4 สารต้องห้ามในเครื่องสำอาง

ภาพประกอบ: antizeptic


เครื่องสำอางปลอมปรากฏเป็นข่าวหลายครั้ง สารเคมีที่นำมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเครื่องสำอางเป็นสารต้องห้ามในหลายประเทศ แต่ก็ยังมีเครื่องสำอางจำนวนไม่น้อยที่ฝ่าฝืนมาตรการควบคุม สำหรับประเทศไทย อาจไม่มี อย. หรือใช้ อย. ปลอม นั่นเท่ากับว่าเครื่องสำอางชนิดนั้นไม่มีใครรับรองความปลอดภัยและอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้นั่นเอง

และถ้าไม่อยากให้ความขาว ไร้สิว ไร้ริ้วรอย แทนที่ด้วยรอยด่างไหม้ ห้ามใส่สารเหล่านี้ลงในเครื่องสำอาง!

ปรอท (Mercury)
ผิวขาว ไร้สิว ไร้ริ้วรอย

ความเข้มข้นของสารเคมีที่ทำให้หน้าขาวทันใจ ต้องมีส่วนประกอบของสารปรอทไม่เกิน 1 ในล้านส่วน (1 ppm) แต่ความเข้มข้นระดับนี้จะไม่มีผลทำให้สีผิวจางลง เครื่องสำอางบางชนิดจึงพยายามใช้สารปรอทในปริมาณมากกว่าที่กำหนด

กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ปรอทเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เพราะมีผลต่อการทำงานของตับ ไต เกิดโรคโลหิตจาง เฉพาะผิวหน้าที่ได้รับปรอทมากๆ จะทำให้ผิวหนังอ่อนแอ แพ้ง่าย ไวต่อรังสีอัลตราไวโอเลต

อ้างอิงข้อมูลจาก: mahidol.ac.th

ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
ใช้กำจัดสิว ฝ้า รอยกระให้ขาวขึ้น

ไฮโดรควิโนนจัดเป็นยาอันตรายที่มีแนวโน้มทำให้เกิดภาวะผิวหนังอักเสบ ถูกเพิกถอนจากการใช้เป็น ‘ยา’ ในบางประเทศแถบยุโรป แต่ประเทศไทยยังพบไฮโดรควิโนนในรูปแบบครีมและเจล ใช้สำหรับลดริ้วรอย ฝ้า และขี้แมลงวัน

อย่างไรก็ตาม ไฮโดรควิโนนยังถูกใช้เป็นยาเพื่อรักษาผิวหน้าจริง แต่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์

อ้างอิงข้อมูลจาก: haamor.com


สเตียรอยด์ (Steroid)

ทำให้หน้าขาวใส

ปกติแล้วสเตียรอยด์ถูกผลิตออกมาเองตามธรรมชาติจากต่อมหมวกไต ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนสำคัญในร่างกายอีกหลายชนิด เช่น อะดรีนาลีน วงการแพทย์นำสเตียรอยด์มาใช้รักษาอาการเจ็บป่วย และกลุ่มยาเสริมความงาม เป็นทั้งยาฉีด กิน หรือยาทาภายนอก

แม้สเตียรอยด์จะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ออกฤทธิ์ค่อนข้างรุนแรง เฉพาะผลข้างเคียงในเครื่องสำอาง ทำให้ผดผื่นขึ้นง่าย ผิวหน้าบาง ทำให้มลภาวะสารพิษจากภายนอกเข้าสู่ชั้นผิวหนังแท้ได้ง่ายขึ้น เห็นเส้นเลือดแดงตามใบหน้าชัดขึ้น

อ้างอิงข้อมูลจาก: pobpad.com


กรดเรติโนอิก (Retinoic acid)

รักษาสิว รอยด่างดำบนผิวหนัง ช่วยให้ผิวหนังผลัดเซลล์ใหม่

กรดเรติโนอิก (All-Trans-Retinoic acid) ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และระบุเป็นยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดเอ็ม 3 (Acute promyelocytic leukemia) และมีการนำมาผลิตในรูปแบบยาใช้ภายนอกทารักษาสิว ช่วยให้ผิวหนังผลัดเซลล์ใหม่ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

อ้างอิงข้อมูลจาก: haamor.com/th


ที่มา https://waymagazine.org/4_forbidden_chemical/