กศย.: ปฐมบท องค์ความรู้ระบบยา

กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) มีคุณูปการต่อสังคมไทย และพึงควรบันทึกไว้ให้เกิดการเรียนรู้ต่อไป

​หลังจากจบการศึกษาเภสัชศาสตร์บัณฑิตแล้ว การไปทำงานที่โรงพยาบาลอำเภอในต่างจังหวัด สภาพแวดล้อมย่อมเป็นเรื่องราวของปัญหาการทำงานที่อยู่รายล้อมเฉพาะหน้ารายวัน แม้แต่การแก้ปัญหาเชิงระบบก็เป็นระบบงานที่เกี่ยวกับองค์กร ตลอดจนปัญหาสุขภาพในชนบท ส่วนที่จะขาดไปคือ ความเชื่อมโยงกับระบบโดยรวม ทั้งระบบสังคม ระบบสุขภาพ และระบบยา

กศย.ได้ทำหน้าที่ “เติมเต็ม” ส่วนขาดสำหรับเภสัชกรชนบทที่ห่างไกล ข้อมูลข่าวสารในระดับประเทศ และความเคลื่อนไหวในวงวิชาการในส่วนกลาง กศย.ได้เติมเต็มเรื่องราวต่อไปนี้

(1) การค้ายาระดับสากล บรรษัทยาข้ามชาติ หรือ TNC (TRANS NATIONAL COMPANY) มีบทบาทต่อการบริโภคยาของคนไทย มีผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ และต้นทุนสุขภาพ กศย.ได้นำเอาเรื่องราวที่ซับซ้อน ยากที่จะเข้าใจได้ว่าคนไทยเสียเปรียบอย่างไร ต่อการนำเอาระบบสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับยามาดำเนินการ โดยมิได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสมหรือไม่กับเวลาที่ให้มีการใช้สิทธิบัตรยา มีกลไกและภูมิคุ้มกันตนเองดีพอหรือไม่ เรื่องราวเหล่านี้ กศย.ได้เปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริงให้เกิดการวิเคราะห์ วิจัย และวิจารณ์ เพื่อเกิดภูมิรู้ในการสร้างทางเลือกเชิงนโยบาย เกิดสติปัญญาในการตั้งหลักดำเนินการบนฐานวิชาการ และเกิดปิติในการเข้าร่วม มีบทบาททำสิ่งที่ถูกที่ควร

(2) สมุนไพร กศย.เป็นกลุ่มสุขภาพกลุ่มแรกๆที่ตระหนักถึงทรัพยากรสมุนไพร นำเอาข้อมูลวิชาการมาชี้ชวน และทำให้สังคมตื่นตัว แน่นอนว่าเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว การสร้างแนวความคิดเรื่องการใช้สมุนไพร ขณะนั้นยังคงเป็นกระแสเล็กกระแสน้อย และหาใช่บรรยากาศ “กระแสหลัก” เช่นในปัจจุบัน  ในช่วงนั้น การมีฐานทางวิชาการที่มั่นคง โดยเฉพาะ จากผศ.ภญ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล อาจารย์เภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ ที่ท่านได้เป็นแกนนำรวบรวมคณาจารย์ นักวิชาการเพื่อประมวลองค์ความรู้ด้านเภสัชพฤษศาสตร์ มานำเสนออย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทำให้มีแหล่งที่พึ่งสำหรับผู้สนใจ โดยเฉพาะเภสัชกรที่อยู่ในชนบท

(3) ยาชุด ยาซอง ยาไม่เหมาะสม ประวัติศาสตร์ไทยได้บันทึกไว้แล้วว่า กศย. คือกลุ่มที่ได้ดำเนินการให้มีการยกเลิก คาเฟอีน และ ฟินาเซติน จากยาสูตรรวม เอ.พี.ซี ที่ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ใช้แก้ปวด และมีพฤติกรมใช้ประจำจนทำให้เกิดโรคเลือดออกในกระเพาะอาหาร และเป็นโรคที่เกิดตามฤดูกาลปลูกข้าวในช่วงปักดำต้นกล้า และช่วงเกี่ยวข้าว เนื่องจากชาวนาต้องใช้แรงงานอย่างมากในช่วงเวลานั้น เภสัชกรชนบทได้นำข้อมูลจากพื้นที่เชื่อมโยงกับ กศย.และนำไปสู่นโยบายของรัฐ ในการให้ เอ.พี.ซี. เหลือแค่ “แอสไพริน” อย่างเดียว คำว่า “ยาชุด” เกิดจากการนิยามและประกาศให้สาธารณะทราบ โดย กศย. และ ต่อมามีการบรรจุคำนี้ในกฎหมาย และ ยังนำไปสู่การขับเคลื่อนรณรงค์แก้ปัญหาเสตียรอยด์ที่ยังคงหมักหมม ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน แม้จนในปัจจุบัน ดังนั้นกศย.คือกลุ่มสุขภาพที่เปิดประเด็น “ยาชุด” ทำให้สังคมตระหนัก ตื่นตัว และเภสัชกรชนบทมีส่วนผลักดันแก้ไข รวมไปถึง ยาไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น ยาปฏิชีวนะในเด็ก ยาปฏิชีวนะทั่วไป ตลอดจน ยาไดพัยโรน ยาฟีนิวบิวทาโซล และยาแก้ปวดอันตรายอีกหลายรายการ

(4) การพึ่งตนเองในการผลิตยาในระดับประเทศ กศย. สนับสนุนให้ องค์การเภสัชกรรม เป็นองค์กรหลักสำคัญของประเทศ และ ยังมีการจูงใจ ส่งเสริมการผลิตยาในระดับโรงพยาบาลทุกระดับ  พัฒนาจิตสำนึก “การพึ่งตนเอง” ให้เป็นจิตวิญญาณที่สำคัญที่จะทำให้เภสัชกรตระหนัก ต่อบทบาทหน้าที่นี้  กศย. ยังได้เสนอให้มีการผลิตสารเคมีตั้งต้นและให้ประเทศไทยเตรียมผลิตเพื่อการพึ่งตนเอง

(5) การใช้ยาที่เหมาะสม ผลกระทบ ทั้งในชุมชนจากยาไม่เหมาะสม และ ทั้งการใช้ยาในโรงพยาบาลที่มักจะเป็นไปตามกระแสการส่งเสริมการขายอย่างไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ทำให้มีการผลักดันให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสม โดยประสานกับกลุ่มนักวิชาการที่สวีเดน ในนาม INRUD หรือ International Network of Rational Use of Drugs หรือ เครือข่ายนานาชาติเพื่อการใช้ยาที่เหมาะสม ปัจจุบันกระแสการใช้ยาที่เหมาะสมกลายมาเป็น “กระแสหลัก” อีกกระแสหนึ่งในวงการสุขภาพของประเทศไทย ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับการใช้ยาที่เหมาะสมในชุมชน กศย. ได้ส่งเสริมกิจกรรมการจัดหายาจำเป็นในชนบท โดยอาศัยอำเภอด่านขุนทดเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ มีการประสานและสนับสนุนให้เกิด “กองทุนยา” ตลอดจนร่วมกับโรงพยาบาลสูงเนินเปิด “ห้องยาชุมชน”เพื่อให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสมในชุมชน

ทั้ง 5 เรื่องที่ได้กล่าวมานี้ เป็นปฐมบทในระยะตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 ต่อเนื่องมาตลอด โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ.2520-2530   ในปัจจุบัน เรื่องราวเหล่านี้ได้กลายเป็นนโยบายกระแสหลักอย่างเข้มข้น ทั้งสิทธิบัตรยา สมุนไพร การผลิตยา และการใช้ยาที่เหมาะสม

พลวัตรของเรื่องราวเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย แต่มีประวัติศาสตร์ มีต้นเรื่อง มีปฐมภูมิของเรื่อง และพัฒนาไปตามหลัก “ปฏิจจสมุปบาท” ที่ผลเกิดจากเหตุ มีสาระที่มีหลักวิชาการ โดยเฉพาะในฝ่ายที่มุ่งมั่นจะทำประโยชน์เพื่อสังคมและพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชน

กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) จึงเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนสติปัญญาของสังคมไทย เปิดเผยเรื่องราวอันซับซ้อน และต่อสู้กับมายาคติในระบบยาให้ผู้คน โดยเฉพาะเภสัชกร เกิด “สัมมาทิฐิ” ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับปัญหาเชิงระบบ โดยเฉพาะระบบยา และระบบสุขภาพได้อย่างถูกต้อง แม้จะไปทำงานอยู่พื้นที่ภูมิภาคต่างจังหวัด เป็น “เภสัชกรชนบท” ก็สามารถติดตามสถานการณ์ เท่าทัน และ เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการขับเคลื่อนเพื่อความถูกต้องของระบบยาในสังคมไทย

รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์

ประธานมูลนิธิเภสัชชนบท