เมื่อ ‘ที่ว่าง’ บนเครื่องบินมีราคา ที่นั่งของเราก็แคบลง…แคบลง

การหั่นราคาอย่างดุเดือดระหว่างสายการบินต้นทุนต่ำ (low-cost airline) ทำให้ผู้คนเข้าถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน สายการบินทั่วโลกเปลี่ยนมาลดค่าธรรมเนียมตั๋ว แล้วหันมาคิดเงินเพิ่มจากสินค้าและบริการเล็กๆ น้อยๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยให้บริการฟรี

หนึ่งในสินค้าที่สายการบินเหล่านี้เสนอขายก็คือ ‘ที่ว่าง’

ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติมาเลเซียอย่าง Air Asia แก้ปัญหาคนล้นเครื่องด้วยการซื้อเครื่องบินใหม่ที่ลำใหญ่ขึ้น สายการบินอื่น เช่น Cathay Pacific ที่เคยขึ้นชื่อด้านอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร ก็ตัดสินใจเพิ่มที่นั่งบนเครื่องบิน ด้วยการขยับที่นั่งผู้โดยสารชั้นประหยัดให้เลื่อนเข้ามาชิดกันประมาณ 1 นิ้ว

การลดพื้นที่วางขา (legroom) กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสายการบินต้นทุนต่ำเพื่อกวาดผู้โดยสารต่อเที่ยวให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

แม้เสียงตอบรับจากผู้โดยสารและนักวิจารณ์จะไม่น่าปลื้มนัก แต่การเพิ่มยอดผู้โดยสารด้วยวิธีนี้ก็ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐได้ โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่มีกลุ่มผู้โดยสารหลักเป็นชนชั้นกลาง ให้ความสำคัญกับราคาตั๋วมากกว่าความสะดวกสบายระหว่างบิน ตรงกับที่ ไมค์ ซุกส์ (Mike Szucs) ที่ปรึกษาผู้บริหารสูงสุดของ Cebu Pacific ประกาศในอีเมลว่า “เราคำนึงถึงความสะดวกสบายและประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่ลูกค้ามักคำนึงถึงคือราคาค่าโดยสาร”

ราคาตั๋วเครื่องบินจากเซี่ยงไฮ้ไปมะนิลาของ Cebu Pacific ราคาเพียง 100 ดอลลาร์ หรือราวๆ 3,000 บาท แต่ยังไม่รวมราคาที่มองไม่เห็น เช่น การนั่งเบียดบนที่นั่งขนาดกว้าง 16 นิ้วครึ่ง หรือเล็กกว่าความกว้างของฝ่ามือมนุษย์สองข้างเมื่อกางเต็มที่ และสูง 18 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่ผู้ผลิตอย่าง Airbus แอร์บัส อ้างว่า “นั่งได้สบายๆ”

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Cebu Pacific ยังออกมาประกาศอีกว่าได้ซื้อเครื่องบิน Airbus A330neo ลำใหม่ ที่ห้องครัวและห้องน้ำจะถูกปรับตำแหน่งเพื่อเพิ่มยอดที่นั่งผู้โดยสารให้แตะ 460 ที่นั่ง แม้ว่าเครื่องบินลำนี้ปกติจุเพียง 260-300 ที่นั่ง และจุได้สูงสุดชนิดแน่นเอี้ยดเพียง 440 ที่นั่งเท่านั้น โดย Cebu Pacific วางแผนจะจัดที่นั่งตามนี้ทันทีที่ผังการแบ่งระหว่างเคบินชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัดผ่านการพิจารณา

ทั้งนี้ องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อผู้โดยสารเครื่องบิน Flyers Rights ระบุว่า ในสมัยต้นยุคปี 2000 ระยะห่างระหว่างที่นั่ง (pitch) ของผู้โดยสารชั้นประหยัดมักกว้าง 34-35 นิ้ว และปรับลดลงมาเรื่อยๆ จนถึง 30-31 นิ้วในปัจจุบัน หรือ 28 นิ้วสำหรับเที่ยวบินระยะสั้น เบาะนั่งเองก็ปรับขนาดเล็กลงจากเดิม 18 นิ้ว อยู่ที่เฉลี่ย 17 นิ้วต่อที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม เจเน็ต เบดนาเร็ก (Janet Bednarek) นักประวัติศาสตร์การบินจากมหาวิทยาลัยเดย์ตัน (University of Dayton) รัฐโอไฮโอ กล่าวว่า การลดขนาดเบาะนั่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของชาวเอเชียที่ ‘รูปร่างเล็ก’ กว่าชาวยุโรปสหรัฐ

“คนจำนวนมากเต็มใจสละความสบายแลกกับราคาที่ถูกลง” เบดนาเร็กกล่าว

ที่นั่งกึ่งยืน SkyRider 3.0
ที่นั่งกึ่งยืน SkyRider 3.0

แนวคิดการลดพื้นที่พักขาและขนาดเบาะแลกกับค่าโดยสารที่ถูกลงยังคงมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เมื่อเดือนเมษายน งานจัดแสดงผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายในเครื่องบินที่เมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี ได้เปิดตัว ‘ที่นั่งกึ่งยืน’ รุ่น SkyRider 3.0 ออกแบบโดย Aviointeriors บริษัทสัญชาติอิตาเลียน ซึ่งผู้โดยสารจะต้องนั่งลงบนเก้าอี้ที่ค่อนข้างชันในท่าคล้ายกำลังขี่ม้า ระยะห่างระหว่างที่นั่งแต่ละแถวถูกลดเหลือเพียง 23 นิ้ว ซึ่งจะช่วยให้สายการบินสามารถเพิ่มผู้โดยสารต่อเที่ยวได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในระดับการบริการที่ผู้โดยสารแต่ละคนยังสามารถ ‘นั่งได้อย่างสะดวกสบายพอสมควร’

และถึงแม้ว่าจะยังไม่มีใครเอาด้วยกับไอเดีย ‘ที่นั่งกึ่งยืน’ ก็ยังน่าติดตามอยู่ดีว่าสุดท้ายการต่อรองระหว่างราคากับความสะดวกสบายของผู้โดยสารในตลาดการบิน จะปิดดีลที่ ‘ที่ว่าง’ ขนาดกี่นิ้ว

 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
bloomberg.com
airbus.com
independent.co.uk
airasia.com
content.nokair.com
lionairthai.com
seatguru.com