7 ข้อเสนอ ดีเดย์…สมัชชาผู้บริโภค

ดีเดย์…สมัชชาผู้บริโภค เสนอให้ปฏิรูปกระบวนการทำกฎหมายของรัฐสภา เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถคืนสินค้าใหม่ในกรณีชำรุดบกพร่อง พร้อมจัดตั้งสภาผู้บริโภค ขึ้นตรวจสอบการทำงานและการบังคับใช้กฎหมายของรัฐเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หลังจากที่ผ่านมาพบปัญหาอื้อ

รศ. ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน กล่าวว่า คณะกรรมการได้ทำหน้าที่ตามที่เขียนไว้ในร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. … โดยได้ทำหน้าที่ให้ความเห็นและตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ พบว่า ไม่ให้ความสำคัญต่อเหตุผลที่องค์กรผู้บริโภคเสนอ ได้แก่ การขึ้นค่าทางด่วน การประมูล 3 G การขึ้นค่าก๊าซ LPG และการให้ความเห็นต่อกรณีการขยายระยะเวลาสัมปทานคลื่น 1800 ซึ่งเสียผลประโยชน์ต่อประเทศ และผลกระทบต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ยังพบว่า การแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนมุ่งเน้น แก้ปัญหาเป็นรายกรณี ไม่มุ่งป้องกัน หรือปรับปรุงหลักเกณฑ์ และมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในหลายหน่วยงาน

คณะกรรมการ ฯ เห็นว่า สิ่งที่เราต้องแก้ไขมากที่สุด คือการปรับปรุงกระบวนการทำกฎหมายของรัฐสภา เห็นได้จากกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ผลักดันมากกว่า 16 ปี ใช้เวลาพิจารณาในรัฐสภามากกว่า 5 ปี ก็ยังไม่แล้วเสร็จ หากไม่ใช่กฎหมายรัฐบาล พร้อมจะจัดตั้งสภาผู้บริโภคเพื่อตรวจสอบ และให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ในส่วนข้อเสนอด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. ต้องส่งเสริมให้เกิดฉลากอาหารที่เป็นมิตรกับผู้บริโภค โดยใช้มาตรการฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร ในขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม แทนที่ฉลากโภชนาการแบบสีเดียว (ฉลาก GDA / ฉลากหวานมันเค็ม) มีระบุฉลากสารที่จะก่อการแพ้ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานสารเคมีตกค้างในอาหารที่ปลอดภัยและชัดเจนของประเทศ

สำหรับข้อเสนอด้านสินค้าและบริการทั่วไป ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรตั้งคณะทำงานร่วมยกร่างกฎหมายจัดการปัญหาสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่อง ให้สิทธิและหน้าที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และควรดำเนินการให้ผู้บริโภคไทยเข้าถึงข้อมูลการเตือนเรื่องสินค้า (Product Alerts) ในอาเซียน

ข้อเสนอด้านบริการสาธารณะ ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะ ต้องยกเลิกรถโดยสารสองชั้นในเส้นทางเสี่ยง และการช่วยเหลือชดเชยเยียวยาต้องเป็นไปตามความร้ายแรงของการละเมิด

 

นอกจากนี้หน่วยงานรัฐต้องหาทางสนับสนุน การทำงานขององค์กรผู้บริโภค หรือใช้รูปแบบจากสิงคโปร์ในการเก็บเงินจากผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกร้องเรียน โดยกระบวนการพิจารณาจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมเคร่งครัด และเป็นมิตรกับประชาชน มีกระบวนการเยียวยาความเสียหายจากการรับบริการนั้นๆ อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังเห็นว่าหน่วยงานควรมีหน่วยให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องสิทธิ หน้าที่ ความรู้ทางด้านกฎหมาย เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อจากการรับบริการอีก อย่างไรก็ตามขณะนี้เราได้จัดทำข้อเสนอสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 7 ด้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการตามข้อเสนอต่อไป

รศ. ดร. จิราพร กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างกรณีของรถโดยสารสาธารณะที่มีปัญหาการตาย โดยเฉพาะรถทัวร์ 2 ชั้นซึ่งมีปัญหามากในขณะนี้เราเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งในส่วนที่จะมาควบคุมเรื่องมาตรฐานของรถ คนขับรถ ผู้ประกอบการ ที่สำคัญคือ ในการอนุญาตรถโดยสารคันใหม่ควรเปิดเฉพาะรถทัวร์โดยสารชั้นเดียว ทั้งนี้เพื่อลดการใช้รถทัวร์โดยสาร 2 ชั้นที่ค่อนข้างมีปัญหามาก นอกจากนี้ยังต้องบังคับใช้กฎหมายการจราจร การบังคับใช้เส้นทาง และการปรับปรุงถนนให้เหมาะสม โดยเฉพาะเส้นทางที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เช่น เส้นทางบริเวณทางเขา ที่มีทางโค้งและทางลาดชันค่อนข้างมาก

นอกจากนี้อีกหน่วยงานที่มีความสำคัญคือกระทรวงศึกษาธิการต้องทบทวนการจ่ายค่าหัวสำหรับนักเรียนที่จะไปทัศนศึกษา ในอัตราที่เพียงพอต่อการเช่ารถที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วจะต้องมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม มีการเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลที่คุ้มครอง และไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิดแต่ให้แยกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ออกจากค่ารักษาพยาบาล หรืออย่างกรณีข้อเสนอด้านบริการสาธารณะของพลังงานเราเห็นว่า รัฐบาลจะต้องปรับปรุงโครงสร้างกิจการพลังงานทั้งระบบให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง เพื่อลดสัดส่วนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศให้ลดน้อยลง

โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการคือ

1. ยกเลิกนโยบายการจัดสรรก๊าซ LPG ให้ปิโตรเคมีใช้เป็นลำดับแรก แต่ให้จัดสรรให้กับประชาชนเป็นอันดับแรกโดยเฉพาะภาคครัวเรือนโดยคิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริงบวกกำไรที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้ผลิต ไม่ใช่ไปอิงราคาตลาดโลก

2. สร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพิ่มให้เพียงพอต่อปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้

3.ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะมีการเก็บเงินจากประชาชนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยไม่มีการตรวจสอบ ทำให้โครงสร้างน้ำมันสำเร็จรูปไม่เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง

4. มีมาตรการเพื่อยุติการผูกขาดของบริษัท ปตท. ฯ ในกิจการพลังงานของไทย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

5. ยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และออกกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ โดยให้ประมูลสัมปทานการสำรวจและขุดในระบบสัญญาแบ่งปัน ที่มีรัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งการทำพลังงานไปใช้ต้องเกิดประโยชน์กับประชาชน ที่สำคัญคือให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นแทนบริษัท ปตท.ฯ

6. แก้กฎหมายห้ามมิให้ข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการพลังงาน เข้าดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทพลังงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง จนกว่าจะเกษียณอายุแล้ว 2 ปี

7. ให้มีศูนย์สารสนเทศด้านพลังงานที่เป็นอิสระ เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลในกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีระบบ มีอิสระ ไม่ซ้ำซ้อน หรือก่อให้เกิดความสับสน เข้าถึง เข้าใจได้ง่าย และเป็นข้อมูล ณ ปัจจุบันอยู่เสมอ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการประกอบกิจการพลังงานได้มากขึ้น

สำหรับข้อเสนอด้านที่อยู่อาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาริมทรัพย์ ต้องกำหนดมาตรฐานสัญญาเช่าปรับปรุงสัญญาซื้อขายบ้านและอาคารชุด ให้เป็นธรรมและมีมาตรฐานเดียว และเพิ่มมาตรฐานการรับรองโครงสร้างอาคารและอุปกรณ์ให้ระยะเวลาการคุ้มครองผู้บริโภคยาวนานขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากพบความชำรุดบกพร่องหรือเกิดปัญหาซ้ำเดิม ซ่อมแล้วซ่อมอีกต้องกำหนดมาตรการลงโทษผู้ประกอบการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง

ส่วนข้อเสนอด้านสื่อและกิจการโทรคมนาคม ในส่วนของ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังและให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคมากที่สุด และไม่เอื้อประโยชน์กับบริษัทเอกชนทั้งทางตรงและทางอ้อม หากพบการกระทำผิดหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสมตามที่กฏหมายกำหนดไว้ ขณะเดียวกัน กทค. ควรแก้ไขประกาศกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมชัดเจน สามารถป้องกันการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และต้องสามารถควบคุมการโฆษณที่ผิดกฎหมาย ทั้งไม่ขออนุญาต เกินจริง และเป็นเท็จได้

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้มีคณะทำงานซึ่งมีนักวิชาการด้านต่าง ๆ ช่วยสนับสนุนการจัดทำวิจัยเพื่อเสนอมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคใน 7 ด้าน คือ

1.การศึกษาบริการฉุกเฉิน และความไม่ครอบคลุมของบริการสาธารณสุขของแรงงาน ซึ่งจากปัญหาของประชาชนในการใช้บริการในกรณีฉุกเฉิน และมีความเหลื่อมล้ำกันของ 3 กองทุนสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) หรือปัญหาความรับผิดชอบของโนรงพยาบาลเอกชนต่อสุขภาพองคนไทย

2. ศึกษาการกำกับดูแลบริการการบินต้นทุนต่ำในต่างประเทศ และจัดทำข้อเสนอต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคกรณีใช้รถโดยสาร 2 ชั้น ที่จะเห็นว่าไม่ได้มาตรฐาน มีการดัดแปลงผิดรูปแบบ และไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัย หรือมีแต่ใช้ไม่ได้ ไม่มีการบังคับใช้ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากกว่าปกติ

3. การศึกษาการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในระดับสำนักงานขนาดเล็ก และการจัดทำข้อเสนอต่อกิจการพลังงาน ซึ่งปัจจุบันจะพบว่ามีการผูกขาดของกลุ่มธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคในด้านโครงสร้างการจัดการและโครงสร้างราคาพลังงาน โดยประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบมาที่สุด และขาดระบบรวมทั้งกลไกการอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

4. ด้านโทรคมนาคมที่มีการแก้ปัญหาแบบรายกรณี ไม่บังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง

5. ปัญหาการฉ้อโกงและคุณภาพการก่อสร้างด้านที่อยู่อาศัย

6. การศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีความชำรุดบกพร่องของสินค้าแต่ไม่สามารถใช้สิทธิในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนคืนได้ (Lemon Law) ในประเทศเยอรมันและสิงคโปร์

7. การศึกษาด้านการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมในต่างประเทศ โดยปัญหาขณะนี้พบว่า ธนาคารต่างๆ หันมาประกอบธุรกิจประกันชีวิต หลักทรัพย์ และ กองทุน มีผลกระทบต่อผู้บริโภค เช่น ปัญหาบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจเช่าซื้อ และ บริการอื่น ๆ ของธนาคารพาณิชย์ และจากการตรวจสอบข้อการร้องเรียนพบว่า บางกรณีเกิดจากการที่ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการบิดเบือนข้อมูลผลประโยชน์และภาระค่าใช้จ่าย ยัดเยียดการขาย บังคับขายพ่วงประกันชีวิตที่ทางธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์ สร้างสิ่งจูงใจเพื่อล่อให้ซื้อบริการแต่ในทางปฏิบัติกลับพบเงื่อนไขมากมาย รวมถึงการปล่อยเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ในงานสมัชชาผู้บริโภค ประจำปี 2557 นี้ ได้จัดให้มีการโหวตหน่วยงานที่ผู้บริโภคสามารถดำเนินการเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคได้ดีที่สุด ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน( ศคง.) และรางวัลบุคคลใช้สิทธิยอดเยี่ยม ปี 2556 ผู้ที่ได้รับรางวัล มี 2 รางวัล ได้แก่

1.นายประทีป เข็มกำเนิดที่คณะกรรมการ ฯ ได้พิจารณาคุณสมบัติ พบว่า เป็นผู้ที่พิทักษ์สิทธิตนเอง มีการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้เดือนร้อนอื่นๆ

2.นางจาฎุพัจน์ พงษ์ธีรมิตรจากการพิจารณาคุณสมบัติ พบว่า เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการพิทักษ์สิทธิตนเอง

ส่วนรางวัล กลุ่มใช้สิทธิยอดเยี่ยม ปี 2556 กลุ่มที่ได้รับรางวัล มี 2 รางวัล คือ

1.กลุ่มผู้เสียหายจากกรณีรถยนต์มือหนึ่งชำรุดบกพร่อง จากการพิจารณาคุณสมบัติ พบว่า เป็นกลุ่มที่สร้างการมีส่วนร่วมและติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง

2.กลุ่มผู้เสียหายจากกรณีร้องเรียนแคลิฟอร์เนียฟิตเนส ว้าว จากการพิจารณาคุณสมบัติ พบว่า เป็นกลุ่มที่มีความมุ่งมั่น แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยวิธีการอาศัยธุรกิจมาเอาเปรียบผู้บริโภค

สมัชชาเปิดความก้าวหน้าคุ้มครองผู้บริโภค ไม่รอรัฐ-กฎหมาย ลุยเอง

     ประชุมสมัชชาผู้บริโภค เปิดผลการทำงานก้าวสู่ปี 2 ดันสำเร็จ ยกเลิกค่าธรรมเนียมโอนเงินทางเอทีเอ็ม, ร่วมมือห้างใหญ่เข้มงวดสารเคมีตกค้างในผัก, ปรับปรุงกฎหมายให้มูลนิธิผู้บริโภคเป็นผู้แทนฟ้องร้องผู้ประกอบการได้ ชูโมเดลสิงคโปร์ให้ผู้ประกอบการที่ถูกฟ้องออกค่าใช้จ่าย

     28 เมษายน 2557 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในงานประชุมสมัชชาผู้บริโภค ประจำปี 2557 “ร่วมตรวจสอบ เสนอแนะ แสดงพลังผู้บริโภค” มีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คนจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 72 จังหวัด กลุ่มผู้เสียหาย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจทั่วไป

     น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวเปิดงานว่า งานวันนี้เป็นการรวมพลคนรักษาสิทธิประจำปีก่อนจะถึงวันที่ 30 เมษายนซึ่งถูกกำหนดเป็นวันผู้บริโภคไทย ที่ผ่านมาประเทศไทยซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่เสียงส่วนใหญ่คือ “ผู้บริโภค” ไม่เคยเสียงดัง เท่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าสภาอุตสาหกรรม สมาคมหอการค้า สมาคมธนาคารไทย

     “วันนี้เรามาทวงสิทธิ ไม่ใช่ร้องขอสิทธิ เราไม่รอกฎหมายอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว เราจะเดินหน้า เราจะต่อสู้ของเราเอง เพราะสิทธิผู้บริโภคคือสิทธิพลเมือง คือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน เป้าหมายของเราคือทำให้ผู้บริโภคทุกคมีความรู้และสามารถปกป้องสิทธตนเองได้” บุญยืนกล่าวและว่า ภาคประชาชนได้คัดเลือกและจัดตั้ง ‘คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน’ ขึ้นเองแล้ว หลังจากรัฐบาลได้ยุบสภาไปโดยที่ ร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ… ที่ประชาชนรวบรวมรายชื่อเสนอค้างอยู่ในวาระที่ 3 ของผู้แทนราษฎร

     นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลสื่อยอดเยี่ยมให้แก่สารคดีเชิงข่าวเรื่อง “ผู้บริโภครวมตัวร้องเรียนกรณีระบบเกียร์ของรถเชฟโรเล็ทออกอากาศทางช่อง TPBS 9 ตอน” จัดทำโดยวรลักษณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

     น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันเรื่องต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมาว่า การจัดการเรื่องการโฆษณาในเคเบิลทีวีและวิทยุชุมชนนั้น เห็นความพยายามและความร่วมมือระหว่าง กสทช. องค์การอาหารและยา (อย.) และตำรวจคุ้มครองผู้บริโภคที่กำหนดจะจัดการปัญหาที่ได้รับร้องเรียนภายใน 7 วัน, ด้านการรักษาพยาบาล นโยบายเกี่ยวกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นกำหนดให้ประชาชนใช้สิทธิที่ใดก็ได้หากมีเหตุอันควร แม้เป็นความก้าวหน้าทางนโยบายแต่มีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มาก รพ.เอกชนหลายแห่งยังไม่รับเงื่อนไขนี้ เนื่องจากราคาที่ สปสช.จ่ายให้ยังไม่เป็นที่พอใจ จึงเป็นเรื่องท้าทายที่ผู้บริโภคต้องทำให้ รพ.เอกชน 100-200 แห่งนี้เข้ามาอยู่ในระบบสุขภาพมากขึ้น และออกกฎให้รพ.เอกชนสำรองเตียงฉุกเฉินไว้ 20% ด้วย เพื่อเป็นการรับผิดชอบระบบสุขภาพของประเทศร่วมกัน

 

     สารีกล่าวถึงความก้าวหน้าอีกเรื่องว่า ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอนุญาตให้สมาคมหรือมูลนิธิฟ้องคดีแทนได้ แต่ก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์ออกมาว่าจะต้องทำอย่างไร นอกจากนี้ขอเสนอสิ่งที่ท้าทายต่อไปเลยว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีประสบการณ์การฟ้องคดีมาประมาณ 500 คดีพบว่ามีค่าใช้จ่ายสูงมาก เพียงค่าทนายอาสาไปศาลก็สูงถึง 600 บาทต่อครั้ง จึงเห็นควรให้มีกลไกสนับสนุน โดยขอเสนอโมเดลของสิงคโปร์ที่กำหนดว่า หากบริษัทใดถูกร้องเรียนให้บริษัทนั้นจ่ายเงินในการไกล่เกลี่ยให้กับองค์กรผู้บริโภคที่ดำเนินการด้วย

     เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่อว่า ยังมีความก้าวหน้าด้านอื่นๆ เช่น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินทางอินเตอร์เน็ตหรือเอทีเอ็ม ความตื่นตัวเรื่องการไม่ยืนบนรถตู้ ความไม่ปลอดภัยของรถทัวร์สองชั้น นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าในเชิงการทำงานกับภาคเอกชนมากพอควร เช่น ความร่วมมือกับบริษัททรู ในการกำกับค่าบริการในต่างประเทศ หรือกรณีสารเคมีตกค้างในผัก มีความร่วมมือกับผู้ค้ารายใหญ่หลายเจ้า ทุกบริษัทรับปากว่าจะพยายามกำกับอย่างเข้มข้นไม่ให้มีสินค้าที่ใช้สารเคมีที่ถอนทะเบียนแล้ว, พยายามหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีสารเคมีที่เป็นอันตราย 7 ตัว, ผลักดันการออกค่ามารตรฐานสารเคมีตกค้าง

     รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผอ.สถาบันวิจัยสังคม และ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภค (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการดำเนินการของภาครัฐ โดยแบ่งเป็นเรื่องที่มีความคืบหน้า เช่น การยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรที่อันตราย, การพัฒนามาตรฐานรถตู้สาธารณะ เรื่องที่หน่วยงานรัฐไม่กระตือรือร้น เช่น การแบนแร่ใยหินในอุตหสาหกรรม เรื่องที่ได้รับการต่อต้าน คือ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ที่ภาควิชาชีพยังต่อต้านมาก และ พ.ร.บ.ยา ซึ่งไปเกี่ยวพันกับภาคธุรกิจ

     น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผอ.สถานีวิทยุจุฬาฯ กล่าวถึงความไม่คืบหน้าในด้านสื่อ โดยเฉพาะบทบาท กสทช. ซึ่งกำหนดว่าจะจัดสรรคลื่น 20% ให้ประชาชน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นภาคประชาชนเรียกร้องสิทธิ 20% ของตัวเอง ไม่เคยทวงถามใบอนุญาตที่ไม่ยังเกิดขึ้นเสียที กรณีคลื่นความถี่เดิมของวิทยุ 500 กว่าคลื่นในภาครัฐก็ยังไม่เห็น กสทช.เรียกคืนคลื่นได้สักคลื่น การประมูลคลื่นความถี่ของภาคธุรกิจที่ประมูลไปแล้ว ประชาชนก็เข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมาก ขณะที่ธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของ กสทช. ก็ยังไม่มีความก้าวหน้าทั้งที่เป็นข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตรวจสอบการทำงาน

     ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า ขณะที่คนทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมักถูกฟ้องจากผู้ประกอบการ แต่ผู้บริโภคที่ถูกหลอกจะไปร้องเรียนผู้ประกอบการนั้นยากมาก ทั้งที่ปัญหาการเงินการธนาคาร มีความรุนแรง เร่งด่วนและส่งผลกระทบต่อสังคมกว้างมาก เช่น กรณีสัมพันธ์ประกันภัยล้ม ก่อนจะล้มเล็กน้อยคนก็ยังทำประกันเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ข่าว เรื่องของหน่วยงานกำกับดูแลก็ไม่ชัดเจนเพราะธุรกิจการเงินนั้นซับซ้อนมาก ทำให้หลายเรื่องยังคงมีช่องโหว่ในการดูแลจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังก็ตาม ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานกำกับดูแลแล้วเพื่อปรับปรุงมาตรฐานการกำกับดูแลแล้ว นอกจากนี้บทบาทของท้องถิ่นก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึน และเป็นอีกกลไกหนึ่งน่าจับตาในการไกล่เกลี่ยปัญหาผู้บริโภคในพื้นที่

     ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2557 โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แผนงานกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

 

กิจกรรม คคส. เดือน มีนาคม 2557

แถลงข่าว “สระบุรี ของดี กะหรี่ดัง ปลอดสารโพลาร์” ณ ตลาดน้ำดาวเรือง ต.ดาวเรือง อ.เมืองสระบุรี

(7 ก.พ.57) โครงการสระบุรี  ของดี กะหรี่ดัง ปลอดสารโพลาร์ ภายใต้การสนับสนุนของ คคส. จัดแถลงข่าว “สระบุรี ของดี กะหรี่ดัง ปลอดสารโพลาร์” ณ ตลาดน้ำดาวเรือง ต.ดาวเรือง อ.เมืองสระบุรี โดยจังหวัดสระบุรี เดินหน้ายกระดับคุณภาพของฝากยอดนิยม กะหรี่ปั๊บ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคทั่วไป

ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์ให้แม่ค้าพ่อค้าที่จำหน่ายของทอด ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพน้ำมันที่ใช้ในการทอดอาหาร และไม่ใช้น้ำมันที่ถูกรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ หรือใช้น้ำมันทอดซ้ำกันหลายๆครั้ง จนเกิดสารก่อมะเร็ง นอกจากทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ผู้ขายเองก็ได้รับอันตรายจากการสูดดมถึงขั้นเป็นมะเร็งเช่นกัน

โดยจังหวัดสระบุรีได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำมันที่ใช้ในการทอดอาหารจำหน่ายของผู้ลิตหรือขายอาหาร พร้อมแนะนำผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหารทอดให้สังเกตจากป้ายรับรองมาตรฐาน และมีนโยบายขยายพื้นที่การทำงานจาก 2 อำเภอ (อ.เมือง และ อ.มวกเหล็ก) สู้ 13 อำเภอ ในจังหวัดสระบุรี

 

ศึกษาดูงานและประชุมเรื่อง ความร่วมมือในการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ณ สระบุรี

(10 เม.ย.57) ศึกษาดูงานและประชุมเรื่อง ความร่วมมือในการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ณ โครงการจัดตั้งสำนักงานจัดการพื้นที่จุฬาฯ-สระบุรี อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลแก่งคอย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อศึกษาดูงานเครื่องผลิตไบโอดีเซล ณ โครงการจัดตั้งสำนักงานจัดการพื้นที่จุฬาฯ-สระบุรี และประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ในจังหวัดสระบุรี โดยมีผู้ร่วมศึกษาดูงานและประชุม จาก คณะทำงานสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ ส่วนราชการจังหวัดสระบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี โรงพยาบาลแก่งคอย ประมาณ 30 คน

 

เสวนา “ปฏิรูปการคุ้มครองสุขภาพคนไทย ยกเลิกแร่ใยหิน” ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์

(28 มี.ค.57) แผนงาน คคส.ร่วมกับ เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย(T-BAN) และสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.)จึงได้จัดการเสวนา “ปฏิรูปการคุ้มครองสุขภาพคนไทย ยกเลิกแร่ใยหิน” ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ มีผู้เข้าร่วมเสวนาจำนวน 50 คน

วัตถุประสงค์ของการจัดเสวนามีดังนี้ 1)เพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้สาธารณชนรับทราบ 2)เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนานโยบายขจัดโรคจากแร่ใยหินในประเทศไทย 3)เพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายขจัดโรคจากแร่ใยหิน

โดยมีนักวิชาการจาก เครือข่าย T-BAN ร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ การแปรรูปเจตนารมณ์ มติ ครม. สถานการณ์แร่ใยหินในประเทศไทย อันตรายเชิงประจักษ์ของแร่ใยหินและความเข้าใจผิด (คนป่วยในไทย จำเป็นหรือไม่ที่ต้องรอ) และเจตนารมณ์คนไทยกับแร่ใยหิน

 

ประชุมวิชาการ เรื่อง “การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยในระดับจังหวัดและระดับภาค

(13-14 มี.ค.57) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการ เรื่อง “การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยในระดับจังหวัดและระดับภาค”ณ ริชมอนด์ บอลลูม โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี

เพื่อให้ผู้รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัดเข้าใจการจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย (Issue Prioritization) และได้แนวทางความร่วมมือกันในระดับภาคในการจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยเภสัชกรประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 76 แห่งๆละ 2 คน รวมจำนวน 120 คน

ผลจากการประชุม เภสัชกรจังหวัดสามารถนำหลักเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยไปใช้ในการดำเนินการในระดับจังหวัด

 

ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโฆษณาที่ไม่เหมาะสมทางสื่อวิทยุกระจายเสียงวิทยุ ณ โรงแรมธนินทร กรีนปาร์ค จังหวัดร้อยเอ็ด

(25 มี.ค.57) สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับ อย. กสทช. ภาครัฐ เอกชน องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงในจังหวัดร้อยเอ็ด รวม 14 หน่วยงาน ได้จัดเวทีสัมมนา เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโฆษณาที่ไม่เหมาะสมทางสื่อวิทยุกระจายเสียงวิทยุ ณ โรงแรมธนินทร กรีนปาร์ค จังหวัดร้อยเอ็ด

โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้โครงการการจัดการปัญหาการโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จังหวัดร้อยเอ็ด (คคส.) หวังชูร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดนำร่อง โดยมีเภสัชกร ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธาน

ร่วมด้วย นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดร่วมในการสัมมนาในครั้งนี้ด้วย

การจัดเวทีสัมมนาในครั้งนี้ มีผู้ที่เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วย เครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงจำนวน 150 คน ตัวแทน อสม.อำเภอละ 1 คน จาก 20 อำเภอ เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 20 คน เภสัชกรจากโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 20 คน สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ดจำนวน 10 คน และจากองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 30 คน รวมทั้งสิ้น 250 คน

ผลการดำเนินโครงการด้านผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน

ผลการดำเนินโครงการด้านผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน

ผลจาการดำเนินโครงการโครงการความร่วมมือเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินอันส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จังหวัดเชียงราย ทำให้เทศบาลแม่ยาว ออกประกาศเทศบาลตำบลแม่ยาว เรื่อง กำหนดแนวทางการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารให้ปลอดภัยจากแร่ใยหิน ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

 

 

ภาพประกาศเทศบาลตำบลแม่ยาว เรื่อง กำหนดแนวทางการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารให้ปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน, ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556

การจัดการปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ

สนับสนุนองค์ความรู้การการจัดการปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ

และการประชุมหารือเรื่องน้ำมันทอดซ้ำร่วมกับคณะทำงานสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ

(3-5 มี.ค.57) โครงการปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ ภายใต้แผนงานฯ (1) สนับสนุนองค์ความรู้การการจัดการปัญหาน้ำมันทอดซ้ำให้กับ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย (2) สนับสนุนการทุนทำงาน 2 เทศบาล เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร และ เทศบาลตำบลกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี และ อยู่ระหว่างดำเนินการสนับสนุนทุนการทำงาน สำนักงานเทศบาลตำบลสามแยก อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร

 

ภาพที่ 1 สนับสนุนองค์ความรู้การการจัดการปัญหาน้ำมันทอดซ้ำให้กับ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย

 

 

(6 มี.ค.57) ประชุมหารือเรื่องน้ำมันทอดซ้ำร่วมกับคณะทำงานสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ ณ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ เพื่อขยายความร่วมมือในการจัดการปัญหาน้ำมันทอดซ้ำร่วมกัน ผลจากการประชุมนำไปสู่การเตรียมปฏิบัติการจัดการปัญหาน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ณ เกาะสีชัง จ.ชลบุรี

ภาพที่ 2 ประชุมหารือเรื่องน้ำมันทอดซ้ำร่วมกับคณะทำงานสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ

คคส. ติดตาม”ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม”

คคส. ร่วมกับ คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาพัฒนาและติดตามกฎหมายหรือร่างกฎหมายที่มีผลต่อการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม

คณะอนุกรรมการสื่อสารสมาชิกและการมีส่วนร่วม และ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) สภาเภสัชกรรม จัดสัมมนา เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. …. กับบทบาทพิทักษ์สิทธิวิชาชีพและคุ้มครองประชาชน ณ ห้องกินรี 2 โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537

โดยผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนสภาเภสัชกรรมประจำจังหวัด, องค์กรวิชาชีพ, สมาคมวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 40 คน

ซึ่งผลจากการประชุม จะนำไปเป็นข้อมูลในการยกร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. …. ต่อไป

ประชุมวิชาการ : ร้อยปีวิชาชีพเภสัชกรรมไทย ร่วมใจคุ้มครองผู้บริโภค

ประชุมวิชาการ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.)  ครั้งที่ 2

เรื่อง ร้อยปีวิชาชีพเภสัชกรรมไทย ร่วมใจคุ้มครองผู้บริโภค

คคส. ร่วมกับ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย(วคบท.) จัดประชุมวิชาการ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย(วคบท.)  ครั้งที่ 2 เรื่อง ร้อยปีวิชาชีพเภสัชกรรมไทย ร่วมใจคุ้มครองผู้บริโภค ณ ห้องกินรี 2 โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต

ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค นำไปสู่การเกิดระบบบริหารจัดการและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ และ ชี้แจงรายละเอียดหลักสูตรและกระบวนการฝึกอบรมเพื่อรับหนังสืออนุมัติ แสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วยเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 60

(15 ม.ค.57)

 

วิพากษ์ร่างพระราชบัญญัติการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก

ประชุมวิพากษ์ร่างพระราชบัญญัติการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก

(17 และ 26 ธ.ค. 56) ประชุมวิพากษ์ร่างพระราชบัญญัติการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. …. ณ ห้องประชุม คคส. (210) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยภาคีองค์กรที่เกี่ยวข้องจำนวน  20 คน ผลจากการประชุมนำไปสู่การปรับปรุง ร่างพ.ร.บ.การตลาดนมดัดแปลง อาหารและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. …. (ฉบับประชาชน)  เพื่อเป็นการคุ้มครองทารกและเด็กเล็กจากการทำการตลาดอาหาร

ประชุมสมัชชา ๑๐๐ ปี วิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์

ประชุมสมัชชา ๑๐๐ ปี วิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์

(10-12 ม.ค.57) แผนงานร่วมกับ สภาเภสัชกรรม ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) และ 22 องค์กร จัดประชุมสมัชชา ๑๐๐ ปี วิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์: บทบาทเภสัชกรต่อสังคมไทยในศตวรรษที่ ๒” ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 600 คน เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์ ตามบทบาทที่สังคมได้มอบอำนาจและหน้าที่ (Legal Authority) ให้ตามกฎหมายวิชาชีพอย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๖๕๖)

ซึ่งแผนงานฯ ในฐานะคณะอนุกรรมการสาขาคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดทำและนำเสนอ “ข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์การพัฒนาสาขาวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาคุ้มครองผู้บริโภค” ทั้งรูปแบบบรรยาย และชุดนิทรรศการ ร่วม “วิพากษ์ทิศทางและอนาคตการศึกษาเภสัชศาสตร์ในสาขาวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาคุ้มครองผู้บริโภค”และร่วมจัดนิทรรศการประเด็นน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ

ประชุมการนำเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย

จัดประชุมการนำเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย

(20 พ.ย.56) จัดประชุมการนำเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยไปใช้ในระดับ ณ ห้องประชุมกลุ่มเงินทุนหมุนเวียนฯ อาคารเงินทุนหมุนเวียน ชั้น 4 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยเชิญ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ คบ.เขต จำนวน 12 เขต ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดจำนวน 27 คน เพื่อเข้ารับฟังความเป็นมา ความสำคัญของการจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย พร้อมทำความตกลงร่วมกันในแนวทางการนำเกณฑ์ฯไปใช้ในระดับเขต/ ระดับภาค