หยุดการใช้ยาไม่สมเหตุสมผล หัวใจอยู่ที่ชุมชน

พฤติกรรมการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลก่อให้เกิดปัญหามากมาย ไม่เฉพาะกับตัวผู้บริโภคยาเองที่ต้องเสี่ยงต่อปัญหาเชื้อดื้อยา การแพ้ยา หรือเกิดโรคแทรกซ้อน หากยังส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและงบประมาณของประเทศ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า กว่าร้อยละ 50 ของการใช้ยาในประเทศกำลังพัฒนา เป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมและสูญเปล่า

จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีมูลค่าการบริโภคยาประมาณร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพียงร้อยละ 10-20 และยังพบด้วยว่าประเทศไทยมีการบริโภคยาอย่างไม่เหมาะสมและเกินความจำเป็นในทุกระดับ ทั้งการใช้ยาในสถานพยาบาลไปจนถึงการใช้ยาในชุมชน โดยข้อมูลปี 2555 พบผู้ป่วย 19.2 ล้านคน ครอบครองยาเกินความจำเป็น และรัฐต้องสูญเสียงบประมาณในส่วนนี้ประมาณ 2,370 ล้านบาทต่อปี

อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า การบริโภคยาอย่างถูกต้องและเหมาะสมนั้นจำเป็นต้องพิจารณาทั้งขนาดยาและระยะเวลา และต้องคำนึงถึงความแตกต่างด้านสุขภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก ส่วนสูง โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ฯลฯ ดังนั้นการซื้อยามารับประทานเองโดยไม่มีเภสัชกรให้คำแนะนำที่ถูกต้อง อาจเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี และในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ตัวอย่างที่พบมาก เช่น เมื่อเกิดอาการหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัส คนจำนวนไม่น้อยยังคงมีความเข้าใจผิดว่าต้องรับประทานยาปฏิชีวนะหรือที่เรียกกันตามความเคยชินว่ายาฆ่าเชื้อ ซึ่งในความจริงแล้วยาปฏิชีวนะคือยาที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อการฆ่าไวรัสแต่อย่างใด และผลร้ายที่ตามมาคือหากกินยาปฏิชีวนะบ่อยๆ หรือเกินความจำเป็น อาจส่งผลให้เกิดการดื้อยาได้

อีกตัวอย่างของการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลที่พบบ่อย เช่น การใช้ยาหลายขนานร่วมกัน การใช้ยาฉีดเกินจำเป็น การรับประทานยาไม่ครบ การแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้ต่อ รวมถึงการมียาเหลือหรือตกค้างอยู่ในบ้านเป็นจำนวนมาก หากเก็บรักษาไม่ถูกวิธีอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพหรือยาหมดอายุ เมื่อนำกลับมาใช้ซ้ำอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเสี่ยงได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาโดยไม่รู้ตัว ทั้งวิทยุท้องถิ่น รถเร่ขายยา ซึ่งอาจจำหน่ายยาที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทหรือชุมชนห่างไกล

จากปัญหาที่สั่งสมต่อเนื่องมายาวนานและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย จึงจำเป็นต้องมีการยกระดับเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างลงลึกถึงฐานราก จนนำมาสู่ระเบียบวาระเรื่อง ‘การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง’ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 18-20 ธันวาคม 2562 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในระดับชุมชนไปถึงระดับจังหวัด ให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากการใช้ยา มีคุณภาพชีวิตที่ดี และที่สำคัญสามารถพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพได้

ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา

แม้ว่าปัจจุบันประชาชนจะไปใช้บริการจากโรงพยาบาลมากขึ้น ส่งผลให้การซื้อยากินเองลดลง แต่กลับพบว่าประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งยังได้รับผลกระทบจากการใช้ยาที่ไม่ปลอดภัย และเกิดปัญหาจากการใช้ยาในบ้าน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยระดับบุคคล และปัจจัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน รวมถึงยังไม่มีระบบที่ชัดเจนในการเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ระบบการกำกับดูแลยา การใช้ยาในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ตลอดจนการแก้ปัญหาระบบยาในชุมชนได้

ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหายาในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการโดยภาครัฐ แต่ยังมีความตื่นตัวเฉพาะพื้นที่ ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนารูปแบบแนวทางการดำเนินงานการใช้ยาสมเหตุสมผลในชุมชน โดยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้บางพื้นที่สามารถแก้ปัญหายาในชุมชนได้อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมยังขาดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขาดการมีส่วนร่วมและมองชุมชนเป็นศูนย์ลาง ขาดการพัฒนาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการทำงาน ตลอดจนขาดการวัดและประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการทำงาน

ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ รองประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม กล่าวว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพฯ ในครั้งนี้เป็นการสนับสนุนนโยบายระดับประเทศในการส่งเสริมให้มีการใช้ยาที่สมเหตุสมผล โดยจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการเชิงระบบด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงานรัฐและเอกชน ตลอดจนสร้างความสามารถของชุมชนในการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อยามเจ็บป่วย

ทิพย์รัตน์ ระบุด้วยว่า เนื้อหาของการประชุมในครั้งนี้ครอบคลุมถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยการสนับสนุนองค์ความรู้ การมีระบบฐานข้อมูลเพื่อกำกับติดตามการใช้ยาของสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ระบบฐานข้อมูลยาที่ประชาชนจะเข้าถึงและใช้ในการตรวจสอบความปลอดภัยได้ รวมไปถึงระบบความปลอดภัยในการใช้ยา ลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็น และระบบเตือนภัยเฝ้าระวังเรื่องยาในชุมชน นอกจากนี้ ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพฯ ยังให้เพิ่มความสำคัญในการดูแลจังหวัดพื้นที่รอยต่อประเทศเพื่อนบ้านและผู้ลี้ภัย โดยขอให้กระทรวงการต่างประเทศเข้ามามีบทบาทด้วย

ทั้งนี้ มติของที่ประชุมสมัชชาสุขภาพฯ มีข้อสรุปว่า แกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนมติไปสู่การปฏิบัติ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงานและเครือข่ายทุกระดับ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาชุดความรู้ที่เข้าใจง่ายและนำไปปฏิบัติได้โดยง่าย ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ทำหน้าที่ออกแบบระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงประวัติการรักษาและการใช้ยาของสถานบริการสุขภาพได้

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะต้องร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ผลิตยา ผู้นำเข้ายา พัฒนาฐานข้อมูลเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับชุมชน อีกทั้งพัฒนากลไกกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยา รวมถึงการติดตามทบทวนการขึ้นทะเบียนตำรับยาและตรวจสอบเอกลักษณ์ยาที่ถูกต้อง

ท้ายที่สุดแล้ว หากความร่วมมือในครั้งนี้เป็นไปด้วยดี จะช่วยผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะที่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพให้กับประชาชนได้จริง โดยมีหัวใจอยู่ที่ชุมชนเป็นศูนย์กลาง