19 ข้อเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19

1.

สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลก วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 มียอดรวมผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งสิ้น 82,152 คน ผู้เสียชีวิต 2,799  คน และผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 32,814 คน

2.

ที่อิตาลี มีรายงานว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นรวมเป็น 400 ราย โดยเป็นการเพิ่มขึ้นมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ทำให้อิตาลีกลายเป็นจุดแพร่ระบาดหนักในยุโรป

3.

สำหรับประเทศไทย มีตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งสิ้น 40 ราย รักษาหายแล้ว 24 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 16 ราย ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรคอยู่ที่ 1,798 ราย ให้กลับบ้านและติดตามอาการ 1,247 ราย ที่เหลือ 551 ราย ยังคงอยู่ที่โรงพยาบาล

4.

กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ COVID-19 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ว่ามีการตรวจพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 3 ราย อยู่ในครอบครัวเดียวกัน รายที่ 1 เป็นชายไทย อายุ 65 ปี มีประวัติไปเที่ยวฮอกไกโด โดยปกปิดข้อมูลการเดินทาง รายที่ 2 เป็นภรรยาอายุ 62 ปี เดินทางไปเที่ยวด้วยกัน ส่วนรายที่ 3 เป็นหลานวัย 8 ขวบ ไม่ได้ไปต่างประเทศ แต่ใกล้ชิดปู่ย่าจึงติดเชื้อไปด้วย

5.

ผลจากการที่ผู้ป่วยปกปิดประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้บุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลบี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 30 คน มีความเสี่ยงสูงจากการที่ได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย

6.

ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองที่โรงเรียนพระหฤทัยดอนเมืองเกิดความแตกตื่นภายหลังทราบข่าวว่า ผู้ป่วยเด็กวัย 8 ขวบ ได้เข้ามาเรียนเป็นเวลา 1 วัน ทำให้ครูและนักเรียนในชั้นประมาณ 50 คน มีความเสี่ยงติดเชื้อ ทางโรงเรียนจึงมีคำสั่งปิดโรงเรียน 14 วัน ตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 10 มีนาคม 2563 นอกจากนี้ได้มีการขยายผลไปยังสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย ซึ่งทำงานอยู่ที่ธนาคารธนชาต สาขาดอนเมือง โดยทางธนาคารได้สั่งปิดสาขาเป็นเวลา 3 วัน เพื่อเช็ดล้างทำความสะอาด

7.

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงศึกษาธิการทำหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานราชการและสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยขอให้ครูและนักเรียนที่เดินทางกลับจาก 6 ประเทศเสี่ยง ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ หยุดเรียนและหยุดปฏิบัติงาน เพื่อเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 14 วัน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุข

8.

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ให้ออกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ลำดับที่ 14 เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรคมากยิ่งขึ้น ทำให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจในการดำเนินการหรือออกคำสั่ง เช่น ให้ผู้ที่เข่าข้ายเฝ้าระวังมารับการตรวจและกักกันตัว กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งปิดสถานที่ชุมนุมชนได้เป็นการชั่วคราว

9.

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยังได้จัดทำแผนเผชิญเหตุ COVID-19 ประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่ 1.การคัดกรองและเฝ้าระวังผู้ป่วยที่ช่องทางเข้าออกประเทศ สถานพยาบาล และในชุมชน 2.การดูแลรักษาผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อ 3.การติดตามผู้สัมผัสโรค 4.การสื่อสารความเสี่ยง 5.การใช้มาตรการทางสังคมและกฎหมาย และ 6.การประสานงานและจัดการข้อมูล

10.

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า อยากขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานราชการทุกแห่ง ขอให้เลื่อนการประชุมในประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะการไปท่องเที่ยว ขอวิงวอนสายการบินหยุดโปรโมชั่นตั๋วราคาถูกเพื่อดึงดูดให้คนไปเที่ยว และขอให้คนไทยอย่าทำเป็นไม่รู้สึกรู้สา หรือเห็นแก่ตั๋วเครื่องบินราคาถูก เพราะหากติดเชื้อแล้วอาจจะกลายเป็นการไปเที่ยวครั้งสุดท้าย ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขเองได้ออกประกาศห้ามบุคลากรเดินทางไปยังกลุ่มประเทศเสี่ยงโดยเด็ดขาด

11.

นอกจากนี้ มีข้อแนะนำจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า หากประชาชนมีอาการเข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ หรือมีประวัติเดินทางไปยังประเทศเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับผู้ที่เคยเดินทางไปต่างประเทศ สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านตามสิทธิการรักษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

12.

มีการศึกษาที่คาดการณ์จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสนี้ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า คนติดเชื้อคนหนึ่งจะสามารถแพร่ไปให้คนอื่นได้ราว 2-6 คน

13.

จำนวนคนโดยเฉลี่ยที่ติดเชื้อจากการได้รับเชื้อจากคนที่ติดเชื้อเดิมในช่วงเวลาที่สามารถแพร่ได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Reproduction number (R0) ถ้า R0 น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 มักจะไม่กังวลว่าจะเกิดการระบาดของโรค ดังนั้นไวรัสนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้การระบาดขยายตัวไปเรื่อยๆ หากไม่มีการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดอย่างทันท่วงที

14.

ไวรัสนี้น่าจะเข้าสู่เซลล์ปอดผ่านทางตัวรับที่เรียกว่า Angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) receptor เซลล์ปอดของคนเอเชียมีจำนวนตัวรับนี้มากกว่าคนตะวันตกผิวขาว และคนแอฟริกัน-อเมริกัน ถึง 5 เท่า นั่นอาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสนี้ของคนเอเชียที่มากกว่าคนตะวันตก

15.

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนชนิดใดที่สามารถยับยั้งไวรัส COVID-19 ได้หายขาด นักวิจัยต่างกำลังทำงานเพื่อพัฒนาตัวยาสำหรับไวรัสชนิดนี้ เนื่องจากไวรัส COVID-19 ถือเป็นเชื้อใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ มีโครงการที่พยายามศึกษาวิธีรักษาโรคนี้ในประเทศจีนกว่า 80 โครงการ ทั้งการใช้ยาแผนปัจจุบัน และการแพทย์ทางเลือก รวมถึงในประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคนี้ ก็กำลังศึกษากันอย่างเต็มที่ แต่ยังไม่มีการรักษาใดที่จะใช้เป็นมาตรฐานได้

16.

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ระบุว่าระยะเวลาฟักตัวของไวรัสนี้ โดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 1-14 วัน ก่อนที่จะแสดงอาการออกมา (บางงานวิจัยระบุว่า 2-10 วัน) แต่ล่าสุดทางการท้องถิ่นของจีนเผยว่ามีความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัส COVID-19 อาจมีระยะฟักตัวนานถึง 27 วัน มากกว่าระยะฟักตัวเดิมที่คาดไว้เกือบ 1 เท่า

17.

ผลวิเคราะห์ไวรัส COVID-19 บางสายพันธุ์อยู่บนพื้นผิวที่อุณหภูมิห้องนานสุด 9 วัน แต่โดยเฉลี่ย มีชีวิตอยู่ได้ระหว่าง 4-5 วัน บนวัตถุหลายอย่าง อาทิ เหล็ก อลูมิเนียม ไม้ กระดาษ พลาสติก และแก้ว

18.

ผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจควรใช้หน้ากากอนามัย เพราะจะป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ราว 80 เปอร์เซ็นต์ แต่หากจะป้องกันไวรัสที่มีขนาดเล็กมากๆ ต้องใช้หน้ากากประเภท N95

19.

วิธีป้องกันที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ คือ การมีสุขอนามัยที่ดีและล้างมือสม่ำเสมอ รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด

 

อ้างอิง