เมื่อคน ‘ชุดกาวน์’ กลายเป็นนักขายชวนเชื่อ: ความท้าทายในจรรยาบรรณวิชาชีพ

เป็นที่ทราบกันดีกว่า บุคลากรวิชาชีพด้านสาธารณสุขทั้ง 7 สายงาน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักวิชาการสาธารณสุข ล้วนมีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน โดยใช้ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางช่วยรักษาผู้ป่วยให้หลุดพ้นจากอาการเจ็บป่วยต่างๆ

แน่นอนว่าบุคลากรวิชาชีพเหล่านี้ย่อมถูกคาดหวังว่าจะต้องมีความรู้และความแม่นยำในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นอย่างดี และไม่แปลกถ้าประชาชนจะเลือกเชื่อคำโฆษณาของผลิตภัณฑ์ที่มีแพทย์ออกมายืนยัน เพราะอย่างไรเสีย เชื่อหมอย่อมดีกว่าเสมอ

ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นที่มาของการศึกษา เรื่อง ‘มาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพของผู้ประกอบวิชาชีพทางสื่อออนไลน์’ โดย เภสัชกรหญิงกาญจนา ไชยประดิษฐ์ และ เภสัชกรหญิงกนกพร ธัญมณีสิน กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามและขอนแก่น นำเสนอต่อวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)

เภสัชกรหญิงกาญจนา ไชยประดิษฐ์

ทุกวันนี้การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพนานาชนิด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา เครื่องสำอาง ล้วนขยายปริมณฑลไปสู่ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย ยิ่งยุคของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเช่นนี้ สื่อออนไลน์จึงกลายเป็นอีกช่องทางที่ได้รับความนิยมสูง หันซ้ายหันขวาก็เจอกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ไม่ยาก รวมถึงยังใช้กลยุทธ์ต่างๆ นานาเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดความน่าเชื่อถือ โดยอาศัยภาพลักษณ์ของบุคลากรทางการแพทย์มาช่วยส่งเสริมการตลาด ทั้งช่วยโปรโมท เป็นพรีเซนเตอร์ ให้การรับรอง หรือเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นเสียเอง

แนวทางการศึกษาของกาญจนาและกนกพร มุ่งเน้นไปที่การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ร่วมโฆษณาในสื่อออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ยูทูบ และเว็บเพจต่างๆ โดยเจาะจงไปที่ 4 กลุ่มวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล รวมถึงศึกษากระบวนการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบวิชาชีพมีการโฆษณาผ่านช่องทางเฟซบุ๊คมากที่สุด คิดเป็น 36.49 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณามากที่สุดคือผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร คิดเป็น 80.56 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้พบว่า ผู้ประกอบวิชาชีพมักใช้วิธีโฆษณาโดยการถ่ายรูปตัวเองคู่กับสินค้าถึง 61.84 เปอร์เซ็นต์

เดิมทีการกำกับดูแลประเด็นนี้ อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติของแต่ละวิชาชีพอยู่แล้ว อาทิ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 31 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ตามข้อบังคับที่แพทยสภากำหนดไว้ ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ข้อ 14 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องระมัดระวังตามวิสัยที่พึงมี มิให้การประกอบวิชาชีพของตนแพร่ออกไปในสื่อมวลชนเป็นทำนองโฆษณาความรู้ความสามารถ

นอกจากนี้ ข้อบังคับของแพทยสภา ข้อ 21 ระบุด้วยว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่หลอกลวงผู้ป่วยให้หลงเข้าใจผิดเพื่อประโยชน์ของตน เป็นต้น

จากการศึกษากระบวนการทางกฎหมายด้านจรรยาบรรณของสภาวิชาชีพ พบว่า ด้านโครงสร้างของคณะกรรมการทุกสภาวิชาชีพมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ คณะอนุกรรมการสอบสวน เพื่อทำหน้าที่ในการสืบค้น สอบสวนหาข้อเท็จจริง รายงานและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดและพิจารณาลงโทษ

ทั้งนี้ทั้งนั้น มีการระบุใน พ.ร.บ.วิชาชีพของทุกสภา ว่า หลังการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาสามารถชี้แจง แสดงหลักฐาน เพื่อให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทบทวนรายงานก่อนเสนอต่อสภาวิชาชีพให้วินิจฉัยชี้ขาด

จากการศึกษากรณีตัวอย่างการพิจารณาคดีจรรยาบรรณ พบว่า มีผู้ประกอบวิชาชีพกระทำความผิดจากการโฆษณาสุขภาพทางสื่อออนไลน์ โดยบทลงโทษมีตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต ต่ำสุด 3 เดือน สูงสุด 1 ปี จนถึงเพิกถอนใบอนุญาต โดยพิจารณาตามความหนักเบาจากเจตนาและความเสียหายที่เกิดขึ้น

บทสรุปของการศึกษาชิ้นนี้ คาดหวังเพียงให้สภาวิชาชีพหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มองเห็นช่องโหว่และช่วยกันแก้ไข ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีสัญญาณแนวโน้มที่ดี หลังจากกรณีการจับกุมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดังที่ใช้ดารานักแสดงนักร้องทำการโฆษณาเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทำให้การสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพที่ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพมีจำนวนลดลง บวกกับการตื่นตัวของทุกภาคส่วน ทำให้เกิดการควบคุมมากขึ้น

เภสัชกรหญิงกาญจนา เชื่อว่าถ้าหมอ หมอฟัน เภสัชกร หรือวิชาชีพอื่นๆ เลือกที่จะไม่รับงานโฆษณาให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เสี่ยงผิดกฎมายและก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ย่อมส่งผลให้ประชาชนลดการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นลงไปด้วย

หากคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขควรทบทวนบทบาทและตระหนักในหน้าที่ของตัวเองเสมอว่า การโฆษณาเช่นนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์ทางการค้ามากกว่าที่จะส่งเสริมสุขภาพของประชาชนหรือไม่