ผู้ป่วยสุขภาพจิต กลุ่มเสี่ยงสารพัดโรคเรื้อรัง

โรคหัวใจ ความดันสูง ข้อต่ออักเสบ ปวดหลัง เบาหวาน หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง และมะเร็ง – ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ก็ว่าหนักแล้ว แต่ที่หนักกว่าคือกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ได้รวมไปถึงคนที่มีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าด้วย

รายงานชิ้นใหม่ของหน่วยงานด้านนโยบายสุขภาพของออสเตรเลีย (Australian Health Policy Collaboration: AHPC) พบว่า การป่วยทางใจกลายเป็นเงื่อนไขในการเพิ่มความเสี่ยงต่อทุกอาการป่วยเรื้อรังหลักๆ และชาวออสเตรเลียราว 4 ล้านคนกำลังอยู่ในความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเรื้อรังและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แถมมากกว่า 2.4 ล้านคนกำลังมีปัญหาทั้งด้านสุขภาพกายและจิตไปพร้อมกัน

รายงานฉบับนี้ถือเป็นครั้งแรกของออสเตรเลียที่แสดงให้เห็นขอบเขตของปัญหา ตัวอย่างเช่น โรคระบบไหลเวียนโลหิตซึ่งคนมีปัญหาสุขภาพจิตมีโอกาสเป็นมากกว่า ไม่ว่าจะโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และเส้นเลือดอุดตัน โดยผู้ชายมีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นถึง 52 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มขึ้นในผู้หญิงถึง 41 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบัน มีชาวออสเตรเลียมากกว่าล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบบไหลเวียนโลหิตและอาการป่วยทางสุขภาพจิตไปพร้อมกัน โรคเหล่านี้กำลังเป็นเพชฌฆาตคร่าชีวิตประชากรในประเทศนี้

เพศและโอกาสป่วย

รายงานยังระบุว่า โอกาสของการป่วยโรคเรื้อรังเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างทางเพศด้วย โดยรวมแล้ว ผู้หญิงในออสเตรเลียมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจึงมีโอกาสมีโรคทางกายคู่ไปกับโรคทางใจมากกว่าผู้ชาย 23 เปอร์เซ็นต์

สำหรับโรคต่างๆ เช่น โรคหืด พบว่าผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพจิตจะมีโอกาสเป็นหืดมากกว่าผู้หญิงทั่วไปราว 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ชายมีโอกาส 49 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากแต่ละโรค ผู้ชายที่ป่วยทางใจกลับมีโอกาสป่วยทางกายได้มากกว่า เช่น อาการเจ็บปวดที่ลดความสามารถทางร่างกายลงอย่าง ข้อต่ออักเสบและอาการปวดหลัง

ผู้ชายที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีโอกาสเป็นข้อต่ออักเสบถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้หญิงมีโอกาส 46 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอาการปวดหลังมีโอกาสเกิดกับผู้ชายถึง 74 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้หญิงมีโอกาส 68 เปอร์เซ็นต์

แต่ความแตกต่างระหว่างเพศที่ใหญ่สุดอยู่ที่โรคมะเร็ง รายงานพบว่า ผู้ชายที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าประชากรทั่วไปถึง 84 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสมากกว่าเพียง 20 เปอร์เซ็นต์

รายงานยังแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ปัญหาสุขภาพจิตที่มาพร้อมอาการป่วยเรื้อรังจะส่งผลแย่ต่อคุณภาพชีวิต ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ความต้องการการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น และแน่นอน – ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกลับมีโอกาสยากจนกว่า รวมถึงโอกาสในการทำงาน การได้รับการตรวจสุขภาพน้อยกว่า และที่น่าเศร้าคือ มีแนวโน้มได้รับการดูแลโรคทางกายภาพต่ำกว่ามาตรฐานด้วย

โดยเฉลี่ยแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตทั่วไปอย่าง อาการวิตกกังวลและซึมเศร้ามีส่วนทำให้เกิดโรคเรื้อรัง นำไปสู่อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เพิ่มมากขึ้น

ดูแลกายใจไปพร้อมกัน

สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า สามารถอนุมานโรคทางกายภาพได้เมื่อพิจารณาจากสุขภาพที่ย่ำแย่และปัจจัยเสี่ยงของปัญหาสุขภาพจิต เช่น รู้สึกไม่พอใจกับชีวิต รู้สึกไม่สงบ มีปัญหาการนอนหลับที่ส่งผลต่อการทำงาน มีความกังวลด้านการเงิน สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจตกต่ำ อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และพฤติกรรมสูบบุหรี่ เหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งกายและใจทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน การเลือกปฏิบัติและการเมินเฉยในกระบวนการทางการแพทย์ ระบบการดูแลสุขภาพกายและใจที่ไม่ต่อเนื่องกันทำให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ในออสเตรเลียมักไม่ยอมรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้ชีวิต ไม่รับการทดสอบ และมีโอกาสน้อยที่จะเข้ารับการรักษา

ปัจจุบัน เกิดแรงกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต องค์กรมากมายร่วมลงชื่อกับองค์กร Equally Well ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิต โดยจัดสรรการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ มีโครงการดีๆ ทั่วโลกที่เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่เหมาะกับปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น การลดน้ำหนัก หรือการสูบบุหรี่

ทั้งนี้ รายงานยังได้แนะนำว่า ควรประเมินสุขภาพกายของผู้ที่ใช้บริการดูแลด้านสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอ และแจ้งปัญหาที่พบโดยเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะกายและใจควรได้รับการดูแลไปพร้อมๆ กัน

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theconversation.com