่น ครีมสาหร่ายวากาเมะ รวมทั้ง วิธีการจัดการปัญหายาแผนโบราณปนปลอมสาร เสตียรอยด์ เช่น ยากษัยเส้นตราหมอนทอง ยาชนิดน้ำและยาผงจินดามณี(ผีบอก) โดยความร่วมมือของ เครือข่าย สสจ. สสอ. รพช. รพ.สต. กับชุมชน เพื่อดำเนินการต่อในการตรวจด้วยชุดทดสอบในชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นและแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ทั้งนี้การอบรมขับเคลื่อนงานดังกล่าวจะดำเนินการที่จังหวัดบุรีรัมย์ต่อไปในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐

รายงานโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๙ นครราชสีมา