โรคหัวใจสลาย: เมื่ออกหักไม่ยักตายไม่ใช่เรื่องจริง

สังเกตไหม ฉากใน MV เพลงอกหักส่วนใหญ่ (หรือจะในชีวิตจริงก็ได้) เมื่ออีกฝ่ายขอยุติความสัมพันธ์ คนที่ถูกเท นอกจากจะเสียใจร้องไห้ราวกับโลกกำลังแตกสลาย พวกเขามักกำมือไว้ที่หน้าอกพร้อมกับใบหน้าแสนเจ็บปวด ราวกับกำลังปิดบาดแผลจากคำพูดของคนบอกเลิกที่เหมือนแทงทะลุไปถึงหัวใจพวกเขาจริงๆ

หลังจากนั้นไม่กี่วัน พวกเขาจะรู้สึกไม่อยากทำอะไร และไม่ว่าใครพูดอะไรก็จะไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น นอกจากอยากนอนเหี่ยวเฉาอยู่ในห้องคนเดียว ปล่อยให้ตัวเองจมดิ่งกับความเศร้าให้ถึงที่สุด

โรนัลด์ เอ. อเล็กซานเดอร์ (Ronald A. Alexander) นักจิตบำบัดผู้เขียนหนังสือเรื่อง Wise Mind, Open Mind: Finding Purpose and Meaning in Times of Crisis, Loss, and Change. อธิบายกับสำนักข่าว HuffPost อย่างเข้าอกเข้าใจหัวอกคนถูกทิ้งว่า อาการเหล่านี้ไม่แปลก และไม่ใช่คุณคนเดียวที่รู้สึกอย่างนั้น เพราะไม่ว่าใครที่หัวใจสลายต่างก็มีอาการเช่นนั้น

“เวลาที่คุณหัวใจสลาย มันยากมากที่จะปิดกั้นความคิดตัวเอง ชัตดาวน์และพักผ่อน ความรู้สึกหดหู่ โศกเศร้าหรือร้องไห้ถือเป็นเรื่องปกติของอาการอกหักและนั่นยังส่งผลไปถึงอาการทางร่างกายอีกด้วย” อเล็กซานเดอร์กล่าว

อกหักตายได้ไหม

แม้อกหักจะเป็นคำที่บัญญัติให้เป็นคำศัพท์ทางอารมณ์ แต่ความจริงคือ ‘อกหัก’ สัมพันธ์และก่อให้เกิดอาการทางร่างกายเช่นกัน

“มันน่าเสียดายที่อาการทางร่างกายจากการอกหักมักถูกมองข้าม” อเล็กซานเดอร์กล่าว

ระยะแรกของอาการทางร่างกายคือ อาการนอนไม่หลับ เพราะความเครียดจากอาการอกหักนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางชีวภาพ (biological process) ที่ช่วยให้คุณรู้สึกง่วงเมื่อหมดวัน

ต่อมาคือ ความเครียดที่รุนแรง โดยอเล็กซานเดอร์อธิบายว่า ความเครียดและการเพิ่มขึ้นของอัตราการเต้นจังหวะหัวใจนั้นสัมพันธ์กับอาการอกหักเป็นอย่างดี

สอดคล้องกับงานของ นิกกี สแตมป์ (Nikki Stamp) ศัลยแพทย์หัวใจจากประเทศออสเตรเลียผู้เขียนหนังสือ Can you Die of a Broken Heart? ที่อธิบายกับสำนักข่าว ABC News ออสเตรเลีย ว่า อาการอกหักส่งผลให้เกิดการเพิ่มของอัตราจังหวะการเต้นหัวใจ รวมถึงความดัน ซึ่งส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เลือดมีความเข้มข้นและไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน (immune system)

อย่างไรก็ตาม อกหักอาจไม่ถึงตายหากสามารถทำใจให้เข้มแข็งและปล่อยผ่านความเศร้าให้หลุดออกจากตัวเองได้

โรคหัวใจสลาย (Broken heart syndrome)

ส่วนคนที่เสียใจอย่างหนักจนไม่อาจทำใจให้เข้มแข็ง พวกเขาบางคนอาจเข้าข่าย Broken heart syndrome หรือที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันตั้งแต่ศตวรรษที่ 1990 ว่า Takotsubo cardiomyopathy  (ปัจจุบันในไทยยังไม่มีการบัญญัติชื่อโรคดังกล่าวที่แน่นอน) อาการของโรคนี้คือ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ หน้ามืด แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว

สาเหตุของ Broken heart syndrome ไม่จำเป็นต้องมาจากการสูญเสียคนรักอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงเหตุการณ์ความเครียดทางกายและอารมณ์อย่างรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการได้รับฟังข่าวร้าย การทะเลาะกันอย่างรุนแรง ความเครียดที่มีมาเป็นเวลานานหรือความผิดหวังอย่างรุนแรงซึ่งไม่อาจทำใจได้

ยิ่งไปกว่านั้น โรคดังกล่าวไม่ใช่เกิดขึ้นกันได้ง่ายๆ และไม่ใช่ทุกคนเป็นแล้วต้องจบที่การเสียชีวิต เฉพาะบางคนที่โศกเศร้าเสียใจอย่างหนักและไม่อาจทำใจได้เท่านั้น ซึ่งอาจนำมาสู่อาการคล้ายกับโรคหัวใจขาดเลือดกะทันหัน โดยสแตมป์อธิบายว่า

สิ่งที่เรารู้คือ เมื่อคนบางคนมีความเครียดจากการสูญเสียคนที่รักหรือเหตุการณ์บางอย่างที่ส่งผลให้เกิดความเครียดในชีวิตก่อให้เกิดปฏิกิริยาทั้งต่อร่างกายและจิตใจที่อาจทำให้เกิดโรคได้ และบางครั้งอาจถึงขั้นเสียชีวิต

ด้าน ฮาร์โมนี เรย์โนลด์ส (Harmony Reynolds) แพทย์โรคหัวใจ จากศูนย์แพทย์แลงโกน แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค (New York University Langone Medical Center) อธิบายกับสำนักข่าว HuffPost ว่า จากประสบการณ์การทำงานของเขานั้นเคยตรวจพบผู้ที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการลักษณะเหมือนโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แต่วินิจฉัยออกมาว่าเป็น Broken heart syndrome แค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

น่าสนใจขึ้นไปอีก จากการศึกษาโรคดังกล่าวมากว่า 20 ปี เรย์โนลด์สพบว่า ผู้ที่สุ่มเสี่ยงเป็น Broken heart syndrome ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่หมดลงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทนต่อฮอร์โมนความเครียด (stress hormone) ได้น้อย

“กลุ่มอาการโรคดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างน้อยกับผู้ป่วย 6,000 รายเป็นประจำทุกปีในสหรัฐอเมริกา และมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเป็นผู้หญิงที่หมดประจำเดือน”

ขอย้ำกันอีกครั้ง อาการของ Broken heart syndrome ไม่ใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่ายทุกคน และทุกคนที่เป็นก็ไม่จำเป็นต้องเสียชีวิต

จัดการกับอาการหัวใจสลายอย่างไร

น่าเสียดายที่โรคดังกล่าวไม่ใช่จะรักษากันง่ายๆ และไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะทาง โดยข้อมูลจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าการรักษามักเป็นแบบประคับประคองไปเรื่อยๆ แล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1-8 สัปดาห์

สำหรับคนที่รู้สึกว่าตัวเองเข้าข่าย Broken heart syndrome จินีน โรมาเนลลี (Jeanine Romanelli) แพทย์โรคหัวใจจากศูนย์แพทย์แลงเคเนา (Lankenau Medical Center) รัฐเพนซิลเวเนีย เสนอแนวทางแสนพื้นฐานในการรักษาใจตัวเองว่า

“การจัดการกับอาการดังกล่าวด้วยการทำกิจกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ดื่มเหล้าหรือกินอาหารเยอะๆ มีแต่ยิ่งทำให้หัวใจสุ่มเสี่ยงมากกว่าเดิม ดังนั้นควรที่จะหันมาทำกิจกรรมที่ช่วยจัดการกับความเครียด เช่น การนั่งสมาธิ โยคะ หลบหนีออกจากโลกโซเชียลมีเดีย พบปะเพื่อนฝูงหรืออ่านหนังสือก็ช่วยได้”

สอดคล้องกับอเล็กซานเดอร์ที่แนะนำว่า ให้โทรหาเพื่อนสนิท รับฟังคำปรึกษาหรือออกไปเดินเล่น

ลองมองดูแม่น้ำที่ไหลผ่านไปเรื่อยๆ แล้วคุณจะตระหนักได้เองว่า ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีอะไรเหมือนเดิมได้ตลอดไป เช่นเดียวกับอาการหัวใจสลาย คุณอาจรู้สึกเศร้าโศกแต่จำไว้ว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป


ที่มา:
abc.net.au
huffingtonpost.com.au
mahidol.ac.th