Social Distance: รวมกันเราติด ห่างกันเราอยู่

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย ณ วันที่ 15 มีนาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 32 ราย และรอยืนยันอีก 51 คน รวมผู้ติดเชื้อทั้งหมด 114 ราย รักษาหายแล้ว 37 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย

 

ระยะห่างของประเทศไทยกับ COVID-19

สถานการณ์การระบาดของประเทศไทยขณะนี้ยังอยู่ในวงจำกัด (Phase 2) แต่ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่จะพบการระบาดในวงกว้าง เนื่องจากประเทศทั่วโลกที่พบการระบาดมีจำนวนมากขึ้น ทำให้มีโอกาสสูงขึ้นที่ผู้ป่วยจากประเทศเหล่านี้จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ในขณะที่ความเข้มข้นในการคัดกรองของด่านควบคุมโรคมีจำกัด ขณะที่ผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศก็ไม่สามารถระบุต้นตอของการติดเชื้อได้อย่างชัดเจน

และประเทศไทยยังคงมีการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสที่จะพบเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยเข้าไปในสถานที่แออัดและเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว ดังเช่น โบสถ์ในเมืองแทกูประเทศเกาหลีใต้และเรือสำราญ ประเทศญี่ปุ่น1

 

เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความว่า “Social Distancing!”

เพื่อชะลอการระบาดระยะที่ 3 หรือการระบาดอย่างหนักจนไม่สามารถระบุต้นต่อการติดเชื้อได้ เราจำต้องใช้ทั้งมาตรการด้านเภสัชกรรม เช่น วัคซีนและยาต่อต้านไวรัส การสอบสวนติดตามการติดเชื้อ และการกักกันตัวคนที่ต้องสงสัยจะติดเชื้อ แต่ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีวัคซีนรักษา COVID-19 สิ่งที่เรียกว่า Social Distance หรือ ‘ระยะห่างทางสังคม’ จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง และเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งและชะลอการระบาดของ COVID-19

โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความว่า “Social Distancing!” และประกาศเรื่องการประชุมที่ทำเนียบขาว แบบ Social Distancing

ขณะที่ ทิม คุก ซีอีโอแห่งค่าย Apple ระบุในแถลงการณ์เรื่องการปิด Apple Store ทั่วโลก ว่าในสถานการณ์ที่โรคยังระบาดหนักอยู่ สิ่งที่ทำแล้วได้ผลในการลดการแพร่ระบาดของไวรัสคือ การไม่ให้มีคนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก รวมทั้งให้คนอยู่ในระยะห่างกัน

Social Distance หรือ ‘ระยะห่างทางสังคม’ และ Personal Distance หรือ ‘ระยะห่างระหว่างบุคคล’ เป็นหลักจิตวิทยาที่ถูกนำมาใช้เป็นมาตรการทางสาธารณสุข มีความสำคัญมากในการลดการแพร่ระบาดของโรคระบาดในปัจจุบัน

 

ประวัติศาสตร์ของความไม่ห่าง

วันที่ 28 กันยายน 1918 ขบวนเดินพาเหรดฉลองชัยในสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในเมืองฟิลาเดลเฟีย ผู้คนกว่า 200,000 คนเข้าร่วมชื่นชมความยิ่งใหญ่และหอมหวานของชัยชนะ แต่ในปีนั้นเป็นปีเดียวกับการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ 1918

3 วันหลังจากขบวนเดินพาเหรด โรงพยาบาล 31 แห่งในเมืองเต็มไปด้วยคนป่วยจากไข้หวัดใหญ่ ทางการเมืองฟิลาเดลเฟียพยายามใช้มาตรการระยะห่างทางสังคม แต่ก็ไม่สามารถหยุดการระบาดได้ทัน

2 สัปดาห์หลังการฉลองชัยสงคราม ผู้คนเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 4,500 คน นี่คือสงครามอีกรูปแบบที่มนุษย์เป็นฝ่ายปราชัย

 

Social Distance: รวมกันเราติด ห่างกันเราอยู่

การรวมกันของคนหมู่มากเป็นแหล่งของการกระจายโรคอย่างรวดเร็ว (super spread) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ หรือ Center for Disease Control and Prevention กล่าวว่า ไวรัส COVID-19 สามารถแพร่ระบาดระหว่างคนที่อยู่ใกล้ชิดกันในระยะ 6 ฟุต หรือในระยะ 2 เมตร

ระยะห่างทางสังคม (Social Distance) เป็นมาตรการสาธารณสุข ที่มีผลเป็นวงกว้าง เช่น การปิดโรงเรียน ยกเลิกงานเทศกาล หรือยกเลิกการขนส่งสาธารณะ เพื่อชะลอและควบคุมโรคที่สามารถแพร่ระบาดทางอากาศ เนื่องจากเมื่อเกิดการแพร่ระบาดแล้ว เราไม่สามารถจะไปหยุดยั้งมัน ระยะห่างทางสังคมจึงเป็นมาตรการที่ใช้เพื่อชะลอการแพร่ระบาด

ขณะที่ ระยะห่างระหว่างบุคคล (Personal Distance) ก็มีความจำเป็นยิ่งในการลดการติดต่อของโรค เพราะการพูดคุยหากมีฝอยละอองกระเซ็นออกมา จะสามารถติดต่อได้ในระยะ 1 เมตร

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโรค จึงมีคำแนะนำว่า ถ้าจะให้ปลอดภัย Personal Distance ควรจะห่าง 2 เมตร หรือ 6 ฟุต เพื่อหลีกเลี่ยงการติดต่อของโรค

“งานสังคมจำเป็นที่จะต้องงด การจัดประชุมวิชาการ ก็ต้องหาทางออกด้วย tele-conference สนามมวย การแข่งขันกีฬาต่างๆ โรงเรียนกวดวิชาก็จะต้องปิดการสอน เพื่อลดการระบาดของโรคให้ได้”

 

สงกรานต์: โจทย์ใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า

การเคลื่อนย้ายประชากร เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคมากขึ้น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของจีนซึ่งเป็นช่วงของการระบาดของ COVID-19 ประเทศจีนควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากร สามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดในมณฑลหูเป่ย และในที่สุดก็สามารถที่จะควบคุมได้

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน ซึ่งจะมีประชากรเดินทางจำนวนมาก และนั่นหมายถึงการแพร่ระบาด นี่คือโจทย์ที่รอเราอยู่ข้างหน้า

 


เชิงอรรถ

1 ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข