หยุดการใช้ยาไม่สมเหตุสมผล หัวใจอยู่ที่ชุมชน

พฤติกรรมการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลก่อให้เกิดปัญหามากมาย ไม่เฉพาะกับตัวผู้บริโภคยาเองที่ต้องเสี่ยงต่อปัญหาเชื้อดื้อยา การแพ้ยา หรือเกิดโรคแทรกซ้อน หากยังส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและงบประมาณของประเทศ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า กว่าร้อยละ 50 ของการใช้ยาในประเทศกำลังพัฒนา เป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมและสูญเปล่า

จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีมูลค่าการบริโภคยาประมาณร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพียงร้อยละ 10-20 และยังพบด้วยว่าประเทศไทยมีการบริโภคยาอย่างไม่เหมาะสมและเกินความจำเป็นในทุกระดับ ทั้งการใช้ยาในสถานพยาบาลไปจนถึงการใช้ยาในชุมชน โดยข้อมูลปี 2555 พบผู้ป่วย 19.2 ล้านคน ครอบครองยาเกินความจำเป็น และรัฐต้องสูญเสียงบประมาณในส่วนนี้ประมาณ 2,370 ล้านบาทต่อปี

อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า การบริโภคยาอย่างถูกต้องและเหมาะสมนั้นจำเป็นต้องพิจารณาทั้งขนาดยาและระยะเวลา และต้องคำนึงถึงความแตกต่างด้านสุขภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก ส่วนสูง โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ฯลฯ ดังนั้นการซื้อยามารับประทานเองโดยไม่มีเภสัชกรให้คำแนะนำที่ถูกต้อง อาจเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี และในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ตัวอย่างที่พบมาก เช่น เมื่อเกิดอาการหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัส คนจำนวนไม่น้อยยังคงมีความเข้าใจผิดว่าต้องรับประทานยาปฏิชีวนะหรือที่เรียกกันตามความเคยชินว่ายาฆ่าเชื้อ ซึ่งในความจริงแล้วยาปฏิชีวนะคือยาที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อการฆ่าไวรัสแต่อย่างใด และผลร้ายที่ตามมาคือหากกินยาปฏิชีวนะบ่อยๆ หรือเกินความจำเป็น อาจส่งผลให้เกิดการดื้อยาได้

อีกตัวอย่างของการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลที่พบบ่อย เช่น การใช้ยาหลายขนานร่วมกัน การใช้ยาฉีดเกินจำเป็น การรับประทานยาไม่ครบ การแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้ต่อ รวมถึงการมียาเหลือหรือตกค้างอยู่ในบ้านเป็นจำนวนมาก หากเก็บรักษาไม่ถูกวิธีอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพหรือยาหมดอายุ เมื่อนำกลับมาใช้ซ้ำอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเสี่ยงได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาโดยไม่รู้ตัว ทั้งวิทยุท้องถิ่น รถเร่ขายยา ซึ่งอาจจำหน่ายยาที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทหรือชุมชนห่างไกล

จากปัญหาที่สั่งสมต่อเนื่องมายาวนานและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย จึงจำเป็นต้องมีการยกระดับเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างลงลึกถึงฐานราก จนนำมาสู่ระเบียบวาระเรื่อง ‘การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง’ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 18-20 ธันวาคม 2562 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในระดับชุมชนไปถึงระดับจังหวัด ให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากการใช้ยา มีคุณภาพชีวิตที่ดี และที่สำคัญสามารถพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพได้

ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา

แม้ว่าปัจจุบันประชาชนจะไปใช้บริการจากโรงพยาบาลมากขึ้น ส่งผลให้การซื้อยากินเองลดลง แต่กลับพบว่าประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งยังได้รับผลกระทบจากการใช้ยาที่ไม่ปลอดภัย และเกิดปัญหาจากการใช้ยาในบ้าน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยระดับบุคคล และปัจจัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน รวมถึงยังไม่มีระบบที่ชัดเจนในการเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ระบบการกำกับดูแลยา การใช้ยาในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ตลอดจนการแก้ปัญหาระบบยาในชุมชนได้

ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหายาในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการโดยภาครัฐ แต่ยังมีความตื่นตัวเฉพาะพื้นที่ ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนารูปแบบแนวทางการดำเนินงานการใช้ยาสมเหตุสมผลในชุมชน โดยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้บางพื้นที่สามารถแก้ปัญหายาในชุมชนได้อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมยังขาดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขาดการมีส่วนร่วมและมองชุมชนเป็นศูนย์ลาง ขาดการพัฒนาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการทำงาน ตลอดจนขาดการวัดและประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการทำงาน

ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ รองประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม กล่าวว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพฯ ในครั้งนี้เป็นการสนับสนุนนโยบายระดับประเทศในการส่งเสริมให้มีการใช้ยาที่สมเหตุสมผล โดยจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการเชิงระบบด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงานรัฐและเอกชน ตลอดจนสร้างความสามารถของชุมชนในการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อยามเจ็บป่วย

ทิพย์รัตน์ ระบุด้วยว่า เนื้อหาของการประชุมในครั้งนี้ครอบคลุมถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยการสนับสนุนองค์ความรู้ การมีระบบฐานข้อมูลเพื่อกำกับติดตามการใช้ยาของสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ระบบฐานข้อมูลยาที่ประชาชนจะเข้าถึงและใช้ในการตรวจสอบความปลอดภัยได้ รวมไปถึงระบบความปลอดภัยในการใช้ยา ลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็น และระบบเตือนภัยเฝ้าระวังเรื่องยาในชุมชน นอกจากนี้ ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพฯ ยังให้เพิ่มความสำคัญในการดูแลจังหวัดพื้นที่รอยต่อประเทศเพื่อนบ้านและผู้ลี้ภัย โดยขอให้กระทรวงการต่างประเทศเข้ามามีบทบาทด้วย

ทั้งนี้ มติของที่ประชุมสมัชชาสุขภาพฯ มีข้อสรุปว่า แกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนมติไปสู่การปฏิบัติ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงานและเครือข่ายทุกระดับ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาชุดความรู้ที่เข้าใจง่ายและนำไปปฏิบัติได้โดยง่าย ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ทำหน้าที่ออกแบบระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงประวัติการรักษาและการใช้ยาของสถานบริการสุขภาพได้

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะต้องร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ผลิตยา ผู้นำเข้ายา พัฒนาฐานข้อมูลเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับชุมชน อีกทั้งพัฒนากลไกกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยา รวมถึงการติดตามทบทวนการขึ้นทะเบียนตำรับยาและตรวจสอบเอกลักษณ์ยาที่ถูกต้อง

ท้ายที่สุดแล้ว หากความร่วมมือในครั้งนี้เป็นไปด้วยดี จะช่วยผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะที่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพให้กับประชาชนได้จริง โดยมีหัวใจอยู่ที่ชุมชนเป็นศูนย์กลาง

 

ประกาศ สธ. ห้ามเครื่องสำอางปนเปื้อนพลาสติกไมโครบีดส์ เริ่มปีใหม่นี้

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีดส์ (plastic microbeads) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563

เนื้อหาของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติ เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ เครื่องสำอาง ออกประกาศไว้ มีดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เครื่องสำอางที่ใช้แล้วล้างออกที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีดส์ (plastic microbeads) เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย

ข้อ 2 พลาสติกไมโครบีดส์ (plastic microbeads) หมายถึง พลาสติกสังเคราะห์ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งมีขนาดอนุภาคน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ในรูปแบบของแข็งที่ไม่ละลายน้ำ ไม่สามารถสลายตัวได้เอง ตามธรรมชาติ มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อขัดทำความสะอาด

ข้อ 3 เครื่องสำอางที่ใช้แล้วล้างออกที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีดส์ (plastic microbeads) ที่มีการวางขายอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่  28  พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

อนุทิน ชาญวีรกูล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

ห่วงโซ่เม็ดบีดส์ จากเครื่องสำอางถึงจานข้าว

Greenpeace Thailand ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ ‘ไมโครบีดส์’ (Microbeads) หรือเม็ดบีดส์ หมายถึง ชิ้นส่วนเล็กๆ ของพลาสติก ซึ่งมีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด โฟมล้างหน้า และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนใหญ่ทำจากโพลีเอทิลีน แต่สามารถทำจากพลาสติกปิโตรเคมีอื่นๆ ได้ เช่น โพลีโพรพิลีนและโพลีสไตรีน มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร เล็กพอที่จะการผ่านระบบกรองน้ำได้อย่างง่ายดาย

เมื่อเม็ดบีดส์มีขนาดที่เล็กจิ๋วเช่นนี้แล้ว มันจึงสามารถเล็ดลอดไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยไหลผ่านท่อระบายน้ำจากบ้านเรือนไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และสุดท้ายปลายทางอาจปนเปื้อนอยู่ในท้องทะเล ที่น่ากังวลคือเม็ดพลาสติกเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เมื่อสัตว์น้ำกินเข้าไป ท้ายที่สุดก็อาจเป็นวงจรย้อนกลับมาสู่ผู้บริโภคจนได้

Greenpeace Thailand ยกผลการศึกษาของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ โดยระบุว่าการหลุดลอดของเม็ดไมโครบีดส์สู่แหล่งน้ำในรัฐนิวยอร์คเพียงรัฐเดียว คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 19 ตันต่อปี และเมื่อไมโครบีดส์อยู่ในแหล่งน้ำ มันจะดูดซึมสารเคมีเป็นพิษต่างๆ โดยเฉพาะโพลีคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีอินทรีย์ที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ สารเคมีเหล่านี้จะส่งผลต่อร่างกายโดยไปขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อและเป็นสารก่อมะเร็ง

แม้ว่าไมโครบีดส์จะมีคุณสมบัติในการขัดเซลล์ผิวหนังได้ดี แต่ Greenpeace Thailand มีข้อแนะนำด้วยว่า เราสามารถใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเพื่อทดแทนไมโครบีดส์ได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์หลายชนิดยังมีคุณสมบัติเทียบเท่าหรือดีกว่า เช่น การใช้สครับจากเกลือ มะขามเปียก หรือผงถั่วเขียว ปลอดภัยทั้งต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้หลายประเทศจึงมีการรณรงค์เลิกใช้ไมโครบีดส์ เพราะตระหนักถึงผลกระทบต่างๆ ขณะที่การรณรงค์ในประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้น ดังปรากฏในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว

 

มติสมัชชาสุขภาพฯ ขีดเส้นปี 2565-2568 ประเทศไทยไร้แร่ใยหิน

การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 18-20 ธันวาคม 2562 หนึ่งในวาระสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งคือ การทบทวนมาตรการ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ซึ่งเป็นความท้าทายต่อการพัฒนาสังคมสุขภาวะที่ทุกภาคส่วนควรรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์และผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

ประเทศไทยวันนี้ยังคงเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพประชาชน หนึ่งในปัญหานั้นคือ มลพิษทางอากาศซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งหมอกควันไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมถึงการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารอย่างผิดวิธีที่อาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของแร่ใยหิน ซึ่งแฝงอยู่ในกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องยางปูพื้น ฉนวนกันความร้อน ฝ้าเพดาน ฯลฯ

หลายประเทศทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า แร่ใยหินเป็นสาเหตุการก่อมะเร็ง องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ได้ให้ข้อเสนอแนะกับประเทศต่างๆ ว่า การควบคุมการสัมผัสแร่ใยหินให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นเรื่องที่ยากมาก ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือต้องยกเลิกการผลิต การนำเข้า และการใช้แร่ใยหินในทุกผลิตภัณฑ์

ในปี 2561 มีการยกเลิกการนำเข้าและการใช้แร่ใยหินไปแล้ว 66 ประเทศ ขณะที่มีราวๆ 129 ประเทศ แม้จะยังไม่มีกฎหมายยกเลิกอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการใช้แร่ใยหินในระดับที่น้อยมากหรือไม่มีการใช้เลย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ได้มีมติรับรองมาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน และต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติสมัชชาฯ ให้ประเทศไทยปราศจากแร่ใยหินภายในปี 2555 อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่การทบทวนมติสมัชชาฯ อีกครั้งในปีนี้ เพื่อกำหนดมาตรการ แสวงหาความร่วมมือ และปรับเพิ่มยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้จริง

ผลการประชุมต่อเนื่องตลอด 3 วัน นำมาสู่รูปธรรมในการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะ โดย นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการต่อยอดจากมติเดิมเมื่อปี 2553 โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่าต้องยกเลิกการใช้แร่ใยหินในสังคมไทย โดยทุกภาคส่วนต้องมีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ ทั้งการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ปราศจากแร่ใยหินมาใช้และการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเก่าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินด้วยขั้นตอนที่ถูกต้องปลอดภัย

“สำหรับข้อกังวลของภาคเอกชนก็คือ ผลิตภัณฑ์บางอย่างยังไม่สามารถหาสารทดแทนได้ แต่นั่นก็เหลือน้อยมากแล้ว ดังนั้นที่ประชุมจึงยืนยันมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการออกกฎเกณฑ์ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องยางปูพื้น ภายในปี 2565 และยกเลิกการใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าเบรก คลัทช์ ท่อซีเมนต์ กระเบื้องมุงหลังคา ภายในปี 2568

“นอกจากนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องการนำเข้า กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่ควบคุมการปลูกสร้างและการรื้อถอนอาคาร และกระทรวงสาธารณสุขจะเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องผลกระทบของแร่ใยหินต่อไป” นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าว

มติสมัชชาฯ 15 ประการ

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ว่าด้วยการทบทวนมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน มีรายละเอียดดังนี้

  1. ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการ

1.1 ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายในปี พ.ศ. 2565 เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนหรือใช้วัสดุอื่นทดแทนแร่ใยหินไครโซไทล์ได้อย่างเหมาะสมเพียงพอแล้ว

ประกอบด้วย

(1) กระเบื้องแผ่นเรียบ
(2) กระเบื้องยางปูพื้น

1.2 ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายในปี พ.ศ. 2568

(1) ผ้าเบรกและคลัทช์
(2) ท่อซีเมนต์ใยหิน
(3) กระเบื้องมุงหลังคา

  1. ขอให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางและมาตรการในการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน และการสนับสนุนให้มีมาตรการที่ทำให้การใช้วัสดุทดแทนแร่ใยหินมีราคาถูกลง
  2. ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้มีมาตรการในการกำจัดขยะที่มีแร่ใยหินและกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบในการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ
  3. ขอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาแนวทางและมาตรการทางกฎหมาย ในการรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคาร ทิ้ง และกำจัดขยะซึ่งมีวัสดุที่มีแร่ใยหิน
  4. ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องผลกระทบของแร่ใยหิน และออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นในกระบวนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน
  5. ขอให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานภาครัฐใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ปลอดแร่ใยหิน
  6. ขอให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และรณรงค์ให้ใช้วัสดุที่ไม่มีแร่ใยหินในการก่อสร้าง รื้อถอน ซ่อมแซม และต่อเติมอาคาร
  7. ขอให้กรมประชาสัมพันธ์สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลแก่นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบอาชีพ นายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับอันตรายจากแร่ใยหิน การป้องกันอันตรายที่ครอบคลุมตลอดวงจรของการใช้ รื้อถอน ทำลายวัสดุที่มีแร่ใยหิน รวมทั้งวัสดุทดแทนแร่ใยหิน
  8. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำกับติดตามการแสดงข้อมูล คำเตือนอันตรายของแร่ใยหินบนฉลากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน โดยฉลากต้องแสดงให้ประชาชนเห็นได้ชัดเจนและเข้าใจง่าย ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก พ.ศ. 2552 เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2553) เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ 2) อย่างเข้มงวด
  9. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบการวินิจฉัยโรคเหตุแร่ใยหิน เฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงโรคเหตุแร่ใยหิน
  10. ขอให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบลงทะเบียนสถานประกอบกิจการและแรงงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้ข้อมูลการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงแรงงานที่ทำงานกับแร่ใยหิน ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนงานหรือออกจากงานไปแล้ว เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพจากเหตุแร่ใยหิน
  11. ขอให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการให้กองทุนเงินทดแทนครอบคลุมในการดูแลค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวัง วินิจฉัย รักษา ฟื้นฟู และจ่ายเงินทดแทนแก่แรงงานที่มีประวัติการทำงานสัมผัสแร่ใยหินในอดีตและป่วยเป็นโรคเหตุแร่ใยหินภายหลังออกจากงานหรือเกษียณ รวมทั้งให้ประชาชนรับทราบถึงสิทธิประโยชน์
  12. ขอให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำกับติดตาม ประเมินสถานประกอบกิจการให้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 29 พฤศจิกายน 2556) และประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง ขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตราย กำหนดให้ในบรรยากาศของสถานที่ทำงานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตรายในลำดับที่ 32 แอสเบสตอส ชนิดไครโซไทล์ asbestos (Chrysotile form) มีค่าขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายตลอดระยะเวลาการทำงานปกติคือ 0.1 ไฟเบอร์/ลูกบาศก์เซนติเมตร
  13. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน กลไกทางเศรษฐศาสตร์ และการใช้มาตรการทางกฎหมาย สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งไปสู่การลดและเลิกใช้แร่ใยหิน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนที่สามารถหาซื้อได้ง่าย ราคาถูก มีความแข็งแรงและปลอดภัย
  14. ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14

 

ประชาชนโต้กลับมติเลื่อนและยกเลิกการแบนสารพิษของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

สืบเนื่องจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 โดยอ้างว่า ที่ประชุมมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้เลื่อนการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 และยกเลิกการแบนไกลโฟเซตเป็นจำกัดการใช้แทน เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ออกแถลงการณ์แสดงข้อโต้แย้งผลการประชุมดังกล่าว และทำข้อเสนอการแบน 3 สารพิษร้ายแรง

 

คำแถลงและข้อเสนอการแบน 3 สารพิษร้ายแรง โดย เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค

เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการล้มมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ซึ่งมาจากข้ออ้างว่า ไกลโฟเซตไม่เป็นอันตราย เพราะยังมีการใช้อยู่ในหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา จากการรับฟังความคิดเห็นมีผู้คัดค้านจำนวนมาก ยังไม่สามารถหาวิธีการทดแทนได้ ต่างประเทศคัดค้าน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และขัดต่อความตกลงใน WTO เป็นต้น

เครือข่ายฯ เห็นว่ามติที่ยกเลิกการแบนไกลโฟเซต เป็นมติที่ไม่ชอบ ทั้งนี้เนื่องจาก

ประการแรก ข้ออ้างการทบทวนมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2652 ไม่มีเหตุผลสนับสนุนอย่างเพียงพอ เพราะ

1. การอ้างว่าไกลโฟเซตไม่เป็นอันตราย เพราะสหรัฐและหลายประเทศยังอนุญาตให้ใช้อยู่ ขัดแย้งกับข้อวินิจฉัยของ องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC: The International Agency for Research on Cancer) องค์การอนามัยโลก และคำตัดสินของศาลสหรัฐที่ให้บริษัทไบเออร์ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าปรับจำนวนมหาศาลแก่ผู้ใช้และแก่รัฐ โดยจำนวนคดีที่มีการฟ้องศาลแล้วมีจำนวนมากกว่า 40,000 คดี

2. การอ้างว่าขัดต่อความตกลงในองค์กรการค้าโลกฟังไม่ขึ้น เนื่องจากในความตกลงสุขอนามัยและอนามัยพืช (SPS) มีบทยกเว้นใน Annex B–ข้อ 6 อนุญาตให้ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า 60 วันในกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทบต่อสุขภาพ

3. การอ้างว่ามีผู้คัดค้านจำนวนมากจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์เป็นไปโดยมิชอบ เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรได้นำรายชื่อผู้คัดค้านจากกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืช 17,527 รายชื่อมารวมด้วย

4. การกล่าวอ้างเรื่องผลกระทบการนำเข้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวสาลี ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ จนส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่เป็นความจริง เนื่องจากสามารถปรับค่าสารตกค้างการนำเข้า (Import Tolerance) ให้มีค่าต่ำสุดที่ไม่กระทบต่อการนำเข้าได้

5. ส่วนกรณีข้ออ้างว่า ไม่มีระยะเวลาเพียงพอและไม่มีวิธีการทดแทนนั้น กระทรวงเกษตรฯ มีระยะเวลากว่า 2 ปี 7 เดือน สำหรับดำเนินการแต่กลับไม่เสนอทางเลือกที่เป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติและการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเองพบว่าในพืชหลักหลายกลุ่ม วิธีการควบคุมวัชพืชโดยไม่ใช้สารเคมีเป็นแนวทางหลักของเกษตรส่วนใหญ่อยู่แล้ว

ประการที่สอง กระบวนการลงมติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่อ้างว่ามีความเห็นเป็นเอกฉันท์ เป็นกระบวนการที่มิชอบ เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข แถลงยืนยันมติเดิมให้มีการแบน 3 สาร ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายกำหนดไว้ว่า “…การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด…”

โดยที่ผ่านมา การวินิจฉัยในกรณี 3 สาร ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันของคณะกรรมการ ได้ใช้วิธีการลงคะแนนตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา

 

ข้อเสนอ

1. ยืนยันให้ทุกฝ่ายเคารพมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการตามขั้นตอนในการออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายโดยเร็ว

2. เครือข่ายฯ ขอประกาศจะดำเนินการฟ้องศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ดำเนินการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 โดยมิชอบ

3. เครือข่ายฯ ได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบการตกค้างของ 3 สารพิษในสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่ใส่ใจและมีนโยบายคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

4. เครือข่ายฯ จะดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มให้กับผู้ที่ได้รับอันตรายจาก 3 สารพิษนี้ ภายในเดือนนี้ โดยความร่วมมือกับทีมทนายความที่ต่อสู้คดีให้กับ นายดเวนย์ ลี จอห์นสัน ที่ชนะคดีไกลโฟเซตในสหรัฐอเมริกา

5. เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยดำเนินการตามมติและข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ 423 ต่อ 0

 

แมสซาชูเซตส์ รัฐแรกในสหรัฐที่เริ่มมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าและยาสูบหลากรส

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แมสซาชูเซตส์เป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกาที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าและยาสูบที่มีรสชาติ ซึ่งรวมถึงบุหรี่เมนทอล เมื่อ ชาร์ลี เบเคอร์ (Charlie Baker) ผู้ว่าการรัฐจากพรรครีพับลิกัน เซ็นอนุมัติกฎหมายที่มีจุดประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าถึงการสูบบุหรี่ของเยาวชน

“กฎหมายของแมสซาชูเซตส์เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะต่อสู้กับการแพร่หลายของบุหรี่ไฟฟ้า และหยุดการวางกลุ่มเป้าหมายและมอมเมาเด็กๆ ของบริษัทยาสูบด้วยบุหรี่รสต่างๆ” แมทธิว ไมเออร์ส (Matthew Myers) แกนนำโครงการ Tobacco-Free Kids กล่าวแสดงความยินดีกับมาตรการใหม่ที่เตรียมประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2020

เดือนที่ผ่านมา แมสซาชูเซตส์และอีกหลายรัฐ ทั้งมิชิแกน มอนทานา นิวยอร์ค โอเรกอน โรดไอส์แลนด์ ยูทาห์ และวอชิงตัน ได้ห้ามและควบคุมการขายบุหรี่ไฟฟ้าชั่วคราว แต่แมสซาชูเซตส์เป็นรัฐแรกที่ใช้กฎนี้เป็นทางการถาวร

กฎหมายใหม่จะเข้มงวดให้การขายบุหรี่รสชาติต่างๆ ทำได้เฉพาะบาร์สำหรับสูบบุหรี่และฮุคคาบาร์ ซึ่งสามารถสูบได้แค่ในพื้นที่ โดยกฎนี้ควบคุมไปถึงยาสูบสำหรับไปป์ ซิการ์ และใบยาสูบสำหรับเคี้ยว นอกจากนี้ยังกำหนดภาษีนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าไว้ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ และกระตุ้นให้บริษัทประกันสุขภาพครอบคลุมการให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่

เบเคอร์บอกว่า เขาหวังว่ารัฐอื่นๆ จะหันมาใช้มาตรการเข้มงวดเหมือนแมสซาชูเซตส์ แต่มีเพียงศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC)  และสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) เท่านั้นที่สามารถทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้

“บางทีใครสักคนก็ต้องเริ่มต้นก่อน” เบเคอร์กล่าว “มันชัดเจนมากที่เรื่องนี้ยังไม่เป็นนโยบายระดับชาติเร็วๆ นี้ ซึ่งขณะที่มันยังไม่เกิดขึ้น เราก็ต้องเริ่มเองเลย”

อย่างไรก็ตาม การจำกัดการขายบุหรี่รสชาติต่างๆ ครอบคลุมไปถึงบุหรี่เมนทอล เพราะหลายครั้งที่มีกฎหมายเกี่ยวกับยาสูบออกมา บุหรี่เมนทอลเป็นข้อยกเว้นหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากเป็นรสชาติที่คุ้นชินและได้รับความนิยมมานาน จนแทบไม่ต่างจากบุหรี่รสชาติดั้งเดิม

การศึกษาพบว่า บุหรี่เมนทอลมักถูกบริโภคอย่างไม่เหมาะสมโดยเด็กและเยาวชน และกลุ่มต่อต้านการสูบบุหรี่และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเคยให้เหตุผลไว้มากกว่านั้นว่า ชาวแอฟริกันอเมริกันคือตลาดสำคัญของบุหรี่เมนทอล

บุหรี่เมนทอลถูกดึงออกจากกฎหมายควบคุมยาสูบที่ออกโดย New York City Council เมื่อวันอังคาร ด้วยการสนับสนุนจากหลายฝ่าย รวมถึง อัล ชาร์ปตัน (Al Sharpton) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งแย้งว่า การควบคุมบุหรี่เมนทอลจะยิ่งทำให้ตำรวจหาช่องใช้กฎหมายเข้าไปคุกคามชุมชนคนดำง่ายกว่าเดิม

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุขบอสตันได้ห้ามจำหน่ายบุหรี่เมนทอลในร้านสะดวกซื้อ เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ของแมสซาชูเซตส์และแคลิฟอร์เนีย ที่เดินตามในการควบคุมบุหรี่เมนทอลและบุหรี่รสชาติอื่นๆ

ในทางกลับกัน อัยการสูงสุดรัฐแมสซาชูเซตส์ เมารา ฮีลีย์ ( Maura Healey) และผู้สนับสนุน ให้เหตุผลอีกด้านว่า การควบคุมบุหรี่เมนทอลและยาสูบรสชาติอื่นๆ เป็นเรื่องควรระวัง เพราะกฎหมายนี้พุ่งเป้าไปที่ตลาดยาสูบแบบเดิม ซึ่งขณะนี้บริษัทยาสูบได้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาดึงดูดเยาวชนไปแล้ว

The American Cancer Society’s Cancer Action Network บอกว่า กฎหมายนี้คือการส่งสารไปถึงบรรดากลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ

“วัยรุ่นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่สูบบุหรี่มักเริ่มต้นจากการสูบผลิตภัณฑ์ที่มีรสก่อน และบริษัทยาสูบก็รู้เรื่องนี้ดี” องค์กรกล่าวในอีเมล

กันยายน 2019 สถิติจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคฯ ระบุว่า จำนวนของผู้ป่วยโรคปอดที่อาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งสูงถึง 805 ราย

ผู้ที่ป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นใน 46 รัฐ โดย 10 รัฐมีรายงานผู้เสียชีวิต เมื่อพิจารณาจาก 373 กรณี และข้อมูลที่เข้าถึงได้ของผู้ป่วย กรมควบคุมโรคฯ เผยว่า 3 ใน 4 คือ ผู้ชาย และ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมีอายุระหว่าง 18-34 ปี โดย 16 เปอร์เซ็นต์อายุน้อยกว่า 18 ปี

ที่มาส่วนหนึ่งของกฎหมายนี้มาจากข้อกังวลเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับอาการป่วยโรคปอด หน่วยงานสาธารณสุขของแมสซาชูเซตส์ระบุตัวเลขว่ามีกว่า 200 คน ซึ่งในจำนวนนั้นเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย

เบเคอร์ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในเดือนกันยายน และสั่งแบนบุหรี่ไฟฟ้าทั้งมีรสชาติและไม่มีรสชาติเป็นการชั่วคราว โดยผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์บอกว่า การแบนชั่วคราวจะยกเลิกก่อน 11 ธันวาคม และสำนักงานสาธารณสุขของรัฐจะออกข้อบังคับเพิ่มเติมมาแทนที่

ขณะที่สมาคมบุหรี่ไฟฟ้า Vapor Technology Association ซึ่งถูกท้าทายจากการจำกัดการสูบและจำหน่ายบอกว่า วิธีการที่ดีกว่าคือ เพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ำที่สามารถซื้อบุหรี่ได้ให้เป็น 21 ปี ซึ่งจะกลายเป็นการควบคุมมาตรฐานการตลาดสำหรับผู้ผลิต

“การแบน (บุหรี่ไฟฟ้า) เท่ากับผลักผู้บริโภคไปหาการสูบบุหรี่แบบจุดสูบ ซึ่งเป็นต้นทางของการป้องกันโรคและการเสียชีวิตจากบุหรี่ในสหรัฐ หรือไม่ก็ทำให้เกิดการซื้อขายอย่างผิดกฎหมายในตลาดมืดขนาดใหญ่ที่จะเกิดใหม่” องค์กรกล่าว

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
time.com

‘จิราพร ลิ้มปานานนท์’ ลาออกจาก คกก.วัตถุอันตราย ย้ำจุดยืนแบน 3 สารเคมี

เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (27 พฤศจิกายน 2562) รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยประกาศขอลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย และขอแย้งการแถลงข่าวของประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) ด้วยเหตุผลดังนี้

  1. ขอแย้งว่าไม่ได้มีการลงมติอย่างชัดเจน ว่าผู้ใดเห็นด้วยหรือไม่ในแต่ละประเด็น แต่เป็นภาวะจำยอมในการรับมติ จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นมติเอกฉันท์ เพราะหากพิจารณาในการอภิปรายจะพบว่า ดิฉันยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดในการแบนสารทั้งสาม และยืนยันให้คงมติวันที่ 22 ตุลาคม 2562
  2. ขอแย้งการแถลงข่าวที่ว่า ไกลโฟเสตไม่เป็นอันตราย เพราะกรรมการรวมทั้งดิฉันได้อภิปรายถึงผลเสียต่อสุขภาพและไม่สามารถจะจัดการความเสี่ยงต่อผู้บริโภค จนพบปนเปื้อนทั้งในสิ่งแวดล้อม ผัก ผลไม้ และน้ำนมแม่

การประกาศลาออกของ รศ.ภญ.จิราพร ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในคณะกรรมการวัตถุอันตราย สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรก โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน มีมติให้เลื่อนการแบน ‘พาราควอต’ และ ‘คลอร์ไพริฟอส’ ออกไปอีก 6 เดือน เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วน ‘ไกลโฟเซต’ ให้จำกัดการใช้และให้จัดอบรมการใช้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ มติเดิมของที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ให้ยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสามภายในวันที่ 1 ธันวาคม นี้

ทว่าภายหลังเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนได้มีการทบทวนมติเดิม โดยให้เหตุผลว่า หากจะยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้งสามสาร อาจมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ เนื่องจากมีสารเคมีที่คงค้างอยู่ประมาณ 23,000 ตัน หากต้องทำลายจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก อีกทั้งยังไม่มีมาตรการรองรับที่เหมาะสมสำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

มติเดิมของที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน รศ.ภญ.จิราพร ได้โพสต์ข้อความย้ำอีกครั้งว่า ในที่ประชุมครั้งล่าสุดไม่ได้มีการลงมติ และไม่ได้มีการนับองค์ประชุม ดังนั้น ประธานจะไปแถลงข่าวโดยอ้างเสียงมติเอกฉันท์มิได้

ในหนังสือขอลาออกของ รศ.ภญ.จิราพร ระบุด้วยว่า “กลไกคณะกรรมการวัตถุอันตรายอันเป็นกลไกที่สำคัญเชิงนโยบายในการตัดสินใจควบคุมวัตถุอันตรายเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคม แต่จากการประชุมครั้งที่ผ่านมากลไกดังกล่าวไม่สามารถทำให้เกิดการตัดสินใจในเชิงนโยบายที่ดีได้”

การประกาศลาออกของ รศ.ภญ.จิราพร คือการตอกย้ำถึงเจตนารมณ์ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดที่ผ่านมา และยืนยันว่าสารเคมีทั้งสามมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

รศ.ภญ.จิราพร มีประสบการณ์ทำงานด้านเภสัชศาสตร์เพื่อสังคมมายาวนาน นับตั้งแต่เข้าทำงานที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2517 มีผลงานวิชาการที่สำคัญทั้งระดับชาติและระดับประเทศ

หลังเกษียณปี 2551 รศ.ภญ.จิราพร ยังทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ได้ช่วยผลักดันการประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตหรือนำเข้ายา 6 รายการ อาทิ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาสลายลิ่มเลือด ยารักษาโรคมะเร็ง ทำหน้าที่ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จนได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภคอาเซียน และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสภาเภสัชกรรม

ขณะเดียวกัน รศ.ภญ.จิราพร ยังทำงานวิจัยระบบยาและระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการเข้าถึงยา และการเฝ้าระวังผลกระทบจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศต่อระบบสาธารณสุข ช่วยภาคประชาสังคมตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรกัญชาของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นการขอสิทธิบัตรพันธุ์พืชที่ตามกฎหมายไม่ให้ แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญายังรับคำขอดังกล่าวไว้ในกระบวนการพิจารณา

นอกจากนี้ รศ.ภญ.จิราพร ยังรับหน้าที่สืบสานงานจาก ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ในการพัฒนาการแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน และพืชสมุนไพร อาทิ กระท่อม กัญชา และสมุนไพรอื่นๆ ให้สามารถนำกลับมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และดูแลสุขภาพประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพได้ อย่างปลอดภัยและมีหลักฐานเชิงประจักษ์

 

 

‘Sick Building Syndrome’ ภัยสุขภาพของมนุษย์ตึก 2020

คนเมืองในยุคนี้กำลังเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรค ‘Sick building syndrome’ หรือที่เรียกกันว่า ‘กลุ่มโรคตึกเป็นพิษ’ สาเหตุมาจากฝุ่นละออง PM2.5 มลพิษทางอากาศ และความแออัดของที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน โดยมีคำเตือนจากแพทย์ว่า ภายในปี 2563 จะมีคนเมืองป่วยด้วยโรคนี้กันมากขึ้น

จากการเปิดเผยของ ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระบุว่า โรคตึกเป็นพิษ หรือ Sick building syndrome ไม่ได้หมายถึงโรคชนิดเดียว หากแต่เป็นกลุ่มโรคที่แสดงอาการเมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการใช้ชีวิตในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย โดยกลุ่มโรคนี้จะสัมพันธ์กับมลภาวะทางอากาศ ซึ่งคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 จะมีคนเมืองป่วยมากขึ้น

ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวว่า กลุ่มโรค Sick building syndrome เป็นกลุ่มโรคที่วงการแพทย์ในปัจจุบันให้ความสำคัญและเฝ้าระวังอย่างมาก เนื่องจากพบว่าประชากร 1 ใน 3 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีประวัติป่วยเป็นกลุ่มโรคนี้ และมีแนวโน้มว่าผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากร โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น การจราจรติดขัด และอาคารบางแห่งยังเป็นโครงสร้างแบบเก่าที่มีความชื้น ไม่มีการระบายอากาศที่ดี และใช้สีทาผนังหรือสิ่งพิมพ์ที่เป็นสารระเหยง่าย (volatile organic compounds)

ศ.พญ.อรพรรณ อธิบายเพิ่มว่า มลพิษภายในอาคารเกิดขึ้นได้ทั้งจากอากาศที่เล็ดลอดเข้ามา และเกิดจากภายในอาคารเอง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ระบบระบายอากาศไม่ถ่ายเท พรมทางเดินมีไรฝุ่น มีการตกแต่งอาคารโดยใช้สีทาผนังซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีต่างๆ รวมถึงมีความชื้น รอยรั่วซึม ซึ่งทำให้เกิดเป็นเชื้อราตามฝาผนัง ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียง่าย ปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ หายใจไม่สะดวก ฯลฯ

“เราต้องสังเกตอาการตัวเองให้ดี เช่น ทำไมเดินเข้าอาคารนี้แล้วรู้สึกไม่ค่อยดี อยู่นานๆ แล้วรู้สึกเวียนหัว เพลีย แสบคอ คันตา คันจมูก คันผิวหนัง อาการผิดปกติเช่นนี้เกิดจากการที่เราไปใช้ชีวิตอยู่ในอาคารที่มีมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค”

ผู้อำนวยการศูนย์เป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ฯ แนะนำว่า การเอาตัวเองออกมาข้างนอกจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ จะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้อื่น หรืออาจมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคหอบก็จะเสี่ยงอาการกำเริบมากขึ้น และถึงแม้จะไม่ได้มีโรคประจำตัว ครอบครัวไม่ได้มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ แต่หากใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงทุกวันก็จะกลายเป็นผู้ป่วยได้ในที่สุด

นอกจากนี้ คนเมืองยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ซึ่งมาจากการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ ขาดการออกกำลังกาย เพราะการใช้ชีวิตในพื้นที่แนวดิ่งไม่เอื้ออำนวย เช่นเดียวกับการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs: Non-communicable diseases) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากวิถีชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การบริโภคอาหารประเภทหวาน-มัน-เค็ม มากเกินไป และขาดการออกกำลังกาย

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา คือการปรับปรุงสถานที่ให้เป็นมิตรต่อสุขภาวะให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม แม้ระบบอาคารจะถูกออกแบบใหม่เพื่อให้อากาศถ่ายเท แต่ถ้าคอนโดอยู่ในสถานที่ตั้งที่มีดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ต้องมีเครื่องฟอกอากาศช่วย และต้องถูกวางในห้องที่สมาชิกครอบครัวใช้เวลามากที่สุด โดยเปิดทิ้งไว้ล่วงหน้า 30 นาทีเป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกัน ภายในห้องนอนควรจัดให้โล่งที่สุด ไม่ควรมีพรมซึ่งเสี่ยงต่อการสะสมไรฝุ่น หมั่นทำความสะอาดผ้าม่านอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการมีตุ๊กตาและหมอนจำนวนมาก เพราะเสี่ยงต่อการเก็บกักเชื้อโรคและสารก่อภูมิแพ้

“ที่สำคัญคนเมืองยุคนี้ต้องปรับพฤติกรรมตามหลัก 4Es ตั้งแต่ eating (การกิน) exercise (การออกกำลังกาย) environment (ปรับสภาพแวดล้อมรอบตัว) emotion (ปรับอารมณ์) ให้ถูกสุขลักษณะ และติดตามข่าวสารอยู่เสมอ ไม่ควรไปยังสถานที่ใดที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ในขั้นเฝ้าระวัง พกพาหน้ากากอนามัยให้เป็นนิสัย และยิ่งเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในที่ที่มีฝุ่นหนาแน่นต้องใส่หน้ากากแบบ N95 ซึ่งป้องกันฝุ่น PM2.5 และเชื้อไวรัสได้ ส่วนในกรณีผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ต้องพกยาติดตัวไว้เสมอ เพราะไม่อาจรู้ได้ว่าจะต้องไปเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเมื่อใด” ศ.พญ.อรพรรณ กล่าว

ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวว่า ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา มลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กยังคงเป็นปัญหาสำหรับคนในเขตเมือง และในปี 2563 เป็นต้นไป คาดว่าจะมีผู้ป่วยจากโรคตึกเป็นพิษมากขึ้น ฉะนั้นจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้นกว่าเดิม

บุกตลาดยาแก้ปวดในอินเดีย ประเทศที่เคยเชื่อว่า ‘ไม่มีใครว่างพอจะบ่นเรื่องความเจ็บปวด’

ทันทีที่อินเดียผ่อนปรนกฎหมายยาเสพติดที่เคยเข้มงวด บริษัทยารายใหญ่สัญชาติอเมริกัน เช่น Johnson & Johnson, Abbott Laboratories และเครือข่ายของ Purdue Pharma ก็พากันมุ่งหน้าเข้าสู่อินเดีย

ดูเรชา (Dureja) คือแพทย์ผู้ก่อตั้งศูนย์จัดการความเจ็บปวดแห่งเดลี (Delhi Pain Management Centre) และเป็นหนึ่งในกลุ่มแพทย์ผู้บุกเบิกด้านการจัดการความเจ็บปวดในอินเดีย

ที่คลินิกของดูเรชา หญิงคนหนึ่งมาพบหมอเพราะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Fibromyalgia หรือความผิดปกติทางระบบประสาทเรื้อรังที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดไปทั่วร่างกาย การใช้ยาสูตรผสมระหว่างพาราเซตามอล (paracetamol) กับทรามาดอล (tramadol) ซึ่งเป็นยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (opioid analgesic) ไม่สามารถระงับความเจ็บปวดได้ เธอต้องการยาที่แรงกว่านั้น

ก่อนหน้านี้ ชาวอินเดียมองว่าการระงับความเจ็บปวดเป็นแนวทางแบบตะวันตก หลังจากที่หญิงคนนั้นออกจากคลินิกไปพร้อมกับใบสั่งยาใหม่ หมอดูเรชากล่าวว่า “ในอินเดีย ไม่มีใครมีเวลามาบ่นเรื่องความเจ็บปวด แต่ตอนนี้ ผมมีคนไข้ใหม่ราว 5-7 คนต่อวัน”

ศูนย์จัดการความเจ็บปวดเดลีเป็นคลินิกเอกชน ที่มีสาขาประมาณ 20 แห่งกระจายอยู่ในมุมไบ กัลกัตตา บังกาลอร์ และในเมืองใหญ่อื่นๆ ของอินเดียซึ่งมีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน

หลายทศวรรษที่ผ่านมา อินเดียเข้มงวดกับกฎหมายยาเสพติดมาก เนื่องจากต้องต่อสู้กับการระบาดของฝิ่นมานานนับศตวรรษ แต่ถึงวันนี้ อินเดียพร้อมที่จะบรรเทาอาการปวดให้แก่ประชาชน

และบรรดาบริษัทยาสัญชาติอเมริกัน ผู้สร้างปัญหา opioid crisis ในสหรัฐอเมริกาและพวกเสือหิวตลาดใหม่ ก็พร้อมบุกตลาดและกระตุ้นความต้องการใช้ยานี้

คนไข้มะเร็งชาวอินเดียที่เคยชักดิ้นชักงอด้วยความปวดร้าวทรมาน จะอาศัยแผ่นปิดที่มีตัวยา fentanyl patches ของบริษัทที่เป็นสาขาของ Johnson & Johnson ส่วนชนชั้นกลางที่ส่วนใหญ่ทำงานออฟฟิศและมักจะมีปัญหาปวดคอปวดหลัง ก็จะใช้ buprenorphine ของ Mundipharma อีกหนึ่งเครือข่ายบริษัทที่บริหารโดยครอบครัวแซคเลอร์ (Sackler) ซึ่งเป็นเจ้าของ Purdue Pharma แห่งคอนเนคติคัต และผู้สูงอายุชาวอินเดียหลายร้อยล้านคนที่มักมีปัญหาปวดตามข้อต่อต่างๆ และหัวเข่า ก็ได้อาศัย tramadol จากบริษัท Abbott Laboratories

ผู้ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (palliative care) ที่เห็นผู้ป่วยมะเร็งต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดหรือตายไปอย่างทรมาน เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐอนุญาตให้มียาแก้ปวดโอปิออยด์ชนิดแรงๆ ในคลินิกและร้านขายยาได้

‘ชีวิตที่ปลอดจากความเจ็บปวด’ ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลอกล่อในประเทศที่รายได้กำลังพุ่งสูงขึ้นในกลุ่มคนเมืองจำนวนมาก และประชากรประมาณ 300-400 ล้านคนเขยิบขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง แพทย์ด้านความเจ็บปวดรุ่นใหม่ให้ความหวังกับชาวอินเดียว่า ชีวิตจะดีขึ้นอีกมาก ถ้าร่างกายไม่เจ็บปวด

“อย่าไปเชื่อฟังบรรพบุรุษ” ดูเรชากล่าว “บรรพบุรุษบอกว่าคุณควรทนกับความเจ็บปวด ไม่ควรบ่น ไม่ควรกินยาแก้ปวด แต่เดี๋ยวนี้ ใครๆ ก็อยากจะหายปวดให้เร็วที่สุด”

มีความพยายามอย่างจริงจังในการนำเสนอให้เห็นถึงความทุกข์ยากของผู้ป่วย กลุ่มแพทย์และกลุ่มบริษัทยาสนับสนุนให้มีการใช้ยาบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง และเรียกร้องให้ผู้ควบคุมยาอนุมัติทะเบียนยาโอปิออยด์แรงๆ ให้คนไข้เข้าถึงได้มากขึ้น บรรดาแพทย์ด้านความเจ็บปวดพากันเปิดคลินิก ตามมาด้วยคลินิกเงาด้านความเจ็บปวด

และแล้วโอปิออยด์ที่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ก็พรั่งพรูออกมา ช่วงแรกๆ ก็เป็นไปตามกฎหมายให้ใช้ในทางการแพทย์ แต่ไม่นานนักก็รั่วไหลสู่ถนนและเข้าสู่ตลาดมืด

แนวโน้มที่จะมีผู้ติดยาแก้ปวดเพิ่มขึ้นอีกมากมายสร้างความกังวลใจให้กับวิชาชีพของแพทย์อินเดียบางคน ซึ่งมั่นใจว่า ถ้ารัฐไม่ควบคุม ยาส่วนใหญ่ก็จะแพร่กระจายด้วยอำนาจเงินไปที่ร้านขายยา

“ประชาชนจะรู้เท่าทันหรือไม่ ต่อกลอุบายที่จะทำให้โอปิออยด์แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง?” บ็อบบี จอห์น (Bobby John) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของอินเดียในนิวเดลี เอ่ยถาม “มันจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”

 

ตลาดยาแก้ปวดไปได้สวย

สำนักงานใหญ่ของคลินิกความปวดในอินเดียได้เปิดสำนักงานสาขาเล็กๆ ในเชมบูร์ (Chembur) ชานเมืองมุมไบทางตะวันออก บริษัทนี้ได้เผยแพร่อย่างโดดเด่นทางอินเทอร์เน็ตว่า ไกลาศ โกธารี (Kailash Kothari) นายแพทย์ผู้ก่อตั้งคลินิก ปฏิเสธการเรียกร้องจากประชาชนในแอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องการโอปิออยด์ที่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์

ในตรอกแห่งหนึ่ง มีคลินิกเล็กๆ ตั้งอยู่ ด้านหน้ามีภาพคนแสดงอาการปวดหลัง ปวดคอ เข่าบ้าง ศีรษะบ้าง ไหล่บ้าง โดยรวมแล้ว ภาพต้องการจะสื่อว่า ‘มุ่งสู่ชีวิตที่ปราศจากความเจ็บปวด’

ในด้านโครงสร้างการกระจายยาแก้ปวด โกธารีมีคลินิกหลายแห่งในมุมไบ เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงพยาบาลหลายแห่ง และยังต้องบินไปที่คลินิกของเขาในเมืองกัว (Goa) สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Indian Academy of Pain ซึ่งเป็นสาขาการศึกษาแขนงหนึ่งของ Indian Society for the Study of Pain ที่มุ่งสร้างมาตรฐานการอบรมด้านการจัดการความเจ็บปวดในทางการแพทย์

“ตอนนี้แพทย์ทั่วไปก็ได้เริ่มจ่ายยาเหล่านี้แล้ว” ดูเรชากล่าว “แต่เราก็ยังไม่ได้ให้การศึกษาแก่ประชาชนว่าจะใช้หรือหยุดใช้ยาเหล่านี้เมื่อใด”

ที่คลินิกของดูเรชาก็เช่นเดียวกับคลินิกอื่นๆ ในอินเดีย คนไข้จ่ายเงินสดแลกกับบริการและใบสั่งยา ศูนย์จัดการความปวดเดลีคิดค่าบริการให้คำปรึกษา 10 ดอลลาร์ แผ่นยาปิดแก้ปวดเฟนตานิลของ Johnson & Johnson อีก 10 ดอลลาร์ และสำหรับแผ่นยาปิดแก้ปวด buprenorphine ของ Mundipharma สำนักงานของดูเรชาจะได้รับ 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้

ในห้องนั่งคอยพบแพทย์ภายใน East Delhi Clinic ของดูเรชามีแผ่นแสดงความขอบคุณจาก Johnson & Johnson ในโอกาสที่ดูเรชาไปบรรยายในงานสัมมนาเรื่องการจัดการความเจ็บปวด โดยบรรยายเกี่ยวกับ tapentadol ซึ่งเป็นโอปิออยด์ตัวหนึ่งที่วางตลาดโดย Johnson & Johnson ในปี 2009 เคาน์เตอร์จ่ายยาของคลินิกนี้จำหน่ายยาชื่อทางการค้าว่า Ultracet ซึ่งเป็นยาเม็ด tramadol ที่ผลิตโดยโรงงานในเครือของ Johnson & Johnson

ในแต่ละปีจะมีแพทย์ 20 คนมาเข้าอบรมกับโกธารีเป็นเวลา 3-6 เดือน เขาบอกว่าทำการอบรมไปแล้ว 150 คน “มีมากกว่า 50 คนที่มีคลินิกขจัดความเจ็บปวดเป็นของตนเองแล้ว กระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของอินเดีย” โกธารีกล่าว

โกธารีบอกว่า มีเพียงบางโรงพยาบาลในมุมไบเท่านั้นที่รับรักษาผู้ป่วยมะเร็งและใช้ยาโอปิออยด์ “เราใช้ยาเหล่านี้มากขึ้นทุกปี” เขากล่าว “ร้านขายยาและโรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มขอใบอนุญาตครอบครองยาเหล่านี้ และความแพร่หลายก็ดีขึ้นเรื่อยๆ มิใช่มีเพียงโอปิออยด์ชนิดเม็ดสำหรับรับประทานเท่านั้น แต่ยังมีชนิดน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน ชนิดฉีด และชนิดแผ่นปิดอีกด้วย”

โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในอินเดียส่วนใหญ่ได้บรรจุเรื่องการบริหารจัดการความเจ็บปวดเข้าเป็นอีกหนึ่งสาขาพิเศษเฉพาะ (specialty) ในช่วง 2-3 ปีมานี้ โกธารีบอกว่า การรับรองคุณภาพของโรงพยาบาลอินเดียในปัจจุบันนั้น สมาคมวิชาชีพกำหนดให้แพทย์และพยาบาลจะต้องมีความสามารถในการประเมินความเจ็บปวดได้เช่นเดียวกับการวัดชีพจร อุณหภูมิ การหายใจและความดันโลหิต

อุตสาหกรรมยาก็ก้าวตามทัน โกธารีกล่าวว่า เมื่อย้อนหลังไป 20 ปี มีบริษัทยาเพียงไม่กี่แห่งที่วางตลาดยาแก้ปวดในอินเดีย “แต่ถึงวันนี้ เกือบจะทุกบริษัทมีเรื่องการจัดการความเจ็บปวดแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งแผนก”

เซลส์แมนของ Sun Pharma บริษัทยาที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในอินเดีย สะท้อนว่า

“เดี๋ยวนี้ประชาชนขับรถเองมากขึ้น จึงมีการปวดหลังมากขึ้น ทำให้ต้องใช้ยา” เช่นเดียวกับอัตราการเป็นโรคอ้วนที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้ต้องใช้ยามากขึ้น ทั้งโรคปวดหลังและปวดเข่า “ดังนั้น ตลาดยาแก้ปวดจึงไปได้สวย”

มานโมฮัน ซิงห์ (Manmohan Singh) รองประธานกรรมการบริหาร Modi-Mundipharma ในนิวเดลี กล่าวว่า การให้ยาแก้ปวดโอปิออยด์เป็นทางเลือกที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการปวดอันเนื่องจากมะเร็ง เขายังกล่าวอีกว่า ในการส่งเสริมการขายของบริษัท จะต้องเน้นย้ำให้แพทย์ใส่ใจในเรื่องข้อมูลความปลอดภัยและในเรื่องผลข้างเคียง

“ควรทำให้คนไข้เข้าใจอย่างชัดเจนถึงเป้าหมายของการรักษาที่สัมพันธ์กับความเจ็บปวดและการทำงานของอวัยวะส่วนนั้นๆ รวมถึงให้เข้าใจเรื่องผลข้างเคียงของโอปิออยด์ โอกาสที่จะมีการใช้อย่างผิดๆ (misuse) และในทางที่ผิด (abuse) ตลอดจนการเสพติด” เขาเขียนในบทความ

 

ก้าวที่ผิดพลาด

ความเฟื่องฟูของการจัดการความเจ็บปวดในอินเดียเกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองแบบบังเอิญ ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ (Narendra Modi) ได้ลงทุนทุ่มเทอย่างมากในระบบการดูแลสุขภาพ ฤดูใบไม้ร่วงของปีที่แล้ว รัฐบาลอินเดียได้ริเริ่มโครงการประกันสุขภาพภาครัฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรียกว่า Ayushman Bharat หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘Modicare’ โครงการนี้ประกันสุขภาพให้คนอินเดียที่ยากจนประมาณ 500 ล้านคน และเมื่อถึงปี 2020 รัฐบาลจะเปิดศูนย์ดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ 150,000 แห่ง และรัฐบาลได้ให้เงินประเดิมโครงการนี้ไว้ 484 ล้านดอลลาร์

ซึ่งโครงการนี้จะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีการคลายความเข้มงวดของกฎหมายยาเสพติด

คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติถือกำเนิดเมื่อปี 1968 และกฎหมายยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทปี 1985 ได้ระบุเงื่อนไขต่างๆ สำหรับแพทย์ที่ต้องการสั่งจ่ายยาแก้ปวดโอปิออยด์ พร้อมกับบทลงโทษหากมีการละเมิด

กฎหมายยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้รับการแก้ไขในปี 2014 เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่า การบรรเทาอาการปวดเป็นเรื่องสำคัญ กฎหมายที่แก้ไขแล้วมีกลุ่มยาเกิดขึ้นใหม่ เรียกว่า รายการยาเสพติดที่จำเป็น ได้แก่ มอร์ฟีน, เฟนตานิล, เมทาโดน, oxycodone, โคเดอีน และ hydrocodone

เอ็ม. อาร์. ราชาโกปาล (M. R. Rajagopal) วิสัญญีแพทย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการดูแลรักษาแบบประคับประคองในอินเดีย แสดงความกังวลว่า การก้าวที่ผิดพลาดของรัฐบาลจะทำให้มีการกระจายโอปิออยด์อย่างแพร่หลายกว้างขวาง สวนทางกับงานที่เขาทำมาหลายทศวรรษ ที่เขาไม่แนะนำให้ใช้ oxycodone หรือ hydrocodone

หลายทศวรรษที่ผ่านมา เขาพยายามชี้แนะนักกฎหมายระดับชาติว่า ไม่ควรผ่อนผันให้ใช้โอปิออยด์ แต่ควรส่งเสริมให้ใช้มอร์ฟีนและยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ “เป็นเวลานานมากแล้วที่แพทย์ไม่เคยเห็นยาเม็ดมอร์ฟีน” เขากล่าว

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com

เรียน-เครียด-ซึมเศร้า วงเวียนชีวิตนักศึกษาไทย

แฮชแท็กยอดฮิต #การศึกษาฆ่าฉัน กลายมาเป็นแคมเปญรณรงค์ที่ติดเทรนด์อันดับ 1 ของทวิตเตอร์ในชั่วข้ามคืนของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อเยาวชนคนหนุ่มสาวต่างพร้อมใจกันลุกขึ้นมาพูดถึงสภาพปัญหาที่ตัวเองต้องเผชิญในฐานะที่เป็น ‘นักศึกษา’

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการปรับตัว การแบกรับความคาดหวังของตัวเองและครอบครัว การถูกบังคับด้วยกฎระเบียบอันคร่ำครึไร้เหตุผล ตลอดจนการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจากผู้ที่อาวุโสมากกว่า

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยในแง่หนึ่งจึงกลายเป็นความเครียด ความกดดัน ที่ค่อยๆ บ่มเพาะขึ้นในตัวของนักศึกษาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

 

ยิ่งเครียด ยิ่งเปราะบาง

เป็นความจริงที่ว่า ทุกมหาวิทยาลัยล้วนมีนักศึกษาที่คาดหวังผลการเรียนในระดับที่สูงมาก ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เด็กกลุ่มนี้รู้สึกแย่หรือด้อยค่าอย่างรุนแรง และยิ่งเมื่อต้องเจอกับแรงกดดันของครอบครัวที่ทิ่มแทงมาจากข้างหลังด้วยแล้ว ช่วงใกล้สอบจึงเป็นช่วงที่เด็กแสดงอาการทางจิตเวช เกิดความเครียด และมีความพยายามฆ่าตัวตายมากที่สุด

“ใน 1 ปี นักศึกษาจะเครียดจัด 4 ครั้ง ได้แก่ สอบมิดเทอม 2 ครั้ง สอบไฟนอลอีก 2 ครั้ง ซึ่งจากผลสำรวจภาวะเครียด-ซึมเศร้าในเด็กมหาวิทยาลัย พบว่าในช่วงเหล่านี้มีเด็กที่เครียดสะสมในระดับมากถึงระดับรุนแรงเกือบ 1 ใน 3 ของเด็กทั้งหมด” อธิชาติ โรจนะหัสดิน อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูล และบอกด้วยว่าในสถานการณ์นี้ผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้าใจและช่วยกันเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่ไปเพิ่มแรงกดดันจนเด็กรับไม่ไหว

แน่นอนว่า ความเครียดย่อมเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน แต่หากพูดถึง ‘ความเปราะบาง’ จะพบว่าอาการลักษณะนี้มักจำกัดอยู่ในกลุ่มของนักศึกษาชั้นปีที่ 1

“เป็นเรื่องยากสำหรับเขาที่จะต้องปรับตัวในหลายๆ เรื่องพร้อมกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กไทยมีภาวะพึ่งพิงสูง เมื่อต้องจากบ้านออกมาจะเกิดความเครียด ความกังวล บางคนเหงามาก กว่าจะมีเพื่อนกินข้าวด้วยก็เข้าสู่ภาคเรียนที่ 2 ไปแล้ว หรือในกลุ่มเด็กที่ต้องมาอยู่หอพัก ตรงนี้ก็มักจะเกี่ยวข้องกับปัญหาเงินทอง กิจกรรมระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ระบบโซตัส ฯลฯ

“หรือแม้แต่ในกลุ่มเด็กเก่งเอง เป็นช้างเผือกจากต่างจังหวัด เคยเป็นที่หนึ่งของหมู่บ้าน เป็นเด็กเก่งประจำโรงเรียน ประจำตำบล แต่พอต้องมาเจอกับเด็กหัวกะทิในกรุงเทพฯ ก็ทำให้หลายคนไปไม่เป็นเหมือนกัน ดังนั้นเด็กปี 1 จึงมีความเครียดและภาวะซึมเศร้าสูงกว่าอีก 3 ชั้นปีอย่างมีนัยสำคัญ” อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิก ระบุ

 

ธรรมศาสตร์ผุด ‘Viva City’ รองรับไม่ให้นักศึกษาร่วงหล่น

จากสภาพความเป็นจริงข้างต้น มีความเป็นไปได้ที่นักศึกษาจะบอบช้ำและร่วงหล่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ชีวิตชีวา’ (Viva City) ขึ้นในโซนหอพักนักศึกษา ณ ศูนย์รังสิต ทำหน้าที่คล้ายกับคลินิกให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ เปิดบริการตั้งแต่ เวลา 08.30-22.00 น.

ทุกวันนี้ ศูนย์ Viva City ยังอยู่ในช่วงโครงการนำร่อง แต่ก็ได้เปิดให้บริการแล้วใน 2 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบด้วย 1. คลินิกให้คำปรึกษา มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ Student Advisor ซึ่งผ่านการคัดเลือกและฝึกอบรมให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา จิตแพทย์ จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ 2. Call Center ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเลขหมาย 02-028-2222

“ศักยภาพของ Viva City ในช่วงแรกยังไม่ถึงขั้นรักษา โดยเฉพาะในเคสที่มีความรุนแรงฉุกเฉินก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ฉะนั้นหน้าที่ของเราจริงๆ ก็คือการเข้าถึงเคสให้เร็ว จากนั้นก็ช่วยแปะพลาสเตอร์ คือทำให้นักศึกษา cool down ลงมาก่อน” อาจารย์อธิชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ อธิบาย

แม้ว่าศูนย์ Viva City จะเพิ่งเปิดได้ไม่ถึง 2 เดือน แต่จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคมที่ผ่านมา พบว่ามีนักศึกษาเข้ามาใช้บริการแล้วถึง 155 ครั้ง โดยพบปัญหาความเครียดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการเรียน ความวิตกกังวล และการปรับตัว

แน่นอนว่า คงยังเร็วไปที่จะชี้ว่าการตั้งศูนย์แห่งนี้ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด แต่จากอัตราการฆ่าตัวตายของนักศึกษาที่เคยมีราว 2-3 รายต่อปี ปัจจุบันสถิติยังคงอยู่ที่ 0 ราย และภายในเดือนเดียวศูนย์ Viva City สามารถช่วยเคสที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายไปได้ถึง 4 เคส ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี

อาจารย์อธิชาติ บอกว่า จุดแข็งของศูนย์ให้คำปรึกษาในมหาวิทยาลัยคือ ความเข้าใจสภาพปัญหาและบริบทของนักศึกษา มากไปกว่านั้นก็คือ รู้ว่านักศึกษาอยู่ที่ไหน ทำให้เข้าถึงได้อย่างทันท่วงที มีการจัดรถและหน่วยเคลื่อนที่เร็วครอบคลุมการดูแลทั้งหอในและหอนอก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความศูนย์ Viva City จะทำหน้าที่แทนโรงพยาบาล

“นักศึกษาจะมีอาการขึ้นๆ ลงๆ ในช่วงใกล้สอบ แต่โรงพยาบาลซึ่งต้องให้บริการทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไปจะมีคิวแน่นเป็นคอขวด อาจไม่สามารถรองรับความต้องการที่ขึ้นๆ ลงๆ ของนักศึกษาได้ไหว ตรงนี้ศูนย์ Viva City จะมีจิตแพทย์ Part time มาช่วยรองรับความต้องการของนักศึกษาที่ล้นจากโรงพยาบาลในช่วงใกล้สอบได้

“ในกรณีที่นักศึกษาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจนอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่นักศึกษาเลือกจะกลับมาอยู่หอพัก ศูนย์ Viva City ก็จะเข้ามาช่วยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด” อาจารย์อธิชาติ ฉายภาพการสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาล

หลังจากเปิดศูนย์ Viva City อย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ก็จะเริ่มประชาสัมพันธ์ให้เข้มข้น เพิ่มบุคลากร พัฒนาระบบ Call Center ให้ใช้ได้ทั้ง 4 วิทยาเขต และในอนาคตอันใกล้จะมีการจับมือกับบริษัท Ooca เพื่อขยายบริการให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอคอลด้วย

 

เลิกเนื้อสัตว์ กินผัก ออกวิ่ง สัญญาณวิกฤติวัยกลางคน

ไม่พอใจกับความสำเร็จ ห่อเหี่ยว ไม่มีแรงลุกจากเตียง เปิดโหมดอัตโนมัติแล้วปล่อยให้ชีวิตเป็นไปเอง หรือพลิกโฉมตัวเองเป็นคนใหม่ หันมากินอาหารปลอดเนื้อสัตว์ หรือวีแกน (vegan) แข่งวิ่งมาราธอน หรือสมัครเข้าแข่งขันรายการคนอึด เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกจุดเปลี่ยนของการเข้าสู่วิกฤติวัยกลางคน

‘วิกฤติวัยกลางคน’ (midlife crisis) เป็นคำที่ อีเลียตต์ ฌาคส์ (Elliott Jaques) นักจิตวิเคราะห์ชาวแคนาดาประดิษฐ์ขึ้นมาในปี 1965 เพื่ออธิบายความท้าทายที่เกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่านจากช่วงหนึ่งไปสู่อีกช่วงของชีวิต ซึ่งพบได้ทั่วไปในบรรดาผู้คนวัยตั้งแต่ 40-60 ปี

Bupa Health Clinics ประมวลข้อมูลที่เก็บได้จากผู้ใหญ่ชาวอังกฤษจำนวน 3,000 คน สรุปได้ว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงปีที่ 40 หรือ 50 ของชีวิต คนส่วนมากเจอปัญหา และตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ โดยหันเหจากตัวเลือกเก่าๆ เช่น การซื้อรถสปอร์ตสักคัน มาเป็นการจ่ายเงินเพื่อดูแลสุขภาพ เช่น เข้าพบแพทย์ เปลี่ยนวิถีการกิน เลิกบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ก็บอกลาเส้นทางสายดื่มถาวร

งานวิจัยเมื่อปี 2018 ระบุว่า คนอังกฤษเกือบครึ่งมักเปลี่ยนมารักสุขภาพเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 30, 40, หรือ 50 ปี เช่น คนอังกฤษจำนวนกว่าครึ่งเปลี่ยนมางดหรืออดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้หญิงมักเข้าสู่วิกฤติวัยกลางคนเร็วกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้ชายมักเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองในวัย 40 ผู้หญิงมักเริ่มทำตั้งแต่วัย 30 ปี อย่างไรก็ตาม เม็ก อาร์โรลล์ (Meg Arroll) นักจิตวิทยาประจำบริษัทจำหน่ายวิตามินและอาหารเสริม Healthspam เตือนว่าแม้ผู้ชายจะเข้าสู่วิกฤติวัยกลางคนช้ากว่า แต่วิกฤติที่เจอก็มักรุนแรงกว่า เช่น มีอาการซึมเศร้า หมดพลัง

แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าคนคนหนึ่งเข้าสู่วิกฤติวัยกลางคน กลุ่มเป้าหมายวิจัยเพศชาย 24 เปอร์เซ็นต์เลือกเป็นวีแกน ผู้ชายอีก 31 เปอร์เซ็นต์เลือกสมัครเข้าร่วมการแข่งขันที่ต้องใช้แรงกายมากๆ เช่น วิ่งมาราธอน หรือแข่งซีรีส์ ‘เกมคนอึด’ (Tough Mudder) หรือการแข่งขันที่ผู้เข้าแข่งจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ อาทิ เปลวไฟ กระแสไฟฟ้า หรือความสูง ตลอดระยะทาง 16-19 กิโลเมตร คน 5 เปอร์เซ็นต์ให้เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงตัวเองว่าเป็นเพราะตื่นเต้นที่ได้เจอความท้าทายใหม่ๆ ส่วนอีก 6 เปอร์เซ็นต์บอกว่าอยากดูหนุ่มแน่นขึ้น เพราะจะได้เอาใจแฟนสาวอายุน้อยกว่า

หลังผ่านงานฉลองวันเกิดวัยสำคัญๆ ผู้หญิง 67 เปอร์เซ็นต์ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีการกินให้ ‘รักสุขภาพ’ มากขึ้น ผู้หญิง 50 เปอร์เซ็นต์เลือกสมัครเป็นสมาชิกยิม หรือจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวมาช่วยควบคุมการออกกำลังกาย

“การก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ของชีวิตเป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวแปรที่กระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ” เจค วิลเลียมส์ (Jake Williams) ผู้ให้คำแนะนำด้านสุขภาพจากสถาบัน Bupa Health Clinics เล่าว่าเมื่อใกล้หรือเข้าสู่วัยลงท้ายด้วยเลข 0 ไปแล้ว ลูกค้ามักเข้ามาใช้บริการตรวจสุขภาพมากขึ้น

 

กินผัก

ก่อนหน้านี้ อเล็กซ์ โกติเยร์ (Alex Gauthier) เป็นเชฟชาวฝรั่งเศสที่คุ้นชินกับการปรุงอาหารจากเนื้อวัว ปลา ไปจนถึงเมนูราคาแพงที่เป็นที่ถกเถียงกันถึงความเหมาะสมด้านศีลธรรมต่อสัตว์อย่างฟัวกราส์ หรือตับห่านย่าง แต่วันนี้เขาเป็นหนึ่งในผู้ชาย 24 เปอร์เซ็นต์ที่รับมือวิกฤติวัยกลางคนด้วยการเลิกกินเนื้อสัตว์และเปลี่ยนตัวเองเป็นวีแกน

“วันหนึ่งผมก็รู้ได้ว่าการกินเนื้อไม่ใช่ตัวตนผมอีกต่อไปแล้ว” เขาว่า “ผมพยายามทบทวนความรู้เรื่องอาหารที่มี แล้วเขียนสูตรขึ้นมาใหม่ และกินตามแบบฉบับชาววีแกน”

โกติเยร์ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากวิกฤติวัยกลางคน แต่เขาบอกว่าการกินวีแกนเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก

“คนอื่นอาจรับมือด้วยการซื้อรถ Harley-Davidson คันใหม่ แต่ผมไม่-ผมแค่เปลี่ยนมากินผัก”

ประมาณ 50 ปีก่อน วีแกนเคยอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย จากการสำรวจในปี 2015 มีคนสหรัฐเพียง 3.4 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นมังสวิรัติ (vegetarian) หรืองดกินเนื้อสัตว์ แต่ยังกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์บ้าง เช่น ไข่ นม ชีส น้ำผึ้ง ส่วนเปอร์เซ็นต์ผู้เป็นวีแกน หรืองดกินเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไปจนถึงไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ จากสัตว์เลย เช่น เครื่องหนัง มีเพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แต่ในปี 2019 กระแสการ ‘กินผัก’ ในแต่ละแนวทางเริ่มกลายเป็นกระแสหลักที่นิยมมากโดยเฉพาะในกลุ่มช่วงวัยมิลเลเนียลส์ ที่เกิดระหว่างปี 1980-2003 ควบคู่ไปกับกระแสการลดใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่ นม ผ้าขนสัตว์ หรือเครื่องหนังด้วย

ในปีนี้ชาวสหรัฐวัย 25-34 ปีมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ที่ออกมาประกาศว่า “ฉันเป็นมังสวิรัติ/วีแกน” แม้แต่เจ้าพ่อเบอร์เกอร์อย่าง McDonald’s ก็ยังออกเมนู ‘McVegan’ ออกมาขายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ออกวิ่ง

ในยุคที่การวิ่งเป็นกระแสเฟื่องฟู มีกิจกรรมให้เลือกเข้าร่วมหลากหลาย ตั้งแต่การวิ่งระยะสั้นที่สุด คือ ฟันรัน (fun run) 5 กิโลเมตร มินิมาราธอน (minimarathon) 10.5 กิโลเมตร ฮาล์ฟมาราธอน (half-marathon) 21 กิโลเมตร ส่วนมาราธอน (marathon) คือการวิ่งระยะไกล 42.195 กิโลเมตร

เว็บไซต์ Runrepeat เก็บสถิติและพบว่าเฉพาะยอดผู้วิ่งมาราธอนในปี 2018 เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วถึง 49.43 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศที่มีจำนวนผู้สนใจเข้าร่วมวิ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ อินเดีย เพิ่มขึ้น 229 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 2 เท่าตัว ตามมาด้วยโปรตุเกส 117 เปอร์เซ็นต์ และไอร์แลนด์ 130 เปอร์เซ็นต์

สำนักข่าว New York Times ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยสนับสนุนว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคของการออกวิ่ง ตรงกันข้าม ไม่สายเกินไปที่นักวิ่งวัยกลางคนจะหันมาจริงจังกับการออกกำลังกาย และไม่สายเกินไปที่คนวัยกลางคนจะสุขภาพดีขึ้นจากการออกกำลังกาย

ริชาร์ด อาสค์วิธ (Richard Askwith) ทหารผ่านศึกและนักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการวิ่ง วัย 59 ปี กล่าวว่า สุขภาพใจของนักวิ่งรุ่นใหญ่ค่อนข้างมีผลต่อความสำเร็จในการวิ่ง

“มุมมองเรื่องเวลาขึ้นอยู่กับอายุนะ (เมื่ออายุมากขึ้น) คุณจะอดทนฝึกซ้อมและลงแข่งมากขึ้น คุณจะค่อยๆ วิ่งไปตามทางด้วยจิตใจเบาสบาย แทนที่จะมัวกลุ้มอยู่กับตัวเลขระยะทาง”

สุดท้ายอาจฟังดูน่าเศร้า แต่งานวิจัยจาก Bupa Health Clinics สรุปว่า คนอังกฤษส่วนมากมักคงวิถีชีวิตรักสุขภาพได้เฉลี่ย 3 ปี และคน 1 ใน 4  มักกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ภายใน 12 เดือนแรก มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เปลี่ยนตัวเองได้สำเร็จในระยะยาว 8 ปีขึ้นไป

เมื่อเข้าสู่วัยสำคัญ 30, 40, 50 อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปรักสุขภาพอย่างสุดโต่ง หนังสือพิมพ์ Dailymail อังกฤษแนะนำว่า เพียงแค่ลดอาหารหวานหรือเค็ม ควบคุมปริมาณแอลกอฮอล์ ตรวจสุขภาพบ้างเป็นระยะ และพบแพทย์เมื่อรู้สึกว่าสุขภาพไม่ปกติ เท่านี้ก็ช่วยลด ‘วิกฤติ’ ด้านสุขภาพของกลุ่มคนวัยกลางคนได้แล้ว

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
menshealth.com
dailymail.co.uk
forbes.com
plantbasednews.org
worldin2019.economist.com
theguardian.com
nytimes.com