กิจกรรม คคส.เดือนกุมภาพันธ์ 2560

สรุปกิจกรรม คคส.เดือน กุมภาพันธ์ 2560

ผู้บริหาร คคส. รับรางวัลผลงานวิจัย ประจำปี ๒๕๕๙ รางวัลระดับดี 

(2 ก.พ.60) รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์, ผศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ดร.ภญ.รุ่งทิวา หมื่นปา โรงพยาบาลลำปาง และ ดร.ภญ.ยุภาพรรณ มันกระโทก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี ๒๕๕๙ รางวัลระดับดี

ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  (The Development of Prioritization Method for Consumer Protection Risk Management of  Unsafe Products)” จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

โดยมี รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยได้เข้ารับรางวัลจากรองนายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์ประชุมไบเทค

ผลงานวิจัยเรื่องดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยหน่วยงานภาครัฐของกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ดังนี้

1 ใช้วิเคราะห์ค้นหาปัญหาสินค้าไม่ปลอดภัยโดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน องค์กร และภาคประชาชน

2 ส่งเสริมการค้นหาปัญหาที่แท้จริง โดยใช้หลักวิชาการในการคัดเลือก

3 ใช้กำหนดนโยบายและวางแผนแก้ไขปัญหาสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างบูรณาการ

4 ใช้วางแผนการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และจัดการความรู้ของหน่วยงาน

5 สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของสินค้าต่างๆในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

6 สามารถประมวลรวมปัญหาของกลุ่มจังหวัด เพื่อขยายเป็นผลระดับเขตและระดับภาค จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ไขปัญหาของเขต/ภาค วางแผนและจัดสรรงบประมาณในการคุ้มครองผู้บริโภค

7 ประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานด้านอื่นๆ

 

อบรมเชิงปฏิบัติการฟื้นฟูหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน สู่อำเภอจัดการสุขภาพ

(6-7 ม.ค.60) คคส.ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ มูลนิธิสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ จัด “อบรมเชิงปฏิบัติการฟื้นฟูหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน สู่อำเภอจัดการสุขภาพ” ณ โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี อ.เมือง จ.นนทบุรี

โดยมีวัตถุประสงค์ 1) พัฒนาและสร้างศักยภาพศูนย์แจ้งเตือนภัย เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชนเพื่อการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง 2) พัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ (ครู ก.) ให้มีความเข้มแข็งเพื่อสร้างเครือข่ายให้กับชุมชนและ รพ.สต.ในพื้นที่ใกล้เคียง ให้สามารถดำเนินงานเฝ้าระวังและตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ และ 3) ขยายผลการใช้ระบบแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ “หน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 200 คน ประกอบด้วย บุคลากรจากสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ,โรงพยาบาลชุมชน /รพ.สต./ และ สสอ. จำนวน และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามคำสั่งคณะทำงานโครงการพัฒนาเครือข่าย

ผลจากการประชุมครั้งนี้นอกจากเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรแล้ว ยังนำไปสู่การข้อเสนอ “แนวทางการขับเคลื่อนงานสู่อำเภอจัดการสุขภาพ” ของแต่ละเขตสุขภาพ

 

 

10 ปี ซีแอล(CL) และการเข้าถึงยาจำเป็น  

  (17 ม.ค.60) คคส.ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จัดประชุม “10 ปี ซีแอล(CL) และการเข้าถึงยาจำเป็น” ณ ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ

ทั้งนี้เพื่อทบทวนการขับเคลื่อนเพื่อการเข้าถึงยาและการใช้กม.CLครั้งแรกของไทย สื่อสารสังคมถึงความชอบธรรมในการใช้มาตรการตามกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อทำให้คนได้เข้าถึงยา และจำทำแนวทางในการทำให้เกิดการเข้าถึงยาและการรักษา ด้วยการทบทวนเครื่องมือเดิม (CL) และมองหาเครื่องมือใหม่ในการส่งเสริมการเข้าถึงยาจำเป็นต่อไป

โดยได้รับเกียรติจาก นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 120 คน ผลจากการประชุมนำไปสู่ข้อเสนอในการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การเข้าถึงยาของประชาชนชาวไทย

 

 

ร่าง พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. … : ใครได้ ใครเสีย

(19 ม.ค.60) คคส.ร่วมกับ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) และคณะอนุกรรมการศึกษาและติดตามกฎหมายฯ สภาเภสัชกรรม จัดเสวนา “ร่าง พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. … : ใครได้ ใครเสีย”

โดยเชิญเภสัชกรในสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่นคุ้มครองผู้บริโภค อุตสาหกรรม บริบาล ชุมชน การศึกษา จำนวน 50 คน ร่วมประชุม เพื่อร่วมศึกษาและให้ความเห็นต่อร่าง พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. … เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

สรุปสาระสำคัญดังนี้ และได้รับเกียรติจาก ภก.วินิต อัศวกิจวีรี นำเสนอ “ร่าง พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. …” จากนั้น เป็นการวิพากษ์ ร่าง พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. …  โดย ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย, นายวราสิทธิ์ กาญจนาสูตร ผู้อำนวยการกองกฎหมายการศึกษาและวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, นายเมธา สิมะวรา นายกสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร, ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงาน กพย., ผศ.ดร.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ รองผู้จัดการแผนงาน คคส.

ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาและติดตามกฎหมายฯ

จากนั้นช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มให้ความเห็นต่อร่างกฎหมาย และขณะนี้ ผศ.ดร.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว

 

 

เวทีประชาพิจารณ์ต่อร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า

(3 ก.พ.60) รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นวิทยากรร่วมอภิปรายเรื่อง “ความเป็นมา หลักการ ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” บนเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ต่อร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ณ โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี จัดโดย สคบ.โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือ รศ ดร วินัย ดะลันห์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และ นายธีรวัฒน์ จันทรสมบูรณ์ อณุกรรมการกฏหมายฯสคบ. และนายพัสกร ทัพมงคล นิติกรชำนาญพิเศษ สคบ. ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็น การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่อเนื่องมาจาก สปช.ซึ่งแผนงานฯ เป็นผู้ร่วมยกร่าง

 

 

นำเสนอผลการศึกษาวิจัยของผู้เข้ารับการอบรมเพื่อสอบหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ

(23-25 ม.ค.60) คคส.ร่วมกับ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) สภาเภสัชกรรม จัดประชุม “นำเสนอผลการศึกษาวิจัยของผู้เข้ารับการอบรมเพื่อสอบหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (นคบส.) รุ่น 3”

ซึ่งเป็นเภสัชกร ที่ทำงานในหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ จำนวน 25 คน นำเสนอผลการศึกษา จำนวน 25 ชิ้น ใน 3 สาขา ได้แก่ นโยบายด้านยาและสุขภาพ, การบังคับใช้กฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และ ระบาดวิทยาเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค