เวลาหน้าจอของเด็กๆ รุ่นใหม่…แค่ไหนถึงพอดี?

เอาล่ะ ว่ากันตามตรง อุปกรณ์ไอทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป ไอแพด แท็บเล็ต หรือแก็ดเจ็ตมากมาย ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตปกติของเราไปแล้ว ภาพที่เด็กเล็กได้เห็นระหว่างเติบโตขึ้นมาคือ ภาพที่ผู้ใหญ่กด ไถ จิ้ม พิมพ์ คุยกับอุปกรณ์เหล่านี้

คำถามอมตะคือ “แล้วไอทีกับเด็กน้อยควรได้พบกันหรือไม่”

“สมาร์ทโฟนกลายเป็นชิ้นส่วนเทคโนโลยีที่จำเป็นที่สุดที่เราครอบครอง มันเชื่อมต่อเรากับเพื่อนๆ ทำให้เราอัพเดทกับทั่วโลก และทำให้เราได้เก็บช่วงเวลายิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิตได้” เลียม ฮาวลีย์ (Liam Howley) กล่าว เขาเป็นหนึ่งในทีม musicMagpie เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ที่ควบคุมการสำรวจนี้

“ขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ในการสำรวจของเราบอกว่า อายุ 11 ปีเป็นวัยที่พอรับได้สำหรับเด็กในการเป็นเจ้าของโทรศัพท์ เราได้เห็นว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบต่างมีโทรศัพท์มือถือในครอบครอง และเกือบครึ่งของเด็กเหล่านี้ใช้เวลามากกว่า 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์กับอุปกรณ์ของพวกเขา”

อายุของเด็กๆ ที่เป็นเจ้าของโทรศัพท์เครื่องแรกน้อยลงเรื่อยๆ และหลายคนต่างคิดว่าไม่มีอายุจำกัดที่เหมาะสมแน่นอนกับการเป็นเจ้าของมือถือ มีพ่อแม่อีกมากที่จำกัดเวลาการใช้เพื่อให้แน่ใจว่า เด็กๆ ไม่ได้อยู่แต่กับหน้าจอ รวมถึงสำรวจสิ่งที่พวกเขาดาวน์โหลด และอีกหลายขั้นตอนที่ใช้จำกัดการใช้งาน

ขณะเดียวกัน มีรายงานจาก วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งกรุงลอนดอน (London School of Economics) ชี้แจงว่า การใช้สื่อดิจิตอลไม่ได้ทำให้เด็กสิงอยู่แต่ในห้องนอนกับจอของเขา ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต อันที่จริงแล้ว เด็กๆ จะช่วยดึงครอบครัวให้มาอยู่ร่วมกัน เช่น ดูหนังด้วยกัน เล่นเกมด้วยกัน และใช้แอพส่งข้อความกับลูกๆ ของพวกเขา

“เราพบว่าความกังวลของผู้ปกครองเรื่องการกำหนดเวลาใช้จอนั้นไปไกลกว่าความกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาที่เด็กๆ ได้รับรู้” อลิเซีย บลูมรอสส์ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าว “แทนที่จะห่วงเรื่องกำหนดเวลา ฉันอยากกระตุ้นให้พ่อแม่คิดว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้หรือเปล่า แล้วมันช่วยให้เขาเชื่อมโยงกับโลกได้ไหม”

มุมมองของเธอสะท้อนถึงการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ขยายตัวมากขึ้น เมื่อปี 2016 สถาบันกุมารแพทย์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) ได้แก้ไขคำแนะนำเรื่องเวลาหน้าจอของเด็กๆ จากเคยบอกว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบควรอยู่ห่างจากหน้าจอเหล่านั้นไปเลย เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้เด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบใช้เวลากับหน้าจอได้วันละไม่เกินหนึ่งชั่วโมง และเป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างสื่อดิจิตอลรูปแบบดั้งเดิม เช่น การ์ตูนในโทรทัศน์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อความบันเทิงเท่านั้น เมื่อเทียบกับสื่อดิจิตอลรูปแบบอื่นที่สามารถโต้ตอบและมีศักยภาพในการสร้างสรรค์มากขึ้น

เจนนี แรเดสกี (Jenny Radesky) กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม หนึ่งในทีมผู้เขียนรายงานนโยบายคำแนะนำดังกล่าว ระบุว่า “พ่อแม่ควรเป็นที่ปรึกษาด้านสื่อให้กับลูกๆ ของพวกเขา นั่นหมายถึงการสอนให้เด็กๆ รู้จักใช้มันเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ เรียนรู้ และเชื่อมโยง”

สำหรับเด็กอายุมากกว่า 2 ปี มีการศึกษาที่แนะนำว่า พวกเขาสามารถสรุปความรู้เกี่ยวกับโลกได้ผ่านกิจกรรมบนหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วรรณกรรม ทักษะทางสังคม และพฤติกรรมที่เหมาะสม อันที่จริงแล้ว การเขียนโปรแกรมได้อยู่ในหลักสูตรระดับประถมของอเมริกันมาตั้งแต่ปี 2014 เพื่อเป็นการรับรองว่า เด็กๆ ทุกวันนี้จะเติบโตขึ้นในโลกและการจ้างงานที่มีสื่อดิจิตอลเป็นผู้กำหนด

ย้อนกลับไปในปี 2013 ผลการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์วิศวกรรม มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้คาดการณ์ว่า 47 เปอร์เซ็นต์ของงานในปัจจุบันอาจถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ภายใน 20 ปี หากต้องการให้เด็กๆ โตขึ้นมาเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ ไม่ใช่ถูกพวกมันแทนที่ เราก็ต้องสอนให้พวกเขาเรียนรู้ในสื่อดิจิตอล

นอกจากนี้ รายงานชิ้นใหม่จากจากยูนิเซฟก็ได้เปิดเผยผลสำรวจประสบการณ์ออนไลน์ของเยาวชนทั่วโลก และพบว่าวัยรุ่นใช้อินเทอร์เน็ตในการติดต่อกันมากที่สุด 1 ใน 3 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกคือกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 18 ปี โดยพวกเขาสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลสื่อดิจิตอลเพื่อการศึกษาและทำงาน บางครั้งวัยรุ่นก็ใช้เพื่อมีส่วนร่วมกับสังคมมากขึ้นด้วย

แต่เมื่อมีด้านสว่างก็ย่อมมีด้านมืด – โลกออนไลน์ยังคงมีเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศ สื่ออนาจารเด็ก และการค้ามนุษย์ ซึ่งอินเทอร์เน็ตมีส่วนทำให้ประเด็นเหล่านี้รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่น่าเป็นห่วงเพราะพ่วงการใช้อินเทอร์เน็ตกับผลต่อปัญหาทางจิตใจ เช่น ภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าไปด้วย

ทีมผู้เขียนรายงานของยูนิเซฟระบุว่า กุญแจสำคัญคือ “ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป” และ“ใส่ใจกับสิ่งที่เด็กๆ ทำในโลกออนไลน์มากขึ้น ใส่ใจกับช่วงเวลาที่พวกเขาออนไลน์ให้น้อยลง”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
independent.co.uk
telegraph.co.uk