ผ้าอ้อมใช้ซ้ำ วิธีช่วยโลกสไตล์พ่อแม่ Millennials

ถ้าแนวคิดของผ้าอ้อมใช้ซ้ำจะทำให้นึกถึงภาพของผ้าขนหนูสี่เหลี่ยมที่ห่อไว้หลวมๆ กลัดด้วยเข็มกลัดตัวใหญ่ลายสารพัดสัตว์ – คิดใหม่ เพราะผ้าอ้อมใช้ซ้ำเวอร์ชั่นโมเดิร์นเพิ่งคลอดมาในรูปแบบสีสันสดใสและทำจากวัสดุหลากหลายแบบ ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าใยไผ่ ผ้าไมโครไฟเบอร์ และผ้าใยกัญชง

นอกจากความกังวลเรื่องพลาสติกที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ผู้บริโภค ความต้องการประหยัดเงินก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมผ้าอ้อมแบบใช้ซ้ำค่อยๆ เติบโต

“เริ่มต้นจากแก้วกาแฟมาถึงทิชชู่เปียก จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อประเด็นจะกระโดดมาเป็นเรื่องผ้าอ้อม เพราะผู้คนเริ่มรับรู้ถึงผลกระทบของผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้ง ในฐานะที่มันเป็นหนึ่งในพลาสติกที่ใช้ได้แค่ครั้งเดียว” เวนดี ริชาร์ดส์ (Wendy Richards) ผู้อำนวยการกลุ่ม The Nappy Lady ที่จัดสรรผ้าอ้อมใช้ซ้ำแบบออนไลน์ในอังกฤษ กล่าว

เธอยังเล่าว่า ตัวเลขของผู้ใช้บริการเติบโตขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจของเธอมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2018 หรือก็เพิ่งไม่นานมานี้เอง

ธุรกิจผ้าอ้อมใช้ซ้ำ

พลาสติกเป็นส่วนประกอบราว 25 เปอร์เซ็นต์ของผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้ง และผ้าอ้อมที่ไปจบลงในหลุมฝังกลบขยะมีถึงปีละ 3,000 ล้านชิ้น ตอนนี้หน่วยงานบางแห่งในอังกฤษได้มอบบัตรกำนัลให้กับคู่ที่เพิ่งเป็นพ่อแม่หมาดๆ สูงสุด 55 ปอนด์เพื่อช่วยจ่ายค่าผ้าอ้อมใช้ซ้ำหนึ่งเซ็ต

อลิซ วอล์คเกอร์ (Alice Walker) จากองค์กร Real Nappies for London ที่รณรงค์ลดการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป กล่าวว่า “เราไม่เคยคุยกันถึงเรื่องขยะพลาสติกมาก่อน พ่อแม่ในปัจจุบันต่างรับรู้ถึงตัวเลือกของพวกเขามากขึ้น และการพูดปากต่อปากก็ช่วยกระจายข่าวสารได้เป็นอย่างดี”

Bambino Mio แบรนด์ผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมใช้ซ้ำที่จำหน่ายทั้งทางออนไลน์และตามซูเปอร์มาร์เก็ต ระบุว่า สินค้ามียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา และตอนนี้มีพ่อแม่มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์กำลังทดลองใช้ชีวิตแบบปลอดพลาสติก

“ผลกระทบของพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงกันทั่วโลก” วิคตอเรีย วิลเลียมส์ (Victoria Williams) โฆษกของแบรนด์กล่าว

ไม่มีผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งใดที่จะแย่ไปกว่าผ้าอ้อมใช้ครั้งเดียวทิ้ง – ขวดพลาสติกและถุงพลาสติกสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ แต่ผ้าอ้อมใช้ได้แค่ครั้งเดียวจริงๆ

ผ้าอ้อมกับบิลรายจ่าย

อีกคำอธิบายหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในประเด็นผ้าอ้อมคือมิติทางเศรษฐกิจ ข้อมูลจากโครงการผ้าอ้อมของสภาเมืองนอตติงแฮมเชียร์ พบว่า การใช้ผ้าอ้อมจริงๆ และซักหลังใช้จะช่วยประหยัดเงินได้ปีละ 200 ปอนด์ เมื่อเปรียบเทียบกับแบบใช้แล้วทิ้ง

“นี่อาจช่วยให้พ่อแม่ชาวอังกฤษประหยัดเงินได้มากถึงปีละ 360 ปอนด์ ขณะเดียวกันก็ทำให้เราก้าวเข้าสู่สังคมปลอดขยะได้จริงๆ” เอมิเลีย โวแม็ค (Amelia Womack) รองหัวหน้าพรรคกรีน กล่าว

จากมุมมองของกระทรวงการคลัง รายการบัตรกำนัลทั่วประเทศเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการหารือเรื่องขยะพลาสติก แต่โวแม็คกล่าวว่า รัฐบาลและสภาท้องถิ่นต้องทำอะไรให้มากกว่านี้

สื่อสังคมออนไลน์ในแพล็ตฟอร์มต่างๆ ก็ช่วยกันการกระจายข่าวนี้ด้วย เช่น คาเซีย เรสเซล (Kasia Reszel) แม่ของ จูเลียน ลูกชายวัย 2 เดือน เธอเล่าว่า “คุณสามารถซื้อผ้าอ้อมมือสองได้ในเฟซบุ๊ค ซึ่งถูกกว่า และมีเครือข่ายขนาดมหึมาที่จะโชว์ให้คุณเห็นว่าต้องทำอย่างไร เราซักวันละครั้ง และมันง่ายมาก”

ความเห็นจากคนอื่นๆ ก็เป็นไปในทางบวกเช่นกัน “ฉันเพิ่งเจอผ้าขนหนูสีขาวที่พี่เลี้ยงเคยพูดถึง และผ้าพวกนี้กลายเป็นของมีสไตล์ไปแล้ว” อันเดรีย สนุค (Andrea Snook) แม่ของลูกชายวัย 1 ขวบบอก “แต่ดีไซน์ของผ้าอ้อมใช้ซ้ำในตอนนี้ทั้งผิวสัมผัสนุ่มกว่าและทนทานมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ราคาของผ้าอ้อมใช้ซ้ำอาจเป็นอุปสรรคสำหรับพ่อแม่จำนวนหนึ่ง ด้วยอุปกรณ์เริ่มต้นสำหรับผ้าอ้อมใช้ซ้ำเต็มรูปแบบมีราคาอยู่ระหว่าง 100-350 ปอนด์ พ่อแม่รายได้น้อยส่วนหนึ่งจึงระมัดระวังในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต

จอร์จีนา เดเวิร์สต์ (Georgina Dewhirst) และ ลุค สามี พ่อแม่ของลูกวัย 5 สัปดาห์ กำลังพิจารณาว่าจะใช้ผ้าอ้อมทำจากผ้า เพราะถังขยะของพวกเขาเต็มไปด้วยผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้ง และถังขยะจะว่างเปล่าเพียงเดือนละสองครั้ง

นอกจากค่าใช้จ่ายในเบื้องต้น พวกเขากังวลเกี่ยวกับค่าน้ำค่าไฟจากการทำความสะอาดผ้าอ้อมเหล่านี้ด้วย “เราจะพยายาม แต่ช่วงเวลานี้ รายจ่ายกำลังทำให้เราท้อ”

ชาร์ล็อตต์ แฟร์โคลธ (Charlotte Faircloth) อาจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยกรุงลอนดอน บอกว่า มักจะเป็นพ่อแม่ชนชั้นกลางที่คอยกังวลเรื่องสไตล์การเลี้ยงดูแบบธรรมชาติ “ในขณะที่คนอื่นๆ กำลังกังวลกับบิลค่าใช้จ่ายมากกว่า”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com