แร่ใยหิน : ภัยเงียบที่องค์กรผู้บริโภคคุณภาพต้องรู้

หมอปอดหวั่น 7 ปี ยังแบน “แร่ใยหิน” ไม่สำเร็จ ถามต้องสังเวยอีกกี่ชีวิตแบบญี่ปุ่น ถึงจะแบนสำเร็จ ชี้ 60 กว่าประเทศแบนก่อนไม่รอแล้ว ใช้เวลากว่า 20 ปี อุบัติการณ์ป่วยถึงลด ห่วงไทยวินิจฉัยโรคได้น้อย เหตุรอยโรคคล้ายโรคอื่น ระยะฟักตัวนานมากกว่า 10 ปี พบคนไทยป่วยชัดๆ แล้ว 28 ราย ทั้งมะเร็งเยื่อหุ้มปอด พังผืดในปอด และเยื่อหุ้มปอดหนา 

ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ ทุมวิภาต

 

ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ ทุมวิภาต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยาย เรื่อง แร่ใยหิน: ภัยเงียบที่องค์กรผู้บริโภคต้องรู้ ภายในงานประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า ประเทศไทยไม่มีแร่ใยหิน จึงต้องนำเข้า ซึ่งอุตสาหกรรมหลักที่มีการใช้แร่ใยหิน คือ กระเบื้องมุงหลังคา เบรกและคลัตช์รถยนต์ จากข้อมูลระดับโลก พบว่า มีคนประมาณ 125 ล้านคนทั่วโลก สัมผัสแร่ใยหินจากที่ทำงาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากแร่ใยหินราว 1 แสนคนต่อปี โดยโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน ได้แก่ ภาวะผิดปกติที่เยื่อหุ้มปอด เช่น มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบเป็นก้อน เยื้อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม เยื้อหุ้มปอดหนาตัวทั่วไป เกิดพังผืดในปอดจากแร่ใยหิน รวมไปถึงโรคอันตราย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อเลื่อม (เมโสเธลิโอมา) ประกอบด้วย มะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง และมะเร็งเยื่อหุ้มหัวใจ รวมไปถึงมะเร็งกล่องเสีย และมะเร็งรังไข่

ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย จากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุแร่ใยหิน โดย ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ซึ่งได้อาศัยข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2558-2559 พบว่า มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหิน 385 ราย แต่จากการที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ดำเนินการยืนยันความถูกต้อง พบว่า มีผู้ป่วยโรคเหตุใยหินจริง 28 ราย แบ่งเป็นมะเร็งเยื่อเลื่อม 26 ราย ประกอบด้วย มะเร็งเยื่อหุ้มปอด 21 ราย มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง 3 ราย มะเร็งเยื่อหุ้มหัวใจ 1 ราย และมะเร็งที่อัณฑะ 1 ราย พังผืดในปอดจากแร่ใยหิน 1 ราย และเยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม 1 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ

ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาการวินิจฉัยโรคจากแร่ใยหินได้น้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีข้อจำกัด คือ รอยโรคปอดจากแร่ใยหินมีความคล้ายกับโรคปอดชนิดอื่น อาจทำให้แพทย์คาดไม่ถึงว่า เกิดจากแร่ใยหิน ประกอบกับโรคที่เกิดขึ้นมีระยะฟักตัวของโรคนานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เช่น พังผืดในปอดจากแร่ใยหินใช้เวลา 20-40 ปี มะเร็งปอดมากกว่า 15 ปี มะเร็งเยื่อหุ้มปอดยิ่งน่ากลัว เพราะใช้เวลามากกว่า 40 ปี และยังหาการสัมผัสแร่ใยหินขั้นต่ำที่ทำให้เกิดโรคไม่ได้ เป็นต้น จนทำให้ผู้ป่วยหลงลืม ทำให้ไม่สามารถซักประวัติโดยละเอียดได้ เพราะคนที่เคยสัมผัสแร่ใยหินอาจมีการเปลี่ยนงานมานาน รวมถึงอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงจากปัจจัยอื่น เช่น สูบบุหรี่ ทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจน ทำให้คนที่ไม่อยากแบนแร่ใยหิน เอาข้อมูลนี้มาบอกผิดๆ ว่า คนป่วยไม่เคยสัมผัสแร่ใยหินมาก่อน จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย หากไม่เคยสัมผัสคงไม่ป่วย และย้ำว่า การไม่มีประวัติสัมผัสไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการสัมผัสมาก่อน เพราะการซักประวัติอาจไม่ละเอียดพอ ทำให้ไม่มีการบันทึกในข้อมูลผู้ป่วย

“ขณะนี้กว่า 60 ประเทศทั่วโลกก็แบนแร่ใยหินแล้ว แม้แต่ประเทศส่งออกอย่างแคนาดาและบราซิลก็ประกาศยกเลิก ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเวียดนามก็ประกาศจะยกเลิกในปี 2020 และ 2023 ซึ่งเมื่อต่างประเทศมีการแบนแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่ไทยจะไม่แบนแร่ใยหิน อย่ารอให้ต้องเจอปัญหาอย่างประเทศญี่ปุ่นที่พยายามแบนมานาน แต่ไม่สำเร็จ แต่กลับสำเร็จด้วยการที่โรงงานแห่งหนึ่งปล่อยแร่ฟุ้งกระจายรอบเมืองในปี 2005 จนทำให้มีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อเลื่อมถึง 90 ราย และมีผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่คนที่ทำงาน แต่ยังรวมไปถึงคนในครอบครัวคนงาน และคนที่อาศัยใกล้ๆ ด้วย และมาแบนสำเร็จในปี 2006 เราต้องการให้มีคนป่วยตายเช่นนี้ก่อนหรือ” ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ กล่าว

เมื่อถามว่าประเทศไทยยังแบนไม่สำเร็จทั้งแร่ใยหินและสารเคมี ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ กล่าวว่า จริงๆ แล้วทั้งแร่ใยหินและสารเคมีมีความน่ากลัวไม่ต่างกัน เพราะทำลายสุขภาพของคนสัมผัส อย่างแร่ใยหินมีมติ ครม.ให้แบนตั้งแต่ปี 2554 แต่จนทุกวันนี้ก็ยังแบนไม่สำเร็จ ถือว่าน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม จุดที่แตกต่างคือ แร่ใยหินมีสารทดแทนแล้ว ซึ่งอดีตอาจบอกว่ามีราคาแพง แต่ทุกวันนี้มีการพัฒนาจนราคาถูกกว่าแร่ใยหินอีก ก็ควรจะมีการแบนได้แล้ว ส่วนสารเคมีอาจยังมีสารทดแทนที่ไม่ดีพอหรือไม่ หรือบางตัวก็ยังไม่มีสารทดแทนหรือไม่ จึงทำให้ยังเป็นปัญหา แต่ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นแร่ใยหินหรือสารเคมี เมื่อต่างประเทศมีการแบนแล้ว ประเทศไทยก็ควรแบนเช่นกัน เพราะอย่างแร่ใยหินเมื่อแบนแล้วกว่าโรคจะลดลงก็ใช้เวลา 20-30 ปี เช่น กลุ่มสแกนดิเนเวียแบนตั้งแต่ราวปี 1980 กว่าๆ โรคจากแร่ใยหินเพิ่งจะลดลงเมื่อปี 2010 ส่วนอังกฤษโรคน่าจะลดลงช่วงปี 2020 ดังนั้น หากประเทศไทยเริ่มแบนแร่ใยหินตั้งแต่วันนี้ ก็จะเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นในรุ่นลูกรุ่นหลาน

 

ที่มา: 7 ปียังแบน “แร่ใยหิน” ไม่สำเร็จ ต้องสังเวยอีกกี่ชีวิต ชี้ 20 ปีหลังแบน อุบัติการณ์ป่วยถึงลดเผยแพร่: 31 ต.ค. 2561, ผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/qol/detail/9610000108678?fbclid=IwAR2UzNK5u0Hlu9z7qWIEbFkqRhKtI4cr5xdR117K3SK1PsvGo5ZHglD2USE

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
1. เอกสารบรรยาย เรื่อง แร่ใยหิน: ภัยเงียบที่องค์กรผู้บริโภคต้องรู้

2. ถอดบทเรียน: องค์กรปกครองท้องถิ่น ต้นแบบร่วมตระหนักแร่ใยหิน

3.โปสเตอร์ เรื่อง รื้อถอน-ซ่อมอาคาร ระวังมะเร็งจากแร่ใยหิน

4. โปสเตอร์ เรื่อง 9 วิธี หนีภัยมะเร็งจากแร่ใยหิน

5. คู่มือแร่ใยหิน 101 (ฉบับเรียนลัด)