ความเหลื่อมล้ำในน้ำนมแม่ และดราม่านมผง

ปี 2545 องค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อแนะนำในการเลี้ยงดูทารกให้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน และควรให้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น

ปี 2555 ที่ประชุมเวทีสมัชชาอนามัยโลกตั้งเป้าร่วมกันว่า ภายในปี 2568 เด็กทารกร้อยละ 50 จะต้องได้รับนมแม่ตลอดช่วง 6 เดือนแรก

ขณะที่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2559 โดยองค์การยูนิเซฟ พบว่ามีเด็กทารกเพียง 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรก

ปี 2555 มีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์

ปี 2548 มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์

เรียกได้ว่า ประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก และต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

เราต่างรู้ดีว่า ‘นมแม่ดีที่สุด’

ทว่าด้วยอิทธิพลของโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์นมผง กลับสร้างค่านิยมผิดๆ และกลายเป็นแรงโน้มน้าวให้คุณแม่มือใหม่ล้มเลิกความพยายามในการให้นมแม่

นี่จึงเป็นเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมี พ.ร.บ.นมผง (Milk Code) เพื่อให้ทารกและเด็กเล็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม

พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ไม่ได้กีดกันการจำหน่ายนมผง และไม่ได้ห้ามเด็กกินนมผง แต่เพื่อยับยั้งการส่งเสริมการตลาดและการโฆษณาที่อวดอ้างข้อมูลจนเกินจริง โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560

แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีเจตนารมณ์เพื่อปกป้องคุ้มครองทั้งแม่และเด็ก ด้วยการห้ามโฆษณานมผงในทุกช่องทางการสื่อสารอย่างเด็ดขาด แต่อีกด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดความแคลงใจบางประการกับคำถามที่ตามมาว่า เช่นนี้แล้วจะเหลือที่อยู่ที่ยืนให้กับคุณแม่ที่จำเป็นต้องพึ่งพานมผงอย่างไร

 

ต้องนมแม่เท่านั้นหรือ?

ก่อนจะไปสู่ข้อสงสัยที่ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะให้คุณให้โทษอย่างไร อาจจำเป็นต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจกันอีกครั้งว่า นมแม่นั้นดียังไง?

แพทย์หญิงชมพูนุท โตโพธิ์ไทย หรือ ‘หมอปุ๊’ นายแพทย์ชำนาญการ สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ในฐานะคุณแม่วัยสาวขอยืนยันอีกครั้งว่า นมแม่นั้นดีที่สุด

“นมแม่คือสุดยอดอาหารสำหรับทารก น้ำนมแม่หยดแรกเป็นเสมือนวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันที่อาหารอื่นไม่สามารถให้ได้ และมีสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ในนั้น เด็กที่กินนมแม่จะแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันโรค การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงถือเป็นรากฐานของชีวิตก็ว่าได้” หมอปุ๊กล่าว

นอกเหนือจากคุณค่าสารอาหาร หมอปุ๊บอกอีกว่า การให้ลูกกินนมแม่ยังมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการเลี้ยงลูกและการสร้างสายสัมพันธ์ เพราะระหว่างป้อนนม ‘เข้าเต้า’ เด็กจะได้รับการโอบกอด การสบตา การสัมผัส อันเป็นกระบวนการที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทั้งกายและใจของเด็ก

“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทุกคน ทุกประเทศ ทุกเผ่าพันธุ์ ทว่าด้วยคลื่นโลกาภิวัตน์และวิวัฒนาการทางสังคมที่เปลี่ยนไป จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่แม่ทุกคนจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และไม่ใช่เด็กทุกคนจะมีโอกาสได้กินนมแม่”

โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างสูง คุณแม่ยุคใหม่ไม่สามารถอยู่เหย้าเฝ้าเรือนเหมือนในยุคเก่าก่อนได้อีกต่อไป บทบาทของคุณแม่ต้องเปลี่ยนไปเป็นผู้หญิงทำงาน มีสิทธิลาคลอดได้เพียง 3 เดือน ซ้ำร้ายหลายคนอาจใช้สิทธิลาคลอดได้ไม่นานก็จำเป็นต้องรีบกลับเข้าสู่สายพานการทำงาน เหตุเพราะขาดรายได้

นี่จึงเป็นข้อจำกัดของแม่ที่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ และยังมีอีกหลายเหตุปัจจัย ไม่ว่าปัญหาสุขภาพร่างกาย ความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ สถานที่ทำงานไม่เอื้อต่อการให้นมบุตร และอีกตัวแปรคือ การรุกคืบของอุตสาหกรรมนมผง

ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาที่ทับซ้อนตามมาคือ ‘ความเหลื่อมล้ำในนมแม่’ ที่แม้เด็กทารกทุกคนจะเกิดมามีชีวิตเท่ากัน แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงนมแม่ได้อย่างเท่าเทียม ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงนมแม่ จึงเป็นห่วงโซ่ที่ส่งผลพันผูกต่อคุณภาพชีวิตและการเติบโตของเด็กอย่างมีนัยสำคัญ

 

นมแม่สูตร 1-6-2

ตามคำแนะนำของ WHO ระบุไว้ว่า เด็กทารกทุกคนควรได้รับนมแม่อย่างเหมาะสมตามสูตร 1-6-2 ความหมายก็คือ

1 – ควรให้เด็กกินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

6 – ควรให้นมแม่อย่างเดียวตลอดช่วง 6 เดือนแรก โดยไม่ต้องเสริมอาหารอื่น แม้กระทั่งน้ำเปล่า เพราะในนมแม่มีปริมาณน้ำที่เพียงพอแล้ว

2 – ควรให้นมแม่ควบคู่กับอาหารที่เหมาะสมตามวัย ต่อเนื่องจนถึง 2 ขวบขึ้นไป หรืออาจมากกว่านั้น

“สูตร 1-6-2 อาจฟังดูเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติยังคงทำได้ยาก เพราะนอกจากแม่จะต้องแบกภาระในการทำงานนอกบ้าน คุณแม่มือใหม่ยังไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดู บางคนอาจจะยังอุ้มลูกไม่เป็น จะเอาลูกเข้าเต้าก็ทำไม่เป็น ทำให้คุณแม่จำนวนหนึ่งไม่สามารถให้นมลูกได้สำเร็จ ด้วยประสบการณ์และความเชื่อมั่นที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นจะต้องรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้กันอย่างต่อเนื่อง”

แพทย์หญิงชมพูนุทบอกอีกว่า คุณแม่มากกว่าครึ่งมักเข้าใจผิดว่าตัวเองนมไม่พอ เมื่อไม่พอจึงต้องหานมอื่นมาเสริม ซึ่งเป็นการเสริมนมโดยไม่จำเป็น ทั้งที่จริงยังมีโอกาสที่จะกระตุ้นน้ำนมได้ แต่โอกาสนั้นก็หลุดลอยไปเมื่อมีทางเลือกอื่นที่ง่ายกว่า

 

เทรนด์คุณแม่ยุคใหม่บนความเข้าใจที่ผิดเพี้ยน

ปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะแม่ที่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ หากความเข้าใจเรื่องนมแม่ยังมีความผิดเพี้ยนในอีกบางมิติ ทุกวันนี้แม้ว่าสังคมไทยจะเริ่มเห็นความสำคัญของนมแม่มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีวิธีปฏิบัติที่ผิดทิศผิดทาง

แพทย์หญิงชมพูนุทระบุว่า สายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการโอบกอด การสัมผัส และไออุ่นจากแม่ แต่บางคนอาจตีความแค่ว่าให้ลูกได้กินน้ำนมของแม่ก็เพียงพอแล้ว คุณแม่ส่วนหนึ่งจึงไม่เอาลูกเข้าเต้า แต่หันไปปั๊มน้ำนมเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง แล้วค่อยป้อนผ่านขวด

“สิ่งที่ขาดหายไปก็คือกระบวนการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก แม้ลูกจะได้สารอาหารครบถ้วน แต่ไม่ได้สายสัมพันธ์ ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงอาจไม่เต็มร้อย

“ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย เราอาจเห็นคุณแม่จำนวนหนึ่งพยายามปั๊มนมเก็บสำรองไว้และคาดหวังที่จะมีนมแช่เป็นตู้ๆ แต่จริงๆ แล้ววิธีที่ถูกต้องที่สุดคือ ‘Breastfeeding’ หมายถึงการป้อนนมจากอกของแม่ เพื่อให้เด็กได้รับทั้งสารอาหารและสายสัมพันธ์” หมอปุ๊กล่าว

แนวโน้มที่น่ากังวลคือ เรื่องนี้กลับกลายเป็นเทรนด์ของคุณแม่ยุคใหม่ จริงอยู่ว่าคุณแม่จำเป็นต้องทำงานนอกบ้าน จึงต้องปั๊มนมเก็บไว้ แต่หากเมื่อไหร่มีเวลาอยู่กับลูก หมอปุ๊แนะนำว่าควรให้ลูกเข้าเต้า แต่คุณแม่ยุคปัจจุบันแม้อยู่กับลูกก็ไม่เข้าเต้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความรีบเร่งในชีวิตประจำวัน

 

จุดอ่อนนมแม่และทัศนคตินมผง

อีกประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อนมแม่คือ ปัญหาด้านทัศนคติและความเชื่อในสังคม หมอปุ๊ให้ข้อสังเกตว่า หากมองย้อนกลับไปเมื่อราว 50 ปีก่อน การใช้นมผงแทนนมแม่ถือเป็นเรื่องปกติในความเข้าใจของคนทั่วไป

“จริงอยู่ว่านมผงก็มีประโยชน์ทดแทนนมแม่ได้ แต่เป็นไปได้ไหมที่จะยื้อเวลาให้เด็กได้กินนมแม่ต่อสัก 6 เดือน แทนที่จะเปลี่ยนใจไปใช้นมผงก่อนเวลาอันควร”

หมอปุ๊มองว่า ทัศนคติในการใช้นมผง ส่วนหนึ่งเกิดจากอิทธิพลของโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดที่พยายามเข้าถึงการรับรู้ของคนในสังคมทุกช่องทาง ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หากยังเกิดกับแทบทุกประเทศ

“นมแม่นั้นดี แต่จุดอ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ หลังคุณแม่คลอดแล้ว หากไม่มีการกระตุ้นน้ำนมภายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง น้ำนมแม่ก็จะไม่ไหล หรือหากกระตุ้นไม่เพียงพอ น้ำนมแม่ก็จะไหลน้อย กระทั่งหยุดไหล

“เมื่อนมแม่มีจุดอ่อนเช่นนี้แล้ว กลยุทธ์การตลาดจึงอาศัยช่องว่างนี้โดยการเอานมผงมาแจกให้ฟรี เพื่อให้นำไปใช้ป้อนเด็กในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เมื่อเด็กได้รับนมผงแล้ว เด็กก็อิ่ม และไม่ยอมดูดนมแม่ นมแม่จึงไม่ถูกกระตุ้นและแห้งไปในที่สุด”

ที่ผ่านมากลยุทธ์การตลาดของอุตสาหกรรมนมผงจึงมีทั้งการลด แลก แจก แถม รวมถึงการฝากนมผงให้กับโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพในลักษณะของการบริจาค เพื่อให้คุณแม่ได้นำไปทดลองใช้

“การลงทุนแจกนมผงฟรีในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ทำให้กระบวนการกระตุ้นน้ำนมของคุณแม่ถูกตัดตอนไปและแห้งไปในที่สุด หลังจากนั้นคุณแม่ก็ต้องพึ่งนมผงไปตลอด นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากของบริษัทนมผง”

 

 

เมื่อเด็กไม่มีสิทธิเลือก

ปี 2524 WHO และองค์การยูนิเซฟ ได้เชิญตัวแทนจากประเทศต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคม และบริษัทผู้ผลิตนมผงรายใหญ่ มาร่วมเจรจาหากรอบแนวทางที่เหมาะสมในการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดนมผงและอาหารเสริมสำหรับเด็ก เพื่อไม่ให้เป็นการตัดโอกาสเด็กในการได้รับนมแม่

กระทั่งสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly: WHA) ได้ออกหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) หรือ ‘Milk Code’ ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกได้ยอมรับในหลักเกณฑ์นี้ และประกาศใช้ในปี 2527

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า ยังมีผู้ผลิตและผู้ประกอบการต่างๆ ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้ โดยมีการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุที่ยังไม่มีเงื่อนไขข้อบังคับและบทลงโทษชัดเจน ปัญหานี้จึงนำมาสู่การผลักดันเป็นกฎหมายฉบับล่าสุดคือ พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘พ.ร.บ.นมผง’ โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นการให้ข้อมูลที่โอ้อวดหรือจูงใจให้ซื้อโดยไม่จำเป็น

“เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.นมผง เพื่อปกป้องสิทธิของทารกและเด็กเล็กให้ได้รับอาหารที่ดีและเหมาะสมต่อการเลี้ยงดู เพราะทารกคือประชากรกลุ่มเปราะบาง เขาไม่สามารถเลือกอาหารเองได้ คนที่เลือกให้เขาคือคุณแม่และครอบครัว ฉะนั้น สิ่งที่แม่และครอบครัวควรได้รับคือ ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอต่อการตัดสินใจ”

กฎเหล็กนมผง

แพทย์หญิงชมพูนุทอธิบายถึงสาระสำคัญของกฎหมายนมผงว่า จุดมุ่งหมายจะเน้นไปที่การควบคุมผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็กให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม โดยมีมาตรการที่สำคัญ 2 ส่วนหลักๆ คือ 1) ควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดต่อสาธารณะ 2) ควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดผ่านสถานบริการสาธารณสุข

รายละเอียดที่สำคัญคือ ห้ามมีการโฆษณาโดยเด็ดขาด ได้แก่ มาตรา 14 ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารทารก (วัยแรกเกิดถึง 1 ขวบ) และเด็กเล็ก (1-3 ขวบ) และมาตรา 25 ห้ามโฆษณาอาหารเสริมสำหรับทารก นอกจากนี้ยังห้ามผู้ใดก็ตาม ทั้งดารา เซเล็บ ก็ไม่สามารถเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาได้

มาตรา 18 ห้ามใช้กลยุทธ์ลด แลก แจก แถม เช่น การให้คูปองส่วนลด การจัดโปรโมชั่นจูงใจ แจกผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง ซื้อ 3 แถม 1 หรือลดราคาได้ แต่ห้ามติดป้ายประกาศ รวมทั้งห้ามติดต่อกับหญิงมีครรภ์และคนในครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เป็นต้น

“กฎหมายไม่ได้ห้ามลดราคาแบบถาวร เรายังเชื่อว่า นมผงไม่ใช่ยาพิษ นมผงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อเด็กที่ไม่สามารถกินนมแม่ได้ ฉะนั้น ในเด็กที่ยังจำเป็นต้องใช้ก็ควรหาซื้อได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป”

นอกจากนี้ มาตรา 22 ห้ามบริษัทนมผงสาธิตการใช้อาหารทารกและเด็กเล็กในทุกที่ เพราะการให้ข้อมูลความรู้จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของบุคลากรสาธารณสุขเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 16 กฎหมายยังเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถให้ข้อมูลได้เท่าที่ปรากฏอยู่บนฉลากซึ่งผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วเท่านั้น

ขณะเดียวกัน มาตรา 15 ว่าด้วยเรื่องฉลากอาหารสำหรับทารก และฉลากอาหารสำหรับเด็กเล็ก จะต้องมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน สามารถแยกแยะจากอาหารอื่นได้โดยง่าย เนื่องจากที่ผ่านมาสร้างความสับสนแก่ผู้บริโภคค่อนข้างมาก

สำหรับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการสาธารณสุข อาทิ มาตรา 23 ห้ามบริจาคอาหารทารกและเด็กเล็กแก่หน่วยบริการสาธารณสุข ยกเว้นในกรณีจำเป็นสามารถบริจาคให้ได้สำหรับเด็กทารกที่มีความต้องการพิเศษหรือเด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์ มาตรา 19 การให้อุปกรณ์สิ่งของแก่หน่วยบริการ จะต้องไม่มีตราสัญลักษณ์สินค้าหรือทำให้เกิดการส่งเสริมการตลาดที่เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ และมาตรา 20 ห้ามให้สิ่งของ สิ่งจูงใจ แก่บุคลากรสาธารณสุข ยกเว้นให้ตามประเพณีหรือธรรมจรรยา ในราคาไม่เกิน 3,000 บาท

มาตรา 17 และมาตรา 29 ได้กำหนดว่า การให้ข้อมูลแก่บุคลากรสาธารณสุขจะต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ประกอบ และมาตรา 21 เรื่องการสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการ บริษัทสามารถสนับสนุนได้เฉพาะทุนให้แก่องค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับแม่และเด็ก

หลัง พ.ร.บ.นมผง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 ยังมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 9 ฉบับ เพื่อเติมเต็มรายละเอียดข้อบังคับให้มีความสมบูรณ์และกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งการรับเรื่องร้องเรียน การเอาผิดผู้ละเมิดกฎหมาย การเฝ้าระวังและกำกับติดตาม

 

ราคาที่ต้องจ่าย

นมผงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธสำหรับผู้ที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ และสิ่งที่ต้องยอมรับคือรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น หมอปุ๊กล่าวถึงงานศึกษาวิจัยเปรียบเทียบเรื่องรายจ่ายจากการใช้นมผง พบว่า ภาระของคุณแม่จะตกอยู่ที่ราวๆ 4,000 บาทต่อเดือน ขณะเดียวกัน มีการศึกษาเปรียบเทียบอีกว่า กรณีผู้ที่มีฐานะเศรษฐกิจระดับปานกลาง จะเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกด้วยนมผงสูงถึง 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดต่อเดือน ยังไม่รวมค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป และค่าอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมา

“จะสังเกตได้ว่า ผลิตภัณฑ์นมผงที่วางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดถูกแบ่งเป็นหลายเกรด แต่ละสูตรจะมีการโฆษณาว่าได้เติมสารอาหารแต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป และการเติมยังทำให้มีมูลค่าเพิ่ม สามารถขายแพงขึ้นได้ เพราะแม่ก็อยากจะซื้ออะไรที่คิดว่าดีกว่าหรือดีที่สุดให้ลูกตัวเองอยู่แล้ว ทั้งที่ความจริงแล้วเราไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่า นมผงในราคาที่แพงกว่าจะดีกว่าเสมอไป เพราะสูตรการเติมสารอาหารต่างๆ เป็นความลับทางการค้า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมาเปรียบเทียบว่าของใครดีกว่าใคร หรือต่างกันมากน้อยแค่ไหน

“คนส่วนหนึ่งอาจเข้าใจผิดว่า พ.ร.บ.นมผง เป็นกฎหมายที่ตอกย้ำความล้มเหลวของคุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยใจและเกิดแรงต่อต้าน ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากกฎหมายนี้ไม่ใช่คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่คือแม่ที่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกด้วยนมผง เพราะจะได้รับการปกป้องจากข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น และช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าคุ้มค่าแค่ไหนกับราคาที่ต้องจ่าย ไม่ใช่ว่าต้องจ่ายทุกเดือน เดือนละ 4,000 บาท กับนมผงที่เขาคิดว่าดีเลิศ แต่คุณสมบัติกลับไม่ต่างจากนมผงราคา 2,000 บาท”

เช่นเดียวกัน สำหรับคุณแม่ที่มีความยากลำบากในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถูกชักจูงให้รู้สึกว่ามีทางเลือกอื่น ก็จะยังมีความมุ่งมั่นในการให้นมแม่ต่อไปในช่วงระยะเวลายาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

หมอปุ๊ย้ำอีกครั้งว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับว่า เด็กทุกคนห้ามกินนมผง เพราะต้องยอมรับว่าในชีวิตจริงบางคนอาจจะเลือกไม่ได้ ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมไม่เอื้อให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณแม่จำนวนหนึ่งจึงจำเป็นต้องพึ่งนมผง

“นมผงไม่ใช่ยาพิษ นมผงเป็นอาหารที่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ วิธีโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดที่บิดเบือนจนเกินข้อเท็จจริง”

นี่คือคำแนะนำจากหมอปุ๊-คุณแม่ยังสาว ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดีต่อแม่และเด็กทุกคน