ใช้ยาปฏิชีวนะไม่สมเหตุผล ต้นเหตุเชื้อดื้อยา

“ขณะนี้เชื้อโรคดื้อยาค่อนข้างเยอะ ภาคใต้เจอคนไข้วัณโรคดื้อยาทุกชนิด ค่ารักษาตกราว 2 ล้านบาทต่อคน อัตราการหายจากโรค 30 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักๆ เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะในระดับชุมชนอย่างไม่เหมาะสม”

นพ.กำพล กาญจโนภาส รองประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง กล่าวถึงความสำคัญที่ต้องหยิบยกประเด็นนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคมนี้

“เรื่องนี้ส่งผลต่อระบบงบประมาณด้วย จาก 1,000 กว่าบาท เป็น 3,000 กว่าบาทต่อหัว ภายใต้งบประมาณจำนวนนี้ เกินครึ่งหนึ่งเป็นค่ายา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตั้งแต่ระดับชุมชนขึ้นมาเลย” นพ.กำพล กล่าวเสริม

 

ปัญหาการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมอาจฟังดูไม่ร้ายแรง หากในทางปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพประชาชนและระบบงบประมาณ อีกทั้งการจัดการเรื่องนี้ก็ยากยิ่ง ร่างมตินี้จึงนำเสนอภาพรวมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นั่นคือ การสร้างจิตสำนึกที่ดีและการตระหนักรู้ของบุคคล การบริหารจัดการระบบยาที่ดี และการกำกับติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องนี้ไม่เพียงเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทย แต่ยังเป็นปัญหาร่วมในระดับโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า กว่าร้อยละ 50 ของการใช้ยาในประเทศกำลังพัฒนา เป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมและสูญเปล่า

ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลที่พบบ่อย ได้แก่ ผู้ให้บริการอาจมีการสั่งยาไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษา หรือตัวผู้ป่วยเองอาจมีการใช้ยาหลายขนานร่วมกัน เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการดื้อยา การใช้ยาฉีดเกินจำเป็นทั้งที่ใช้ยาทานได้ และซื้อยากินเองจากร้านชำ ฯลฯ

ประเทศไทยมีมูลค่าการบริโภคยาประมาณร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านยาต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพเพียงร้อยละ 10-20

ข้อมูลจากการศึกษาวิจัย พบการบริโภคยาอย่างไม่เหมาะสมในทุกระดับ ทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน การใช้ยาในชุมชน โดยเฉพาะยาที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ยาต้านจุลชีพ ยาสเตียรอยด์ ยาชุด เป็นต้น

ปี 2555 มีงานศึกษาพบว่า ผู้ป่วย 19.2 ล้านคน ครอบครองยาเกินความจำเป็น และรัฐต้องสูญเสียงบประมาณจากการครอบครองยาเกินจำเป็นราว 2,370 ล้านบาท/ปี

ในระดับโครงสร้าง ร่างมตินี้ได้เสนอให้มีกลไกระดับชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การสนับสนุนชุมชนต้นแบบที่มีระบบการเฝ้าระวังและเตือนภัยการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การพัฒนาชุดความรู้ในการใช้ยาเท่าที่จำเป็น ส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ สนับสนุนให้เกิดความตระหนักต่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการสุขภาพทุกหน่วยงานดำเนินการให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล รวมไปถึงการกำหนดให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นกลไกเชิงระบบระดับประเทศ โดยจะมีการนำความคิดเห็นของภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปผนวก ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

เจาะพื้นที่เขตเมือง-เขตทหาร-โรงเรียน

นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค สะท้อนว่า ร่างมติควรให้ความสำคัญกับเขตเมืองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประชากรในเขตเมืองมีประมาณ 37 ล้านคน แต่ข้อมูลการจัดการในเขตเมืองขาดหาย เพราะในพื้นที่นิติบุคคล เช่น คอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร ไม่มี อสม. เหมือนพื้นที่ต่างจังหวัด จึงจำเป็นต้องนำเสนอวิธีการจัดการอีกรูปแบบ

“อยากเสนอให้ กทม. สร้างต้นแบบการจัดการหรือกลไกการจัดการแบบมุ่งเป้า enhancing zone เช่น คอนโด บ้านจัดสรร ชุมชนแออัด เรือนจำ” นพ.เอนก กล่าว

อีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่มีข้อมูลและไม่มีกลไกใดไปติดตามเรื่องการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสมคือ ‘พื้นที่ทหาร’ ซึ่งผู้แทนปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมก็น่าจะอยู่ในกลุ่มเป้าหมายภายใต้ร่างมตินี้ เพราะหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมมีเป็นจำนวนมาก อสม. เข้าไม่ได้ จำนวนทหารก็ไม่ใช่น้อย แม้หน่วยทหารต่างๆ จะมีหน่วยแพทย์อยู่แล้ว แต่งานเชิงรุกลักษณะนี้ไม่ได้ทำ เน้นเพียงแต่การรักษาพยาบาล

“นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีคนลงชื่อเป็นจิตอาสาเป็นล้านคน และจะขยายขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสามารถเชื่อมกับช่องทางนี้ได้ก็น่าจะดี เพราะจะมีข้อมูลด้วยว่าผู้เข้ารับอบรมเป็นใครอยู่ที่ไหน” ตัวแทนปลัดกระทรวงกลาโหมกล่าว

อีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่ควรละเลยคือ การจัดการและติดตามการใช้ยาในโรงเรียน ตัวแทนครูจากกระทรวงศึกษาธิการให้ข้อมูลว่า การพัฒนาระบบห้องพยาบาลในโรงเรียนและความรู้ของครูประจำห้องพยาบาล ลำพังอาศัยเพียงกระทรวงศึกษาธิการไม่น่าจะทำได้ เพราะครูที่ดูแลห้องพยาบาลส่วนใหญ่ดูแลเพียงความเจ็บป่วยเบื้องต้น เกือบทั้งหมดไม่ได้รับการอบรมเฉพาะทาง จึงน่าจะต้องมีหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขมาให้ความรู้ ให้คำแนะนำ อบรมการบริหารจัดการยา และวางระบบการส่งต่อเด็กไปยังสถานพยาบาล

เริ่มจากชุมชนต้นแบบ

ชัยณรงค์ สังข์จ่าง ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นว่า เจตนารมณ์ของการใช้ยาสมเหตุสมผลคือ การมุ่งให้ประชาชนใช้ยาอย่างปลอดภัย โดยมีโจทย์หลักคือการเปลี่ยนความคิดความเชื่อของคนในชุมชน ซึ่งการใช้ยาฆ่าเชื้อเป็นความเชื่อผิดๆ ของคนจำนวนมาก จึงต้องขยับที่ประเด็น ไม่ใช่มุ่งเน้นที่หน่วยงาน เช่น ต้องสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่จะปรับเปลี่ยนวิธีคิด เน้นงานสื่อสาร งานในพื้นที่ แล้วหน่วยงานอื่นๆ ก็จะขยับตาม

แม้เรื่องการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ นพ.กำพล ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยยกตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จอย่างชุมชนบ้านตาแกะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งทำเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use: RDU) โดยมีคณะกรรมการที่ นายก อบต. เป็นประธาน รพ.สต. เป็นเลขาธิการ มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู โต๊ะอิหม่าม แกนนำชุมชนอีก 4-5 คน ร่วมกันเขียนแผนงานว่า รพ.สต.จะทำอะไร จะพัฒนาสุขภาพอย่างไร

“ตอนนี้ รพ.สต.บ้านตาแกะ เป็นเหมือนภาคเอกชนเลย มีการใช้งบ อบต.ทั้งหมด มีรถพยาบาลรับส่งผู้ป่วย มีการดูแลสุขภาพผ่านระบบสุขภาพทางไกล (telehealth) กับโรงพยาบาล ทุกวันพฤหัสบดีจะมีคณะกรรมการเดินไปดูร้านชำว่ามียาที่ผิดกฎหมายอะไรหรือไม่ ถึงตอนนี้สามารถลดอัตราการตายลงได้ แม้กระทั่งเรื่องอุบัติเหตุจราจร เพราะทำให้คนสวมหมวกกันน็อคมากขึ้น เหล่านี้เป็นมติของคณะกรรมการท้องถิ่นทั้งสิ้น ทำให้เห็นภาพว่า ในระดับชุมชนสามารถบริหารจัดการในเรื่องเหล่านี้กันเองได้” นพ.กำพล กล่าว

ที่มา: กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

 

บทเรียนนักช็อปออนไลน์ เจ็บแต่ไม่จบ

มหกรรมช็อปกระหน่ำ เทกระจาด จ่ายกระจุย ครั้งใหญ่แห่งปี กับแคมเปญ ‘11.11’ หรือที่เรียกกันว่าวันช็อปปิ้งโลก วันที่ 11 เดือน 11 เวียนมาบรรจบอีกครั้ง

นาทีนี้ตลาด e-Commerce ทุกแพลตฟอร์มพากันโหมกระแสโปรโมชั่นสารพัดรูปแบบ ทั้งลดแลกแจกแถม อัดคูปองส่วนลดพิเศษให้ลุ้นกับแบบนาทีต่อนาที ยั่วเย้ากิเลสนักช็อปยิ่งนัก ทำเอาหลายคนต้องเตรียมควักกระเป๋าจัดหนักจัดเต็มให้สาแก่ใจ

งานนี้ใครตาดีได้ ตาร้ายเสีย เพราะอย่างที่รู้กันว่า การจับจ่ายในโลกออนไลน์นั้นดำรงอยู่ภายใต้กฎ ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ เพราะทั้งภาพสินค้าและถ้อยคำโฆษณาทุกอย่างล้วนล่องลอยอยู่ในโลกไซเบอร์ ซึ่งผู้บริโภคไม่มีโอกาสได้สัมผัสสินค้าจริงก่อนตัดสินใจซื้อ

หลายคนอาจโชคดีได้สินค้าตรงตามปก แต่ก็มีอีกหลายคนที่เจ็บแต่ไม่จบ

 

หลักเกณฑ์ป้องกันอาการบาดเจ็บจากช็อปปิ้งออนไลน์

ใกล้ช่วงเทศกาล การจับจ่ายซื้อของเป็นกิจกรรมสำคัญ ไม่ว่าจะจับจ่ายเป็นของขวัญให้ผู้อื่นหรือตนเอง และการช็อปปิ้งออนไลน์ก็เป็นช่องทางที่เราใช้มากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมช็อปปิ้งออนไลน์จบลงโดยแฮปปี้เอนดิ้งก็มาก และผู้บริโภคเจ็บตัวมาก็มีไม่น้อย เพราะสินค้าไม่ตรงปก และอีกสารพัดปัญหา หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนที่เป็นผู้เล่นในภูมิทัศน์ตลาดออนไลน์ จึงหาข้อตกลงร่วมในการสร้างหลักเกณฑ์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เพราะศักยภาพในการเติบโตของตลาดออนไลน์ต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค

 

องค์การอาหารและยาสหรัฐและยุโรปตรวจพบสารก่อมะเร็งในยารักษากรดไหลย้อน

หน่วยงานดูแลสุขภาพระดับโลกพบว่า ยารักษาโรคกระเพาะที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกนั้นอาจปนเปื้อน ‘สารก่อมะเร็ง’ เช่นเดียวกับยาลดความดันโลหิตที่ถูกเรียกเก็บคืนจากท้องตลาดเมื่อปีที่แล้ว

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านยาในสหรัฐและยุโรปกล่าวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า กำลังมีการตรวจสอบยารักษาโรคกรดไหลย้อนของบริษัท Sanofi ที่ชื่อ Zantac (ยาต้นตำรับ) และ Ranitidine (ยาชื่อสามัญ) นั้นมีระดับของสารก่อมะเร็งที่มีชื่อย่อว่า NDMA หรือ N-Nitrosodimethylamine สูงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหรือไม่

“Sanofi คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยอย่างยิ่ง และเราก็สมัครใจทำงานร่วมกับ FDA” แอชลีห์ คอสส์ (Ashleigh Koss) โฆษกของ Sanofi กล่าวไว้ในอีเมล รวมทั้งระบุว่า Zantac ผลิตในเม็กซิโกและ Sanofi สั่งซื้อวัตถุดิบที่เป็นสารสำคัญจากสเปน

การทบทวนทะเบียนยา Ranitidine ซึ่งเป็นชื่อสามัญของยาลดกรดที่ยับยั้งการหลั่งฮีสตามีน และรักษาและป้องกันโรคกระเพาะและลำไส้ ขององค์การอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ Valisure ร้านขายยาออนไลน์ในคอนเนคติกัต ได้ทำการทดสอบยาทั้งหมดที่วางจำหน่าย จนพบสาร NDMA ปริมาณสูง ทั้งในยาชื่อสามัญและยาต้นตำรับคือ Zantac ที่ขายให้กับร้านยาเป็นส่วนใหญ่ที่บริหารโดย Walgreens Boots Alliance Inc, CVS Health Corp และ Walmart Inc.

FDA กล่าวว่า จะทบทวนทั้งยาต้นตำรับและยาชื่อสามัญของยานี้ เช่นเดียวกับหน่วยงานควบคุมยาของยุโรป (European Medicines Agency: EMA) ที่กล่าวว่า “กำลังประเมินข้อมูลเพื่อดูว่าคนไข้ที่ใช้ยา Ranitidine มีความเสี่ยงจาก NDMA หรือไม่ และจะรีบรายงานผลให้ทราบอย่างเร็วที่สุด”

NDMA เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ที่พบในเนื้อสัตว์ที่ผ่านการย่างหรือปรุงสุกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เบค่อน และเป็นสารที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในอุตสาหกรรมต่างๆ

FDA ตรวจพบ NDMA ทั้งในตำรับที่เป็นยาที่ต้องให้แพทย์สั่งจ่ายและยาสามัญประจำบ้านที่ประชาชนหาซื้อได้เอง แต่ยังรวบรวมข้อมูลจากตัวอย่างได้ไม่มากพอที่จะบอกระดับของสารก่อมะเร็งอย่างชัดเจนเป็นช่วงได้ โดย เจเน็ต วูดค็อค (Janet Woodcock) ผู้อำนวยการศูนย์ประเมินและวิจัยยาของ FDA กล่าวว่า มีการใช้วิธีตรวจทดสอบที่แตกต่างจาก Valisure แต่ยังคงปฏิเสธที่จะให้รายละเอียด

Valisure ยื่นข้อร้องเรียนต่อ FDA ให้เรียกเก็บคืนยาทั้ง Zantac และยาชื่อสามัญที่มี NDMA แต่ FDA บอกว่า ปริมาณของ NDMA ในยาเหล่านั้นอยู่ในระดับต่ำ สวนทางกับข้อร้องเรียนของ Valisure ที่ระบุว่ามีปริมาณของ NDMA นั้นมีมากเกินไป

“เราไม่คิดว่ามันเป็นภยันตรายเร่งด่วนต่อสุขภาพมนุษย์ ดังนั้น เราจะดำเนินการต่อไปเพื่อดูว่าการเรียกเก็บคืนนั้นจำเป็นหรือไม่” วูดค็อคกล่าว

แม้ FDA จะยังไม่แนะนำให้ประชาชนหยุดกินยาเหล่านี้ แต่ก็แนะนำว่ามีวิธีการรักษาโรคนี้โดยวิธีอื่นๆ อีก

FDA จะขอให้ผู้ผลิตใช้วิธีทดสอบ NDMA ที่สากลยอมรับ ขณะเดียวกัน FDA ก็จะขอตัวอย่างจากผู้ผลิตมาตรวจสอบเองด้วย และคาดว่าคงจะใช้เวลาราวสองสัปดาห์จึงจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติม วูดค็อคกล่าว

เจเรมี คาห์น (Jeremy Kahn) โฆษกของ FDA เขียนในอีเมลว่า ยังไม่ทราบว่า NDMA เข้าไปอยู่ในยาได้อย่างไร แต่ในเบื้องต้นคาดว่า มันคงต่างจากยาลดความดันโลหิตที่มีสาเหตุอยู่ที่กระบวนการผลิต

ขณะที่ CEO ของ Valisure เดวิด ไลท์ (David Light) กล่าวว่า บริษัทของเขาคิดว่า NDMA ใน Zantac มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยมีการศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 2016 ก็แสดงความเห็นคล้ายกันนี้

กลุ่มนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสนใจว่า สารก่อมะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไรในปัสสาวะของอาสาสมัคร 10 คนที่ใช้ยา Ranitidine พวกเขาพบว่าระดับของ NDMA เพิ่มสูงขึ้น 400 เท่า หลังจากที่อาสาสมัครกินยานี้เข้าไป คือสูงถึง 48 ไมโครกรัม หรือเกือบสามเท่าของ 17 ไมโครกรัมที่ FDA พบในยาเม็ดลดความดันโลหิตที่ถูกเรียกเก็บคืนจากตลาด

กลุ่มนักวิจัยดังกล่าวเสนอในรายงานวิจัยว่าควรมีการประเมินความเสี่ยงของ Ranitidine

“เราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการประเมินดังกล่าว จึงทำได้แค่เสนอเท่านั้น” วิลเลียม มิทช์ (William Mitch) หนึ่งในกลุ่มนักวิจัยของสแตนฟอร์ด กล่าวในการให้สัมภาษณ์ “เราเพียงแค่จุดประกายให้คิด และหวังว่าจะมีผู้นำไปศึกษาต่อ”

Zantac และยาชื่อสามัญมีจำหน่ายทั้งในรูปแบบที่ต้องใช้และไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ โดยมีความแรงหรือขนาดยาแตกต่างกัน จากแหล่งข้อมูลของ Bloomberg พบว่ามีใบสั่งจ่ายยานี้เกือบ 25 ล้านใบในปี 2018

FDA พบ NDMA ที่ระดับ 17 ไมโครกรัมในยาลดความดันโลหิต และสั่งการให้เรียกเก็บคืนจากตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2018 แต่ Valisure พบ NDMA ที่ระดับสูงถึง 3,000 ไมโครกรัมในยาเม็ด Zantac รวมถึงพบในยาชื่อสามัญด้วย

“ความเสี่ยงต่อมะเร็งจากยาแบบนี้ แม้แต่น้อยนิดก็รับไม่ได้” เดวิด ไลท์ จาก Valisure กล่าว

 

จอห์นสันเรียกคืนแป้งเด็ก 33,000 กระป๋อง หลังพบแร่ใยหินปนเปื้อน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ค้ารายย่อยในสหรัฐต่างนำกระป๋องแป้งเด็กขนาด 22 ออนซ์ออกจากชั้นวางของในร้านค้า หลังมีประกาศว่าบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) เรียกคืนผลิตภัณฑ์รวม 33,000 กระป๋องในราวกลางเดือนตุลาคมก่อนหน้านี้ เนื่องจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) ตรวจพบแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ (chrysotile asbestos) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ในแป้งเด็กที่ซื้อมาจากช่องทางออนไลน์

บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันพยายามแก้ต่างว่า แร่ใยหินที่ตรวจพบในแป้งมีปริมาณน้อยกว่า 0.00002 เปอร์เซ็นต์ และกล่าวว่า บริษัทกำลังทำงานร่วมกับ FDA เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลการตรวจสอบที่พบแร่ใยหินในตัวอย่างแป้งเด็กเป็นไปอย่างเที่ยงตรงและสมเหตุสมผล เช่น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์แป้งดังกล่าวที่ถูกตรวจสอบเป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทจริง ซีลบรรจุกระป๋องไม่มีการฉีกขาดก่อนหน้านี้ หรือมีการปนเปื้อนซึ่งกันและกัน (cross contamination) คือ มีวัตถุแปลกปลอมหลุดร่วงลงไปปะปน ปนเปื้อนสารเคมี แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ฯลฯ ระหว่างขั้นตอนตรวจสอบแร่ใยหินหรือไม่ เพราะบริษัทยืนยันว่าไม่เคยพบแร่ใยหินระหว่างการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตลอดระยะเวลาหลายปี รวมถึงไม่พบในการทดสอบจาก FDA ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วด้วย

ด้าน FDA กล่าวว่า ขณะนี้สามารถยืนยันได้เบื้องต้นว่าไม่มีความผิดปกติใดๆ ที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่นำมาตรวจสอบเป็นของปลอม รวมถึง FDA ก็ไม่เคยได้ยินข่าวว่ามีการปลอมแป้งเด็กตราจอห์นสันแอนด์จอห์นสันในตลาดสหรัฐมาก่อน อย่างไรก็ตาม องค์การจะตรวจสอบร่วมกับบริษัทอีกครั้งเพื่อพิสูจน์ว่าผลการตรวจสอบนั้นมาจากผลิตภัณฑ์แป้งจากจอห์นสันแอนด์จอห์นสันจริง

“องค์การ FDA รับผิดชอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์และตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานการวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการ และเราไม่พบข้อบ่งชี้ว่ามีการปนเปื้อนซึ่งกันและกัน (ในห้องปฏิบัติการ)” ลินด์เซย์ เมเยอร์ (Lyndsay Meyer) โฆษก FDA ชี้แจงกับสำนักข่าว CNN

แป้งเด็กตราจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่ถูกเรียกคืนจากร้านค้าต่างๆ ในสหรัฐมีเพียงล็อตเดียวเท่านั้น คือ ล็อตหมายเลขการผลิตที่ #22318RB ซึ่งผลิตในประเทศจีนและนำเข้ามาขายในตลาดสหรัฐ โดยผู้บริโภคที่ได้ซื้อแป้งไปแล้วควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ในทันที และสามารถติดต่อบริษัทเพื่อขอคืนเงินได้

สำหรับประเทศไทย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้ตรวจสอบไปยังบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ข้อสรุปว่า แป้งล็อตที่มีปัญหาดังกล่าวไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย และได้เฝ้าระวังการนำเข้าแล้ว โดย อย. ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นโรยตัวในประเทศไทยที่มีส่วนผสมของแร่ทัลคัม (Talcum) สารอนินทรีย์ที่มีคุณสมบัติดูดซับความชื้น ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จำนวน 113 ตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ไม่พบแร่ใยหิน

ย้อนไปในวันที่ 18 ตุลาคม หลังมีข่าวเรื่องการปนเปื้อนแร่ใยหิน มูลค่าในตลาดหุ้นของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันตกไปมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ แม้ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในอาณาจักรสินค้าเพื่อสุขภาพแม่และเด็กทั้งหมดของบริษัท แต่ก็สร้างผลกระทบด้านความเชื่อมั่นในชื่อเสียงของบริษัทได้ไม่น้อย

 

ส่วนผสมของแป้งเด็ก

แร่ที่บริษัทใช้เป็นวัตถุดิบและมีปัญหาฟ้องร้องกับผู้บริโภคเรื่อยมาก็คือทัลคัม (talcum) หรือทัลก์ แร่หินสบู่ที่มีความอ่อนมาก นิยมใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอาง เช่น แป้งและบลัชออนทาแก้ม แม้บริษัทกล่าวว่าแร่ทัลก์ที่นำมาผลิตเป็นแป้งเด็กบรรจุกระป๋องมาจากแหล่งแร่ที่ได้รับการทดสอบแล้วว่าสะอาดได้มาตรฐาน แต่เป็นที่รู้กันว่ามักพบแร่ทัลก์อยู่คู่กับแร่ใยหิน จึงมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วที่จะพบแร่ในหินในแป้งทัลก์ด้วย

องค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer) ได้จัดให้แร่ใยหินทุกชนิด รวมถึงชนิดไครโซไทล์ เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยมีผลเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่า การสัมผัสแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ผ่านการสูดหายใจก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อหุ้มปอด (mesothelioma) และโรคใยหิน (asbestosis) หรือภาวะเกิดพังผืดในปอด จนทำให้ประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศ เช่น กลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ประกาศห้ามใช้แร่ใยหินทุกชนิด

จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ผู้ผลิตแป้งฝุ่นรายใหญ่ในสหรัฐ ยืนยันว่า จากการตรวจสอบพันๆ ครั้งตลอด 40 ปีที่ผ่านมาไม่เคยพบแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ สวนทางกับรายงานพิเศษของสำนักข่าว Reuters เมื่อปีที่แล้ว ที่ออกมาเปิดโปงว่าบริษัทเคยตรวจพบแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ของตนเองหลายครั้งระหว่างปี 1971-2000 แต่ไม่ได้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบ

 

แป้งก่อมะเร็ง?

หลายปีที่ผ่านมาเริ่มมีคำเตือนว่าไม่ควรใช้แป้งฝุ่นโรยบริเวณอวัยวะเพศ เนื่องจากแป้งอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งรังไข่ แม้ว่าหลักฐานอาจไม่แน่ชัดพอจะสรุปได้ว่าแป้งเด็กเป็นสารก่อมะเร็ง แต่องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติก็จัดแป้งทัลก์ให้อยู่ในหมวด ‘สารที่เป็นไปได้ว่ามีฤทธิ์ก่อมะเร็ง’

ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องคดีความบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันรวมแล้วมากกว่า 100,000 คดี เฉพาะคดีที่กล่าวหาบริษัทว่าแร่ใยหินที่ปนเปื้อนในแป้งทัลก์ที่นำมาทำเป็นแป้งเด็กเป็นสารก่อมะเร็งมีมากกว่า 15,000 คดี เช่น ในเดือนพฤษภาคม 2018 คณะลูกขุนรัฐแคลิฟอร์เนียร์ตัดสินให้บริษัทต้องจ่ายเงิน 25.75 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 778 ล้านบาท) แบ่งเป็นเงินชดเชยค่าเสียหายแก่คู่สามีภรรยาผู้เสียหาย โจแอนน์ และ แกรี แอนเดอร์สัน (Joanne/Gary Anderson) เป็นเงิน 21.75 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 658 ล้านบาท) จากคำกล่าวหาของโจแอนน์ว่าเธอเป็นมะเร็งหลังใช้แป้งเด็กของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ (punitive damages) เพื่อไม่ให้บริษัทอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างอีก 4 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 121 ล้านบาท) เนื่องจากบริษัท “ละเลย และไม่เตือนผู้บริโภคถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่แป้งเด็กของบริษัทอาจก่อให้เกิดขึ้น”

ตามมาด้วยเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งจำนวน 22 คนกล่าวว่าเป็นมะเร็งรังไข่หลังใช้แป้งเด็กและผลิตภัณฑ์จากแป้งทัลก์ต่อเนื่องนานนับสิบๆ ปี โจทก์จำนวน 6 คนจากทั้งหมดเสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งรังไข่ โดยทนายกล่าวหาว่า บริษัทรู้ดีแก่ใจตั้งแต่ปี 1970 ว่าทัลก์ที่นำมาทำแป้งปนเปื้อนแร่ใยหิน แต่ไม่เคยเตือนให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความเสี่ยง สุดท้ายคณะลูกขุนรัฐมิสซูรีตัดสินให้บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 550 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 16,610 ล้านบาท) ยังไม่รวมค่าเสียหายเพื่อการลงโทษอีก 4,100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 123,800,000 ล้านบาท)

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
edition.cnn.com/2019/10/25/health/johnsons-baby-powder-retailers-recall
edition.cnn.com/2018/05/24/health/johnson–johnson-talc-asbestos-verdict-california
https://www.bbc.com/news/business-50101758
https://www.bbc.com/news/business-44816805
nytimes.com
apps.who.int
reuters.com
bangkokbiznews.com

 

ระวัง ‘สารทาเลท’ ปนเปื้อนของเล่นเด็ก ฮอร์โมนเพศเสี่ยงผิดเพี้ยน

ผลทดสอบของเล่นเด็กที่ผลิตจากพลาสติก PVC พบการปนเปื้อน ‘สารทาเลท’ (Phthalate) เกินค่ามาตรฐานสากล 300 เท่า แพทย์เตือนอาจมีความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศทั้งเด็กชายและเด็กหญิง

ผลทดสอบผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กในครั้งนี้ดำเนินการโดยศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า สารทาเลทถูกใช้เป็นส่วนผสมในของเล่นพลาสติกชนิด PVC เพื่อให้เกิดความอ่อนนุ่ม ทำให้เด็กๆ เกิดความสนุกสนานจากการสัมผัส

การปนเปื้อนของสารทาเลทเข้าสู่ร่างกายส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมของเด็ก เริ่มตั้งแต่การสัมผัส การบีบ การนำของเล่นเข้าปาก การกัด การเคี้ยว รวมถึงการระเหยของสาร โดยของเล่นที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน ได้แก่ ของเล่นที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม ตุ๊กตารูปสัตว์ชนิดต่างๆ ห่วงยาง เสื้อกันฝน เป็นต้น

“สารทาเลทถูกใช้ในของเล่นมานาน จนกระทั่งหลายประเทศได้มีการศึกษาผลกระทบและนำมาสู่การออกมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมดังกล่าว”

“จากการศึกษาผลกระทบต่อร่างกายในสัตว์ทดลอง พบว่า หากได้รับสารทาเลทในปริมาณสูงจะเกิดอันตรายต่อตับ ไต แต่หากได้รับในปริมาณต่ำเป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อการสร้างสเปิร์ม การทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ และฮอร์โมนเพศ หากเป็นสัตว์ทดลองเพศเมียจะมีผลต่อภาวะการตกไข่ เนื่องจากสารทาเลทจะรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ และหากกำลังตั้งครรภ์ ลูกที่ออกมาจะมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด นอกจากนี้อาจมีผลทำให้เกิดมะเร็งในตับหากได้รับสารเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ระบุว่า แม้จะยังไม่มีการศึกษาทดลองกับมนุษย์โดยตรง แต่มีการตรวจสอบสารทาเลทที่อยู่ในร่างกายเด็ก พบว่ามีผลกระทบอย่างยิ่งต่อฮอร์โมนเพศชาย โดยอาจทำให้ลักษณะอวัยวะเพศมีความกำกวมตั้งแต่กำเนิด ลูกอัณฑะไม่ลงถุง การสร้างสเปิร์มมีความผิดปกติ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะมีโอกาสเป็นหมันได้

“เป็นเวลาสิบกว่าปีมาแล้วที่ประเทศสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น มีการควบคุมสารทาเลทอย่างน้อย 6 ชนิด โดยไม่ให้เกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ของส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ และมีแนวโน้มว่าจะมีการควบคุมสารทาเลทชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมอีก ขณะที่มาตรฐานอุตสาหกรรมในบ้านเรายังไม่มีข้อกำหนดที่ครอบคลุมถึงสารดังกล่าว”

สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร ฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็ก 51 ตัวอย่าง ทั้งจากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ตามท้องตลาดทั่วไป หน้าโรงเรียน และในตลาดออนไลน์ พบว่ามีสารทาเลทปนเปื้อนมากถึง 18 ตัวอย่าง และสูงเกินค่ามาตรฐานสากล (EU) กว่า 300 เท่า

“ของเล่นที่ตรวจพบส่วนใหญ่เป็นตุ๊กตายางสำหรับบีบและไม่มีเครื่องหมาย มอก. จำนวน 11 ตัวอย่าง ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจพบสารทาเลทเกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ มีอยู่จำนวน 7 ตัวอย่าง”

บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร ฉลาดซื้อ กล่าวอีกว่า จากผลทดสอบผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและนำไปสู่การพิจารณาปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรมต่อไป

 

ค้นหานิยามสู่ ‘การตายดี’ สิทธิที่ทุกคนควรเข้าถึง

แม้คำว่า ‘สิทธิการตาย’ จะเป็นคำที่ถูกกล่าวถึงมานาน แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า แพทย์จำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจความหมายและแนวทางที่ถูกต้องในการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือแม้แต่โรงเรียนแพทย์เองก็อาจไม่มีการบรรจุเรื่องเหล่านี้ไว้ในหลักสูตรแพทยศาสตร์

เมื่อความหมายยังไม่กระจ่าง จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้คำจำกัดความที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ เกิดความเข้าใจตรงกัน และมองเห็นแนวทางการดูแลรักษาร่วมกัน

“ที่ผ่านมาเราพบกรณีที่หมอไม่รู้ว่าคนไข้เป็นผู้ป่วยระยะท้าย เลยไม่ได้ให้การดูแลแบบประคับประคอง ก็รักษาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเสียชีวิต แต่ถ้าหมอมีความเข้าใจ เมื่อหมอพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายนี้ หมอก็จะส่งต่อไปที่ศูนย์ดูแลประคับประคอง ศูนย์ดูแลประคับประคองก็จะจัดบริการให้ผู้ป่วยตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาลไปจนถึงเยี่ยมบ้าน เพื่อให้คนไข้เข้าถึงบริการที่เหมาะสม”

เป็นคำบอกเล่าจากประสบการณ์ตรงของ พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่พบว่าการที่แพทย์ไม่เข้าใจความหมายที่ชัดเจนส่งผลอย่างไรต่อชีวิตผู้ป่วยระยะท้าย

นี่จึงเป็นที่มาของการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยนิยามปฏิบัติการ (operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 17-18 กันยายนที่ผ่านมา

 

นิยามไม่ชัด อุปสรรคของระบบราชการไทย

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ เล่าว่า ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานพยายามผลักดันระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง แต่ติดขัดระเบียบราชการ ทำให้องค์กรท้องถิ่นหลายแห่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วต้องสะดุดลง ซึ่งกระทบต่อการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน

“หน่วยราชการด้วยกันเองมีส่วนสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่เวลาเสนองบประมาณเข้าไป สำนักงบประมาณอ้างว่าซ้ำซ้อนกัน เราจึงต้องทำคำจำกัดความให้ชัด ถ้าเข้าใจตรงกันก็จะแบ่งหน้าที่กันได้ ส่วนท้องถิ่นก็สามารถตั้งงบประมาณได้ ถ้าทำสำเร็จ ต่อไปหน่วยงานสนับสนุนทั้งหลาย สำนักงบประมาณ รวมถึงหน่วยตรวจสอบอย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะได้เข้าใจตรงกัน”

เมื่อนิยามชัด บทบาทการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ก็จะไม่ซ้ำซ้อน ทั้งยังเป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ จนถึงสังคม ชุมชน และครอบครัว ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย

การ ‘ตายดี’ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้…” ซึ่ง พญ.ศรีเวียง อธิบายว่า การดูแลแบบประคับประคอง ไม่เพียงเป็นการดูแลเพื่อลดความเจ็บปวด แต่ยังรวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรค เช่น หากผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งที่รักษายาก อาจมีการแจ้งข้อมูลให้คนไข้รับรู้เพื่อการวางแผนล่วงหน้าให้กับตนเองได้

“โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เขาอาจจะวางแผนดูแลตนเองไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าถึงระยะสุดท้ายแล้ว อย่ามารักษารุกราน อย่ามาปั๊มหัวใจ ใส่ท่อ ซึ่งผู้ป่วยมีสิทธิเลือกได้”

 

สิทธิการตายที่เลือกได้

อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ เลขานุการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ กล่าวว่า การกำหนดนิยามให้ชัดจะมีผลเป็นแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนให้สามารถนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ จะเป็นการสนับสนุนผ่านไปทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้เกิดการดูแลแบบประคับประคองในครอบครัว

“ระบบการดูแลแบบประคับประคองควรเกิดขึ้นอย่างยิ่งในทุกโรงพยาบาล ทั้งหมอและประชาชนต้องเข้าใจตรงกันเรื่องสิทธิในการตายดี ถ้าคนไข้ทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต หมอก็จะต้องจัดการดูแลแบบประคับประคองให้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาดูแลที่โรงพยาบาล ดูแลที่ครอบครัวก็ได้ ดูแลโดยชุมชนก็ได้ แล้ว สปสช. ก็พยายามจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนท้องถิ่นให้ดำเนินการเรื่องเหล่านี้ได้” อรพรรณกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมรับรองร่างมตินิยามปฏิบัติการ (operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) สำหรับประเทศไทยแล้ว จะนำเสนอไปยังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิในการดูแลแบบประคับประคองต่อไป

 

ภาพ: กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

รับมือฝุ่นพิษฤดูหนาว วายร้ายของโรคหืด

ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคหอบหืดโดยตรง ปัจจุบันอัตราผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วประเทศพุ่งสูงถึงปีละ 1 ล้านครั้ง เสียชีวิตปีละกว่า 2,000 ราย

สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (Thai Asthma Council: TAC) จึงได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2562 และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์โรคหืด แนวทางการดูแลรักษาคนไข้ โดยเบื้องต้น ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้กล่าวถึงสถานการณ์โรคหืดในปัจจุบันที่พบมากถึงร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ และจากข้อมูลของสำนักโรคไม่ติดต่อยังระบุด้วยว่า ผู้ป่วยโรคหืดมีแนวโน้มเสียชีวิตถึง 2,200 รายในปีนี้ และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี

“โรคหืดสามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย ทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดประมาณ 1,000 คนต่อวัน ส่วนประเทศไทยเสียชีวิตประมาณ 6 คนต่อวัน ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยมีประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์”

ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวอีกว่า การจัดงานประชุมวิชาการในครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงให้ง่ายขึ้น

“ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง แพทย์ผู้ให้การรักษาควรรู้ว่าจะต้องเช็คเรื่องอะไรบ้าง ควรเข้าสู่กระบวนการรักษาแบบไหน และต้องเลือกยาให้เหมาะสมกับคนไข้มากขึ้น รวมถึงการสร้างร่วมมือระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในการตรวจวินิจฉัยโรค เพราะบางกรณีอาจเจอผู้ป่วยโรคหอบหืดที่มีความซับซ้อน หรืออาการคล้ายกับโรคอื่น ทำให้การตรวจวินิจฉัยล่าช้าจนทำให้อาการรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะโรคหอบหืดซ่อนเร้นและมีอาการไอเรื้อรัง”

ทั้งนี้ ศ.พญ.อรพรรณ ยังแนะนำวิธีการดูแลรักษาคนไข้โรคหืดในลักษณะองค์รวม ทั้งการรักษาด้วยยาและการรักษาแบบไม่ใช้ยา ซึ่งจากการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสม ศ.พญ.อรพรรณ ได้เสนอทฤษฎี 4Es ที่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายๆ ประกอบด้วย

  1. การให้คนไข้หันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (Exercise)
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ (Eating)
  3. สิ่งแวดล้อม (Environment) คนไข้โรคหืดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ
  4. อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) ในภาวะที่คนไข้เครียด ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน จะทำให้โรคกำเริบขึ้นมาได้

 

ฆาตกรซ่อนเงียบที่ชื่อว่า ‘ฝุ่น’

ด้าน ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสภาพภูมิอากาศที่ไทยได้ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ซึ่งภาวะความกดอากาศสูงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป และคาดการณ์ว่าจะมีการเผาเศษวัชพืชจากฝั่งประเทศกัมพูชาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะส่งผลกระทบมายังกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นภาวะที่ ศ.นพ.ชายชาญ เรียกว่า ‘ฝุ่นมรณะ’

“ผมใช้คำว่า ‘ฝุ่นมรณะ’ เพื่อให้คนตระหนักในการดูแลตัวเอง เพื่อให้เห็นว่ามันเล่นกันถึงตาย ช่วงกลางเดือนกันยายนก็มี PM2.5 มีการเผาฟางข้าวในภาคกลาง ตามมาด้วยความกดอากาศจากทางตอนเหนือลงมาถึงกรุงเทพฯ และยังมีปัญหาไฟป่า ส่วนภาคอีสานก็จะมีการเผาไร่อ้อย เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดนะครับ แต่เป็นมาสิบๆ ปีแล้ว”

จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวว่า เมื่อมีการเผาจากภาคเหนือตอนล่าง กอปรกับกระแสลมพัดเข้ามาทางใต้ ทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนกลางต้องเผชิญกับภาวะฝุ่นมรณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากการเผาไร่ในภาคเหนือแล้ว บริเวณชายแดนพม่าก็มีการเผาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนายทุนจากประเทศไทยย้ายการลงทุนไปยังฝั่งพม่าด้วยเหตุผลค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า

ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ผลการตรวจสุขภาพพบว่า ภายในโพรงจมูกของประชาชนแทบไม่ต่างจากพื้นผิวกระดาษทราย แม้จะล้างด้วยน้ำเปล่าแล้ว ฝุ่น PM2.5 ก็ยังไม่หมดไป

“ถ้าทิ้งไว้ 2-3 วันก็จะมีการอักเสบ โดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว และถ้าเข้าไปในสมองก็อาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ทีนี้พอโพรงจมูกตัน ต้องหายใจทางปาก ก็จะทำให้เสียงแหบ เพราะกล่องเสียงมีฝุ่นและแบคทีเรีย

“PM2.5 มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดงด้วยซ้ำ เวลาเข้าไปในร่างกายแล้วจะเกาะติดที่ผนังเส้นเลือดได้ง่าย ทำให้เกิดการอักเสบ ที่สำคัญฝุ่นขนาดเล็กนี้ยังสามารถแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ยิ่งกว่าควันบุหรี่มือสองที่กระทบในบริเวณจำกัด แต่ PM2.5 กระทบต่อประชากรจำนวนมาก รายงานของสหประชาชาติ เขาเรียกว่าเป็นฆาตรกรซุ่มเงียบ คร่าชีวิตชาวโลกไปถึง 7 ล้านคน”

ถึงเวลาสังคายนาองค์ความรู้

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวว่า การศึกษาเรื่องมลพิษในประเทศไทยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมาถือว่ายังน้อยมาก ทั้งที่ปัญหานี้ควรมีการสังคายนาเป็นองค์ความรู้ขนาดใหญ่ในระดับสากล

“ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องฝุ่นละออง PM2.5 มาเป็นเวลา 20-30 ปี มีคนเสียชีวิต 30,000-50,000 คน ข้อมูลในปี 2552 มีรายงานการวิจัยที่สัมพันธ์กับ PM2.5 ประมาณ 40,000 รายงาน แต่ข้อมูลเหล่านี้กลับไม่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลเลย กระทรวงสาธารณสุขรายงานก็รายงานไป ในขณะที่อุบัติเหตุทางรถยนต์ของไทยอยู่ที่ 9,400 คน จะเห็นว่าสถานการณ์ PM2.5 ทำให้คนตายมากกว่าอุบัติเหตุทางรถยนต์ทั้งปีถึง 4 เท่า แต่ไม่เคยอยู่ในแผนที่จะบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม เพราะมันไม่ง่ายที่จะนับศพ และถ้าผู้บริหารไม่ฟังนักวิชาการก็จะบริหารประเทศผิดพลาด”

ผลกระทบขั้นรุนแรงจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทำให้อัตราการเสียชีวิตรายวันของชาวเชียงใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงมีนาคม 2554 จนถึงมีนาคม 2561 และจากผลวิจัยยังพบข้อมูลว่า ทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่น PM2.5 จะทำให้ชาวเชียงใหม่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ภายในหนึ่งสัปดาห์

“ในทุกๆ 10 ไมโครกรัมที่ของฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นต่อปี ทำให้ประชากรโลกอายุสั้นลงประมาณ 1.8 ปี แต่ในภาคเหนือตอนบนของไทยที่มีฝุ่นหนาแน่น คนจะอายุสั้นลงประมาณ 5-6 ปี ส่วนคนกรุงเทพฯ จะอายุสั้นลง 2-3 ปี นี่เป็นสถิติจากปี 2557”

ศ.นพ.ชายชาญ ย้ำว่า ผลกระทบต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่สาธารณชนควรตระหนัก รวมถึงในวงการแพทย์ที่ต้องทำความจริงให้ปรากฏ เพราะทุกคนล้วนได้รับผลกระทบทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว อาจไม่ป่วยในวันนี้ แต่ป่วยในวันหน้า และเมื่อถึงเวลานั้นอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

 

ภาพ: สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย

 

การผ่าคลอดกับความเสี่ยงออทิสติกและสมาธิสั้น

งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่า การผ่าคลอดทางหน้าท้อง (Cesarean Delivery: CD) สัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคออทิสติก (Autism Spectrum Disorder: ASD) และโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) โดยข้อค้นพบเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์แบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2019 ใน JAMA Network Open

การทบทวนและวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ชิ้นหนึ่งทำการศึกษาใน 61 งานวิจัย ใน 19 ประเทศ ครอบคลุมการคลอด 20.6 ล้านครั้ง พบว่า การคลอดมีชีพด้วยการผ่าหน้าท้องสัมพันธ์กับการเกิดโรค ASD มากกว่าการคลอดมีชีพทางช่องคลอดถึง 33 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ADHD อยู่ที่ 17 เปอร์เซ็นต์

“เป็นที่รับรู้กันว่า ในเชิงอุดมการณ์นั้น การผ่าคลอดฯ จะกระทำเมื่อมีความจำเป็นในทางการแพทย์เท่านั้น” ผู้นิพนธ์หลัก เทียนหยาง จาง (Tianyang Zhang) จากศูนย์วิจัยจิตเวชศาสตร์ ในสถาบัน Karolinska สต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน บอกกับ Medscape Medical News

“สำหรับหญิงที่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องได้รับการผ่าคลอดฯ การแนะนำให้ผ่าฯ ย่อมไม่เหมาะสม สูติแพทย์ควรประเมินอย่างเต็มที่ว่าทั้งแม่และทารกในครรภ์ว่าจำเป็นต้องผ่าคลอดฯ หรือไม่” จางกล่าว

ผลลัพธ์ด้านลบ

ก่อนหน้านี้ พบว่าการผ่าคลอดฯ เชื่อมโยงอยู่กับผลลัพธ์ด้านลบในเด็กหลายประการ เช่น โรคอ้วน โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ และเบาหวานประเภท 1 (type 1 diabetes) “อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างการผ่าคลอดฯ กับความผิดปกติด้านจิตและประสาทยังมีการศึกษาน้อย” จางระบุ

“ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า จำนวนของความสัมพันธ์นี้จะแตกต่างกันหรือไม่ ระหว่างการผ่าคลอดฯ ที่มีการวางแผนล่วงหน้ากับการผ่าคลอดฯ ด่วนเนื่องด้วยเหตุผลทางการแพทย์ระหว่างการทำคลอด” จางกล่าว

เพื่อตอบคำถาม นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ดำเนินการวิจัยด้วยการทบทวนอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานในการศึกษาต่างๆ ที่เป็นการติดตามสังเกตการณ์ “เพื่อค้นหาปริมาณความสัมพันธ์ระหว่าง CD กับผลลัพธ์ที่เกิดด้านจิตและประสาทเปรียบเทียบกับการคลอดตามปกติทางช่องคลอด”

อย่าให้ร้ายแก่ CD

จางอธิบายว่า มีหลายเหตุผลที่ CD อาจทำให้เด็กที่คลอดออกมามีความเสี่ยงต่อปัญหาทางจิตและประสาทมากขึ้น

“การกำเนิดของทารกเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีหลากหลายปัจจัยที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป” จางกล่าว

CD ประเภทฉุกเฉิน

“โดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นเมื่อมีบางสิ่งผิดปกติระหว่างคลอดและการผ่าตัดกลายเป็นเรื่องจำเป็น” และ “มันเป็นไปไม่ได้ที่ทารกบาดเจ็บหรือขาดอากาศหายใจระหว่างคลอดจะมีความผิดปกติทางระบบประสาทเสมอไป”

นอกจากนี้ยังเสริมปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านพัฒนาการว่า “สูติแพทย์จะแนะนำให้ผ่าคลอดฯ ถ้าแม่มีโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ บางโรคอาจมีผลต่อการพัฒนาของสมองของเด็กตั้งแต่ยังอยู่ในมดลูก” จางระบุ

“ระหว่างการคลอดทางช่องคลอด แบคทีเรียจากทางเดินอาหารของแม่จะผ่านไปยังทารกและกระตุ้นให้ทารกนั้นมีภูมิคุ้มกัน กระบวนการนี้จะต่างออกไปในเด็กที่คลอดโดยการผ่าหน้าท้อง” จางกล่าว

“เราคิดว่ามันเป็นปัจจัยร่วมระหว่างปัจจัยเหล่านี้กับปัจจัยอื่นๆ เช่น แนวโน้มทางพันธุกรรมที่จะเกิดความผิดปกติทางจิตและประสาท ได้ร่วมกันส่งผลให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในทารก”

และเธอยังเน้นย้ำอีกว่า “ดังนั้น จึงไม่ควรให้ร้ายแก่ CD ควรจะใช้ CD ต่อไปเมื่อมีความจำเป็นทางการแพทย์”

ควรจะทบทวนข้อบ่งชี้ได้หรือยัง?

ในการวิพากษ์วิจารณ์งานการศึกษานี้ผ่านทาง Medscape Medical News เสียเหว่ย อู๋ (Xiawei Ou) รองศาสตราจารย์ด้านรังสีวิทยาและกุมารเวช University of Arkansas for Medical Sciences and Arkansas Children’s Hospital กล่าวว่า กลไกภายในที่เชื่อมโยงกับระหว่าง CD กับความเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในเด็กทารกนั้น “ยังไม่ชัดเจนและจำเป็นจะต้องทำการศึกษาต่อไป”

อย่างไรก็ตาม งานการศึกษานี้มีประเด็นสำคัญที่แพทย์ควรเอาไปขบคิดเป็นการบ้าน รองศาสตราจารย์อู๋ซึ่งควบตำแหน่งผู้อำนวยการของ Brain Imaging Laboratory ที่ศูนย์โภชนาการเด็ก Arkansas กล่าว และในฐานะผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษาข้างต้นยังเสริมว่า

“การจงใจผ่าคลอดฯ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ควรได้รับการพิจารณาทบทวนด้วยข้อค้นพบทางวิชาการใหม่ ทั้งจากการศึกษานี้และการศึกษาอื่นๆ และควรพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราส่วนระหว่างความเสี่ยงที่จะเกิดกับประโยชน์ที่จะได้รับใน CD ที่มีการวางแผนเพราะมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ด้วย”

จางผู้นิพนธ์หลักเตือนว่า การศึกษานี้ “ไม่ได้บอกว่ามีข้อพิสูจน์ที่แย้งไม่ได้” ว่า CD ทำให้เกิดความผิดปกติในพัฒนาการของระบบประสาท “ความสัมพันธ์กันไม่ใช่ความเป็นเหตุเป็นผลกัน” เธอเน้นย้ำ

การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจาก China Scholarship Council จางและอู๋ต่างก็ได้แสดงตนว่าไม่ได้มีความสัมพันธ์กันทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ รายชื่อผู้นิพนธ์อื่นๆ ปรากฏในบทความนิพนธ์ต้นฉบับ

สำหรับประเทศไทย อัตราการผ่าท้องคลอดมีสูงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้อัตราการผ่าท้องคลอดไม่ควรเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ โดยให้คำนึงจากความจำเป็นและความฉุกเฉินในการช่วยชีวิตแม่และลูกในครรภ์

 

แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อชนิดแผ่นหรือก้อน เลือกใช้อย่างไรดี?

ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อทั้งชนิดแผ่น (Alcohol pad) และชนิดก้อน (Alcohol ball) ที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปอาจไม่ปลอดเชื้ออย่างที่คิด เพราะภายใต้แพ็คเกจจิงที่แลดูสะอาดปลอดภัย อาจมีรอยชำรุด ฉีกขาด กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อก่อโรค หรือทำให้ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ระเหยหายไป เมื่อนำไปใช้งานจริงจึงไม่มีฤทธิ์พอที่จะฆ่าเชื้อได้

ทำอย่างไรล่ะจึงจะรู้ว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อแบบไหนควรใช้หรือไม่ควรใช้ แบบไหนควรซื้อหรือไม่ควรซื้อ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ‘ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อฆ่าเชื้อสำหรับมนุษย์ สัตว์ และเครื่องมือแพทย์’ พ.ศ. 2562 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 มีผลบังคับใช้วันที่ 11 มีนาคม 2563
เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

Infographic ชิ้นนี้มีข้อแนะนำง่ายๆ สำหรับประชาชนทั่วไปในการเลือกซื้อและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้ออย่างถูกต้องเหมาะสม