บทเรียนจากไวรัสโคโรนา ความท้าทายของระบบสิทธิบัตรยา

ภายหลังจากทีมแพทย์โรงพยาบาลราชวิถีค้นพบแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยการปรับใช้ยาต้านไวรัส HIV ร่วมกับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ผลจากความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ชื่อของยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (Lopinavir/Ritonavir: LPV/r) และยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นมาอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภาเภสัชกรรม ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการเข้าถึงยา และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้สรุปบทเรียนจากการที่ประเทศไทยสามารถนำยาทั้งสามชนิดมาใช้เป็นยารักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นกรณีศึกษาครั้งสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาจำเป็นได้

ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาต่อจากนี้ก็คือ ระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่มีคุณภาพและร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่เปิดช่องโหว่ให้มีการผูกขาดยา รวมถึงความพยายามในการเจรจาเอฟทีเอฉบับต่างๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กำลังจะนำไปสู่การทำลายความมั่นคงทางยาของประเทศไทย โดยสภาเภสัชกรรมและเครือข่าย มีข้อสังเกตที่น่ากังวลเกี่ยวกับสิทธิบัตรของยาทั้งสามชนิด ดังนี้

 

ข้อมูลด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ และยาโอเซลทามิเวียร์

1.

ยา LPV/r เป็นยาสูตรผสมรวมเม็ดของยาโลพินาเวียร์และยาริโทนาเวียร์ (Lopinavir/Ritonavir) ที่ประเทศไทยได้ประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อนำเข้าหรือผลิตยาโดยรัฐ หรือที่เรียกว่า CL (Compulsory Licensing) ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเป็นยาสูตรสำรองที่สองสำหรับรักษาเอชไอวี

จากมาตรการ CL ดังกล่าว ทำให้ไทยมียาคุณภาพในราคาที่ไม่แพงใช้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกหลังประกาศใช้มาตรการ CL ไทยนำเข้ายานี้จากอินเดีย และในปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตเองได้ จึงยิ่งทำให้ราคาลดลง จากก่อนประกาศใช้มาตรการ CL ยามีราคา 74.23 บาทต่อเม็ด ปัจจุบันมีราคาเหลือเพียง 13.21 บาทต่อเม็ด

แม้ว่าสิทธิบัตรที่จดเพื่อคุ้มครองตัวยาโลพินาเวียร์และกระบวนการในการเตรียม ได้หมดอายุไปแล้วตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันยังมีคำขอสิทธิบัตรอย่างน้อย 1 ฉบับ ที่ยื่นคำขอค้างไว้และอาจทำให้ยานี้ติดสิทธิบัตรจนถึงปี 2565 ถ้าไทยไม่ได้นำมาตรการ CL มาใช้ตั้งแต่ปี 2550 เป็นที่แน่นอนว่าราคายาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ที่เป็นยาต้นแบบที่บริษัทจดและยื่นจดสิทธิบัตรไว้ ยังจะมีราคาแพงมากจนประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ และระบบหลักประกันสุขภาพฯ อาจไม่สามารถจ่ายยานี้ให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้

2.

ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) มีการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิกในสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (PCT) ซึ่งไทยเป็นภาคี PCT ตั้งแต่ปี 2552 แต่ไม่มีการจดสิทธิบัตรในไทย ทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้ตั้งแต่ปี 2552 โดยเป็นยาหลักในการรักษาไข้หวัดใหญ่ ราคายาในไทยก็ถูกกว่าราคาที่องค์การสากล UNICEF จัดซื้อให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อย โดยที่ยาโอเซลทามิเวียร์ขนาด 75 มิลลิกรัม ที่องค์การเภสัชกรรมมีราคาเม็ดละ 25 บาท ส่วนราคาที่องค์การ UNICEF ซื้อได้มีราคาเม็ดละ 44.46 บาท ขณะนี้สิทธิบัตรในยาโอเซลทามิเวียร์ที่จดในสหรัฐ ส่วนใหญ่หมดอายุแล้ว

3.

ในเรื่องคุณภาพของยาและมาตรฐานการผลิตยาดังกล่าว องค์การเภสัชกรรมใช้กระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพ โดยที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ให้การรับรองและเป็นที่ยอมรับของสากล มาตรฐานดังกล่าวเรียกว่า WHO-Pre Qualification เราจึงมั่นใจได้ว่ายาดังกล่าวมีคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม ระบบหลักประกันสุขภาพทั้งสามระบบจึงสามารถจัดหายาที่มีคุณภาพและความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ โดยไม่มีปัญหาด้านงบประมาณ

 

ความท้าทายและข้อเสนอเกี่ยวกับระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการเข้าถึงยา

1.

การประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตหรือนำเข้ายาโดยรัฐ ตามมาตรา 51 ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร หรือที่เรียกว่า CL นั้น เป็นมาตรการที่สอดคล้องตามความตกลงสากลว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก ซึ่งเป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงยาราคาแพง เนื่องจากการผูกขาดด้วยระบบสิทธิบัตร และให้อำนาจรัฐประกาศบังคับใช้ได้โดยไม่แสวงหากำไร

แต่กลไกนี้ตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกกำจัดทิ้ง เพราะเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำกำไรของบรรษัทยาข้ามชาติ ความพยายามที่จะขจัดมาตรการ CL เกิดขึ้นเช่นเดียวกับการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรให้มีอายุยาวนานมากกว่า 20 ปี การผูกขาดข้อมูลทางยา การบังคับใช้และตีความกฎหมายที่เกินเลย และการขัดขวางบริษัทยาชื่อสามัญด้วยกลไกต่างๆ โดยกระทำผ่านการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศฉบับต่างๆ เช่น เอฟทีเอระหว่างไทยและสหภาพยุโรป และระหว่างไทยกับสหรัฐ ที่เคยเจรจาและระงับการเจรจาไปชั่วคราว รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่เจรจาจบไปแล้ว แต่ไทยต้องการเข้าร่วม

ความท้าทายจึงอยู่ที่การเจรจาเอฟทีเอฉบับต่างๆ ที่รัฐบาลต้องการจะรื้อฟื้นการเจรจา เช่น เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป หรือที่แม้แต่ต้องการลงนามในความตกลงที่สรุปไปแล้วโดยที่ไม่มีส่วนร่วมในการเจรจาเลย เช่น ความตกลง CPTPP โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่าที่ควร ทั้งนี้ เมื่อลงนามในความตกลงเหล่านี้ไปแล้ว ไทยต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดได้ง่ายและยาวนานมากขึ้น และจำกัดหรือขจัดการนำมาตรการ CL มาใช้ ความท้าทายจึงขึ้นอยู่กับความสามารถและความตระหนักของคณะเจรจาของไทย ว่าจะสามารถเจรจาให้รักษากลไกนี้ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างในปัจจุบันหรือไม่ หรือจะถูกนำไปต่อรองแลกเปลี่ยนกับสิทธิพิเศษการค้าระยะสั้นเพื่อตัวเลขการส่งออก

ดังนั้น คณะเจรจาความตกลงการค้าจะต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนและเข้มแข็ง ไม่นำเรื่องการเข้าถึงยาและระบบสาธารณสุขของประเทศไปต่อรอง

2.

จากกรณีศึกษายา LPV/r และยาโอเซลทามิเวียร์ จะเห็นได้ว่า การตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในยาหนึ่งตัว บริษัทยาไม่ได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรเพียงฉบับเดียว แต่บริษัทจะพลิกแพลงใช้ระบบสิทธิบัตรเอื้อประโยชน์ในตนเองให้ได้มากและนานที่สุด เพื่อคงสิทธิในการผูกขาดตลาด ทั้งในการผลิต การจำหน่าย การวิจัย ไว้แต่เพียงผู้เดียวให้ได้นานที่สุด ซึ่งวิธีการแบบนี้เรียกว่า ‘สิทธิบัตรที่ยืดการผูกขาดให้ได้นานที่สุด’ หรือ Evergreening

ถ้ากรมทรัพย์สินทางปัญญามีกระบวนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรที่ไม่ดีพอ ผลที่จะเกิดขึ้นคือ ยาสำคัญๆ จะติดสิทธิบัตรไปอย่างยาวนาน และกีดขวางยาชื่อสามัญไม่ให้เข้าสู่การแข่งขันในตลาด สุดท้าย การผูกขาดดังกล่าวจะทำให้ยามีราคาแพงมาก จนระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐไม่สามารถจัดหาให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้

ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพัฒนาคุณภาพการตรวจสอบสิทธิบัตรให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปฏิบัติตามคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรทางเคมี

3.

แม้ว่าสนธิสัญญา PCT (Patent Cooperation Treaty) ที่ไทยได้ลงนามแล้ว จะอำนวยความสะดวกในการยื่นขอรับสิทธิบัตรในส่วนที่เกี่ยวกับการเตรียมเอกสารในการสามารถยื่นคำขอได้หลายๆ ประเทศในคราวเดียว แต่กลไกนี้ส่งผลให้ยื่นคำขอฯ ได้ง่ายขึ้นและทำให้จำนวนคำขอรับสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงภาระงานที่เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเพิ่มมากขึ้น และจะส่งเสริมให้คุณภาพในการตรวจสอบที่ด้อยศักยภาพทวีความรุนแรงมากขึ้น

ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องเพิ่มศักยภาพ และต้องไม่พิจารณาจากผลการพิจารณาในต่างประเทศโดยไม่พิจารณาในรายละเอียดคำขอ แต่ควรจะพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรด้วยความรอบคอบ โดยคำนึงถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศและการเข้าถึงยาด้วย

อีกทั้งยังต้องทำให้ฐานข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรและสิทธิบัตรเข้าถึงได้ง่าย เป็นข้อมูลที่ทันสมัยตลอดเวลา ถูกต้อง และเข้าถึงได้อย่างทันท่วงที เพื่อการตรวจสอบจากสาธารณะและป้องกันและลดการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรม

4.

พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับปัจจุบันมีช่องโหว่ที่เอื้อให้เกิดการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงยา เช่น หลักเกณฑ์ในการพิจารณาสิทธิบัตรมีความคลุมเครือและให้อำนาจเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจในการพิจารณา ระยะเวลาในการคัดค้านคำขอฯ สั้น ระยะเวลาที่จะเริ่มพิจารณาคำขอฯ นาน ในขณะที่การคุ้มครองเริ่มตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอฯ และมาตรการ CL ที่ยังไม่เอื้อให้มีการนำมาใช้ได้สะดวก เป็นต้น

กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร และเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ในช่วงรัฐประหารที่ผ่านมา ภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ป่วย และนักวิชาการได้แสดงความคิดเห็นและเสนอให้แก้ไขร่างฯ ของกรม โดยให้มีมาตรการด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยา หรือที่เรียกว่ามาตรการยืดหยุ่นทริปส์เพื่อคุ้มครองการสาธารณสุข ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่กรมฯ ไม่ได้นำความกังวลและข้อเสนอเหล่านั้นใส่ไว้ในร่างที่มีการแก้ไขล่าสุดก่อนยื่นให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

แต่สิ่งสำคัญไปกว่านั้น กรมฯ ได้เสนอแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ หรือมาตรการ CL ซึ่งเป็นการกำจัดสิทธิของรัฐและก่อให้เกิดความยุ่งยากหรือความกังวลแก่ผู้กำหนดนโยบายด้านสาธารณสุข ในอันที่จะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ โดยอนุญาตให้ผู้ทรงสิทธิ (ผู้ถือสิทธิบัตร) สามารถฟ้องร้องต่อศาลให้ยกเลิกมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐที่หน่วยงานของรัฐประกาศใช้ไป ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลก และมีวัตถุประสงค์ที่จะปกป้องสาธารณประโยชน์ของประเทศสมาชิกในเรื่องการเข้าถึงยาและสุขภาพ

ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรนำเสนอร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่แก้ไขหลังจากผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนจะดำเนินการต่อ และควรนำข้อเสนอของภาคประชาสังคมที่เสนอไปในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นผ่านออนไลน์ มาปรับแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร เพื่อขจัดปัญหาสิทธิบัตรที่ไม่มีคุณภาพและส่งเสริมการใช้มาตรการคุ้มครองสาธารณสุขให้มากยิ่งขึ้น

5.

กลไกควบคุมราคายังไม่สามารถทำได้จริงและไม่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน ปัญหายามีสิทธิบัตรของไทยอย่างหนึ่ง คือ การไม่มีกลไกควบคุมราคายาที่จริงจัง แม้จะมี พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่ประกาศให้ยาเป็นสินค้าควบคุมราคา แต่กระทรวงพาณิชย์กลับไม่มีมาตรการใดๆ ในการควบคุมราคายา ทำให้ยาที่มีสิทธิบัตรสามารถกำหนดราคายาได้อย่างตามใจชอบ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือยาต้านไวรัสเอชไอวีและยาต้านมะเร็งที่ทำให้ไทยต้องประกาศใช้มาตรการ CL

ดังนั้น กรมการค้าภายใน ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ จำเป็นต้องนำ พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้อย่างจริงจัง ให้มากไปกว่าการกำหนดให้แสดงราคาที่บรรจุภัณฑ์และให้โรงพยาบาลแจ้งราคายาให้ผู้ป่วยและญาติทราบเท่านั้น แต่ต้องดำเนินการให้ผู้ประกอบการแจ้งโครงสร้างราคายา และกำกับดูแลและควบคุมให้มีราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชน

 

ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลกำลังระบาดในสหรัฐ มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1 หมื่นคน

ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาจากประเทศจีนที่การระบาดยังไม่ยุติ เมื่อข้ามฟากไปยังสหรัฐอเมริกา โรคระบาดที่ชาวอเมริกันคุ้นเคยก็กำลังกัดกินประชากรในประเทศของพวกเขาอย่างเงียบเชียบ

ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอาจไม่ใช่โรคที่ฟังดูน่ากลัวเท่าไรนัก โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้คนกำลังหันไปให้ความสนใจไวรัสตัวใหม่อย่างโคโรนา แต่ในทุกๆ ปี โรคที่ฟังดูไม่น่ากลัวนี้ กำลังระบาดไปทั่วทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และตัวเลขปัจจุบันก็บ่งบอกว่าฤดูกาลนี้เป็นหนึ่งในการระบาดที่เลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ

ข้อมูล ระบุว่า ขณะนี้มีชาวอเมริกันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลประมาณ 19 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 10,000 คน ซึ่งยังไม่รุนแรงเท่ากับฤดูกาลในปี 2017-2018 ที่มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 45 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 61,000 คน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ประเมินว่าในที่สุดแล้ว ฤดูกาลนี้จะมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 21 ล้านคน

เมื่อนำตัวเลขดังกล่าวมาเทียบกับไวรัสโคโรนาที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อประมาณ 2.2 เปอร์เซ็นต์ ไข้หวัดใหญ่ในฤดูกาลนี้มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตประมาณ 0.095 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และยังมีอัตราการแพร่กระจายหรือค่าเฉลี่ยที่ผู้ป่วย 1 คน จะแพร่เชื้อให้คนอื่นอยู่ที่ระหว่าง 1.2-1.6 คน ในขณะที่ไวรัสโคโรนามีค่าเฉลี่ยเบื้องต้นอยู่ที่ 1.4-2.5 คน ไข้หวัดใหญ่จึงเป็นโรคที่สามารถควบคุมการแพร่เชื้อได้ง่ายกว่า

แอนโธนี เอส. ฟาวชี (Anthony S. Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อของสหรัฐ กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่ที่อเมริกากำลังเผชิญและเคยเผชิญมาแล้วเป็นปกตินั้น มีความเอาแน่เอานอนได้มากกว่าไวรัสโคโรนาที่เป็นของใหม่ แล้วพวกเขาก็สามารถยืนยันได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะลดลงเมื่อถึงเดือนมีนาคมหรือเมษายน

เรียกได้ว่าเป็นภัยที่มาทุกปี และมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงทุกปี จนเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับอเมริกา

แต่ในความปกติของฤดูกาลนี้ ก็ยังมีความไม่ปกติซ่อนอยู่

เมื่อกางไทม์ไลน์ดูตั้งแต่จุดเริ่มต้น ปกติแล้วฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ที่ว่านี้ จะเริ่มเปิดตัวประมาณเดือนตุลาคม แต่ในปีที่แล้ว (2019) กลับพบผู้ติดเชื้อรายแรกๆ ในรัฐลุยเซียนาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่มีผู้ป่วยกว่า 1,200 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมืองนิวออร์ลีนส์ และผู้ป่วยจำนวนนั้นก็ถูกพบว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ทั้งๆ ที่ตามรูปแบบการระบาดของทุกปี ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะเป็นฝ่ายเปิดตัวก่อนเพื่อเล่นงานผู้คนในเดือนแรกๆ แล้วสายพันธุ์ B จึงจะตามมารับไม้ต่อ สานต่อการแพร่ระบาดไปจนจบฤดูกาล

นอกจากการเปิดตัวเร็วกว่าปกติจะทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เพราะยังไม่ค่อยมีใครฉีดวัคซีนป้องกันก่อนถึงฤดูกาลแล้ว ช่วงวัยของประชากรที่ติดเชื้อจนเสียชีวิตในช่วงแรกยังกลับกลายเป็นเด็กตัวน้อยๆ ต่างจากปีก่อนๆ ที่ไวรัสจะส่งผลกระทบกับผู้สูงอายุมากกว่า เพราะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B จะเป็นอันตรายกับเด็กและวัยหนุ่มสาว เนื่องจากทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ที่อเมริกาเข้าสู่การระบาดระลอกที่สอง เชื้อสายพันธุ์ A ที่ปกติจะมีความรุนแรงและทำให้มีผู้เสียชีวิตมาก กลับปรากฏตัวในรูปแบบที่เบากว่าฤดูกาลที่ผ่านๆ มา และจากรายงานของสำนักข่าว Bloomberg พบว่าวัคซีนตัวล่าสุดสามารถป้องกันเชื้อชนิดนี้ได้เต็มประสิทธิภาพ คือ 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ซึ่งหมายถึง 3 ใน 5 ของคนที่ฉีดวัคซีนจะไม่ติดเชื้อนี้

โชคไม่ดีนักที่จำนวนผู้ฉีดวัคซีนในอเมริกายังมีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่นในฤดูกาลที่แล้ว (ปี 2018-2019) มีประชากรวัยผู้ใหญ่เพียง 45 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เข้ารับการฉีดวัคซีน สารหลักจากผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักที่ว่อนอยู่ตามสื่อตอนนี้จึงเป็นความพยายามในการออกมาบอกให้ชาวอเมริกันไปฉีดวัคซีนเสีย เพราะถึงแม้ว่าผู้คนในประเทศจะคุ้นเคยกับฤดูกาลไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างดี แต่ความคุ้นเคยนั้นก็ทำให้บางคนมองมันเป็นแค่เรื่องปกติได้เหมือนกัน

 

อ้างอิง

ย้อนอดีตโรคระบาด คนจนเป็นโรค คนรวยเขียนประวัติศาสตร์

ย้อนดูเส้นทางและนิยามของระบาดวิทยาผ่านประวัติศาสตร์ ที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ยุค
แต่ในมุมมองของนักมานุษยวิทยาการแพทย์ กลับตั้งข้อสังเกตว่า คนจนยังเป็นโรคเดิมๆ คนรวยเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์!?

 

 

สภาเภสัชฯ เตือนคนไทยแห่ซื้อยาต้าน ‘ไวรัสโคโรนา’ เสี่ยงเชื้อดื้อยา

ความหวังของคนไทยเรืองรองขึ้นมาทันที หลังจากที่โรงพยาบาลราชวิถีเปิดเผยผลการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มีอาการทรุดหนักจนกระทั่งมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลจากการปรับใช้ยาต้านไวรัส HIV ร่วมกับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ในการรักษาผู้ป่วยรายนี้

ที่สำคัญยาทั้งหมดเป็นยาที่ผลิตได้ในประเทศไทยโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในราคาที่ระบบประกันสุขภาพสามารถรองรับได้

ท่ามกลางข่าวดี ยังมีสิ่งที่ต้องพึงระวัง เพราะหากประชาชนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เกิดความเข้าใจไม่ถูกต้อง หรือพยายามดิ้นรนซื้อหายาชนิดนี้มารับประทานเอง อาจทำให้เกิดผลร้ายเกินกว่าที่คาด

บทเรียนจากสถานการณ์โรคระบาดเป็นสิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้สภาเภสัชกรรม ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการเข้าถึงยา และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จึงจัดแถลงข่าวกรณีที่ประเทศไทยสามารถรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาให้หายได้ โดยใช้ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir: LPV/r) และยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และชี้ให้เห็นสถานการณ์ในการเข้าถึงยาทั้งสองชนิดนี้ภายใต้ระบบทรัพย์สินทางปัญญา

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า เนื่องจากไวรัสโคโรนาเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มียารักษาโดยตรง ทำให้ทีมแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลราชวิถี พยายามหาแนวทางรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัสที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส HIV และยาโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยผลลัพธ์ในการรักษาครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม

“สิ่งที่สภาเภสัชกรรมกังวลก็คือ ความตื่นตระหนกหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชนที่พยายามหาซื้อยาทั้งสามตัวนี้มารับประทานเพื่อป้องกันไวรัส ซึ่งนั่นจะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ทั้งที่หลายหน่วยงานพยายามรณรงค์เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลมาโดยตลอด”

ข้อแนะนำของ รศ.ดร.ภญ.จิราพร มีอยู่ว่า หากประชาชนมีอาการไข้หรือเป็นหวัด วิธีที่ถูกต้องที่สุดคือควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิฉัยอย่างถูกต้อง แต่ไม่ควรทดลองใช้ยาด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะการหาซื้อยาทางเว็บไซต์หรือโซเดียลมีเดียต่างๆ ซึ่งอาจถูกหลอกลวงจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้

“ในยุคดิจิทัล อาจมีการลักลอบซื้อขายกันทางอินเทอร์เน็ต ถ้าใช้กันอย่างผิดๆ อาจมีผลต่อตับ ไต และทำให้เชื้อดื้อยาในที่สุด”

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวเสริมว่า ยากลุ่มต้านไวรัสทั้งหมดจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งจะต้องจำหน่ายผ่านสถานบริการทางสาธารณสุข คือโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะเท่านั้น กฎหมายไม่อนุญาตให้มีการซื้อขายตามร้านขายยาทั่วไปได้

“ระบบควบคุมการจำหน่ายและการควบคุมราคา เป็นสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรต้องรีบเข้ามาดูแล อย่างที่เราเห็นชัดๆ จากกรณีขาดแคลนหน้ากากอนามัย”

 

‘สิทธิบัตร’ อุปสรรคการเข้าถึงยา

ทุกครั้งที่มีโรคระบาดใดๆ เกิดขึ้น ยาคือหัวใจสำคัญที่จะช่วยยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ แต่ปัญหาในปัจจุบันคือระบบสิทธิบัตรที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงยาของผู้ป่วย

จริงอยู่ว่าสิทธิบัตรคือกติกาสากลที่ทุกคนต้องเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้คิดค้น แต่การวิจัยหรือคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใดๆ ก็ตาม ต้องไม่ค้ากำไรเกินควร และต้องตั้งอยู่บนความยุติธรรมทั้งแก่ผู้ใช้ยาและผู้ประดิษฐ์คิดค้น

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลสิทธิบัตรของยาทั้งสามชนิด คือ ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ และยาโอเซลทามิเวียร์ พบว่า มีผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรอยู่หลายรายการ แต่เนื่องจากประเทศไทยได้ประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิในการนำเข้ายาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ตั้งแต่ปี 2550 ในยุคของ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ทำให้ประเทศไทยสามารถนำเข้าและผลิตยาใช้เองได้

“การประกาศบังคับใช้สิทธิบัตรเพื่อผลิตหรือนำเข้ายาโดยรัฐ (Compulsory Licensing: CL) หรือที่เรียกว่า ‘สิทธิเหนือสิทธิบัตร’ ทำให้เรามียาตัวนี้ใช้ และองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตเองได้ ส่งผลให้ราคายาลดลงเป็นอย่างมาก และสามารถดูแลประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทั้งสามกองทุน”

เดิมทียาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ มีราคาอยู่ที่เม็ดละ 74.23 บาท ภายหลังประกาศมาตรการซีแอลและองค์การเภสัชกรรมผลิตเอง ทำให้มีราคาลดลงเหลือเพียงเม็ดละ 13.21 บาท ส่วนยาโอเซลทามิเวียร์ องค์การ UNICEF จัดซื้อได้ในราคาเม็ดละ 44.46 บาท แต่ไทยผลิตได้ในราคาเม็ดละ 25 บาท

 

ห่วงร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร เปิดช่องผูกขาดยา

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังการจดสิทธิบัตรยาที่ไม่เป็นธรรม พบว่ามีคำขอสิทธิบัตรที่ไม่ควรได้รับการคุ้มครองเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.สิทธิบัตร มีช่องโหว่หลายประการ ทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหาการผูกขาดให้หมดไป

“สิทธิบัตรฉบับหนึ่งอาจผูกขาดได้นานถึง 20 ปี และยาตัวหนึ่งอาจไม่ได้มีสิทธิบัตรแค่ฉบับเดียว กรณียาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ก็ยังมีคำขอสิทธิบัตรหลายฉบับค้างอยู่ในระบบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ถ้ารัฐบาลไทยไม่ได้ประกาศมาตรการซีแอลในครั้งนั้นจะทำให้เกิดปัญหามาก และผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาอาจไม่มีโอกาสได้ใช้ยาตัวนี้”

เฉลิมศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร และเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์เพียง 15-30 วัน แต่น่าเสียดายที่ข้อเสนอของภาคประชาชนและนักวิชาการต่างๆ ไม่ได้ถูกนำไปพิจารณา โดยเฉพาะเงื่อนไขในการประกาศมาตรการซีแอลของรัฐจะทำได้ยากขึ้น

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา กล่าวเสริมว่า ปัญหายาราคาแพงคือปัญหาใหญ่ของระบบยาในประเทศไทย แม้ว่า พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 จะประกาศให้ยาเป็นสินค้าควบคุมราคา แต่กลับไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการควบคุมราคายา ทำให้ยาจากบริษัทต่างชาติที่ผูกขาดสิทธิบัตรสามารถคิดราคาได้ตามใจชอบ

ทางด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า ยาหนึ่งตัวนั้นไม่ได้มีสิทธิบัตรเพียงใบเดียว โดยกลยุทธ์ของบริษัทยาขนาดใหญ่จะใช้วิธีการพยายามยืดอายุสิทธิบัตรเพื่อให้ผูกขาดได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น ระบบสิทธิบัตรที่ดีจะต้องไม่คุ้มครองสิทธิผู้จดสิทธิบัตรจนเกินเลยหรือละเมิดสิทธิของประชาชน

กรรณิการ์ระบุด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลพยายามเร่งรัดเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ FTA ไทย-สหภาพยุโรป และการเข้าร่วมภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งเนื้อหาในข้อตกลงทั้งสองฉบับจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดในการประกาศใช้มาตรการซีแอล การขยายอายุสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลทางยา และการบังคับใช้กฎหมายที่เกินเลย

“เราเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถผลิตและส่งออกยาได้ เราอาจไม่ได้ใหญ่โตเท่าอินเดีย แต่อุตสาหกรรมนี้ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญในการเข้าถึงยาจากกรณีไวรัสโคโรนา รัฐก็ควรคำนึงถึงเรื่องการแก้ไขกฎหมาย การควบคุมราคายา และการควบคุมคุณภาพการออกสิทธิบัตร รวมถึงการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ประเทศไทยอาจตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ”

‘คนเลือดบวก’ มีเพศสัมพันธ์แบบสดได้จริงหรือ?

จากกระแสสังคมที่แรงเกินต้าน กรณี #พีทเลือดบวก ประกาศเตรียมเปิดคอร์สสอนวิธีการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่สวมถุงยางอนามัยอย่างไร โดยไม่ให้ติดเชื้อ HIV กลายเป็นประเด็นร้อนและสร้างความฮือฮาทันที หลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว รวมถึงพยาบาลหญิงรายหนึ่งที่ออกมาโต้แย้งถึงคำเคลมที่ #พีทเลือดบวก ใช้การันตีนั้นเป็นเรื่องที่ขัดกับชุดความรู้ในตำราเรียนอย่างรุนแรง

อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ไขข้อสงสัยในสิ่งที่ทุกคนอยากรู้ว่า “จริงๆ แล้วคนมีเลือดบวกสามารถมีเพศสัมพันธ์แบบสดได้จริงหรือไม่?”

 

Q: ผู้ติดเชื้อ HIV ควรมีพฤติกรรมทางเพศแบบไหน

A: ขออธิบายก่อนว่าการมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัยคือหน้าที่ของทุกคน ไม่ว่าคุณจะมีหรือไม่มีเชื้อ HIV ทุกคน ‘ควร’ จะต้องป้องกันตัวเอง เพื่อให้ไม่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงในการรับเชื้อที่มาพร้อมเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นโรคหนองใน (gonorrhea) ติดเชื้อ HPV โรคหูดหงอนไก่ (condyloma acuminata) โรคเริมที่อวัยวะเพศ (genital herpes) โรคซิฟิลิส (syphilis) ฯลฯ รวมถึงการท้องไม่พร้อมอีกด้วย

เมื่อแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มคนที่ไม่ติดเชื้อ HIV 2. กลุ่มคนที่มีเชื้อ HIV

หากคนกลุ่มแรกได้รับเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ตัวเองโดยไม่ได้ป้องกัน คำถามคือ พวกเขาเหล่านี้เห็นความเสี่ยงของตัวเองไหม ถ้าเขาเห็นความเสี่ยงของตัวเอง เขาจะลดความเสี่ยงตรงนี้ได้อย่างไร และจะทำได้โดยวิธีไหน เพื่อให้เขารู้จักประเมินความเสี่ยงของตัวเองและไม่กลายเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่

ส่วนคนกลุ่มถัดไป ปัจจุบันประเทศไทยเราพบผู้ที่ติดเชื้อ HIV อยู่ในระบบเกือบ 400,000 คน ที่ได้รับยาต้านอย่างต่อเนื่อง คำถามสำคัญคือ หากคนในกลุ่มนี้มีเพศสัมพันธ์เขาควรต้องป้องกันไหม คำตอบคือทุกคนต้องป้องกันครับ ถึงแม้คนในกลุ่มนี้จะมีภาวะ viral load หรือปริมาณไวรัสในเลือดต่ำ แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่ติดเชื้อ แถมการไม่ป้องกันก็เสี่ยงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส หูดหงอนไก่

ดังนั้นสรุปได้ว่า ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ก็ต้องมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัยเหมือนกัน

Q: กรณีพีทเลือดบวกออกมาแอคชั่นแบบนี้ พอจะอธิบายเจตนารมณ์ของเขาได้ไหม

A: น้องเขาอาจจะเป็นคนที่ศึกษาข้อมูลเยอะ แต่จุดอ่อนคือการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เขาพูดในส่วนที่เขาเชื่อ และเอาแค่ตอกย้ำในประเด็น self-stigma หรือตราบาปจากตนเอง จากการดูพฤติกรรมของเขา เราคิดว่าเขาอาจจะคิดว่า ‘เรื่องเอดส์เป็นเรื่องของผู้ติดเชื้อเท่านั้น คนที่ไม่ติดเชื้อไม่มีวันเข้าใจหรอก’ แต่ผมในฐานะผู้ติดเชื้อและอยู่กับมันมา 20 ปี มีบางอย่างที่เราก็แอบห่วง เพราะคนที่เขาคิดต่างหรือยังไม่เข้าใจ สังคมเราควรมีพื้นที่ในการถกเถียง พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ไม่ใช่ใครคิดต่างกับตัวเองแล้วไปตำหนิ ตัดสิน ด่าทอกันด้วยความรุนแรงจนเกิดเป็นวิวาทะ ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะไม่มีใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้เลย

Q: เรื่องนี้จะมีผลต่อการรณรงค์ให้ความรู้ด้านสาธารณสุขอย่างไรบ้าง 

A: เราเชื่อว่าหน้าที่ของหน่วยงาน หน้าที่ของภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเอดส์และเพศ กระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ รวมถึงคนทำงานด้านนี้ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือการทำงานให้ข้อมูล สื่อสารข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน แล้วสื่อสารออกมาให้คนที่รับสารคิดและตัดสินใจด้วยตัวเองว่า เรื่องไหนเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ เรื่องไหนเป็น ‘ทัศนคติ’

 

ระวัง! ไวรัสโคโรนา 2019 โรคติดต่อไร้พรมแดน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019’ เริ่มเข้าสู่ภาวะที่ไม่ปกติ โดยทางการจีนเปิดเผยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 25 ราย ผู้ติดเชื้อ 830 ราย ส่วนประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อชาวจีนเพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็น 5 ราย

ไวรัสโคโรนา เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ มีระยะฟักตัว 2-14 วัน จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความใกล้เคียงกับโรคซาร์ส (SARS) หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน คนสู่คน และมีโอกาสกลายพันธุ์ได้

ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) อยู่ระหว่างติดตามข้อมูลการระบาด ความรุนแรง และการแพร่เชื้อ หากสถานการณ์ขยายวงเกินกว่าจะควบคุมได้ อาจมีการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังระดับเข้มข้น

อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐด้วยความโปร่งใส คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจสถานการณ์ เพื่อเตรียมตัวป้องกันและเฝ้าระวังตนเองได้อย่างถูกต้อง

 

รำลึก 12 ปี หมอสงวน ฟังเสียงที่หล่นหายของคนไร้หลักประกันสุขภาพ

ชื่อของ หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ถูกจดจำในฐานะผู้ปลุกปั้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกกันว่า ‘บัตรทอง’ ที่ช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย

งาน ‘รำลึก 12 ปี หมอสงวน’ จัดโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัด (กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา จัดขึ้นเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของหมอสงวน อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจากไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 ด้วยโรคมะเร็งปอด ขณะมีอายุ 55 ปี โดยในช่วงวาระสุดท้ายของหมอสงวนได้ค้นพบข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า หนทางการเยียวยารักษาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากเพื่อนผู้ป่วยด้วยกันเอง จนภายหลังเกิดเป็นเครือข่ายจิตอาสามิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย

กระนั้นการเกิดขึ้นของเครือข่ายผู้ป่วยยังคงเป็นเพียงคนทำงานกลุ่มเล็กๆ ที่พยายามรวมตัวเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยอีกหลายกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้อย่างเต็มระบบ

เวทีเสวนาเรื่อง ‘การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ที่จัดขึ้นในภาคบ่าย โดย ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ตั้งคำถามก่อนเปิดวงพูดคุยว่า การสาธารณสุขของไทยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจริงหรือไม่ และยังมีคนกลุ่มใดอีกบ้างที่ตกหล่นไปจากระบบประกันสุขภาพ

คำถามนี้ถูกโยนไปที่ผู้ร่วมเสวนา ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ (ทวารเทียม) ผู้ป่วยโรคหายาก และกลุ่มคนไทยไร้สิทธิ คนชายขอบ คนไร้บ้าน รวมถึงกลุ่มคนพิการ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล กลุ่มคนเหล่านี้พยายามส่งเสียงสะท้อนไปยังผู้กำหนดนโยบายด้านสาธารณสุข ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถได้รับสิทธินั้นบ้าง

สิทธิในถุงทวารเทียม

สมบัติ หทัยเปี่ยมสุข ประธานเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เล่าว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีตั้งแต่เด็กแรกเกิดที่ไม่มีทวาร ไปจนถึงผู้สูงอายุที่เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งลำไส้ โดยหลังจากเข้ารับการผ่าตัดลำไส้หรือทวารแล้ว ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ ‘ถุงทวารเทียม’ เพื่อการขับถ่ายทางหน้าท้อง และต้องได้รับการดูแลเรื่องความสะอาดเป็นอย่างมากเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ

ทุกข์ของผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ ถึงแม้จะมีสิทธิบัตรทอง แต่ยังมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายถุงปัสสาวะหรือถุงทวารเทียม ทำให้คุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ยังไม่ดีเท่าที่ควร และมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต

“ถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กมักจะไม่มีอุปกรณ์ทวารเทียมเก็บสำรองไว้ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ประจำจังหวัด ประจำอำเภอ แต่ก็มีปัญหาเรื่องการส่งต่ออุปกรณ์ ปัญหาคือทำอย่างไรคนไข้จึงจะเข้าถึงสิทธินี้ได้ และอยากให้ สปสช. รับทราบว่ามีปัญหานี้อยู่”

สมบัติบอกอีกว่า การรวมตัวของเครือข่ายผู้ป่วยในกลุ่มนี้ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ จึงต้องอาศัยจิตอาสามาช่วยกันทำงาน ปัจจุบันเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มีสมาชิกราว 400 คน แต่จำนวนผู้ปฏิบัติงานยังถือว่าไม่มากพอต่อจำนวนผู้ป่วย

“ยังไม่มีการสำรวจข้อมูลที่ชัดเจนว่า คนไข้ทั่วประเทศที่ต้องพึ่งพาทวารเทียมมีจำนวนเท่าไร แต่นับเฉพาะผู้ป่วยบัตรทองคาดว่ามีอยู่ประมาณสี่หมื่นกว่าราย”

 

ความเหลื่อมล้ำของผู้ป่วยโรคหายาก

ปวีริสา อัศวสุนทรเนตร ตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยโรคหายาก กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายเนื่องจากบุตรของเธอป่วยเป็น ‘โรคหายาก’ ซึ่งไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคและแนวทางการรักษาที่ชัดเจนได้ ทำให้เธอหาหนทางช่วยเหลือตนเองด้วยการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสียงให้สังคมได้รับรู้

“จำนวนผู้ป่วยโรคหายากมีไม่มากนัก จึงยากที่จะสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจวินิจฉัย และต้องอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ราคาแพง อีกทั้งไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง ยาบางชนิดก็อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้มีความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยต้องรักษาไปตามอาการ บางโรคก็มีความซับซ้อน หรืออาจทำให้วินิจฉัยผิดก็มี”

ปวีริสาเล่าว่า หลังจากกลุ่มผู้ป่วยโรคหายากเริ่มรวมตัวกันเมื่อปี 2539 ทำให้มีโอกาสแนะนำตัวให้สังคมได้รู้จักมากขึ้น เพื่อรณรงค์ให้สังคมเข้าใจถึงความทุกข์ยากของผู้ป่วยกลุ่มนี้

“พอจัดตั้งเป็นมูลนิธิแล้ว คนก็เริ่มรู้จักเรามากขึ้น ทำให้ปัจจุบันผู้ป่วยโรคหายากได้รับสิทธิการรักษาแล้ว 24 โรค จากทั้งหมดกว่า 300 โรค และมีศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคหายากทั้งสิ้น 7 ศูนย์ แต่ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ ภาคเหนือกับภาคใต้ยังไม่มี ดังนั้นเราต้องขับเคลื่อนต่อไปเพื่อให้โรคอื่นๆ เข้าถึงสิทธิบ้าง และเพื่อไม่ให้ใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง”

เธอกล่าวต่อไปว่า โรคหายากเป็นโรคที่มีความซับซ้อน และบางรายเกิดจากพันธุกรรม โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่สามารถสื่อสารได้ ทำให้แพทย์ยากที่จะวินิจฉัยโรคได้แน่ชัด นอกจากนี้ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านยา ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกด้วย เพราะเด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบเหมือนเด็กปกติได้ เนื่องจากไม่มีนโยบายจากภาครัฐมาสนับสนุน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสละเวลาตนเองมาดูแลลูก ทำให้ประสบปัญหาขาดรายได้

“อยากให้ สปสช. จัดทำทะเบียนผู้ป่วยโรคหายาก เพื่อจะได้ทราบฐานข้อมูลผู้ป่วยที่ชัดเจน และสามารถเข้าไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้ต่อไป”

 

คนไทยไร้สิทธิ เพราะไม่มีเลข 13 หลัก

วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งติดตามปัญหาของกลุ่ม ‘คนไทยไร้สิทธิ’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชายขอบ คนไร้บ้าน กล่าวว่า ประเทศไทยกำหนดให้ประชาชนที่มีเลขประจำตัว 13 หลักเท่านั้นจึงจะเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพได้ แต่ในข้อเท็จจริงยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องนอนตายข้างถนน เพราะไม่มีเลข 13 หลัก

“กลุ่มคนชายขอบ คนไร้บ้าน ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล เพราะไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่สามารถเข้ารักษาในระบบ ต้องมีเงินเท่านั้นจึงจะได้รับการรักษา”

วรรณากล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้พยายามสื่อสารประเด็นนี้ให้คนทั่วไปได้รับรู้ โดยเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาลให้หามาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านให้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ สปสช. ไปหาแนวทางแก้ไข และต่อมามีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ

“จากการสำรวจเราพบว่ามีคน 13 ล้านคน ถูกแขวนรายชื่อไว้ในทะเบียนกลาง มีทั้งผู้ต้องขัง ทั้งพระภิกษุสงฆ์ และพี่น้องในชุมชนแออัดต่างๆ ซึ่งมีสถานะที่ยากลำบากกว่าแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแรงงานแล้ว แม้กระทั่งไปทำงานก็ได้ค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

“การทำให้คนหนึ่งคนมีบัตรประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย และ สปสช. ก็ไม่ได้มีหน้าที่ให้บัตรประชาชน การให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไทยไร้สิทธิหรือคนที่มีปัญหาทางทะเบียนราษฎร จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ต้องมีทีมสนับสนุน ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย และเครือข่ายภาคประชาชนอีกหลายองค์กร เพื่อรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน”

วรรณากล่าวอีกว่า สิ่งที่เครือข่ายพยายามผลักดันคือ อยากให้มีการแก้ไขระเบียบของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น คนไทยไร้สถานะ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลในระบบบัตรทอง

“อยากให้ สปสช. สนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ อย่าเพิ่งถอดใจกับกลุ่มคนไทยไร้สิทธิ เป้าหมายของเราคือ คนไทยทุกคนต้องสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยผ่านกองทุนคนไทยไร้สิทธิ และต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

 

พลังคนพิการ

ธีรยุทธ สุคนธวิท ประธานเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ กล่าวว่า เครือข่ายคนพิการรักสุขภาพเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยปฏิรูประบบสุขภาพ ช่วงปี 2547 โดยมีส่วนร่วมในการผลักดัน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้เครือข่ายค่อนข้างมีความเข้มแข็ง

“ปัญหาสุขภาพเป็นต้นทุนสำคัญของชีวิตที่เชื่อมโยงไปสู่เรื่องอื่นๆ โดยในยุคที่ สปสช. รุ่งเรือง เครือข่ายคนพิการก็เฟื่องฟูไปด้วย แต่เมื่อถึงยุคที่รัฐบาลสีเขียวเข้ามาตรวจสอบการใช้งบประมาณ ทำให้เครือข่ายคนพิการไม่ได้รับการส่งเสริม และไม่สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น”

เขาสะท้อนด้วยว่า ปัญหาสำคัญของคนพิการคือ การขาดความตระหนักรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเอง เพราะขาดการเข้าถึงข้อมูล ขาดความรู้เรื่องสิทธิ ดังนั้นต้องมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้มากขึ้น เพื่อให้เสียงเรียกร้องของคนพิการมีพลังมากขึ้น และสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการให้เกิดขึ้นจริง

ที่ผ่านมาเครือข่ายคนพิการได้พยายามขับเคลื่อนในหลายประเด็น โดยในปี 2560-2561 สามารถผลักดันให้ ‘ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป’ ได้รับการรับรองให้เป็นหน่วยร่วมบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ของ สปสช. ได้

“ข้อเรียกร้องของเรามีทั้งสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง และความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่เครือข่ายคนพิการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยพลังจากเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือกัน โดยข้อเสนอต่อไปของเราคือ ขอให้มีบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ 26 รายการ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติมากขึ้น” ประธานเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ กล่าว

 

กลุ่ม FTA Watch แถลงการณ์จับตารัฐธรรมนูญเปิดช่องการค้าเสรี ไทยเสียเปรียบทุกกรณี

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 กลุ่ม FTA Watch อ่านแถลงการณ์ ‘จับตาเอฟทีเอ: ยุคสมัยที่มาตรา 190 หายไปจากรัฐธรรมนูญ’ โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีช่องโหว่ที่เอื้อให้รัฐบาลมีอำนาจทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศได้ โดยขาดการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ และตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศไทยเสียเปรียบในทุกกรณี อาทิ ผลกระทบต่อภาคการเกษตรที่ถูกต่างชาติผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และในด้านการสาธารณสุข ไทยต้องเสียงบประมาณการจัดซื้อยาแพงขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงยา

พร้อมกันนี้กลุ่ม FTA Watch ยังได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อให้การกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและกระบวนการประชาธิปไตย เนื้อหาในแถลงการณ์มีดังนี้…


ขณะนี้ทางรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเตรียมการเพื่อรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (FTA ไทย-อียู) และขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งทั้งสองความตกลงนี้จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ การเปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศให้มากกว่าที่เป็นอยู่ กระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเข้าถึงยาของประชาชน กระทบต่อการกำหนดนโยบายด้านการสาธารณสุข สังคม สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองผู้บริโภค และยังกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย หากต้องเปิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญของไทยให้กับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยและเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเจรจาขณะนี้ กลับมีความชัดเจนแค่ตัวเลขการส่งออกและรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นยังไม่มีการพิจารณาลงรายละเอียดมากเพียงพอที่จะเปรียบเทียบผลได้และผลเสียอย่างชัดเจน

จากงานศึกษาวิจัยที่สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสมัชชาสุภาพแห่งชาติ ด้านผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและระบบหลักประกันสุขภาพ ประเทศไทยจะต้องสูญเสียงบประมาณซื้อยาในราคาแพงขึ้น 27,833 ล้านบาท ถ้ายอมรับเงื่อนไขขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรอีก 5 ปี และประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาแพงขึ้น 81,356 ล้านบาท ถ้ายอมตกลงในเรื่องการผูกขาดข้อมูลยานาน 5 ปี ตามที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเคยเรียกร้องในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีฉบับต่างๆ ที่หยุดชะงักไป

ด้านการเกษตร เกษตรกรจะต้องมีต้นทุนการผลิตในเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่แพงขึ้น 84,000 ล้านบาท ถึง 143,000 ล้านบาท ถ้าไทยยอมรับข้อผูกมัดที่ต้องเข้าร่วมหรือนำมาตรการในสนธิสัญญายูปอฟ (UPOV) 1991 มาบังคับใช้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์ไปเพาะปลูกต่อได้

ทั้งนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งติดตามการเจรจาการค้าเสรีและการแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า เป็นเพราะเนื้อหารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในส่วนของการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้น ล้าหลังที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยดึงอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดไปอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ตัดการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ ตัดเนื้อหาเชิงกระบวนการประชาธิปไตย นั่นคือตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้นยังเปลี่ยนการเยียวยาที่รวดเร็ว เหมาะสม เป็นธรรม เป็นแค่การเยียวยาเท่าที่จำเป็น โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้น

นอกจากนี้ เดิมจะต้องมีงานวิจัยรองรับการเจรจา แต่เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนการเจรจา และไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่รัฐสภาด้วยการนำเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา งานวิจัยที่มีคุณภาพอาจไม่ได้ถูกสนับสนุนให้ทำและนำไปใช้เพื่อพิจารณาทำความตกลงอย่างเต็มที่

“หากก่อนหน้านี้ใครบอกว่า รัฐบาลทักษิณเจรจา FTA แบบไม่สนใจใคร จนผลได้กระจุกในกลุ่มทุนใกล้ชิดรัฐบาล แต่ผลเสียกระจายไปทั่ว ดังที่เห็นจากผลกระทบจากสินค้าเกษตรนำเข้าต่างๆ ที่ขณะนี้เกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับภาวะความยากลำบากอย่างยิ่ง หรือ ผลกระทบจากการรับขยะสารพิษ พลาสติก และขยะต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย นับตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่น (JTEPA) เป็นต้นมา สิ่งเหล่านี้จะหวนกลับมาอีกครั้งในการเจรจา FTA ฉบับใหญ่ๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

กลุ่ม FTA Watch ขอเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนและช่วยผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และในส่วนของการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้น กระบวนการธรรมาภิบาลซึ่งประกอบด้วยการศึกษาผลกระทบของการจัดทำความตกลง การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้ลดประสิทธิภาพการเจรจา และการตรวจสอบการเจรจาของฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องกลับมาเป็นหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบนโยบายสาธารณะและสร้างธรรมาภิบาลในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แน่นอนว่า เราจะเผชิญความยากลำบากในการผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับภาคีต่างๆ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยง่าย เพื่อไม่ให้ผลได้กระจุกตัวแต่ในกลุ่มทุนชนชั้นนำ แล้วปล่อยให้สาธารณชนไทยแบกรับผลเสียอีกต่อไป

 

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

21 มกราคม 2563

 

สถานการณ์ผู้บริโภค 2562 ร้องเรียนปัญหาโฆษณาเกินจริงมากสุด

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยรายงาน ‘สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2562’ พบปัญหา 3 ด้านที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุด หนึ่งในนั้นคือการโฆษณาเกินจริง ทั้งในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2562 โดยในปีที่ผ่านมาได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั้งหมด จำนวน 4,182 ราย มีการแบ่งปัญหาของผู้บริโภคออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข

 

3 อันดับเรื่องร้องเรียน

  1. อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยังคงเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,534 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.68

ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ การโฆษณาอันเป็นเท็จ หลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อได้ เช่น ใช้แล้วผิวขาวกระจ่างใสภายใน 5 นาที หรือภายใน 3-7 วัน ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่มีฉลาก หรือไม่มีฉลากภาษาไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ หรือยารักษาโรคที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ 108 โรค

บุคคลที่มักตกเป็นเหยื่อ ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุและชาวบ้านในชุมชน เนื่องจากโฆษณาดังกล่าวมักโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ขณะเดียวกันวิธีการโฆษณาขายยาหรืออาหารเสริมผ่านรถเร่ขายของในชุมชนก็เป็นปัญหาหนึ่งที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ฉลากได้ถูกสั่งยกเลิกไปแล้ว แต่ยังพบว่ามีขายในรถเร่นั้นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องเรียนและศูนย์ร้องเรียนที่เฝ้าระวัง ได้แจ้งเรื่องถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งใช้ระยะเวลายาวนาน อีกทั้งผลิตภัณฑ์บางชนิดที่พบปัญหาก็ไม่ได้ถูกนำออกจากตลาดร้านค้าแต่อย่างใด

 

  1. บริการสาธารณะ

ปัญหาด้านบริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 820 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 19.61 ปัญหาที่พบมากสุดคือ รถรับส่งนักเรียน โดยพบว่าเจ้าของรถรับส่งนักเรียนใช้รถผิดประเภท เช่น ใช้รถสองแถวที่ไม่มีป้ายระบุว่าเป็นรถรับส่งนักเรียน รถไม่ได้มาตรฐาน หรือเบาะนั่งไม่ได้มาตรฐาน รองลงมาเป็นกลุ่มรถสาธารณะ อาทิ รถตู้โดยสาร หรือรถทัวร์โดยสาร พบว่า พนักงานขับรถมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่ พูดจาไม่สุภาพ ใช้โทรศัพท์โดยไม่ใช้หูฟังสมอลทอล์ค หรือขับรถเร็ว

นอกจากปัญหาเรื่องรถโดยสารสาธารณะ ยังพบปัญหาเรื่องสายการบินล่าช้าอยู่บ่อยครั้งจนทำให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมายังมีประเด็นเรื่องการขึ้นราคาค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมือง-โทลล์เวย์)’ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมาก โดย มพบ. ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาจะถึงที่สุดให้หยุดขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าว เนื่องจากไม่เป็นธรรมกับประชาชนผู้บริโภค รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างประเด็นการต่ออายุสัญญาสัมปทานให้ BEM ไปอีก 15 ปี 8 เดือน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

 

  1. บริการสุขภาพและสาธารณสุข

อันดับสุดท้ายคือ หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข มีผู้ร้องเรียน 703 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.81 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้คำปรึกษาด้านสิทธิการรักษาพยาบาล การย้ายสิทธิ หรือการสอบถามสิทธิประโยชน์ ซึ่งผู้บริโภคในต่างจังหวัดมักจะมีการขอคำปรึกษามากสุด เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่อาจไม่สามารถรับข่าวสารได้เพียงพอ หรือเทคโนโลยีเข้าไม่ถึงเท่าที่ควร จึงอาจทำให้การรับข่าวสารจากหน่วยงานได้ไม่ครบหรือไม่ได้รับเลย ดังนั้น การลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องสิทธิกับผู้บริโภคในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

จากปัญหาที่กล่าวมานี้ เครือข่ายผู้บริโภคในภาคต่างๆ ได้ลงพื้นที่ จัดเวทีให้ความรู้ อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพิทักษ์สิทธิอันพึงมีพึงได้เพื่อให้ความรู้กับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ข้อมูลเบื้องต้นและแนะนำการติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ เช่น สายด่วน สปสช. หมายเลข 1330 และประกันสังคม หมายเลข 1506 เพื่อให้ผู้บริโภคทราบสิทธิและสามารถดำเนินการด้วยตนเอง หรือเตรียมเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่ได้ถูกต้อง

อุบัติเหตุเทศกาลปีใหม่ บอกอะไรเราบ้าง?

สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ดูเหมือนว่าจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจะลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรณรงค์และมาตรการกวดขันของหลายหน่วยงาน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขภาพรวมของอุบัติเหตุทางถนนยังนับว่าค่อนข้างสูง โดยมีผู้เสียชีวิตมากถึง 300-400 คน สาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ใช่เฉพาะดื่มแล้วขับแต่เพียงเท่านั้น หากยังรวมถึงพฤติกรรมไม่เคารพกฎหมายของผู้ขับขี่ สภาพรถ และสภาพถนนที่ไม่มีความปลอดภัย ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างบูรณาการทั้งระบบ