วิตามินอาหารเสริมไม่ได้เป็นทุกอย่างให้เธอขนาดนั้น

เรื่อง: เวชะรดา มะเวชะ

 

‘ผลิตภัณฑ์วิตามินอาหารเสริม’ อย่างวิตามิน D ที่ช่วยดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย วิตามิน C ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กและเสริมสร้างเส้นใยคอลลาเจน แคลเซียมช่วยในการบำรุงกระดูกและฟัน รวมถึง ‘วิตามินรวม’ ซึ่งอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ของวิตามินหลากหลายชนิดเม็ดเดียวจบ แทบจะกลายเป็นของติดบ้านไปสำหรับครอบครัวยุคใหม่ แถมบางตัวยังอ้างคุณสมบัติต้านโรคได้อีกต่างหาก จึงทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นล้วนต่างเผชิญกับข้อกังขาถึงคุณประโยชน์ว่า ‘ช่วยบำรุง’ ได้จริงหรือไม่

หลังถกเถียงกันมาเนิ่นนานในวงการวิทยาศาสตร์และสุขภาพเกี่ยวกับประโยชน์ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าว ล่าสุดผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีข้อสรุปออกมาว่า วิตามินรวม, วิตามิน D, วิตามิน C และแคลเซียมไม่ได้มีประโยชน์ต่อร่างกายเรามากเท่าที่เราคิด

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Journal of the American College of Cardiology เป็นการร่วมมือกันระหว่างคณะนักวิจัยจากโรงพยาบาลเซนต์ไมเคิล (St. Michael’s Hospital) และมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) โดยได้วิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่มกราคม 2012 – สิงหาคม 2017 ร่วมกับข้อมูลจากโครงการสำรวจโภชนาการและสุขภาพแห่งชาติ (National Health and Nutrition Examination Survey: NHANES) ระหว่างปี 1999-2012 พบว่าในสหรัฐมีการบริโภคผลิตภัณฑ์วิตามินกันมากในปี 2012 โดยวิตามินยอดนิยมได้แก่ วิตามินรวม มีการบริโภคสูงที่สุดประมาน 31 เปอร์เซ็นต์, วิตามิน D 19 เปอร์เซ็นต์, แคลเซียม 14 เปอร์เซ็นต์ และวิตามิน C 12 เปอร์เซ็นต์

“จากการสำรวจเราพบว่า เมื่อคุณกินวิตามินรวม, วิตามิน D, วิตามิน C หรือแคลเซียมนั้น มันไม่ได้เกิดผลร้ายอะไรแก่ร่างกาย แต่มันก็ไม่ได้มีประโยชน์ที่แน่ชัดเหมือนกัน” นายแพทย์เดวิด เจนกินส์ (Dr.David Jenkins) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

สอดคล้องกับข้อมูลเมื่อปี 1998 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (The University of Leicester) พบว่า การรับวิตามิน C เกิน 500 มิลลิกรัมต่อวันนั้นเป็นอันตรายต่อยีนในร่างกาย! เพราะวิตามิน C มีส่วนช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กซึ่งส่งผลต่อการกดภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ หากได้รับมากเกินไปก็อาจทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่าย

ไม่เพียงเท่านั้น ทีมวิจัยยังพบว่าวิตามิน E ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระและเบตาแคโรทีน (beta-carotene) ที่ช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ ไม่ได้มีส่วนช่วยในการบำรุงรักษาร่างกายเท่าไรนัก เช่น ปี 1994 พบสิงห์อมควันคนหนึ่งซึ่งบริโภคเบตาแคโรทีนเป็นประจำนานกว่าแปดปี แต่นั่นก็ไม่สามารถช่วยให้เขารอดจากมะเร็งปอดไปได้

“ผลวิจัยเหล่านี้ชี้ให้เราทุกคนตระหนักถึงประโยชน์และสรรพคุณของผลิตภัณฑ์วิตามินอาหารเสริมต่างๆ ที่พวกเขาจะบริโภคและต้องมั่นใจได้ว่าพวกเขาได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องผู้ให้บริการด้านสุขภาพอย่างแท้จริง” เจนกินส์อธิบาย

แม้ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่าปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์วิตามินอาหารเสริมนั้นถูกกระตุ้นจากใคร แต่ขณะเดียวกันมูลค่าในอุตสาหกรรมยาเพิ่มสูงถึง 82,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2013 เฉพาะสหรัฐอเมริกาเองมีมูลค่าเพิ่ม 28 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ Internal Medicine เผยแพร่บทความเรื่อง ‘พอได้แล้ว! หยุดเสียเงินให้วิตามินและอาหารเสริมสักที’ (Enough Is Enough: Stop Wasting Money on Vitamin and Mineral Supplements.) หลังจากพบว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนอายุระหว่าง 24-30 ปีในสหรัฐบริโภควิตามินรวม ขณะที่กลุ่มคนอายุ 15-18 ปีมีผู้บริโภคมากถึง 39 เปอร์เซ็นต์ ในระดับนานาชาติเองไม่แพ้กัน สินค้าเหล่านี้ทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมยาทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2007-2012

อย่างไรก็ดีนายแพทย์เจนคินส์แนะนำว่า หากต้องการรับวิตามินให้เพียงพอในแต่ละวัน ควรรับประทานอาหารจำพวกผลไม้และผักสดมากกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะในผักและผลไม้นั้นสารต้านอนุมูลอิสระรวมไปถึงวิตามินที่เพียงพอต่อชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีผลการวิจัยไหนที่แสดงให้เห็นว่าการใช้อาหารเสริมให้ผลดีกว่าอาหารปลอดสารพิษอย่างผัก ผลไม้ และถั่ว

นายแพทย์เจนกินส์ทิ้งท้าย


อ้างอิงข้อมูลจาก:
salon.com
vice.com