#FreePeriods เพื่อผ้าอนามัยฟรีและสิทธิการเรียนของเด็กทุกคน

ลำพังแค่ตอนมีประจำเดือนก็ใช้ชีวิตลำบากกันอยู่แล้ว แต่ให้ลองผ่านช่วง ‘วันแดงเดือด’ โดยไม่มีผ้าอนามัยสักชิ้นใส่แล้วยังต้องไปโรงเรียนอีก – สยองเลยล่ะ ไม่เชื่อลองถามสาวๆ คนไหนก็ได้ โดยเฉพาะสาวๆ วัยรุ่นในสหราชอาณาจักร

หลังอ่านพบว่า เด็กหลายคนต้องขาดเรียนช่วงมีประจำเดือนเพราะไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ เดือนเมษายน 2017 เอมิกา จอร์จ (Amika George) วัย 17 ปีในขณะนั้นรู้สึก ‘ไม่โอเค’ จนลุกขึ้นมาเริ่มแคมเปญ #FreePeriods ในห้องนอนของเธอ ก่อนขยายความเคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์ เดินหน้าต่อสู้ให้วัยรุ่นหญิงที่ขาดโอกาสมีสิทธิรับผ้าอนามัยฟรีและสามารถไปเรียนหนังสือได้

จากเป้าหมายแรกที่ต้องการแค่ 10 รายชื่อในคำร้องต่อ นายกรัฐมนตรีเธเรซา เมย์ แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น คำร้องของเธอมีคนลงชื่อกว่า 2,000 คน หนึ่งปีต่อมารายชื่อพุ่งไปถึง 200,000 คน

จนถึงตอนนี้ แคมเปญของเธอได้รับความสนใจจากทั่วโลก รวมถึงได้รับรางวัล Goalkeepers Award จาก บิลล์ เกตส์ และชื่อของเธอก็ติดหนึ่งใน 25 วัยรุ่นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของนิตยสาร Time

ย้อนกลับไปในห้องนอนตอนนั้น เธอคิดว่า “น่ารังเกียจมากที่ไม่มีความช่วยเหลือมาถึงพวกเธอ”

#FreePeriod
เอมิกา จอร์จ

เมื่อประจำเดือนกระทบชีวิตผู้หญิง

รายงานข่าวจาก Metro เปิดเผยว่า ครูหลายคนได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างการโดดเรียนของเด็กหญิงกับช่วงเวลามีประจำเดือน ผลสำรวจจากองค์กรธนาคารอาหารดาร์ลิงตัน (Darlington Salvation Army Food Bank) ระบุว่า ผู้หญิงในสหราชอาณาจักรหลายคนต้องใช้ระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้าเช็ดหน้า หรือถุงเท้าเก่าแทนผ้าอนามัยราคามหาโหด

“ในฐานะเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ฉันกลัวว่าระบบทางชีววิทยาตามธรรมชาติของผู้หญิงจะกลายเป็นอุปสรรคในการศึกษาและการไปถึงเป้าหมายทางการเรียนอย่างเท่าเทียม ท่าทีนิ่งเฉยของรัฐบาลต่อปัญหานี้ทำให้ฉันเดินหน้าแคมเปญมอบผ้าอนามัยฟรีให้กับเด็กๆ จากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำด้วย

“เด็กเหล่านี้ต้องอยู่กับความวิตกกังวลอย่างหนักตลอดการนั่งในห้องเรียน กลัวว่าประจำเดือนจะเลอะชุดนักเรียนและนำไปสู่การล้อเลียนหรือรังแก ดังนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดคือไม่ไปโรงเรียนเสียเลย”

การกำหนดราคาของผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นและแบบสอดกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสินค้าเหล่านี้ยังคงถูกเก็บภาษีและจัดให้อยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งที่ผู้หญิงจำเป็นต้องใช้ สำนักข่าว Huffington Post เคยคำนวณว่า ตลอดชีวิต ผู้หญิงจะต้องจ่ายเงินค่าผ้าอนามัยเฉลี่ย 1,383 ปอนด์ หรือประมาณ 55,700 บาท

นอกจากนี้ ผลสำรวจจากเว็บไซต์ OnePoll พบว่า 44 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่เคยขาดแคลนผ้าอนามัยต่างมีปัญหาในการหางานทำด้วย สูงกว่ากลุ่มผู้หญิงที่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ตามปกติถึง 20 เปอร์เซ็นต์

#FreePreriod

ขบวนประท้วงสีแดง

เดือนธันวาคม 2017 จอร์จ และผู้คนกว่า 2,000 คนยืนรวมตัวอยู่นอกบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง หรือทำเนียบนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ทั้งหมดสวมชุดสีแดงและโบกธงที่มีถ้อยคำเกี่ยวกับประจำเดือน เรียกร้องให้รัฐบาลเคลื่อนไหวเพื่อยุติการขาดแคลนผ้าอนามัยเนื่องจากปัญหาทางการเงิน

ไม่กี่เดือนหลังจากการเดินขบวนครั้งนั้น รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรได้ประกาศว่า จะมอบเงินภาษีจากผ้าอนามัย 1.5 ล้านปอนด์หรือราว 60 ล้านบาทให้การกุศลเพื่อแสดงถึงการรับรู้ปัญหานี้ เธอเองก็ดีใจกับความสำเร็จครั้งนี้แม้จะเล็กน้อยก็ตาม แต่เธอยังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายด้วย

“การขาดเรียนหมายถึงการหล่นไปรั้งท้ายในกระบวนการการศึกษา และเด็กเหล่านี้ต้องพบว่าตนเองอยู่ห่างจากเป้าหมายและความทะเยอทะยานก็ช่วยให้ตามทันแทบไม่ได้ แค่เพราะพวกเธอมีเลือดออกตามธรรมชาติเท่านั้น”

จนถึงตอนนี้ #FreePeriods ได้จับมือกับ Red Box Project และ Pink Protest เปิดตัวการรณรงค์ครั้งใหม่ที่พุ่งเป้าไปที่ด้านกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเด็กคนไหนต้องขาดเรียนเพราะไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัยอีก เป้าหมายต่อไปของเธอจึงเป็นการระดมเงินทุนเพื่อรณรงค์ด้านกฎหมาย ผลักดันให้โรงเรียนและวิทยาลัยทุกแห่งในอังกฤษมอบทุนเพื่อจัดสรรผ้าอนามัยให้กับนักเรียนนักศึกษาทุกคนที่ต้องการ

เดือนสิงหาคม 2018 รัฐบาลสกอตแลนด์เริ่มต้นแจกผ้าอนามัยฟรีในทุกโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย โดยมีให้หยิบฟรีในห้องน้ำทุกแห่ง เช่นเดียวกับสบู่และกระดาษชำระ รวมถึงแจกให้กับประชาชนที่มีรายได้ต่ำ ส่วนเวลส์ก็ยังให้สัญญาว่าจะมอบเงิน 1 ล้านปอนด์สำหรับแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัย

จอร์จบอกว่า อยากทำให้ปี 2019 ไปไกลกว่าเดิม โดยพยายามผลักดันให้เด็กทุกคนในสหราชอาณาจักรมีสิทธิได้รับการศึกษา โดยไม่ถูกขัดขวางจากร่างกายของตัวเอง

“ไม่มีใครควรขาดเรียนเพราะมีประจำเดือน” เธอบอก

อ้างอิงข้อมูลจาก:
standard.co.uk
theguardian.com
freeperiods.org