รอยสักใต้ผิวหนังและเคมีภัณฑ์อันตรายในขวดหมึก

 

หน่วยเฝ้าระวังด้านเคมีภัณฑ์ของ EU รวบรวมสารอันตรายที่อยู่ในสีที่ใช้การสักลวดลายใต้ผิวหนัง ว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง

เช่นเดียวกับที่เราเห็นท่อนแขนของนักฟุตบอลในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพร้อยไปด้วยลวดลายหลากหลาย กระแสการสักบูมไปทั่วโลก มีตัวเลขบอกว่า เฉพาะยุโรป 1 ใน 4 ของประชากรอายุระหว่าง 18-35 ปี มีรอยสักติดตัว

การสักคือการตัดสินใจครั้งสำคัญ เพราะรอยนี้จะอยู่ติดตัวเราไปตลอดชีวิต เมื่อเป็นเสมือนเครื่องประดับร่างกายถาวร สีที่ใช้ในการสักจึงต้องติดทนนานไม่ลบเลือน ทำให้บางครั้งต้องพึ่งพาคุณสมบัติทางเคมีของสารบางอย่าง – ซึ่งอาจมีอันตรายผสมอยู่ด้วย

องค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป (European Chemicals Agency: ECHA) แสดงความกังวลเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายที่อาจผสมอยู่ในหมึกสีที่ใช้ในการสัก เพราะสิ่งที่อยู่ในขวดประกอบด้วยสารหลากหลายผสมผสานกันหลายรอบ ก่อนจะบรรจุขวด และมาถึงมือช่างสัก แม้ว่าสีที่ใช้จะต้องมีมาตรฐาน แต่ใช่ว่าจะครอบคลุ,คุณภาพการสักได้ทั้งหมด

โทนี ริตา (Toni Rita) แกนนำสมาคมช่างสักฟินแลนด์ บอกว่า หมึกสีราคาถูกที่หลั่งไหลมาจากจีนคือปัญหาใหญ่

“พวกเขานำเข้าสีจำนวนมากเข้ามาใน EU ซึ่งคนก็ใช้มันนะ แล้วพวกเขาก็ไม่รู้หรอกว่าในหมึกสีนั้นมีอะไรผสมอยู่บ้าง มันอันตรายมากๆ”

การไม่มีมาตรฐานควบคุมส่วนผสมในหมึกสีที่ใช้สัก และไม่มีการศึกษาถึงผลระยะยาว ทำให้ ECHA เตรียมทำรายงานและสรุปผลในเดือนตุลาคมว่า อาจมีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อควบคุมสารเคมีที่ใช้ในการสัก ซึ่งรวมถึงการสักคิ้ว และอายไลเนอร์

“ในรายงานของ ECHA มีรายชื่อสารเคมีอันตรายผสมอยู่ประมาณ 4,000 ชนิด” มาร์ค เบลนีย์ (Mark Blainey) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจาก ECHA กล่าว

เขาย้ำว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมสารเคมีอันตรายในรายการเหล่านี้อาจถูกควบคุมภายใต้กฎหมายอื่นว่า ‘ห้ามทา’ บนผิวหนัง ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมถึงการฉีดเข้าไปใต้ชั้นผิวหนัง

“ข้อกังวลสำคัญเลยคือการแพ้สารเคมีที่ผสมอยู่ในหมึก ซึ่งมีความเชื่อมโยงว่าสามารถเป็นต้นเหตุของมะเร็ง DNA เสียหาย หรือไม่ก็ส่งผลต่อการสืบพันธุ์” เขาเพิ่มเติม

“เราไม่ได้มองเรื่องแบนการสัก แต่เราต้องมั่นใจว่าเมื่อคนสัก หมึกนั้นต้องปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก: independent.co.uk