รวบสาวเปิดคลินิกเถื่อน รับจัดฟันแฟชั่น โฆษณาผ่านเฟซบุ๊ค ลูกค้าติดตรึม

สืบเนื่องมาจากในโลกออนไลน์ มีการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊คชื่อ “มารูโก๊ะ เปรี้ยวจี๊ด เผ็ดมัน”สามารถจัดฟันแฟชั่นในราคาถูก และได้มีการแชร์ผ่านสื่อออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊กและอื่นๆ เชิญชวนให้ไปจัดฟันแฟชั่น ทำให้มีเด็กวัยรุ่นไปจัดจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจสอบก็พบว่าเป็นหมอฟันเถื่อนในจังหวัดลำพูน ซึ่งหากมีคนไปจัดฟันลักษณะนี้จำนวนมาก อนาคตอาจจะเป็นอันตรายต่อในช่องปากของผู้ที่ทำเป็นอย่างมาก

  

ดังนั้น ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560  เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมทางสื่อสังคมออนไลน์ ตำรวจภูธรภาค 5 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.ภ.5 ร่วมกับ เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน  โดย  นายจิระ  วิภาสวงศ์ เภสัชกรเชี่ยวชาญด้านเภสัชสาธารณสุข นางอินทริยา อินทพันธุ์ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค และนายคทา โกศัยดิลก ทันตแพทย์ปฏิบัติการ  จึงได้ร่วมกันจับกุมตัว น.ส.ข อายุ 25 ปี อยู่บ้านในอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน  พร้อมด้วยของกลางที่เป็นวัสดุอุปกรณ์สำหรับจัดฟันแฟชั่น 43 รายการ แต่ละรายการมีเป็นจำนวนมาก เช่น Forcep, Mouth retractor, Mathieu forcep, ลวดจัดฟันชนิด Nickel titanium, Bracket จัดฟัน, C-chain (ยางดึงฟัน ), O-ring แบบตัดแบ่ง, กรดฟอสฟอริก (Phosphoric acid 35%), Bonding สำหรับติดเครื่องมือจัดฟัน เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังมี ป้ายแสดงวัน-เวลาเปิดให้บริการ  ป้ายแสดงราคา  สมุดโน้ต จดรายละเอียด (ราคา/เบอร์โทร/ยอดขาย)  ปฏิทินชนิดแขวนแสดงรายละเอียดชี้แจงลูกค้าพร้อมราคา

แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ข ว่ากระทำผิดฐาน  “ขายสินค้าที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสั่งห้ามขาย ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 10/2552 ลง 31 ก.ค. 2552 เรื่อง ห้ามขายสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่น” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ม.36 และโทษตาม ม.56

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว ได้ทำการจับกุมตัว น.ส.พ อายุ 27 ปี พร้อมของกลาง ที่ร้านแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองลำพูน ซึ่ง น.ส.พ ทำงานอยู่ โดย เจ้าหน้าที่ได้ส่งสายไปติดต่อและขอจัดฟัน ก่อนที่ตำรวจจะแสดงตัวเข้าทำการจับกุมได้พร้อมหลักฐาน จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าเปิดมานานแล้วและรับทำเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น โดยคิดค่าบริการไม่ถึงพันบาท  ก็ทราบว่าผิดกฏหมายแต่ก็แอบทำ เพราะเด็กส่วนใหญ่อยากทำ แต่หากไปทำที่คลินิกถูกกฏหมายราคาจะแพงกว่านับ 10 เท่า

เจ้าหน้าที่จึงตั้งข้อกล่าวหา น.ส.พ ว่า “1. ทําการประกอบวิชาชีพทันตกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต 2.ขายสินค้าที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสั่งห้ามขาย ”

น.ส.พ  ได้ให้การว่าได้ซื้อสินค้าลวดจัดฟันแฟชั่นมาจาก น.ส.ข และได้สมัครใจนำพาเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมไปยังบ้านของ น.ส.ข ที่อำเภอป่าซาง รวมทั้งทำการติดขอซื้ออุปกรณ์ดัดฟันแฟชั่น จำนวน 1 ชุดเล็ก รวมราคา 1,600 บาท เจ้าหน้าที่ได้จ่ายเงินให้จำนวน 2,000 บาท  เมื่อ น.ส.ข รับเงินไปแล้วและเจ้าหน้าที่ได้รับของกลาง จึงได้แสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและขอทำการตรวจสอบภายในบ้าน  จากนั้นจึงได้ทำการจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

รายงานโดย กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน