เมื่อแบคทีเรีย Super Bug เริ่มดื้อแพ่งและแข็งแกร่งกว่าแอลกอฮอล์

น้ำยาฆ่าเชื้อ (ที่มักจะเป็น) สีฟ้าสดวางอยู่ตามห้างสรรพสินค้า โรงเรียน รวมทั้งโรงพยาบาล ที่รอให้ผู้คนเข้าไปกดก่อนถูทั่วฝ่ามือ โดยเฉพาะน้ำยาล้างมือในโรงพยาบาลที่ส่วนใหญ่ใช้ชนิดมีไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์หรือเอธิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบหลัก แต่งานวิจัยล่าสุดในวารสาร Science Translational Medicine เปิดเผยว่า แอลกอฮอล์ในน้ำยาเหล่านั้นเริ่มจัดการแบคทีเรียได้ไม่อยู่หมัดแล้ว

แต่ช้าก่อน…ไม่ได้หมายความว่าจะต้องโยนน้ำยาเหล่านั้นทิ้งทันที

แม้เชื้อแบคทีเรียเอนเทอโรคอคคัส ฟีเซียม (Enterococcus faecium หรือ อี. ฟีเซียม) จะอยู่ในร่างกายของเรา แต่เชื้อตัวนี้จะกลายเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ซับซ้อนในช่องท้อง ผิวหนัง ทางเดินปัสสาวะ และเลือดทันทีเมื่อมันอวลอยู่ในโรงพยาบาล แบคทีเรียชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเอนเทอโรคอคซี (Enterococci) ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับที่ 4 และ 5 ของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่คุกคามชีวิตผู้คนในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปตามลำดับ – นี่คือสิ่งที่เรียกกันว่า Super Bug แบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะ

ทีมนักวิจัยระบุว่า ออสเตรเลียได้ตรวจสอบสุขลักษณะของน้ำยาล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นหลักอย่างเข้มงวด และมันได้ช่วยลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลหลายแห่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่า นอกจาก Super Bug จะดื้อยาแล้ว พวกมันกำลังจะเอาชนะแอลกอฮอล์ เพราะการติดเชื้อ อี. ฟีเซียม ที่ดื้อยากลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลออสเตรเลีย

อีกรูปแบบของการดื้อยา

นักวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างแบคทีเรีย 139 ชนิดที่เก็บมาจนถึงปี 2015 รวมเป็นเวลานานกว่า 19 ปีจากโรงพยาบาลสองแห่งในเมืองเมลเบิร์น พวกเขาศึกษาอัตราการมีชีวิตรอดของแต่ละตัวอย่างเมื่อสัมผัสกับไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์เจือจาง

พวกเขาค้นพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วตัวอย่างที่รวบรวมตั้งแต่หลังปี 2009 ทนต่อแอลกอฮอล์มากกว่าตัวอย่างที่ได้มาตั้งแต่ก่อนปี 2004 และเกิดการกลายพันธุ์ของตัวอย่างแบคทีเรียที่ทนต่อแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในกระบวนการเผาผลาญอาหารที่บ่งชี้ว่าแบคทีเรียเหล่านี้สามารถอยู่ในลำไส้ได้ดียิ่งขึ้น

แม้ผลการทดลองจะชี้ให้เห็นว่า เชื้อเหล่านี้สามารถปรับให้เข้ากับแอลกอฮอล์และส่วนประกอบอื่นๆ ที่พบในน้ำยาฆ่าเชื้อได้ แต่นักวิจัยก็เตือนว่ายังไม่อาจสรุปได้จนกว่าจะมีการวิจัยเพิ่มเติม

“มีสองอย่างที่เรากำลังทำอยู่ในตอนนี้” ทิม สตีเนียร์ (Tim Stinear) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าว “อย่างแรกคือการทำความเข้าใจแนวทางที่ทำให้แบคทีเรียทนทานมากขึ้น และสองคือดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับที่อื่นๆ ในโลกบ้าง และเรากำลังจับมือกับทีมงานทั่วโลกเพื่อจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น”

สตีเนียร์และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยระบุว่า หนึ่งในสามของการติดเชื้อแบคทีเรียเอนเทอโรคอคคัส ในโรงพยาบาลออสเตรเลียมีสาเหตุมาจากเชื้อ อี. เฟเซียม จากการทดลองพบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเชื้อชนิดนี้ทนต่อแอมพิซิลลิน (Ampicillin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนนิซิลลิน และกว่าครึ่งทนต่อยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin) ยาฆ่าเชื้อในอีกกลุ่มหนึ่ง แม้ว่าหมอจะพยายามใช้ยาปฏิชีวนะที่แรงกว่าเพื่อรักษาโรค แต่อาจได้ผลลัพธ์ที่หนักหนากว่าการดื้อยา ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อเรื้อรังมากขึ้น

พอล จอห์นสัน ผู้ร่วมวิจัยและศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ ออสติน เฮลธ์ (Austin Health) หน่วยบริการด้านสาธารณสุขของโรงพยาบาลออสติน บอกว่า “เราอาจต้องเพิ่มมาตรการควบคุมการติดเชื้ออื่นๆ เช่น การใช้ยาคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) ฆ่าเชื้อที่มือก่อนการดูแลรักษาขั้นต่อไป

แม้จะใช้ได้ในโรงพยาบาล แต่วิธีการเดียวกันก็ไม่อาจนำมาใช้ได้ในวงกว้างทั่วโลก

อย่าเพิ่งโยนน้ำยาล้างมือทิ้ง!

“อย่างน้อยสิ่งสำคัญคือ นี่เป็นการทดลองที่ดีมาก” คือคำแนะนำของ ศาสตราจารย์เจมส์ สก็อตต์ จากวิทยาลัยสาธารณสุขดัลลา ลานา (Dalla Lana School of Public Health) มหาวิทยาลัยโตรอนโต

“นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่เหล่านักจุลชีววิทยาคิดว่าอาจจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่มีใครคิดทดลองอย่างจริงจัง” แม้สก็อตต์จะไม่ได้เข้าร่วมในการวิจัยนี้ แต่เขาบอกว่า ตอนนี้เรื่องแบคทีเรียทนแอลกอฮอล์ ‘ค่อนข้างชัดเจน’ แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ

“เชื้อจุลินทรีย์ที่ถูกทดสอบในการทดลองนี้เป็นเชื้อที่มาจากโรงพยาบาลจริงๆ ไม่ใช่เชื้อที่คุณจะได้เจอตามชุมชนในชีวิตประจำวัน” เขาบอก เพราะในสถานที่ทั่วไป ผู้คนต่างใช้น้ำยาล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย “แต่สถานการณ์ในโรงพยาบาลนั้นแตกต่างกันมาก”

เขาอธิบายถึงสภาพแวดล้อมแบบปิดของโรงพยาบาล เต็มไปด้วยผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแออย่างมาก เป็นโอกาสดีในการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตอย่างเชื้อโรค “อาจนำไปสู่การดื้อยาในเวลาต่อมาได้”

แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อถูกใช้ในการแพทย์มานาน เป็นยาฆ่าเชื้อในระดับทั่วไป ส่วนใหญ่ต่างก็คิดว่าแอลกอฮอล์จะทำให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคทั้งชนิดที่อ่อนแอและทนทาน สก็อตต์จึงมองว่า การทดลองนี้เป็นการหักล้างสมมุติฐานดังกล่าว

“นักวิทยาศาสตร์ยังรู้ดีว่า การใช้แอลกอฮอล์ไม่ใช่การฆ่าเชื้อแบบครอบจักรวาล เพราะเชื้อโรคที่สำคัญจำนวนหนึ่งมีความทนทานต่อแอลกอฮอล์สูง เช่น เชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile) เป็นเชื้อที่ทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบและท้องเสียรุนแรง

อีกสิ่งสำคัญที่ผู้คนต้องทำความเข้าใจคือ การศึกษานี้เกี่ยวข้องเฉพาะกับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีส่วนในการติดเชื้อในโรงพยาบาล การศึกษานี้สามารถใช้ได้กับสภาพแวดล้อมเฉพาะของโรงพยาบาลเท่านั้น และผมมั่นใจว่าน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบหลักจะยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการใช้ทั่วไปนอกโรงพยาบาลอยู่ดี

อ้างอิงข้อมูลจาก:
edition.cnn.com