ส่อง ‘เฟซบุ๊ค’ พื้นที่ขายฝันของคนอยากผอม

‘ผอมด่วนทันใจ’ … ‘สวยใสเหมือนพริตตี้’

ประโยคโดนๆ ที่มักจั่วอยู่ในคำโฆษณาของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน พบได้ทั่วไปบนหน้าฟีดเฟซบุ๊ค ทำหน้าที่เป็นถ้อยคำเชิญชวนให้ทั้งสาวเล็กสาวใหญ่ลองซื้อหามารับประทาน เผื่อจะได้หุ่นดีแบบทันใจ

คนส่วนใหญ่มักเข้าถึงโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้จากพื้นที่เฟซบุ๊คเป็นหลัก และถูกดึงดูดจากคำโฆษณาที่อวดอ้างเกินจริง ทำให้รู้สึกอยากลอง อยากหุ่นดีเหมือนดาราที่เป็นพรีเซนเตอร์ จนหลงเชื่อซื้อมารับประทาน กระทั่งส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

แม้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะมีข่าวเศร้าสลดให้เห็นเป็นอุทาหรณ์อยู่บ่อยครั้ง แต่นานวันเข้าข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏอาจทำให้ผู้คนรู้สึกชินชา จนหลงลืมถึงผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายต่อชีวิตเช่นนี้ก็ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในแทบทุกช่องทางการสื่อสาร ยากที่จะควบคุมปราบปราม

ฐิติพร อินศร
เภสัชกรหญิงฐิติพร อินศร

จากผลการศึกษาเรื่อง ‘แนวทางจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ปลอดภัยในสื่อสังคมประเภทเฟซบุ๊ค’ ของ เภสัชกรหญิงฐิติพร อินศร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ที่นำเสนอต่อวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) พบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักมักใช้ช่องทางเฟซบุ๊ค เพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและกว้างขวาง ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่ามีการลักลอบใส่ยาควบคุมพิเศษและยาอันตราย ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความเสี่ยง

เภสัชกรหญิงฐิติพรทำการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 โดยใช้คำค้นว่า ‘อาหารเสริมลดน้ำหนัก (ตามด้วยชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์ที่ถูก อย. ประกาศว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่บริสุทธิ์)’ พบว่ามีทั้งสิ้น 22 ผลิตภัณฑ์ รวม 178 เพจ โดยสินค้าที่โฆษณาลงในเฟซบุ๊คทั้งหมดล้วนผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการขออนุญาตทำการโฆษณาก่อน สิ่งที่ผู้ประกอบการมักจะนำมาอ้างให้ผู้บริโภครู้สึกอุ่นใจ มีเพียงตัวเลขที่จดแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้บ่งบอกว่าสินค้านั้นได้รับอนุญาตให้ทำการโฆษณาตามกฎหมายหรือไม่

ผลการศึกษาพบว่า ในเพจเฟซบุ๊คทั้ง 178 เพจ มีการโฆษณาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เคยถูก อย. ประกาศว่าเป็นอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 14.05 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เพจที่มีการจำหน่ายก่อนมีประกาศ อย. คิดเป็น 72.47 เปอร์เซ็นต์ และเพจที่ปิดตัวไปแล้ว 13.48 เปอร์เซ็นต์

อันตรายที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีส่วนผสมของสารไซบูทรามีน (Sibutramin) ที่เคยถูกใช้เป็นยาลดน้ำหนักมาก่อน แต่หลังจากตรวจพบว่ามีผลอันตรายต่อร่างกาย อาจทำให้หัวใจวายได้ จึงเพิกถอนสารตัวนี้ออกไป แม้ไซบูทรามีนจะไม่ได้รับการอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว แต่ยังคงพบการลักลอบนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม ที่โฆษณาว่ารับประทานแล้วจะน้ำหนักลด หุ่นสวย

ไซบูทรามีน เป็นสารอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเสียชีวิตจากการหลงเชื่อว่าช่วยลดความอ้วน เมื่อได้รับสารนี้เข้าไปจะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ ระบบหัวใจและสมองถูกกระตุ้นให้ทำงานอย่างหนัก นอกจากนี้ยังมียายอดฮิตไม่แพ้กันที่มักนำมาเป็นส่วนผสมในการขับไขมัน นั่นคือ เซนิคาล (Xenical) และ บิซาโคดิล (Bisacodyl) ซึ่งเป็นยาระบาย จึงทำให้ผู้ประกอบการนำยากลุ่มเหล่านี้มาเป็นคีย์เวิร์ดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ช่วยเร่งขับถ่าย ขับไขมัน ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามท้องตลาด

“ก่อนเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ขอให้พึงสังเกตไว้เลยว่า คำโฆษณาใดก็ตามที่รู้สึกว่าฟังแล้วเกินจริง ขอให้คิดก่อนไว้เลยว่ามีสารอันตรายแน่นอน เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใดที่จะทำให้ผอมได้จริงหรือสวยได้จริงในชั่วพริบตา ถ้าไม่ผสมสารอันตราย”

เภสัชกรหญิงฐิติพรบอกอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการใดที่จะควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในช่องทางเฟซบุ๊คได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการซื้อขายกันโดยไม่มีหน้าร้านที่ชัดเจนเป็นอุปสรรคที่ทำให้เจ้าหน้าที่ค้นหาผู้กระทำผิดได้ยาก และถึงแม้จะมีกฎหมายหลักที่ดูแลเรื่องนี้ แต่ด้วยบทลงโทษที่ไม่รุนแรง มีแค่โทษปรับ ยังถือว่าเป็นโทษสถานเบาเมื่อเทียบกับอันตรายถึงแก่ชีวิต

มาตรการและแนวทางจัดการปัญหา เภสัชกรหญิงฐิติพรมีข้อเสนอแนะว่า สามารถเริ่มต้นได้จากตัวของผู้บริโภคเอง โดยการสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง มีการรณรงค์ต่อเนื่อง ให้ทุกคนดูแลเอาใจใส่คนในครอบครัว หมั่นสังเกตและพูดคุยกัน ที่สำคัญต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา คอยดูแลสอดส่องผลิตภัณฑ์ที่เป็นภัยต่อสังคม และช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องโดยใช้เครื่องมือสื่อสารให้เป็นประโยชน์

“สื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาท ทุกคนต้องช่วยกันจับตามอง เฝ้าระวัง หากเห็นอะไรผิดสังเกตก็ต้องช่วยกันประโคมข่าว ให้หน่วยงานรัฐตื่นตัวและเร่งแก้ปัญหา เพื่อควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในเฟซบุ๊คให้หมดไป”