รับยาใกล้บ้าน: ให้เภสัชกรดูแลคุณ

เริ่มแล้ว 1 ตุลาม 2562 นโยบายลดปัญหาโรงพยาบาลแออัด รอคิวนาน

เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติให้ผู้ป่วยบัตรทองสามารถรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้ โดยไม่ต้องเสียเวลารอคิวรับยาที่โรงพยาบาล ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แถมยังมีเภสัชกรประจำร้านยาคอยให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการใช้ยาอย่างใกล้ชิด

นับเป็นมิติใหม่ของการให้บริการแก่ผู้ป่วยบัตรทองที่คาดว่าจะช่วยลดเวลา ลดภาระค่าเดินทาง แก่ผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น โดยมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการนำร่อง 50 แห่ง และร้านขายยาอีก 500 แห่งทั่วประเทศ

5 ข้อน่าจับตา ก่อนการรื้อฟื้น FTA ไทย-สหภาพยุโรป

FTA Watch (กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน) ยื่นจดหมายแก่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ห่วงการรื้อฟื้น FTA ไทย-สหภาพยุโรป จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ทั้งผูกขาดการเกษตร ทำให้ยาราคาแพงกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพฯ ขัดคำประกาศว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของนายกฯ บนเวที UN โดยเสนอให้เก็บภาษีภาคธุรกิจที่ได้ประโยชน์จาก FTA เพื่อนำมาเยียวยาผลกระทบ

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 เวลา 10.00 น. ตัวแทนจากกลุ่ม FTA Watch ประกอบด้วย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch และ เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU)

ตามที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเร่งรัดการเจรจา FTA ไทย-อียู ให้บรรลุข้อตกลงนั้น จากการที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ติดตามและศึกษาเรื่องนี้มากว่า 1 ทศวรรษเห็นว่า FTA ไทย-อียู อาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนในหลายมิติ จึงยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ดังนี้

1

ข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่เข้มงวดเกินไปกว่ามาตรฐาน TRIPs (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights) ที่ตกลงไว้แล้วในองค์การการค้าโลกหรือการเป็น TRIPs+ (ทริปส์พลัส) ทั้งผลกระทบด้านการเกษตร ที่จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดในภาคเกษตรแบบครบวงจรและกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีชีวิตชุมชน เกษตรกรรายย่อย และผลกระทบด้านสุขภาพจะทำให้เกิดการผูกขาดยาผ่านระบบสิทธิบัตรและกีดขวางการเข้าถึงยาราคาถูก ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อระบบสุขภาพของประเทศ

นอกจากนี้ การเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ จะทำให้มีการบริโภคมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีการคุ้มครองการลงทุนที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการนอกประเทศได้ แม้ว่ารัฐจะกำหนดให้มีนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชน แต่ขัดผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติ โดยการคุ้มครองการลงทุนในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนในทุกมิติ

“ขณะนี้นายกรัฐมนตรีของไทยกำลังเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ค เพื่อกล่าวคำประกาศทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในสายตานานาประเทศ และหลายประเทศกำลังเดินหน้าผลักดันให้มีระบบหลักประกันสุขภาพฯ เหมือนไทย แต่ถ้าประเทศไทยเดินหน้ารื้อฟี้นการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป โดยให้มีข้อผูกพันในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยจะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากราคายาที่สูงขึ้นอย่างมาก และการถูกจำกัดการออกหรือใช้นโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน” เฉลิมศักดิ์กล่าว

ขณะที่คำประกาศทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขององค์การสหประชาชาติ ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยกำลังไปร่วมประชุม ในข้อที่ 51 ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 3 ที่ว่าด้วยสุขภาพ และในปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) ว่าด้วยความตกลง TRIPs และการสาธารณสุข ได้กล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเข้าถึงยา วัคซีน และเวชภัณฑ์จำเป็นต่างๆ ในราคาที่เป็นธรรม และไม่ควรให้ความตกลงการค้าใดๆ และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบสุขภาพภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้งนั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์จึงควรตระหนักและคำนึงถึงประเด็นในเรื่องความสอดคล้องทางนโยบายเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการค้าและการสาธารณสุข

2

เมื่อ 7 ปีที่แล้วตอนที่เริ่มการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนอ้างความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งจัดทำ FTA เพื่อไม่ให้สินค้าไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System Preference: GSP) อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาพบว่า แม้สินค้าบางรายการของไทยถูกตัด GSP ไปแล้ว แต่การส่งออกไม่ได้ลดลง สินค้าส่งออกบางรายการกลับเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งตัวเลขการลงทุนของสองฝ่ายก็ไม่ได้ลดน้อยลง ดังนั้น จึงควรมีการทบทวนงานศึกษาและข้อมูลของทั้งหน่วยราชการและภาคเอกชนที่สนับสนุนให้เร่งเจรจา เพราะอาจมีอคติและให้ข้อมูลตัวเลขผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเจรจาที่เกินจริง และในทำนองเดียวกัน อาจให้ข้อมูลตัวเลขด้านผลกระทบในกรณีที่ไทยไม่ทำ FTA กับสหภาพยุโรปที่รุนแรงเกินจริง

3

ในการเจรจารอบที่เคยผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และกระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนให้จัดทำการศึกษาผลกระทบของ FTA ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health Impact Assessment: HIA) และ Environmental Health Impact Assessment: EHIA) และกระทรวงพาณิชย์และสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ศึกษาและมีรายงานหลายฉบับ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศควรรวบรวมงานศึกษาเหล่านี้ทุกฉบับและเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาอีกหรือไม่ และใช้เป็นข้อมูลในช่วงการเจรจา

4

ในการเจรจารอบที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้จัดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเตรียมเนื้อหาการเจรจาอย่างเท่าเทียม เช่น การจัดให้มีการหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมทั้งรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล ถ้ามีการรื้อฟื้นการเจรจาขึ้นมาอีกครั้ง ขั้นตอนการมีส่วนร่วมในทุกระดับและทุกหัวข้อของเนื้อหาการเจรจาความตกลง ต้องมีการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย อย่างแท้จริง และไม่น้อยไปกว่าเดิม อีกทั้งไม่ควรเลือกปฏิบัติรับฟังความคิดเห็นของภาคธุรกิจมากกว่าภาคประชาสังคม

5

การออกมาตรการรองรับหรือมาตรการเยียวยาใดๆ จากผลกระทบของ FTA ต้องให้ผู้ได้ประโยชน์จากความตกลงฉบับนี้ มีส่วนในการรับผิดชอบต่อผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสุขภาพ ชีวิตเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม

กรรณิการ์กล่าวย้ำประเด็นนี้ว่า ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ถ้าอยากทำ FTA เพราะจะได้รับประโยชน์ทางธุรกิจ ก็ควรต้องยอมให้รัฐจัดเก็บภาษีรายการใหม่ๆ ในอัตราที่สมเหตุสมผลและเพียงพอ เพื่อนำมาเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน

ทั้งนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เครือข่ายภาคประชาสังคม และภาควิชาการ พร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลการศึกษาต่างๆ เพื่อให้การเจรจาการค้าระหว่างประเทศเกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนมากที่สุด และไม่ปล่อยให้ผลได้กระจุกผลเสียกระจายดังที่เคยเป็นมา

 

สัญญาใจ 7 ข้อ คุ้มครองนักช็อปออนไลน์

ตลาดซื้อขายออนไลน์วันนี้คึกคักยิ่งกว่าตลาดนัด 100 ปี เพราะใครต่อใครต่างก็สามารถซื้อขายกันได้ง่ายดายเพียงปลายนิ้ว ช็อปได้ทุกวันทุกเวลาไม่เว้นวันหยุดราชการ และด้วยความสะดวกสบายเช่นนี้เอง ที่อาจทำให้หลายคนตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอก

ต้องยอมรับว่า กฎกติกาข้อแรกของการจับจ่ายในโลกออนไลน์นั้น ไม่มีสินค้าจริงให้จับต้องได้ มีเพียงภาพและข้อความโฆษณาที่ยากจะคาดเดาได้ว่า จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือมั่วนิ่ม

นักช็อปหลายคนเคยผ่านประสบการณ์ปวดใจมาแล้วนักต่อนัก ที่พบเจอกันบ่อยๆ อย่างเช่น สินค้าไม่ตรงปก สั่งแบบนั้น แต่ได้แบบนี้ ซื้อไปแล้วไม่รับคืน หรือถ้าคืนได้ก็ต้องจ่ายค่าขนส่งเอง หลายรายเจ็บแต่ไม่จบ จ่ายเงินแล้วแต่ไม่ได้ของ เพราะแม่ค้าตัวดีหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

จะดีกว่าไหม ถ้าตลาดขายของออนไลน์จะซื่อสัตย์จริงใจและมีระบบตรวจสอบที่ชัดเจนมากกว่านี้

ด้วยเหตุที่นักช็อปจำนวนไม่น้อยต้องประสบกับปัญหาเหล่านี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคที่ประกอบด้วยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงจับมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และองค์กรภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู จำกัด และบริษัท บิวตี้ นิสต้า จำกัด เพื่อหาแนวทางพัฒนาวงการธุรกิจ e-Marketplace ให้เป็นที่ยอมรับ เชื่อถือได้ และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค โดยมีการแลกเปลี่ยนระดมความเห็นจากผู้ส่วนได้ส่วนเสียในการจัดทำแนวทางการประกอบธุรกิจที่ดี จนได้ข้อสรุปร่วมกันและนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเป็นกรอบในการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา

 

ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA พบว่า ตลาด e-Commerce ของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าตลาดจะเพิ่มสูงขึ้น จาก 2.7 ล้านล้านบาท ในปี 2560 เป็น 3.2 ล้านล้านบาท ในปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีระบบ e-Payment ที่สะดวกสบายมากขึ้น การขนส่งที่รวดเร็ว ทำให้คนหันมานิยมซื้อของออนไลน์สูงขึ้น

ทว่าเมื่อไลฟ์สไตล์การจับจ่ายของผู้คนเคลื่อนจากโลกออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์กันมากขึ้น อีกด้านหนึ่ง ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (สายด่วน 1212 OCC) พบว่า ในปี 2560 มีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 9,987 ครั้ง และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2561 โดยมีเรื่องร้องเรียนสูงถึง 17,558 ครั้ง หรือเฉลี่ย 1,463 ครั้งต่อเดือน

ปัญหาสำคัญที่ผู้บริโภคมักประสบอยู่เสมอคือ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า ทั้งข้อมูลตัวตนที่แท้จริงของผู้ขาย รายละเอียดสินค้าและสัญญา จนนำไปสู่การถูกหลอก การซื้อแล้วไม่ได้รับสินค้า การได้รับสินค้าไม่ตรงตามโฆษณา หรือสินค้าชำรุดเสียหายระหว่างขนส่งก่อนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงปัญหาเรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการศึกษาทบทวนปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์โดยเปรียบเทียบทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบปัญหาที่คล้ายคลึงกันของธุรกิจ e-Marketplace โดยมีข้อสรุปที่สำคัญ 7 ประเด็น และนำมาสู่การจัดทำ MOU เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ได้แก่

  1. การตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ให้ผู้ประกอบการตลาดออนไลน์มีระบบหรือกลไกการตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายในตลาดของตนเพื่อพิสูจน์ตัวตน ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าซื้อสินค้าจากผู้ขายที่มีตัวตนจริง
  2. การแสดงข้อมูลของร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าสินค้าหรือบริการนั้นมีการจดแจ้ง หรือได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบถ้วน และไม่มีการโฆษณาที่เกินจริง เป็นเท็จ หรือทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ รวมทั้งมีระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานหรือที่อนุญาตสินค้าหรือบริการนั้น
  3. การมีระบบให้ข้อมูลจำเป็นแก่ผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าเป็นร้านค้าที่มีการจดทะเบียนตามกฎหมาย รวมถึงมีช่องทางการแจ้งเตือนภัยผู้บริโภคเกี่ยวกับข้อมูลร้านค้าที่เคยถูกร้องเรียน
  4. ระบบรักษาความปลอดภัยทางการเงิน มีระบบ ‘คนกลาง’ เพื่อเก็บเงินไว้ก่อน เมื่อผู้บริโภคยืนยันว่าได้สินค้าครบถ้วนถูกต้อง คนกลางจึงจะโอนเงินไปยังผู้ขาย โดยผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะเลือกใช้บริการรับชำระเงิน (Payment Gateway) ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากกระทรวงการคลัง
  5. นโยบายความเป็นส่วนตัว มีนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เก็บรักษาข้อมูลของลูกค้าเป็นความลับ ไม่เปิดเผยหรือนำข้อมูลไปใช้ก่อนได้รับอนุญาต
  6. การมีช่องทางร้องเรียนและระบบติดตามเรื่องร้องเรียน มีช่องทางร้องเรียนที่สะดวก รวดเร็ว และเห็นได้ชัดเจน ผู้บริโภคสามารถประสานงานและติดต่อได้ง่าย และให้มีการรายงานผลเรื่องร้องเรียนให้ผู้บริโภคทราบภายใน 15 วันนับแต่ได้รับเรื่องร้องเรียน
  7. การมีนโยบายความพึงพอใจ การคืนสินค้าและการเยียวยาแก่ผู้บริโภค มีนโยบายความพึงพอใจ การคืนสินค้า และความรับผิดชอบต่อความไม่ปลอดภัยของสินค้า มีการแสดงข้อมูล เงื่อนไขการคืนเงิน ช่องทาง วิธีการคืนเงิน ระยะเวลาที่จะคืนเงินเป็นไปตามกฎหมาย

แนวทางและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นก้าวแรกของความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ ซึ่งในอนาคตอาจเป็นบรรทัดฐานให้กับธุรกิจ e-Marketplace รายอื่นๆ ที่ต้องพัฒนาและปรับตัวเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคต่อไป

การเดินทางของ ‘เขม่าดำ’ จากลมหายใจสู่ครรภ์มารดา

งานวิจัยพบ ‘เขม่าดำ’ หรือคาร์บอนดำ (Black Carbon: BC) ในรกด้านที่เชื่อมกับทารก นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบว่ามลภาวะทางอากาศจากการหายใจของแม่สามารถส่งต่อไปถึงเยื่อรกบางๆ (placental barrier) ได้ โดยรกตัวอย่างทุกชิ้นพบเขม่าดำเล็กๆ จำนวนหลายพันละอองต่อเนื้อเยื่อรก 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร แสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่ทารกจะสัมผัสเขม่าดำ เช่น จากควันไอเสียรถโดยตรงตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์

รกของคนเราประกอบด้วยสองส่วน คือส่วนที่อยู่ติดกับตัวอ่อน สร้างจากเนื้อเยื่อเดียวกับของทารก และอีกส่วนคือรกส่วนที่ติดกับแม่ สร้างจากเนื้อเยื่อมดลูกของแม่ โดยน้ำและสารอาหารจะถูกถ่ายทอดจากรกฝั่งแม่ไปสู่รกฝั่งลูก และจะลำเลียงสู่ตัวอ่อนผ่านสายสะดือ ส่วนของเสียจากตัวอ่อน เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจจะถูกลำเลียงออกมาอีกทางหนึ่ง ระบบเลือดของแม่และลูกไม่ได้แลกเปลี่ยนสารต่างๆ กันโดยตรง แต่จะผ่านเยื่อรก (placenta barrier) เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ของแม่ตรวจจับเซลล์ลูกว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม เยื่อนี้ยอมให้สารบางอย่างผ่านไปได้ เช่น DNA ลูกสู่แม่ หรือแอลกอฮอล์ นิโคติน ยาสเตียรอยด์จากแม่สู่ลูก และล่าสุดเราก็ทราบว่าเขม่าดำก็เป็นสารอีกตัวหนึ่งที่สามารถผ่านเยื่อรกไปได้

เขม่าดำเป็นหนึ่งในละอองมลภาวะทางอากาศที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงรถยนต์ การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว หรือควันจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน งานวิจัยฉบับนี้เสนอว่า เขม่าดำอาจเป็นอีกหนึ่งตัวการเพิ่มความเสี่ยงที่ทารกจะมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยและมีโรคประจำตัวในระยะยาว คลอดก่อนกำหนด หรือถึงขั้นแท้งบุตร เขม่าดำเป็นมลภาวะทางอากาศ มีผลต่อปัญหาทางเดินหายใจและหัวใจ

ศาสตราจารย์ทิม นอว์รอต (Tim Nawrot) ผู้วิจัยหลักจากมหาวิทยาลัยฮัสเซลท์ (Hasselt University) ในประเทศเบลเยียม กล่าวว่า เมื่อตัวอ่อนในครรภ์ได้รับอันตรายก็จะส่งผลไปตลอดชีวิต เขาย้ำว่า “ระยะตัวอ่อนเป็นช่วงชีวิตที่บอบบางที่สุด เป็นขั้นตอนการพัฒนาอวัยวะทุกระบบ และเราต้องทำให้มารดาได้รับเขม่าดำน้อยลงเพื่อปกป้องเด็กๆ รุ่นต่อไป” การลดปริมาณเขม่าดำอาจทำได้ตั้งแต่การให้หญิงมีครรภ์หลีกเลี่ยงถนนที่รถติด ไปจนถึงการให้รัฐบาลประกาศควบคุมปริมาณมลภาวะทางอากาศ

“ผลลัพธ์ครั้งนี้บอกให้รู้ว่าละอองขนาดเล็กสามารถผ่านเยื่อรกของมนุษย์ได้ ขั้นต่อมาคือการวิจัยว่ามันผ่านไปถึงตัวอ่อนหรือไม่” นอว์รอตยอมรับว่าแม้จะทราบผลการวิจัยเบื้องต้นแล้ว แต่การป้องกันเขม่าดำก็เป็นเรื่องยาก “การให้คำแนะนำที่ใช้ได้จริงเป็นเรื่องยากมาก เพราะอย่างไรทุกคนก็ต้องหายใจ”

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Nature Communications นอว์รอตทำการวิจัยโดยเก็บตัวอย่างรกจากผู้หญิงชาวเบลเยียมที่ไม่สูบบุหรี่ 25 คนในเมืองฮัสเซลท์ พบว่ามีระดับละอองมลภาวะสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด แต่ก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนด นอว์รอตและคณะวิจัยใช้เทคนิคเลเซอร์เพื่อช่วยตรวจจับเขม่าดำ พบว่ามีเขม่าขนาดนาโนเล็กๆ เกาะอยู่บนรกด้านที่เชื่อมกับทารก ยิ่งแม่ได้รับมลภาวะทางอากาศมากเท่าไหร่ก็ยิ่งพบปริมาณเขม่าดำมากเท่านั้น เฉลี่ยแล้วหญิงตั้งครรภ์ที่พักใกล้ถนนใหญ่และน่าจะสัมผัสควันจากไอเสียรถมากมีเขม่านาโน ถึง 20,000 ชิ้นต่อตัวอย่างรก 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร และเฉลี่ย 10,000 ชิ้น ต่อ 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตรสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่พักห่างจากถนนใหญ่อย่างน้อย 500 เมตร

ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์เลือดของตัวอ่อนทารกในครรภ์เพื่อค้นหาว่าเขม่าดำสร้างความเสียหายแก่ DNA ของตัวอ่อนหรือไม่ นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบเขม่าดำในรกของตัวอ่อนอายุเพียง 12 สัปดาห์ที่เสียชีวิตจากภาวะแท้ง ในปี 2017 คณะวิจัยพบเขม่าดำเฉลี่ย 10 ล้านชิ้นต่อปัสสาวะ 1 มิลลิลิตรของเด็กประถมอายุ 9-12 ปี นอกจากนี้ก็เคยพบว่าละอองนาโนสามารถแพร่ผ่านตัวกลางระหว่างเลือดกับสมอง รวมถึงพบละอองนาโนหลายพันล้านชิ้นภายในอวัยวะหัวใจของคนหนุ่มสาวที่อาศัยในเขตเมือง แสดงให้เห็นว่าเขม่าดำจากปอดอาจเคลื่อนไปที่อวัยวะใดก็ได้ในร่างกาย

องค์การอนามัยโลกประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศทั่วโลกมากกว่า 7 ล้านคนต่อปี ประชากรกว่า 90 เปอร์เซ็นต์บนโลกนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงเกินกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด โดยเขม่าดำเป็นหนึ่งในฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particular Matter: PM) ที่สามารถเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดและระบบทางเดินหายใจผ่านการสูดดมอากาศไม่บริสุทธิ์ เมื่อปี 2018 เว็บไซต์ตรวจสอบมลภาวะทางอากาศ AirVisual.com จัดอันดับประเทศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ได้ว่า ประเทศที่มีความเข้มข้นของฝุ่นละอองเฉลี่ยรายปีมากที่สุดคือบังคลาเทศ รองลงมาคือปากีสถานและอินเดีย ส่วนประเทศไทยมีมลภาวะทางอากาศสูงเป็นอันดับ 23

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com/environment
bbc.com
bangkokpost.com
pharmacy.mahidol.ac.th
facebook.com/PCD.go.th
airvisual.com
thaipublica.org
who.int

UNDERSTAND : ซึมเศร้าเราเข้าใจ

สถานการณ์ซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในกลุ่มเยาวชน นิสิตนักศึกษา ปรากฏเป็นข่าวในปริมาณที่ถี่ขึ้นอย่างผิดสังเกตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่เว้นแม้แต่นักศึกษาแพทย์เองก็ไม่อาจได้รับการยกเว้นจากกลุ่มอาการที่ว่านี้

มองในมุมหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้ได้สะท้อนสภาพสังคม ชีวิตการเรียนที่เต็มไปด้วยความเครียด ความกดดัน และความคาดหวังจากคนในครอบครัว

นพ.วิชยุตม์ เพศยนาวิน หรือ ‘หมอวิคเตอร์’ คือหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘Understand’ (ซึมเศร้าเราเข้าใจ) องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายนักศึกษาแพทย์หลากหลายสถาบัน เพื่อส่งเสริมความตระหนักและพัฒนาทักษะการรับมือโรคซึมเศร้าและปัญหาด้านสุขภาพจิตให้กับนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ

การรวมตัวทำกิจกรรมของกลุ่ม Understand มุ่งหมายที่จะบอกกับทุกคนว่า ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด หากคนใกล้ชิดรอบข้างกำลังเผชิญกับโรคนี้ ขอเพียงแค่มีคนรับฟังพวกเขาบ้าง ฟังด้วยความเข้าใจ และฟังโดยไม่ตัดสิน

3 ปีผ่านไป ‘ตู้กดน้ำหยอดเหรียญ’ ยังไม่น่าไว้ใจ

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ราว 3 ปีที่แล้ว มีผลการสำรวจข้อมูลของตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญทั้วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2558-2559 โดยศูนย์สิทธิผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร พบว่า ร้อยละ 95 หรือ 1,600 กว่าตัวอย่าง เป็นตู้น้ำดื่มที่ไม่มีการขออนุญาตประกอบกิจการที่ถูกต้อง หรืออาจเรียกได้ว่า ‘ตู้น้ำดื่มเถื่อน’  

มาวันนี้ 4 กันยายน 2562 ศูนย์สิทธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับนักวิชาการอิสระ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้ประกอบการตู้กดน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญทั่วกรุงเทพฯ เข้าจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตให้ถูกกฎหมาย และย้ำด้วยว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ต้องเร่งกวดขัน เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคให้มีน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยต่อสุขอนามัย 

สำลี ศรีระพุก อาสาสมัครศูนย์สิทธิเพื่อผู้บริโภค เขตยานนาวา กล่าวว่า จากการสำรวจร่วมกับนักวิชาการอิสระ มูลนิธิผู้บริโภค เมื่อปี 2559 พบว่า ตู้กดน้ำดื่มประมาณร้อยละ 95 ทั่วกรุงเทพฯ ‘ไม่ผ่านมาตรฐาน’ และไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ เนื่องจากที่ผ่านมามีเสียงร้องเรียนจากผู้ประกอบการตู้กดน้ำดื่มว่าค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแพงเกินไป

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กทม. ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ กทม. ให้บรรจุเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน ภายหลังผู้ว่าฯ กทม. จึงมีคำสั่งด่วนให้ทุกสำนักงานเขตดำเนินการสำรวจข้อมูลตู้น้ำดื่มในพื้นที่ พร้อมทั้งเชิญผู้ประกอบการเข้ามาขออนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้อง รวมทั้งดำเนินการสำรวจคุณภาพน้ำเบื้องต้นอีกด้วย

กระทั่งวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 มีประกาศข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยสาธารณสุข พ.ศ. 2561 ลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อลดอุปสรรคในการขออนุญาต โดยลดค่าธรรมเนียมจากเดิม 2,000 บาทต่อปี ให้เหลือเพียง 500 บาทต่อปี ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ประกอบการประเมินแล้วว่าจ่ายได้ ส่วนค่าธรรมเนียมตู้ถัดไปจะจัดเก็บเพิ่มตู้ละ 20 บาท แต่รวมแล้วต้องจ่ายไม่เกิน 15,000 บาท

ปราณี อุ่นแอบ ตัวแทนศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตคลองสามวา กล่าวว่า อยากสอบถามไปยัง กทม. ว่าที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องการลดค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการรายเก่าทราบหรือไม่ และจะมีมาตรการลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ขอใบอนุญาตหรือไม่ควบคุมคุณภาพน้ำดื่มอย่างไร จะมีการจัดการตู้น้ำชำรุด ทั้งตู้ที่ยังใช้งานอยู่และเลิกใช้แล้วอย่างไร รวมทั้งขอเรียกร้องให้ กทม. เปิดเผยรายชื่อผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนอนุญาตอย่างถูกต้องในแต่ละเขต นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ผู้ประกอบการตู้กดน้ำดื่มเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพน้ำและวันที่เปลี่ยนไส้กรองด้วย 

“อยากถามผู้ประกอบการว่ามีการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ มีการเปลี่ยนไส้กรองหรือไม่ อย่างไร มีการเปิดเผยข้อมูลวันที่เปลี่ยนไส้กรองบ้างหรือไม่ เพราะเราในนามศูนย์สิทธิผู้บริโภคมีความห่วงใยว่าเมื่อ กทม. ลดค่าธรรมเนียมให้แล้ว ผู้ประกอบการจะยังรับผิดชอบคุณภาพของน้ำดื่มอย่างต่อเนื่องไหม โดยศูนย์สิทธิเพื่อผู้บริโภคยินดีสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน” ฐิตินัดดา รักกู้ชัย ตัวแทนศูนย์สิทธิเพื่อผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย กล่าวเสริม 

 

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://consumerthai.org

https://www.thaihealth.or.th

 

ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “กฎหมายใหม่ คุ้มครองผู้บริโภค หรือไม่ อย่างไร”

แผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “กฎหมายใหม่ คุ้มครองผู้บริโภค หรือไม่ อย่างไร” ระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ ห้องยุคลธร โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน ๖๐ คน ประกอบด้วย วิทยากร และเภสัชกรด้านคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรบรรยายและแลกเปลี่ยนเรื่องกฎหมายใหม่ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคดังนี้

ภก.วินิต อัศวกิจวีรี  อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ อย. และภก.วราวุธ เสริมสินสิริ  ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย.เรื่อง พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.๒๕๖๒ : การเปลี่ยนผ่านจาก “ยา” “อาหาร” ไปเป็น “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” ข้อดีและข้อด้อยที่ส่งผลกระทบต่อระบบยาและอาหาร ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค และ การควบคุมก่อนและหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด

ภก.วินิต อัศวกิจวีรี  อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่อง พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๖๒ : สาระใหม่ที่แตกต่างจากฎหมายปัจจุบัน ข้อดีของกฎหมายใหม่ และผลกระทบจากพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.๒๕๖๒

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรื่อง พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคพ.ศ.๒๕๖๒ :ความสำคัญ บทบาทและภารกิจ ของสภาองค์กรผู้บริโภค และความท้าทายในการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค

นายโสภณ  หนูรัตน์ นักวิชาการกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรื่อง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔ ) พ.ศ. ๒๕๖๒ : ข้อดีและข้อด้อย และกลไกจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย ในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ  นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน และ ภก.ธนพัฒน์ เลาวหุตานนท์    สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.๒๕๖๒ : ร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการขยายผลในพื้นที่อื่นๆ

ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี  ผู้จัดการแผนงาน กพย. ภญ.ขนิษฐา ตันติศิรินทร์  ผู้อำนวยการกองวัตถุเสพติด และ ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เรื่อง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๖๒: กัญชา กฎหมายเปิดเสรีกัญชาระดับใด และตัวอย่างเภสัชกรที่ดำเนินการเกี่ยวกับกัญชา

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการนำเสนอของวิทยากรได้ดังนี้

  1. พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.๒๕๖๒ โดย ภก.วินิต อัศวกิจวีรี
  2. พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.๒๕๖๒ โดย ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ
  3. พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๖๒ โดย ภก.วินิต อัศวกิจวีรี
  4. พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคพ.ศ.๒๕๖๒ โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง
  5. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๔ ) พ.ศ. ๒๕๖๒ โดย นายโสภณ หนูรัตน์
  6. พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.๒๕๖๒ โดย ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ
  7. พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.๒๕๖๒ โดย ภก.ธนพัฒน์ เลาวหุตานนท์
  8. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๖๒: กัญชา โดย ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี
  9. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๖๒: กัญชา โดย ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว

ดื่มฉี่ดีจริงหรือ?

เทรนด์ดื่มฉี่เพื่อสุขภาพ กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในระดับ ‘Talk of the town’ และกลายเป็นกระแสสังคมที่สร้างความสับสนแบบสุดๆ

ก่อนที่คำถามและข้อสงสัยต่างๆ นานาจะเลื่อนไหลไป WAY ชวนคุยกับ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาพูดถึงข้อเท็จจริงว่าด้วยเรื่องฉี่ๆ เพื่อถอดรื้อมายาคติระหว่างการดื่มฉี่ตามความเชื่อทางศาสนา ศาสตร์ของแพทย์ทางเลือก และการรักษาโรคแบบ placebo (การใช้ยาหลอกในทางการแพทย์)

หากมองด้วยสายตานักวิชาการ ยังมีคำอธิบายถึงข้อเสียมหาศาลที่มากกว่าประโยชน์ที่จับต้องได้จากหลักฐานและงานวิจัยเชิงประจักษ์

*คำเตือน – การดื่มฉี่เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการดื่ม

ขอ 10,000 รายชื่อ หนุน พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน

เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคม เสนอร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วย แพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้าน สามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เต็มที่ พร้อมทั้งเสนอให้ถอดกัญชา กระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 โดยให้มีสถานะเป็น ‘พืชยา’ ที่ได้รับการควบคุมเฉพาะ และหลังจากนี้ทางเครือข่ายจะรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ให้ได้ครบ 10,000 รายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ในเวทีแถลงข่าว ‘ร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน’ จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กพย.) และมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562 ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลที่ต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ เนื่องจากกฎหมายเดิมที่บังคับใช้อยู่เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการพัฒนาของวงการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาและข้อจำกัดของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (และฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562) แม้จะคลายล็อคกัญชาและกระท่อมให้สามารถนำมาศึกษาวิจัยและใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ แต่ก็ยังคงกำหนดนิยามเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะของกัญชา กระท่อม ในฐานะที่เป็นพืชยา อีกทั้งยังมีบทลงโทษทางอาญาที่ค่อนข้างรุนแรง

นอกจากนี้ การขออนุญาตผลิต (ปลูก) ทั้งกัญชาและกระท่อมยังมีความเข้มงวดมากเกินไป แม้ว่าจะเป็นการปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์หรือรักษาผู้ป่วย ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ‘คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ’

“พืชกระท่อมไม่ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศคือ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยสารเสพติด ค.ศ. 1961 (Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) และพืชกระท่อมมีผลกระทบต่อผู้เสพหรือผู้บริโภคน้อยกว่ายาเสพติดให้โทษอื่นๆ อีกทั้งการบริโภคใบกระท่อมถือเป็นวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของคนในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ มิได้เป็นสาเหตุของปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรมเหมือนกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

ไพศาลเสนอทางออกว่า กฎหมายควรเปิดกว้างให้มีการนำกัญชาและพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ มากขึ้น ดังนั้น เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมด้านพืชยา กัญชา กระท่อม จึงเสนอให้มีร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ฉบับประชาชน เพื่อให้เกิดแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการพืชยา

 

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ

  • ร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม เป็นกฎหมายที่เน้นการส่งเสริมสนับสนุนการนำพืชยาเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย การส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เปิดโอกาสให้มีการใช้ตามวิถีชีวิตชุมชน มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านยาของประเทศ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
  • กัญชา กระท่อม และพืชยาอื่น มีลักษณะจำเพาะ จึงควรมีกลไกการจัดการที่แตกต่างจากยาเสพติดให้โทษประเภทอื่นที่เป็นสารสังเคราะห์
  • ร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ให้ความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ตามวิถีชุมชน วัฒนธรรมของชุมชนที่มีความพร้อม สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 43 เรื่องสิทธิชุมชน
  • สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 55 เรื่องรัฐมีหน้าที่คุ้มครองสุขภาพของประชาชน และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • การจัดการ ‘กระท่อม’ ควรแตกต่างจาก ‘กัญชา’ เนื่องจากกระท่อมไม่ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ

 

นิยามพืชยา

ในร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน ได้กำหนดนิยามของ ‘พืชยา’ หมายความว่า

  • (1) กัญชา (Cannabis spp.)
  • (2) กระท่อม (Mitragyna speciosa)
  • (3) พืชยาอื่นที่มีฤทธิ์ทางยา ซึ่งมีส่วนประกอบของสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และมีสารสำคัญที่สามารถใช้ในการป้องกัน บำบัด บรรเทา รักษาความเจ็บป่วย รวมถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปตามที่รัฐมนตรีประกาศ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ทั้งนี้ พืชยาตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ส่วน ‘ธรรมนูญชุมชน’ หมายความว่า กติกาของชุมชนที่สมาชิกของชุมชนตกลงร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางการใช้ การครอบครอง หรือการใช้ประโยชน์อื่นใดจากพืชยา เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน บำบัดโรค รักษาผู้ป่วย บรรเทาอาการของโรคบางอย่าง รวมถึงการใช้ประโยชน์อื่นใดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม จารีตประเพณีของสมาชิกของชุมชนท้องถิ่น โดยมีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในชุมชน

 

การปลูก ผลิต และครอบครอง

มาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ระบุว่า การปลูก ผลิต หรือครอบครองพืชยาหรือผลิตภัณฑ์จากพืชยา เพื่อใช้ในการผลิตยาตามตำรับยาแผนปัจจุบัน หรือตำรับยาแผนไทยของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยด้านเวชกรรมไทยและด้านเภสัชกรรมไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อการรักษาผู้ป่วยเฉพาะราย ให้เป็นไปตามกฎหมายยาหรือกฎหมายวิชาชีพนั้นๆ โดยไม่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา 7 การปลูก การครอบครอง และการใช้ประโยชน์จากกระท่อมในกรณีต่อไปนี้ ไม่ต้องขออนุญาต และไม่ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

  • (1) การปลูกกระท่อมของบุคคลจำนวนไม่เกินสามต้นในที่ดินที่บุคคลนั้นมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย
  • (2) การใช้ การครอบครองกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์ยาที่ทำจากกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน บำบัดโรค หรือบรรเทาอาการของโรคของบุคคล หรือเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์
  • (3) การใช้ การครอบครองกระท่อมตามวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่น และมิได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น
  • (4) การต้ม การผลิตหรือแปรสภาพกระท่อมที่มิได้มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์
  • (5) การดำเนินการอื่นๆ ตามธรรมนูญชุมชน
  • (6) กรณีอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

สถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวเพิ่มว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะให้จัดตั้งสถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น ให้สถาบันมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี

ในบทเฉพาะกาล ระบุด้วยว่า ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และเงินงบประมาณของ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด หน่วยงานในสังกัดสำนักงาน ป.ป.ส. ไปเป็นของสถาบันพืชยาฯ ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้โอนพนักงานของสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ไปเป็นพนักงานของสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้

ให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนไว้ที่สถาบันปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการจ่ายขาดเพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้นให้แก่สถาบันที่จัดตั้งขึ้นดังกล่าวเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการดำเนินการของสถาบันเป็นอย่างต่อเนื่อง

ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ท. ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปว่า จากเหตุผลและหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ฉบับนี้ จะก่อให้เกิดแนวทางการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์กัญชา กระท่อม และพืชยาอื่นอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถนำกัญชา กระท่อม พืชยาอื่นมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ให้แก่คนไทยได้อย่างถูกกฎหมาย ผู้ป่วยและประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากพืชยาที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และปลอดภัย ไม่ถูกหลอกลวง รวมถึงช่วยให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ และงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่าเชื่อถือได้

ที่สำคัญจะมีการควบคุมดูแลการผลิต จำหน่าย และการโฆษณาแก่ประชาชน ในลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์ยา โดยมีสถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้ และการติดตามเฝ้าระวังอันตรายอย่างสมดุล เป็นระบบ ครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การผลิต และการใช้ในโรงพยาบาล ร้านขายยาและการใช้เองของชุมชน ตลอดจนกำหนดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้วย

 

‘ธรรมนูญสุขภาพ’ กติกาจัดการขยะของคนอ่าวนาง

ขณะที่คนทั้งประเทศกำลังโศกเศร้ากับการจากไปของ ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยวัย 9 เดือน ทีมสัตวแพทย์ก็ได้เผยผลการผ่าชันสูตรพบเศษพลาสติกอุดตันปลายลำไส้ใหญ่ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงแก่ความตาย ข้อค้นพบจากหลักฐานนี้ทำให้ผู้คนตระหนักได้ทันทีว่า ‘ขยะพลาสติก’ คือตัวการสำคัญของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับพะยูนมาเรียม และถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ตอกย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องลุกขึ้นมาช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับท้องทะเลไทยอย่างจริงจังเสียที

รูปธรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วและทำได้จริง ปรากฏให้เห็นที่ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เมื่อคนทั้งตำบลพร้อมใจกันจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ให้เป็นระบบระเบียบ ภายใต้ข้อตกลงหรือกติกาของคนในตำบลที่เรียกว่า ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ และร่วมรับผิดชอบปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง

กิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ‘ธรรมนูญเขยื้อนขยะ สร้างสุขภาวะคนอ่าวนาง’ ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 13-14 สิงหาคมที่ผ่านมา พาไปติดตามดอกผลจากการใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพระดับตำบลในการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่ท่องเที่ยวชื่อดัง เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาทำงานกันอย่างไรและเห็นผลสัมฤทธิ์มากแค่ไหน

ขยะเมื่อวันวาน

หลายคนอาจจินตนาการไม่ออกว่า ตำบลอ่าวนางที่สวยงามสะอาดตาอย่างที่เห็นอยู่นี้ จะเคยเผชิญวิกฤติขยะเกลื่อนเมืองหนักหนาเพียงไร โดยเฉพาะตำบลนี้เป็นพื้นที่พิเศษที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี หาดไร่เลย์ ทะเลแหวก ซึ่งต้องรับมือกับปริมาณนักท่องเที่ยวมหาศาลในแต่ละปี

ปรีชา ปานคง อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและประธานกลุ่มชุมชนต้นแบบ หมู่ 5 เล่าให้ฟังว่า หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว สภาพของตำบลอ่าวนางในอดีตนั้นเต็มไปด้วยความสกปรกเลอะเทอะตลอดสองข้างทาง ชาวบ้านทิ้งขยะเรี่ยราดจนล้นออกมานอกถัง บ้างก็เผาขยะริมถนน บ้างปล่อยน้ำเสียลงคูคลองออกทะเล เกิดเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมา

“อ่าวนางเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ ถ้าชาวต่างชาติเขามาเที่ยวแล้วเห็นกองขยะเรี่ยราดแบบนี้ เราในฐานะที่เป็นเจ้าบ้านก็รู้สึกอายแทนชาวบ้าน เลยต้องหาวิธีชักชวนชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง”

เมื่อถามผู้นำชุมชนอย่างโต๊ะอิหม่าม สัมพันธ์ ช่างเรือ ก็ได้รับคำยืนยันเช่นเดียวกันว่า คนในชุมชนล้วนเห็นพ้องกันว่า ขยะเป็นสิ่งสกปรก นำมาซึ่งเชื้อโรคและคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ฉะนั้น การแก้ปัญหาขยะจึงเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องช่วยกัน โดยวิธีที่ดีที่สุดคือนั่งลงพุดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างสันติ

หน่วยงานระดับท้องถิ่น คือหนึ่งในตัวแปรที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการขยะ พันคำ กิตติธรกุล นายก อบต.อ่าวนาง ให้ข้อมูลว่า กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมดในจังหวัดกระบี่อยู่ที่ตำบลอ่าวนาง โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยวันละ 65-70 ตัน ซึ่ง อบต.อ่าวนาง ต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดการไม่ต่ำกว่าปีละ 28 ล้านบาท

ที่ผ่านมา อบต.อ่าวนาง ได้พยายามรณรงค์ทุกช่องทาง เริ่มจากให้ชาวบ้านทิ้งขยะเป็นเวลา ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือน จัดทำโครงการขยะแลกไข่ โครงการชุมชนต้นแบบ และอื่นๆ อีกหลายโครงการ อีกทั้งนำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้ แต่ไม่ว่าจะใช้ไม้แข็งหรือไม้อ่อนก็ยากที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชาวบ้านได้ สุดท้าย อบต.อ่าวนาง จึงปรับแนวคิดด้วยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ แทนที่จะให้หน่วยงานรัฐหรือ อบต. คิดให้ทั้งหมด

พันคำอธิบายว่า การใช้หลักการมีส่วนร่วมมีผลให้ชาวบ้านรู้สึกรับผิดชอบมากขึ้น เกิดจิตสำนึก เกิดความตระหนัก เพราะเป็นมาตรการทางสังคมที่ชาวบ้านช่วยกันกำหนดและออกแบบขึ้นมาเอง ฉะนั้น คนในชุมชนจึงเคารพในกติกานี้

“เราจัดเวทีประชาคมพูดคุยกับทุกภาคส่วนในพื้นที่และได้นำเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งก็คือธรรมนูญสุขภาพตำบลเข้ามาสนับสนุนการทำงาน โดยทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาขยะและน้ำเสียคือสิ่งที่ทุกคนอยากให้แก้ไข” นายก อบต.อ่าวนาง กล่าว

อีกด้านหนึ่งตำบลอ่าวนางยังได้รับการสนับสนุนจากสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ที่มี นพ.วีรพงศ์ สกลกิติวัฒน์ เป็นประธาน ซึ่งมีส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดกระบวนการยกร่างธรรมนูญสุขภาพขึ้น แม้ในช่วงแรกชาวบ้านส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจนักว่าธรรมนูญสุขภาพคืออะไร แต่เมื่อมีการล้อมวงพูดคุยและเปิดโอกาสให้แสดงความเห็น ไม่ว่าจะเป็นแกนนำชุมชน หน่วยราชการ โรงเรียน ผู้นำศาสนา ผู้ประกอบการ ห้างร้านต่างๆ ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มมองเห็นปัญหาร่วมกัน นำมาสู่การร่างกติกาและแนวทางปฏิบัติที่คนทั้งตำบลให้การยอมรับ

จนถึงวันนี้หากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวชมตามแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนในตำบลอ่าวนาง จะเห็นได้ว่าตลอดสองข้างทางแลดูสะอาดตา ปราศจากทัศนอุจาด เพราะคนทั้งตำบลล้วนเข้าใจปัญหาและได้ทำสัญญาใจไว้ต่อกันภายใต้ธรรมนูญสุขภาพ เมื่อทุกฝ่ายให้ความร่วมมือทำให้ตำบลอ่าวนางสามารถลดปริมาณขยะลงได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ธรรมนูญสุขภาพตำบลอ่าวนาง

ธรรมนูญสุขภาพ หมู่ 5 บ้านทุ่ง ตำบลอ่าวนาง ประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 แบ่งออกเป็น 7 หมวด รวมทั้งสิ้น 34 ข้อ โดยมีข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้อง อาทิ

  • ข้อ 3 ประชาชน/สถานประกอบการต้องมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาดเรียบร้อย และห้ามทิ้งขยะลงบนถนน ไหล่ทาง ที่สาธารณะ หากไม่ปฏิบัติตามต้องยินยอมเสียค่าปรับ ครั้งละ 2,000 บาท และเทศกิจหรือผู้ที่สามารถชี้ตัวผู้กระทำผิดและสามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ จะได้รับเงินรางวัลส่วนแบ่งจากค่าปรับ จำนวน 1,000 บาท
  • ข้อ 4 ครัวเรือนและสถานประกอบการทุกแห่งต้องนำขยะมูลฝอยบรรจุใส่ถุงดำและผูกปากถุงให้มิดชิด และนำมาวางหน้าบ้านตนเองริมเส้นทางจราจร หรือจุดที่กำหนด ระหว่างเวลา 19.00-24.00 น.
  • ข้อ 15 ครัวเรือนและสถานประกอบการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด โดยลดปริมาณการใช้ มีการคัดแยกขยะในครัวเรือนของตนเอง และส่งเสริมให้มีการนำขยะไปเพิ่มมูลค่า

‘สายตรวจซาเล้ง’ นวัตกรรมแปลงขยะเป็นทุน

การแก้ปัญหาขยะของ อบต.อ่าวนาง ไม่เพียงจะสร้างความร่วมมือกับประชาชนและภาคธุรกิจเอกชนแล้ว ยังมีการสร้างนวัตกรรมในการจัดการขยะที่เรียกว่า ‘โครงการสายตรวจซาเล้ง’ เมื่อเดือนเมษายน 2562 โดยการจัดระเบียบผู้ประกอบอาชีพเก็บของเก่าให้มาช่วยคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง

สุพจน์ ชดช้อย รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบต.อ่าวนาง เล่าว่า ปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้นส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวและอีกส่วนก็มาจากคนในพื้นที่เอง ทั้งขยะจากชุมชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

ในอดีตชาวบ้านมักทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ทิ้งขยะไม่ลงถัง หรือทิ้งกันจนล้นถัง เมื่อบรรดาคนเก็บของเก่าหรือ ‘ซาเล้ง’ มาคุ้ยเขี่ย ยิ่งทำให้เศษขยะกระจัดกระจายไม่น่ามองและยังส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ อีกทั้งคนกลุ่มนี้ยังทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวาดระแวง เพราะมักออกตระเวนตามตรอกซอกซอยในยามวิกาล

ด้วยเหตุนี้ อบต.อ่าวนาง จึงแก้ปัญหาด้วยการเปิดโอกาสให้กลุ่มซาเล้งมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนแล้วกว่า 50 ราย พวกเขาจะได้รับเสื้อกั๊กเรืองแสงพร้อมหมายเลขระบุตัวตนชัดเจน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่เพียงจะช่วยกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทางแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาคอยแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อดูแลความปลอดภัยของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

“ความหมายอีกนัยหนึ่งของสายตรวจซาเล้งคือ พวกเขาทำหน้าที่เป็นจิตอาสา และยังเป็นเหมือนตัวแทนเจ้าหน้าที่ อบต. คอยดูแลความสะอาดคัดแยกขยะให้กับท้องถิ่นด้วย”

ปัจจุบันภาพลักษณ์ของซาเล้งเริ่มเป็นที่ยอมรับและคุ้นเคยของชาวบ้านมากขึ้น เพราะพวกเขามีส่วนสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน รวมถึงเข้ามามีส่วนร่วมจัดการขยะในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่างานเทศกาลดนตรี เทศกาลท่องเที่ยว และกิจกรรม Big Cleaning Day เป็นประจำทุกเดือน

ชีวิตความเป็นอยู่ของซาเล้ง บอกเล่าผ่าน อดิศักดิ์ แซ่หลี หรือ อี๊ด หนุ่มวัย 36 ปี เขาเห็นด้วยว่าซาเล้งควรมาขึ้นทะเบียนกับ อบต. เพื่อเข้าสู่ระบบและง่ายต่อการจัดการ ที่สำคัญคือช่วยให้พวกเขาไม่ต้องตกเป็นจำเลยสังคมหากเกิดเหตุการณ์ลักขโมยในพื้นที่ เพราะกลุ่มคนเก็บของเก่าอย่างเขามักตกเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับแรก

อดิศักดิ์เริ่มต้นอาชีพเก็บของเก่าตั้งแต่อายุ 15 ปี ปัจจุบันซาเล้งรายนี้สามารถสร้างรายได้จากการขายขยะในแต่ละวันตั้งแต่ 800 บาท ไปจนถึงกว่า 2,000 บาท ในบางเดือนเขาสามารถสร้างรายได้สูงถึง 60,000-70,000 บาทเลยทีเดียว โดยเริ่มต้นเก็บตั้งแต่ 9 โมงเช้า จนถึงตี 2

อาจไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อได้รู้อีกว่าขยะที่เขาสามารถคัดแยกไปขายได้นั้น เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัมต่อวัน หรืออาจมากถึง 1,000 กิโลกรัมต่อวัน ดังนั้นรายได้ที่มากจึงเป็นภาพสะท้อนของขยะปริมาณมหาศาล

“คนไม่รู้จักแยกขยะ ขยะก็เลยล้นแบบนี้ แต่ถ้าคนรู้จักคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน ขยะก็จะไม่เยอะขนาดนี้ บางครั้งเจ้าหน้าที่มาเก็บช้าแค่วันสองวันขยะก็ล้นแล้ว” ซาเล้งเสื้อกั๊กหมายเลข 3 กล่าวทิ้งท้าย

สัญญาใจของคนในชุมชน

การจัดการขยะนับเป็นปัญหาสาธารณะ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะชุมชนเจ้าของพื้นที่

ในความเห็นของ อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มองว่า หากหน่วยงานรัฐจะอาศัยเพียงอำนาจทางกฎหมายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาขยะ ไม่ว่าจะเป็นการปราบปราม จับปรับ ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะจัดการได้ทั่วถึงและยั่งยืน เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่การสร้างจิตสำนึกและความตระหนัก โดยสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อประชาชนรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของปัญหาและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของตนเองอย่างแท้จริง

“การสร้างพื้นที่กลางเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชุมชนได้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายหรือใช้อำนาจแข็งเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ เรายังมีอีกเครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่าอำนาจอ่อน หรือ soft power ในที่นี้ก็คือ ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มานั่งพูดคุยกัน สร้างกติการ่วมกัน และหาทางออกร่วมกันในที่สุด”

กล่าวให้ถึงที่สุด แม้ธรรมนูญสุขภาพจะไม่มีผลบังคับในทางกฎหมายและไม่มีบทลงโทษทางอาญาก็ตาม แต่ภายใต้บริบทสังคมของคนอ่าวนาง สิ่งที่ดูเหมือนจะมีพลังไม่น้อยไปกว่ามาตรการทางกฎหมายอาจเริ่มจากการพูดคุยทำความเข้าใจจนเกิดเป็นข้อตกลงง่ายๆ ที่เปรียบเสมือน ‘สัญญาใจ’ ของคนในชุมชนนั่นเอง