การบริหารจัดการโรคเรื้อรังในภาวะวิกฤติโควิด-19

คคส. ร่วมกับ สภาเภสัชกรรมทำหนังสือถึงสภานายกพิเศษ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แจ้งข้อเสนอต่อรัฐบาลเกี่ยวกับข้อห่วงกังวลของสภาเภสัชกรรม ต่อการบริหารจัดการโรคเรื้อรังในภาวะวิกฤติโควิด-19 ในวันที่ 10 เมษายน 2563 สรุปสาระดังนี้

1) รัฐบาลต้องจัดให้มีกลไกกลางในการจัดหาและกระจายยาในรายการที่จำเป็น โดยเชื่อมโยงการบริหารระดับนโยบาย ระดับบริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น องค์การเภสัชกรรม สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สภาเภสัชกรรม และนักวิชาการด้านยา

2) กระทรวงสาธารณสุขต้องมีนโยบายให้สถานบริการสั่งซื้อยาล่วงหน้า 6 เดือน แต่ทยอยการจัดส่งทุก 1-2 เดือน เพื่อให้โรงงานเตรียมจัดหาวัตถุดิบในการผลิตล่วงหน้า

3) ให้สถานบริการเร่งรัดการจ่ายเงินให้รวดเร็วภายในไม่เกิน 1 เดือนหลังจากได้รับใบแจ้งหนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมยาสามารถสำรองวัตถุดิบยาได้ 6 เดือนที่นานกว่าการสำรองปกติที่ 3 เดือน

4) ในกรณีจำเป็นตามคำเรียกร้องของสมาคมผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ให้รัฐบาลประสานกับประเทศจีน อินเดีย และประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบ เพื่อซื้อวัตถุดิบยา ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจัดเครื่องบินไปรับวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา รวมถึงบรรจุภัณฑ์

5) ให้อุตสาหกรรมยาสำรองวัตถุดิบในการผลิตยา 6 เดือน รวมทั้งองค์การเภสัชกรรม

ซึ่งต่อมาในวันที่ 20 เมษายน 2563 เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เชิญประชุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการ

หนังสือสภาเภสัชกรรม ถึงสภานายกพิเศษแห่งสภาเภสัชกรรม (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ข้อห่วงกังวลของสภาเภสัชกรรมต่อการบริหารจัดการโรคเรื้อรังในภาวะวิกฤติโควิด เรื่อง ขอนำส่งข้อห่วงกังวลของสภาเภสัชกรรมต่อการบริหารจัดการโรคเรื้อรังในภาวะวิกฤติโควิด-19