ถึงเวลาสยบโฆษณาเสี่ยงสุขภาพใน Facebook

ในขณะที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีอิทธิพลสูงยิ่งในโลกทุกวันนี้ แต่กฎหมายหรือระบบจัดการความเสี่ยงของ “ข่าวเท็จ” “ข้อมูลลวง” กลับไล่ตามไม่ทัน

ส่วนหนึ่งของปัญหาที่หนักหนาและส่งผลกระทบรุนแรงจนทำให้เจ็บป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้วอย่างต่อเนื่องก็คือ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อสังคมเฟซบุ๊ก ที่ปัจจุบันพบว่ามีปัญหาในวงกว้าง และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งการโฆษณาอวดอ้าง เกินจริง หลอกให้ประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่หลงเชื่อเพราะไม่มีความรู้เท่าทันด้านสุขภาพจึงตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงและเกิดปัญหาตามมามากมาย

ผลพวงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคจนถึงขั้นเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าใจ ส่วนหนึ่งมาจาก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ใช้ชื่อ อ้างสรรพคุณหรือ โฆษณาว่าลดน้ำหนัก หรือ ลดความอ้วน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์  มีการตรวจพบการลักลอบใส่ยาควบคุมพิเศษ รวมทั้งยาอันตรายที่สามารถคร่าชีวิตได้ภายในเวลาสั้นๆ

โครงการจัดการความรู้ประกอบรายวิชาความชำนาญด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นกรณีศึกษา โดย ภญ.ฐิติพร  อินศร  นคบส.รุ่นที่ 4 ได้ลงมือจัดการความรู้ในหัวข้อ  “การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายในสื่อสังคมเฟซบุ๊กและข้อเสนอแนวทางบังคับใช้กฎหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่” โดยมี ภญ.พรพรรณ สุนทรธรรม เป็นที่ปรึกษา

จับต้นชนปลาย…สถานการณ์ร้ายแรง

งานชิ้นนี้เริ่มต้นด้วย การติดตามสถานการณ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักในประเด็นที่ผิดกฎหมายต่อผู้บริโภค โดยสำรวจเพจโฆษณาเฟซบุ๊กในช่วง เดือน ธันวาคม 2560-มกราคม 2561 โดยใช้คำค้น “อาหารเสริมลดน้ำหนัก” พบว่า

  • ข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้ชื่อ อ้างสรรพคุณหรือโฆษณาว่าลดน้ำหนักจำนวน 204 ผลิตภัณฑ์
  • พบผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเลขสารบบอาหารมากถึง ร้อยละ 53.22
  • ไม่มีการขออนุญาตโฆษณา ร้อยละ 100
  • เป็นผลิตภัณฑ์ที่เคยถูกดำเนินคดีหรือมีการประกาศผลวิเคราะห์ว่าเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยแต่ยังพบการโฆษณาจำหน่ายในเฟซบุ๊ก ร้อยละ 28.46
  • เมื่อพิจารณาการกระทำผิดพบว่ามีการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จ หรือเกินความจริง ร้อยละ 47.42 นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาโดยสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์สามารถบำบัดบรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคได้อีกด้วย

 

สกัดไม่ไหว หน่วยไหนก็เอาไม่อยู่

ประเด็นต่อมาก็คือ แนวทางดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในสื่อสังคมเฟซบุ๊ก พบว่า

  • การออกมาให้ข้อมูลของเพจดัง เพื่อเตือนภัยยาลดความอ้วน หรือ แม้กระทั่งการที่พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจพบผลิตภัณฑ์อันตราย ได้ออกประกาศเตือนประชาชน ก็ยังถูกคุกคาม ข่มขู่ และ ฟ้องร้อง
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานที่อนุญาตการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต แต่มีข้อจำกัดคือ การขออนุญาตประเภทอินเตอร์เน็ตไม่มีการระบุแหล่งที่นำไปเผยแพร่ที่ชัดเจน เช่น เฟซบุ๊ก ส่งผลให้ยากต่อการควบคุมกำกับ การตรวจสอบและดำเนินงานตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของ อย. รวมทั้ง สสจ.ในช่วงที่ผ่านมาจะดำเนินคดีในประเด็นการไม่ขออนุญาตการโฆษณาซึ่งมีอายุความเพียง 1 ปี แต่การดำเนินคดีทางเฟซบุ๊กมีหลายขั้นตอนและต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกจึงมักจะขาดอายุความ ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ ซึ่งแม้บางรายที่มีการดำเนินคดี หากแต่โทษที่ได้รับนั้นจะเป็นโทษปรับสถานเดียว ไม่เกิน 5,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการไม่เกรงกลัว
  • การกระทำผิด ณ ปัจจุบันมีปริมาณมากและขยายวงกว้างมากขึ้น เป็นการโฆษณาที่ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และส่งถึงผู้บริโภคได้โดยตรง จึงเป็นการยากต่อการควบคุมกำกับด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เพียงอย่างเดียว

ข้อค้นพบจากการจัดการความรู้ครั้งนี้ ที่พบว่า ปัญหาที่ก่ออันตรายต่อผู้บริโภคเรื่องนี้มีปริมาณมากและกำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการปัญหาไม่สามารถ “จับได้ไล่ทัน”  ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)  และเครือข่ายอีก 6 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.), วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย, (วคบท.) สภาเภสัชกรรมม มูลนิธิเภสัชชนบท (มภช.) และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) จึงร่วมกันเสนอประเด็น “การจัดการปัญหาโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักในสื่อสังคมเฟซบุ๊ก” เป็นเสนอประเด็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ เพื่อพิจารณากำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11

เพื่อระดมพลังสังคมมาร่วมกันกำราบปัญหาจากการทำธุรกิจที่ไร้จริยธรรมเช่นนี้ให้อยู่หมัด

ที่มา: วารสารสานพลัง ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2561 Click