ไข้หวัดใหญ่​ไม่ใช่ไข้หวัด​หมู โรคประจำฤดูที่ทำชาวไต้หวันตายแล้ว 56 คน

ขณะที่ทั่วโลกยังคงตื่นตระหนกกับการระบาดจากไวรัสโคโรนากันอยู่ ฟากประเทศสหรัฐอเมริกาก็กำลังรับมือกับไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกันเองอย่างเงียบๆ ไต้หวันกำลังเผชิญกับโรคไข้หวัดใหญ่อีกสายพันธุ์หนึ่งอยู่เช่นกัน นั่นก็คือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A (H1N1) หรือที่ผู้คนกำลังพูดถึงกันในชื่อ ‘ไข้หวัดหมู’

สถานการณ์ในไต้หวันเริ่มเกิดการระบาดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2019 ตรงกับช่วงช่วงฤดูหนาวของไต้หวัน ซึ่งเป็นฤดูที่ไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดเป็นประจำทุกปี (Seasonal Influenza) ในขณะนี้พบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 56 ราย อายุระหว่าง 47-97 ปี และมีคนไข้เข้ารับการรักษาตัวอยู่ประมาณ 771 คน

สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ได้สอบถามข้อเท็จจริงกับกรมควบคุมโรคไต้หวัน และได้ออกมาชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ ระบุว่า กลุ่มผู้ติดเชื้อที่อาการหนักส่วนใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา อายุระหว่าง 50-64 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเหล่านี้ ไม่ได้ฉีดวัคซีนใดๆ และมักมีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ผู้เสียชีวิตจำนวน 11 คนจากทั้งหมด ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหรือร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว เมื่อพวกเขาเป็นไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้โรคประจำตัวมีอาการแย่ลงจนถึงแก่ความตาย

โรคไข้หวัดหมู (Swine Flu) เคยระบาดมาแล้วในปี 2009 และมีชื่อเรียกในช่วงนั้นว่า โรคไข้หวัดหมู หรือ ไข้หวัด 2009 ต่อมาองค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนชื่อเรียกโรคไข้หวัดหมู เป็น โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A (H1N1) เกิดจากการผสมผสานของไวรัสสายพันธุ์ของคน หมู และนก ไม่เป็นที่ปรากฏชัดว่า เชื้อนี้ได้เริ่มติดในคนเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไร แต่เมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นแล้ว พบว่าเป็นการแพร่กระจายและติดต่อจากคนสู่คน ไม่ได้พบในหมูทั่วไป จึงไม่ติดต่อโดยการสัมผัสหรือกินเนื้อหมู โรคนี้คือคนละโรคกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือที่มักเรียกกันว่าโรคไข้หวัดหมูเช่นเดียวกัน ที่เคยระบาดอย่างรุนแรงในประเทศจีน กัมพูชา เวียดนาม และหลายประเทศในเอเชียเมื่อปี 2018

โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A (H1N1) คือการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนล้า เจ็บคอ ไอ มีไข้ น้ำมูกไหล ท้องเสียหรืออาเจียน ปวดศีรษะ หอบ สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปประเทศไต้หวันในขณะนี้ สามารถป้องกันการเกิดโรคได้โดยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และควรฉีดวัคซีนก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ควรหมั่นล้างมือ และใส่หน้ากากอนามัยเสมอเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ระบุว่า ในไตรมาสที่แล้วทั่วโลกก็มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้เป็นอย่างมาก สหรัฐอเมริกามีประชาชนจำนวน 19 ล้านรายที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้ และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 10,000 ราย และเมื่อเปรียบเทียบการระบาดของไข้หวัดใหญ่นี้ในอเมริกาแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตในไต้หวันขณะนี้มีเพียง 56 ราย ซึ่งถือว่าไม่รุนแรง และขณะนี้สถานการณ์บรรเทาลงอย่างต่อเนื่อง

 

อ้างอิง

origin-www.roc-taiwan.orgsi.mahidol.ac.th

ncbi.nlm.nih.gov

who.int