Cyber Dangerous โลกออนไลน์ไม่ใช่สนามเด็กเล่น

ผลสำรวจ ‘สถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ประจำปี 2561’ จากกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2562 จัดทำโดยศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นสื่อลามกอนาจาร การพนันออนไลน์ เกมออนไลน์ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ต่างรับรู้ว่ามีภัยอันตรายแฝงอยู่ทั้งสิ้น แต่เด็กก็ยังเชื่อว่าจะสามารถรับมือกับปัญหานั้นได้ด้วยตนเอง

หนึ่งในผลสำรวจที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กยุคไซเบอร์ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่างในการใช้สื่อออนไลน์ที่อาจนำภัยอันตรายมาถึงตัวเด็กเองได้ ทั้งการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป การแชร์ภาพถ่ายตัวเองหรือครอบครัว การเช็คอินสถานที่ต่างๆ ไปจนถึงการนัดพบกับเพื่อนที่รู้จักในโลกออนไลน์ ซึ่งบางกรณียังนำไปสู่การถูกหลอกลวง ถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกล่อลวงทางเพศ

 

โลกไม่ลับกับภัยออนไลน์ที่เด็กต้องเจอ

โลกของข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ ไม่ว่าภาพ เสียง หรือตัวอักษร ล้วนมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งผลกระทบในแง่บวกจากการใช้พื้นที่สื่อออนไลน์ในเชิงสร้างสรรค์ และผลกระทบในแง่ลบที่เกิดขึ้นกับสังคม ครอบครัว พฤติกรรม และสุขภาพของเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์อย่างไม่เหมาะสม

ศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เผยผลสำรวจเรื่อง ‘สถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ประจำปี 2561’ โดยทำการสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2562 พบข้อมูลที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น และเกี่ยวข้องกับการกำหนดยุทธศาสตร์การปกป้องและคุ้มครองเด็กให้เท่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย นำเสนอรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลจากผลสำรวจครั้งนี้ เบื้องต้นพบว่า เด็กส่วนใหญ่ 88.7 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยว่าอินเทอร์เน็ตให้ประโยชน์มากกว่าโทษ ขณะเดียวกัน เด็ก 94.6 เปอร์เซ็นต์ ก็เชื่อว่ามีภัยอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบบนอินเทอร์เน็ต และเด็กประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 54.3 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าเมื่อเผชิญภัยหรือความเสี่ยงออนไลน์จะสามารถจัดการแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยตนเอง

เด็กไทยใช้เน็ตทำอะไร

เด็กส่วนใหญ่เข้าถึงผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแทบเล็ตมากที่สุด 83 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือคอมพิวเตอร์ที่บ้านและที่โรงเรียน โดยเด็กจำนวนกว่าครึ่งหรือ 54.7 เปอร์เซ็นต์ ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน เด็ก 15.9 เปอร์เซ็นต์ ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และเด็ก 32.2 เปอร์เซ็นต์ ใช้อินเทอร์เน็ต 3-5 ชั่วโมงต่อวัน

วัตถุประสงค์หลักๆ ในการใช้อินเทอร์เน็ต 3 อันดับแรกคือ

  1. เพื่อพักผ่อนและความบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม (66.8 เปอร์เซ็นต์)
  2. ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงหรือญาติมิตร (14.5 เปอร์เซ็นต์)
  3. เพื่อการเรียนหรือการทำงาน (11.7 เปอร์เซ็นต์)

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงเท่ากับชั่วโมงในการเล่นเกมออนไลน์ โดยผลสำรวจพบว่า เด็ก 29.3 เปอร์เซ็นต์ เล่นเกมออนไลน์มากกว่าวันละ 6-10 ชั่วโมง และอีก 37.5 เปอร์เซ็นต์ ที่เล่นมากกว่าวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่ามีความเสี่ยงที่เด็กจะ ‘ติดเกม’

Cyber Bullying

เมื่อถามว่า เด็กและเยาวชนเคยถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ (Cyber Bullying) หรือไม่ ปรากฏว่าเด็ก  31.1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 3 เคยถูกกลั่นแกล้ง โดยเฉพาะเด็กที่เป็นเพศทางเลือกเคยถูกกลั่นแกล้งมากถึง 48.5 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบว่ามีเด็กอีก 3 เปอร์เซ็นต์ ถูกกลั่นแกล้งรังแกทุกวันหรือเกือบทุกวัน

เมื่อถูกกลั่นแกล้งรังแกแล้ว เด็ก 40.4 เปอร์เซ็นต์ มักไม่ได้บอกเรื่องนี้กับใคร โดยสิ่งที่เด็กเลือกที่จะทำคือ

  • บล็อก (block) บุคคลที่กระทำการกลั่นแกล้ง (43.7 เปอร์เซ็นต์)
  • ลบข้อความหรือภาพที่ทำให้อับอาย กังวล รู้สึกไม่ดี (38.1 เปอร์เซ็นต์)
  • เปลี่ยนการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว/การติดต่อกับคนให้จำกัดวงเล็กลงให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น (31.2 เปอร์เซ็นต์)
  • รายงาน/แจ้งปัญหาโดยการคลิกปุ่มแจ้ง (report abuse) บนเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊คหรือติดต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (29.4 เปอร์เซ็นต์)
  • ไม่ได้ทำอะไรเลย (21.7 เปอร์เซ็นต์)
  • หยุดใช้อินเทอร์เน็ตชั่วคราว (12.6 เปอร์เซ็นต์)
  • แกล้งกลับ (1-2 เปอร์เซ็นต์)

สื่อลามกอนาจารและพฤติกรรมเสี่ยง

เมื่อถามว่า เด็กและเยาวชนเคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์หรือไม่ 73.8 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าเคยเห็น ทั้งโดยตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรือเป็นความบังเอิญ และเด็กในกลุ่มเพศทางเลือก 85.8 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าเคยเห็น รวมถึงเคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีเด็กจำนวน 5-6 เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่าเคยครอบครอง ส่งต่อ หรือแชร์สื่อลามกอนาจารให้กับเพื่อนหรือคนอื่นๆ ทางออนไลน์ และเด็ก 1.8 เปอร์เซ็นต์ เคยถ่ายภาพหรือวิดีโอตนเองในลักษณะลามกอนาจารแล้วส่งต่อให้คนอื่นๆ

ผลสำรวจประเด็นต่อมาที่น่าเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ได้แก่

  • 51.7 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเคยพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักผ่านสื่อออนไลน์
  • 33.6 เปอร์เซ็นต์ เคยให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด ภาพถ่ายของตัวเองหรือครอบครัวผ่านทางสื่อออนไลน์
  • 25.5 เปอร์เซ็นต์ เคยเปิดอ่านอีเมลที่ส่งมาจากคนที่ไม่รู้จักหรือคลิก link ที่ไม่รู้จัก
  • 35.3 เปอร์เซ็นต์ เคยถ่ายทอดสดหรือ live ผ่านสื่อออนไลน์
  • 69.4 เปอร์เซ็นต์ เคยแชร์ตำแหน่ง (location) หรือเช็คอิน (check in) สถานที่ต่างๆ ที่ไป

ผลสำรวจยังพบอีกว่า เด็ก 25.4 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าเคยนัดพบกับเพื่อนที่รู้จักทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง และเด็ก 6.4 เปอร์เซ็นต์ เคยนัดพบเพื่อนออนไลน์มากกว่า 10 ครั้ง โดยเด็ก 48.8 เปอร์เซ็นต์ บอกเรื่องนี้ให้เพื่อนทราบ เด็ก 37.7 เปอร์เซ็นต์ บอกพ่อแม่ผู้ปกครอง ขณะที่เด็กอีก 5.8 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้บอกใครเลย

เมื่อนัดพบกับเพื่อนออนไลน์แล้ว เด็กยอมรับว่าถูกกระทำอย่างน้อย 1 อย่าง ต่อไปนี้

  • 5.1 เปอร์เซ็นต์ ถูกพูดจาล้อเลียน ดูถูก ทำให้เสียใจ
  • 2.1 เปอร์เซ็นต์ ถูกหลอกให้เสียเงินหรือเสียทรัพย์
  • 1.9 เปอร์เซ็นต์ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • 1.7 เปอร์เซ็นต์ ถูกทุบตี ทำร้ายร่างกาย
  • 1.3 เปอร์เซ็นต์ ถูกถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอแล้วนำไปประจานหรือข่มขู่เรียกเงิน

ภาพรวมของการสำรวจในครั้งนี้เป็นการสำรวจทัศนคติของเด็กและเยาวชนต่อการใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน โดยมีข้อคำถามที่มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยและความเสี่ยงจากสื่อออนไลน์ ข้อสรุปที่ได้ทำให้พบว่า พฤติกรรมบางอย่างอาจนำภัยอันตรายมาถึงตัวเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกกลั่นแกล้งรังแก ถูกติดตามคุกคาม ถูกล่อลวงทางเพศ รวมถึงความเสี่ยงจากการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป ซึ่งผลที่ได้จากการสำรวจจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนต่อไป

มือปราบหมอฟันเถื่อน จัดฟันแฟชั่น สะท้อนค่านิยมวัยรุ่นไทย

จัดฟันงานแท้ งานหมอ  1,000 บาท
จัดฟันงานแฟชั่น 450 บาท

หากใครผ่านมาเห็นราคาโปรโมชั่นสุดช็อกขนาดนี้คงต้องมีหวั่นไหวกันบ้าง และอาจช็อกเข้าไปอีกเมื่อรู้ว่าสินค้าหรือบริการที่ว่านั้นเป็นบริการ ‘จัดฟัน’ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบริการทันตกรรมทางการแพทย์ที่มีไว้เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพ เพื่อการรักษา และควรเกิดขึ้นในคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานเท่านั้น แต่กลับมีโฆษณาและเปิดให้บริการโดยใครก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่หมอฟัน

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับแวดวงทันตกรรมในประเทศไทย ทำไมถึงมีการโฆษณาจัดฟันที่ดูไม่มีมาตรฐานอย่างโจ่งแจ้ง แถมยังดูเข้าถึงง่ายและราคาถูกเช่นนี้

ข้อมูลจากทันตแพทยสภา บอกว่าทุกวันนี้การจัดฟันแฟชั่นยังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เฉพาะในเดือนเมษายน-ธันวาคม 2560 หรือในระยะเวลาเพียง 9 เดือน พบว่ามีสมาชิกสั่งซื้อสินค้าเกี่ยวกับการจัดฟันแฟชั่นผ่านสังคมออนไลน์มากถึง 140,000-200,000 ราย มูลค่าการตลาดมากถึงหลักร้อยล้านบาทต่อปี

ที่น่าตกใจกว่านั้น จากการสำรวจความเห็นในกลุ่มวัยรุ่น เหตุผลที่พวกเขาอยากจัดฟันไม่ใช่เพราะปัญหาสุขภาพ แต่เลือกจัดฟันตามเพื่อน และเลือกใช้บริการในสถานที่ใกล้บ้านหรือใกล้สถานศึกษามากกว่าจะเดินเข้าคลินิกหมอฟัน หลังจากจัดฟันแล้วพวกเขายังรู้สึกมั่นใจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายคนเลือกรับบริการจัดฟันแฟชั่นตามท้องตลาด เพราะราคาถูก และสามารถปรับเปลี่ยนสีให้ทันสมัยได้ตามใจชอบ

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเพจเฟซบุ๊คชื่อดุดัน ‘มือปราบหมอฟันเถื่อน’ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเกาะติดประเด็นนี้โดยเฉพาะ ภารกิจหลักของเพจนี้คือการรับแจ้งเบาะแส ประสานงาน ส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และภารกิจที่สำคัญอีกอย่างที่ทำควบคู่กันคือ การส่งมอบความรู้ สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อช่วยเตือนภัยให้กับผู้บริโภคถึงประเด็นการจัดฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน

 

การทำงานของมือปราบหมอฟันเถื่อน

ทันตแพทย์ประพัฒน์ ศานติวงษ์การ หรือ ‘หมอหมี’ หนึ่งในทีมแอดมินเพจ เล่าให้ฟังว่า เพจนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพราะเห็นว่าเป็นช่องทางที่ช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย บางคนอาจไม่อยากเสียเวลาไปแจ้งเรื่องร้องเรียนยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง อาจเพราะปัญหาการเดินทางหรือการติดต่อหน่วยงานราชการไม่สะดวก หรือแม้กระทั่งบางครั้งเมื่อไปแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานไปแล้วไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร หรือถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หลายคนจึงหันมาขอความช่วยเหลือจากเพจมือปราบหมอฟันเถื่อนเพื่อเป็นผู้ประสานให้อีกทาง เพราะมีทีมทันตแพทย์เป็นแอดมินเอง

“สิ่งที่เพจมือปราบฯ ทำคือ เมื่อได้รับแจ้งแล้วจะตรวจสอบข้อมูล คัดกรองความถูกต้อง ก่อนจะส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง สคบ. จากนั้นจะร่วมกันส่งไม้ต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจวางแผนเข้าจับกุมต่อไป”

ระยะเวลาตั้งแต่เปิดเพจมา 2 ปี มีเรื่องแจ้งเข้ามาจำนวนไม่น้อย แต่หลายกรณีก็ยากที่จะดำเนินการจับกุมได้ เพราะต้องผ่านกระบวนการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานอีกหลายขั้นตอน ที่ผ่านมาการเข้าจับกุมผู้กระทำความผิดมีทั้งรายย่อยและรายใหญ่ เช่น เพจ ‘รุ่ง เชียร์ฟูลี่’ ที่มีผู้ติดตามถึงหลักแสนคน เป็นเพจขายอุปกรณ์จัดฟันเถื่อน ขายรีเทนเนอร์ ลวดจัดฟัน ถาดและอุปกรณ์พิมพ์ฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน

หมอหมียังยกตัวอย่างอีกเคสที่เคยลงไปจับกุมพร้อมกับ สคบ. ในตลาดย่านดาวคะนองและสายใต้ใหม่ให้ฟังว่า หลังได้รับเบาะแสจากพลเมืองดีซึ่งแจ้งว่าพบเห็นการขายอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่นและการให้บริการจัดฟันแฟชั่นที่ไม่ได้มาตรฐาน ตั้งอยู่กลางตลาดอย่างโจ่งแจ้ง จึงลงมือวางแผนเข้าจับกุม โดยร้านเหล่านี้มักตกแต่งสถานที่ให้บริการจัดฟันแฟชั่นที่ดูเหมือนมืออาชีพ มีทั้งโต๊ะ เตียง เหมือนคลินิกทำฟันทั่วไป บางแห่งถึงขั้นจัดตู้โชว์สินค้าให้ดูหรูหรา แต่ก็มีบางร้านแฝงอยู่ในรูปแบบของร้านทำเล็บ ร้านเสริมสวย แต่ด้านหลังลักลอบเปิดให้บริการจัดฟันเถื่อน

แล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่า คลินิกไหนแท้ คลินิกไหนเถื่อน หมอหมีให้สังเกตง่ายๆ ว่า

“ถ้าร้านเปิดให้บริการอยู่กลางตลาดนัด ให้คาดไว้ก่อนว่าผิดกฎหมาย เพราะไม่มีการควบคุมความสะอาดและความปลอดภัย ถึงแม้จะเป็นสถานที่ปิด แต่ถ้าไม่มีการควบคุมการติดเชื้อของอุปกรณ์ในกระบวนการจัดฟัน รวมถึงไม่มีการทำแล็บที่ได้รับมาตรฐาน นั่นก็อาจเข้าข่ายคลินิกทำฟันเถื่อนได้”

เจาะขบวนการจัดฟันเถื่อน

จากประสบการณ์ที่เคยลงพื้นที่จับกุมผู้กระทำผิด หมอหมีเล่าว่า กลุ่มหมอเถื่อนจะใช้วิธีจัดฟันลูกค้าที่ผิดไปจากคลินิกทำฟันทั่วไป อาจจะให้ลูกค้าบ้วนปากด้วยน้ำนิดหน่อย ไม่มีการฆ่าเชื้อ ไม่มีการตรวจเช็คสุขภาพฟัน ไม่เช็คสภาพเหงือก ไม่เช็คอาการฟันผุ หรือกำจัดสิ่งสกปรกในช่องปากโดยละเอียด แค่ทำอย่างไรก็ได้ที่จะเชื่อมอุปกรณ์ (ลวดและแบร็กเก็ต) ให้ติดกับฟัน ในกรณีที่แย่ที่สุด คือการใช้กาวตาช้าง

“หมอเถื่อนเหล่านี้ล้วนขาดความรู้และการดีไซน์ ถ้าเป็นทันตแพทย์ตัวจริง เมื่อรักษาแต่ละเคสแล้วจะมีภาพในหัว จินตนาการรอยยิ้มของคนไข้ในอนาคตได้ รวมถึงทันตแพทย์จะรู้ว่าแต่ละขั้นตอนควรทำอะไรก่อน อะไรหลัง ควรจะรักษาฟันซี่ไหนไว้ หรือต้องถอนฟันซี่ไหนออก เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันที่เหมาะสม และรู้ว่าฟันจะเคลื่อนไปทิศทางไหน”

ฉะนั้น การจัดฟันกับทันตแพทย์จริงๆ แพทย์ผู้ให้บริการต้องใช้เวลาใส่ใจกับคนไข้ ซึ่งการจัดฟันแฟชั่นตามตลาดนัดไม่มีกระบวนการตรงนี้ หมอเถื่อนมีหน้าที่แค่ทำให้อุปกรณ์ยึดติดอยู่กับฟัน แค่ลูกค้ายิ้มแล้วเห็นลวดดัดฟันก็ถือว่าสำเร็จแล้ว

หมอหมียังเล่าถึงผลกระทบต่อสุขภาพฟันที่ตามมา เช่น การใช้ยางที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดอาการฟันเคลื่อนอย่างรุนแรง เพราะยางมีแรงรั้งสูงเมื่อไปเกี่ยวอุปกรณ์ที่ติดกับฟัน ยางจะพยายามคืนรูป นั่นหมายถึงยางจะดึงฟันให้เป็นแผงออกมาด้านหน้า ส่งผลให้มีอาการปวดฟันอย่างรุนแรง และบางรายอาจถึงขั้นเสียโฉมไปเลยก็ได้

“อันตรายจากการจัดฟันแฟชั่น มีตั้งแต่ขั้นทำความสะอาดฟันได้ยาก จนถึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดฟันผุและเหงือกอักเสบมากกว่าคนทั่วๆ ไป เพราะลวดจัดฟันแฟชั่นจะไปกดเหงือกทำให้เหงือกอักเสบ ปวดฟัน ติดเชื้อ ซี่ฟันเปลี่ยนตำแหน่งไปจากเดิม ไปจนถึงได้รับสารพิษจากวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้” หมอหมีบอก

จัดฟันแฟชั่น สะท้อนค่านิยมวัยรุ่น

ผลสำรวจที่ทำร่วมกับศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อต้นปี 2560 พบว่า 2 ใน 3 ของคนวัยรุ่นที่ตอบแบบสอบถาม ยังรู้สึกไม่พอใจกับสภาพฟันตัวเอง ไม่พอใจกับสภาพรอยยิ้มตัวเอง และเมื่อดูตัวเลขประชากรวัยรุ่นถือว่ามีจำนวนหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับจำนวนทันตแพทย์ทั้งประเทศที่มีเพียงกว่า 10,000 คน ยิ่งถ้าเจาะเฉพาะทันตแพทย์ด้านจัดฟันโดยเฉพาะ ยิ่งมีจำนวนน้อย

หมอหมียกตัวอย่างส่วนหนึ่งจากงานวิจัยของ ทพญ.ดร.ธนิดา โพธิ์ดี สาขาทันตกรรมชุมชน ภาคทันตกรรมป้องกัน มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่แบ่งเหตุผลของการจัดฟันได้ 3 ด้านดังนี้

  • ด้านที่ 1 การใช้งาน (function) จัดฟันเพื่อการบดเคี้ยวได้ดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพช่องปากต่างๆ เช่น ช่วยให้คนที่ฟันซ้อน ฟันเรียงตัวได้ดี ทำให้ดูแลความสะอาดในช่องปากได้ดีขึ้น
  • ด้านที่ 2 ทุนทางร่างกาย (body capital) เพื่อเพิ่มโอกาสทางหน้าที่การงานที่ได้มาจากรูปร่างหน้าตา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางอาชีพในสังคมให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก การจัดฟันจึงเป็นสิ่งจำเป็น
  • ด้าน 3 อัตลักษณ์ (identity social value) กลุ่มนี้มองว่า การมีเหล็กจัดฟันจะช่วยยกระดับตัวเองในสังคมได้ โดยเลือกใช้การจัดฟันเป็นเครื่องมือในการสร้างตัวตนและสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง

ผลสำรวจที่ทำร่วมกับ คคส. ในครั้งนั้น ทำให้พบข้อเท็จจริงบางอย่างว่า การที่วัยรุ่นอยากจัดฟัน เพราะต้องการเป็นที่นิยม อยากดูมีฐานะ อยากหน้าเรียว อยากดึงดูดสายตาคนอื่น เพื่อต้องการเติมเต็ม self esteem หรือสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงปัญหาเรื่องสุขภาพฟันเป็นหลัก แม้จะเสี่ยงแค่ไหนก็ตาม

ทางออกจากความเถื่อน

ในเมื่อวัยรุ่นไทยมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเองมากกว่าความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พัฒนาข้อเสนอและบรรจุระเบียบวาระ ‘การพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคทางทันตกรรม’ เข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2561 เพื่อให้ทุกภาคส่วนจัดทำนโยบายสาธารณสุขเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม สำหรับแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามและสร้างผลกระทบร้ายแรง

เนื้อหาส่วนหนึ่งของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ข้อ 5 ได้ระบุถึงทางออกไว้ว่า ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการจัดฟันแฟชั่นและฟันเทียมเถื่อน เป็นเครื่องมือแพทย์ที่กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้นำเข้า ต้องจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และควบคุมให้ขายเฉพาะสถานพยาบาลของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมหรือผู้ได้รับอนุญาตขายเครื่องมือแพทย์

 

 

หยาดฝนโปรยลงจากฟ้า ตกลงมาเป็นเม็ดพลาสติก

ที่เทือกเขาร็อกกี เกรกอรี เวเธอร์บี (Gregory Weatherbee) นักเคมีผู้ศึกษาเรื่องมลพิษไนโตรเจนในอากาศ ได้วิเคราะห์ตัวอย่างน้ำฝนที่ตกลงมา สิ่งที่พบนั้นน่าประหลาดใจ “ผมคาดว่าจะเจอพวกดินหรืออนุภาคของแร่สักอย่าง” นักวิจัย US Geologic Survey กล่าวหลังพบเม็ดไมโครพลาสติก (microplastics) หลากสีสันในตัวอย่างน้ำที่เก็บมาจาก Front Range รัฐโคโลราโด หนึ่งในเครือข่ายเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีในฝน

การค้นพบของเวเธอร์บีเผยแพร่ออกมาเป็นรายงานที่เรียกว่า It is Raining Plastic 

“ผมคิดว่าผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดที่เราสามารถแชร์กับสาธารณชนคนอเมริกันได้คือ มันมีพลาสติกมากกว่าที่เราจะมองเห็นด้วยตาเปล่า” เวเธอร์บีบอกและตั้งคำถามถึงจำนวนของไมโครพลาสติกที่อยู่ในอากาศ น้ำ และดิน ทุกหนแห่งบนโลก “มันคือในน้ำฝน ในหิมะ มันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมเราตอนนี้”

สถานีตรวจสอบน้ำฝน เมือกเขาร็อกกี / credit: Greg Wetherbee / capeandislands.org
สถานีตรวจสอบน้ำฝน เทือกเขาร็อกกี / credit: Greg Wetherbee / capeandislands.org

การเดินทางกว่าร้อยกิโลเมตรของไมโครพลาสติก

ในหุบเขา Pyrenees Mountains ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ตรวจสอบน้ำฝนที่ตกลงมาเช่นกัน และพบว่า ในนั้นมีอนุภาคพลาสติกราว 365 ชิ้นต่อตารางเมตร

“เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ มันจะมีไมโครพลาสติกทับถมอยู่มากขนาดไหนกัน” คือคำกล่าวของ ดีโอนี อัลเลน (Deonie Allen) นักวิจัยจาก EcoLab จากวิทยาลัยเกษตรกรรมและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (School of Agricultural and Life Sciences) เมืองตูลูส โดยหัวหน้าทีมศึกษาเผยแพร่งานใน Nature Geoscience ย้ำอีกว่า “ไมโครพลาสติกคือมลภาวะในชั้นบรรยากาศชนิดใหม่”

ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร ในระยะเวลานานกว่า 5 เดือน อัลเลนและทีมพบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของไมโครพลาสติกที่พบมีขนาดเล็กกว่า 25 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่า 40 ไมครอน (ขนาดที่มนุษย์สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า)

ที่น่าสนใจคือ ในระยะ 100 กิโลเมตร ไม่มีหลักฐานแน่ชัดถึงแหล่งที่มาของไมโครพลาสติกในระยะ 100 กิโลเมตร

ทีมในฝรั่งเศสพยายามศึกษารูปแบบการพัดและทิศทางของลมเพื่อหาต้นทางของไมโครพลาสติก แต่ในระยะ 100 กิโลเมตรไม่มีชุมชน ไม่มีพื้นที่อุตสาหกรรม ย่านการค้า หรือแม้แต่แปลงเกษตรขนาดใหญ่ ผู้ร่วมงานอีกคน สตีฟ อัลเลน (Steve Allen) บอกว่า ฝุ่นทรายในซาฮาราที่มีขนาดประมาณ 400 ไมครอน สามารถปลิวได้เป็นพันไมล์ “แต่ไม่มีใครรู้ว่าไมโครพลาสติกสามารถเดินทางได้ไกลแค่ไหน”

ไมโครพลาสติกที่พบในเทือกเขาร็อกกี / credit: Greg Wetherbee / capeandislands.org
ไมโครพลาสติกที่พบในเทือกเขาร็อกกี / credit: Greg Wetherbee / capeandislands.org

ฝน แม่น้ำ มหาสมุทร ในดาวเคราะห์พลาสติก

เป็นที่รู้กันว่าโลกกำลังเผชิญผลกระทบจากขยะพลาสติกอย่างใหญ่หลวง นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า โลกกำลังกลายเป็นดาวเคราะห์พลาสติก ในปี 2015 พลาสติกถูกผลิตขึ้น 420 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านตันในปี 1950

งานศึกษาในปี 2017 ระบุว่า ในช่วง 65 ปีนี้พลาสติกราว 6,000 ล้านตันถูกฝังกลบและอยู่ในธรรมชาติ และเคยมีรายงานว่า มีไมโครพลาสติกลอยอยู่บนผิวน้ำมหาสมุทรมากถึง 15-51 ล้านล้านชิ้น

แหล่งที่มาสำคัญของเม็ดพลาสติกคือกองขยะ เชอร์รี เมสัน (Sherri Mason) นักวิจัยไมโครพลาสติกและผู้ประสานงานด้านความยั่งยืนจากมหาวิทยาลัยเพนสเตทเบห์เรนด์ (Penn State Behrend) บอกว่า ขยะพลาสติกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ถูกรีไซเคิล และมันค่อยๆ แตกตัวอย่างช้าๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย “เส้นใยพลาสติกหลุดออกมาจากเสื้อผ้าทุกครั้งที่คุณซักมัน”

มันเป็นไปได้เลยที่จะหาต้นทางของไมโครพลาสติกเหล่านี้ แต่อะไรก็ตามที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบสามารถปล่อยอนุภาคพลาสติกสู่ชั้นบรรยากาศได้ “และอนุภาคเหล่านั้นก็จะรวมกับละอองฝนตอนมันตกลงมา” เมสันเสริม จากนั้นน้ำที่หยดมาจากฟ้าก็จะไหลลงแม่น้ำ ทะเลสาบ ชายหาด มหาสมุทร และผ่านชั้นดินไปจนถึงแหล่งน้ำบาดาล

นานกว่าทศวรรษแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาว่าในมหาสมุทรเต็มไปด้วยพลาสติก แต่พวกเขาสามารถบอกได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และความรู้เกี่ยวกับจำนวนพลาสติกในน้ำหรืออากาศยังมีน้อยมาก สเตฟาน เคราส์ (Stefan Krause) จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) บอกว่า “เรายังไม่ได้เริ่มดูปริมาณของมันอย่างจริงจัง”

อีกหนึ่งความไม่รู้คือ อาจมีความเป็นไปได้ทางทฤษฎีที่จะกำจัดพลาสติกออกไปจากธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าใช้เวลานานแค่ไหน “ถึงเราจะมีคทาวิเศษหรือสามารถหยุดการใช้พลาสติกได้ทันที มันก็ยังไม่ชัดอยู่ดีว่าพลาสติกจะหมุนเวียนอยู่ในระบบน้ำของเราต่อไปหรือเปล่า” เคราส์ยังบอกอีกว่า “บนพื้นฐานจากสิ่งที่เรารู้ว่าพลาสติกถูกพบที่ชั้นน้ำใต้ดิน และสะสมอยู่ในแม่น้ำ ผมเดาว่าเป็นศตวรรษเลยแหละ”

คนและสัตว์บริโภคไมโครพลาสติกผ่านน้ำและอาหาร และหากมันอยู่ในอากาศจริง ก็ดูเหมือนว่าเราจะหายใจเอาอนุภาคเล็กๆ ของมันเข้าไปด้วย นักวิทยาศาสตร์เข้าใจผลกระทบต่อสุขภาพอยู่แล้ว ว่าไมโครพลาสติกสามารถรวมตัวกับโลหะหนักเช่นปรอทและสารเคมีอันตรายหลายชนิด เช่นเดียวกับเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากอะไรที่ใกล้ตัวมากๆ “อนุภาคพลาสติกจากเฟอร์นิเจอร์และพรมมีส่วนประกอบของวัสดุทนไฟซึ่งเป็นพิษต่อมนุษย์” เคราส์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพราะเราต้องสัมผัสกับสารเคมีสังเคราะห์นับร้อยชนิดตั้งแต่ลืมตาดูโลก จึงเป็นเรื่องยากที่จะพูดว่า หากไม่เคยสัมผัสพวกมันเลย เราจะมีชีวิตอยู่นานแค่ไหน ซึ่งเมสันบอกว่า “เราอาจไม่มีทางเข้าใจความเชื่อมโยงทั้งหมดระหว่างพลาสติกกับสุขภาพเลยก็ได้

“แต่เรารู้มากพอที่จะพูดได้ว่า การหายใจเอาพลาสติกเข้าไปนั้นดูจะไม่ใช่เรื่องดี และเราควรเริ่มต้นคิดที่จะลดการพึ่งพาพลาสติกกันอย่างจริงๆ จังๆ”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com
ecowatch.com
nationalgeographic.com

 

ค่าบริการมือถืออาจแพงขึ้น เครือข่ายผู้บริโภคห่วง กสทช. เอาไม่อยู่

มีแนวโน้มว่าผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือของแต่ละค่ายอาจถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มขึ้น ทั้งค่าโทร ค่า SMS และค่าอินเทอร์เน็ต จากการที่ กสทช. กำลังเตรียมออกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง ‘การกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ’ เป็นเหตุให้เครือข่ายองค์กรเพื่อผู้บริโภคต้องออกมาเรียกร้องให้ กสทช. ยึดหลักการในการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือตามแนวทางที่กำหนดไว้เดิม อย่าคล้อยตามเสียงเอกชน แต่ควรเห็นแก่ประโยชน์ของผู้บริโภคโดยรวม

นายโสภณ หนูรัตน์ เลขานุการอนุกรรมการด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ให้ความเห็นว่า ร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าว ได้มีการนำมารับฟังความคิดเห็นสาธารณะเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ซึ่งในร่างฉบับเดิมได้มีการกำหนดอัตราค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งาน หรือที่เรียกว่า ‘ค่าบริการนอกโปรโมชัน’ อยู่ด้วย โดยกำหนดไว้ในร่างประกาศฯ ข้อ 6 (2) และภาคผนวก ข ว่าจะกำกับอัตราค่าบริการเสียง (การโทรออก) ไม่ให้เกินกว่า 0.90 บาทต่อนาที บริการข้อความสั้น (SMS) ไม่เกิน 1.50 บาทต่อข้อความ บริการข้อความมัลติมีเดีย ไม่เกิน 2.50 บาทต่อข้อความ และบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ ไม่เกิน 0.50 บาทต่อเมกะไบต์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลดีและเป็นประโยชน์กับกับผู้บริโภค ทำให้ค่าบริการส่วนที่เกินจากรายการส่งเสริมการขาย หรือส่วนที่ผู้บริโภคใช้เกินจากโปรโมชัน มีราคาถูกลง

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมานายโสภณได้ทราบมาว่า ในร่างประกาศฉบับปัจจุบันที่ กสทช. กำลังเตรียมจะนำเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไปนั้น ได้มีการตัดเนื้อหาส่วนนี้ออกไป โดยอ้างว่าเป็นการปรับแก้หลังจากที่มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เนื่องจากทำให้บรรดาบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือค่ายมือถือแสดงความไม่เห็นด้วย

“กสทช. ควรฟังเสียงผู้บริโภคซึ่งเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ในประเทศที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าภาคธุรกิจ ตอนที่รับฟังความคิดเห็นก็มีเครือข่ายผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และทางเครือข่ายก็เห็นชอบกับแนวทางของร่างประกาศที่กำหนดว่าจะกำกับอัตราค่าบริการโทรศัพท์ทั้งในโปรโมชันและนอกโปรโมชัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค จึงทำให้ไม่มีการคัดค้านหรือแสดงความเห็นแย้งกับร่างประกาศที่ กสทช. เสนอ เพราะเห็นว่าสิ่งที่ กสทช. ตั้งใจจะทำนั้นดีอยู่แล้ว และยังเป็นการป้องกันการเอาเปรียบและคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ แต่กลายเป็นว่า เสียงสนับสนุนอย่างเงียบๆ นั้นกลับถูกละเลยไป คงเหลือแต่เสียงค้านของค่ายมือถือดังอยู่ข้างเดียว”

นายโสภณกล่าว

นายโสภณกล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นยังพบว่าตามร่างประกาศฉบับปรับปรุง ในภาคผนวก ก ที่กำหนดโครงสร้างอัตราค่าบริการตามสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายทั้งหมด หรือ ‘สิทธิตามโปรโมชัน’ พบว่ามีอัตราค่าบริการที่เพิ่มขึ้น ดังนี้

  • ค่าบริการเสียง (การโทรออก) จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 0.57 บาทต่อนาที เพิ่มเป็น 0.60 บาทต่อนาที
  • ค่าบริการข้อความสั้น (SMS) จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 0.88 บาทต่อข้อความ เพิ่มเป็น 0.97 บาทต่อข้อความ
  • ค่าบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 0.14 บาทต่อเมกะไบต์ เพิ่มเป็น 0.16 บาทต่อเมกะไบต์

“ขอเรียกร้องไปยัง กสทช. ให้พิจารณาออกประกาศกำกับค่าบริการโทรศัพท์ โดยใช้ร่างประกาศฉบับเดิมที่นำมารับฟังความคิดเห็น ซึ่งโดยรวมมีสาระสำคัญที่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าฉบับที่แก้ไข และในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะก็ได้รับการเห็นชอบจากผู้เข้าร่วมในฝ่ายของผู้บริโภคแล้ว” นายโสภณกล่าว

นายโสภณระบุด้วยว่า จากข้อสังเกตที่พบในร่างประกาศ กสทช. ฉบับแก้ไข สะท้อนให้เห็นว่า กสทช. ไม่ได้ยืนหยัดที่จะคุ้มครองผู้บริโภค แต่กลับทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจโดยไม่เป็นธรรม

 

พ.ร.บ.นมผง ภูมิคุ้มกันเพื่อแม่และเด็ก

คุยกับ แพทย์หญิงชมพูนุท โตโพธิ์ไทย หรือ ‘หมอปุ๊’ นายแพทย์ชำนาญการ สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันอีกครั้งว่า พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘พ.ร.บ.นมผง’​ (Milk Code) นั้น ไม่ได้กีดกันการจำหน่ายนมผง และไม่ได้ห้ามเด็กกินนมผง แต่เพื่อยับยั้งการโฆษณาที่อวดอ้างข้อมูลเกินจริง โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560

เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อช่วยเหลือแม่ที่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ ให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับนมผงที่ไม่เกินเลยจากข้อเท็จจริง

กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ เพื่อปกป้องคุ้มครองทั้งแม่และเด็กที่จำเป็นต้องใช้นมผงนั่นเอง

ควักหัวใจ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย รับผิดชอบสังคมแค่ไหน

ทุกครั้งที่คุณเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใด เมื่อคุณต้องเลือกผักหรือผลไม้จากบนชั้น คุณอาจรู้สึกมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ปลอดสารพิษตามป้ายโฆษณาที่ปรากฏ อีกทั้งยังรู้สึกว่าได้ช่วยสนับสนุนเกษตรกรโดยตรง

ทว่าคุณมั่นใจจริงๆ ไหม หรือเชื่อมั่นเพียงใด เพราะหากมีการตรวจสอบย้อนกลับเส้นทางอาหาร คุณอาจได้พบความจริง ณ สุดปลายทาง

เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย ซึ่งรวมตัวกันในนาม ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ ภายใต้การสนับสนุนโครงการโดยสหภาพยุโรปและสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน จึงจัดให้มีการประเมินผลนโยบายด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ประจำปี 2562 เพื่อตั้งคำถามว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ก้าวหน้าหรือต้องปรับปรุง?


นโยบายที่ยังปิดลับของซูเปอร์มาร์เก็ต

ทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้ากองบรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อ ได้กล่าวถึงแนวโน้มทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกอาหารในประเทศไทยและต่างประเทศกับบทบาทในการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนไว้ว่า แต่เดิมนั้นการที่สินค้าตัวหนึ่งจะเดินทางมาถึงผู้บริโภค จะต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือหากมีการนำไปแปรรูปก็ต้องมีการส่งเข้าโรงงานเสียก่อน ฉะนั้น กว่าจะมาถึงตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตย่อมต้องผ่านกลไกเหล่านี้ แต่ปัจจุบันการค้าปลีกอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตแทบจะตัดขั้นตอนเหล่านี้ออกไป โดยจะมีการซื้อตรงกับเกษตรกร ขณะที่ผู้บริโภคในปัจจุบันก็นิยมไปจับจ่ายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตมากกว่าเดินตลาดสด ทำให้อิทธิพลของซูเปอร์มาร์เก็ตคืบคลานเข้าใกล้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ

“เทรนด์ทั่วโลกขณะนี้ต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสของภาคธุรกิจ เนื่องจากแนวคิดในการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นไม่ใช่เพียงการนำสินค้าคุณภาพออกมาขายเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลและรับผิดชอบสังคมมากขึ้น”

นอกจากนี้ทัศนีย์ยังกล่าวว่า เมื่อย้อนกลับมาดูพื้นที่สื่อสารสาธารณะในประเทศไทย พบว่า มีการพูดถึงนโยบายของอุตสาหกรรมค้าปลีกอาหารน้อยมาก ส่วนใหญ่มักเป็นการโปรโมทกิจกรรมหรือโครงการ แต่นโยบาย ข้อกำหนด ข้อสัญญาที่จะปฏิบัติต่อผู้บริโภคนั้นกลับไม่ค่อยปรากฏ แม้แต่ Tesco Lotus ที่มีสาขามากที่สุด กลับพบว่าส่วนใหญ่เป็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรม CSR มากกว่า เช่น การปลูกเมล่อน ซึ่งบริษัทแม่ที่อังกฤษจะมีการเปิดเผยนโยบายชัดเจน แม้แต่ Tesco Lotus สาขาอินเดียที่มีมูลค่าทางการตลาดน้อยกว่าไทย ยังมีการกำหนดนโยบายไว้ในหน้าเว็บไซต์อย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้จึงนำมาซึ่งคำถามและการประเมินผล

ทัศนีย์ แน่นอุดร

ทางด้าน ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ ตัวแทนจากอ็อกแฟม ประเทศไทย ระบุผลจากการประเมินนโยบายด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarkets Scorecard) ปี 2562 เอาไว้ว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ต่างประเทศ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมายาวนานคือ การทำนโยบายที่ปรับใช้กับทุกองคาพยพในองค์กร และมีการเผยแพร่ข้อสัญญาต่างๆ ให้สาธารณะได้รับรู้ นอกจากนี้ยังมีการขยับขยายธุรกิจและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อหาช่องทางใหม่ๆ ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยบางรายแม้จะให้ความสำคัญกับนโยบาย มีรายงานด้านความยั่งยืน มีการเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ แต่ยังมีอีกหลายรายที่ยังเน้นไปที่การช่วยเหลือหรือการให้ ซึ่งไม่ได้เจาะเข้าไปที่ใจกลางนโยบาย เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวนั้นไม่มีความถาวรยั่งยืน

“กรอบของการประเมินผลความรับผิดชอบต่อสังคมจะต้องดูจากนโยบายสาธารณะเป็นหลัก หมายถึงต้องเป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคทั่วไปสามารถที่จะเข้าไปดู เข้าไปหาข้อมูล เข้าไปรับรู้ได้ เช่น ถ้าบริษัทมีนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน แปลว่าบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงออกมาเป็นนโยบาย”

ธีรวิทย์กล่าวอีกว่า นโยบายด้านสังคมที่ผู้บริโภคอยากเห็น ควรประกอบไปด้วย 4 เรื่อง ดังต่อไปนี้

  1. ความโปร่งใสและความรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เห็นเป็นอันดับแรก
  2. แรงงาน ไม่ใช่แค่พนักงานของซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนทำงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น แรงงานในภาคการเกษตร แรงงานในอุตสาหกรรมการเกษตรหรืออาหารแปรรูป
  3. เกษตรกรรายย่อย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
  4. บทบาทสตรี ควรมีการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เข้าถึงได้

 

เปิดผลคะแนนนโยบายสาธารณะด้านสังคมของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ปี 2562

หากพิจารณาจากนโยบายสาธารณะเป็นหลัก จะเห็นได้ว่า 1 ปีที่ผ่านมา ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

  • กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่ยังไม่เคยได้รับคะแนนเลยทั้งในปีที่แล้วและในปีนี้ ได้แก่ Foodland, Gourmet Market และ Villa Market
  • กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีผลคะแนนลดลงจนไม่เหลือคะแนน ได้แก่ Big C เนื่องจากผู้ประเมินไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ คาดว่าอาจมาจากการเปลี่ยนเจ้าของกิจการและการออกจากตลาดหลักทรัพย์
  • กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่ผลคะแนนไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ Tops
  • กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น ได้แก่ CP Freshmart, Makro และ Tesco
ภาพ: http://dearsupermarkets.com

 

ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ

“การที่ห้างค้าปลีกจะได้หรือไม่ได้คะแนนนั้น เนื่องจากเราใช้ตัวชี้วัดตามมาตรฐานสากลซึ่งอาจจะเกินกว่าที่ข้อกฎหมายกำหนด ห้างที่แม้จะไม่มีคะแนนอาจไม่ได้แปลว่าทำผิดกฎหมายหรือทำไม่ถูกต้อง แต่หากซูเปอร์มาร์เก็ตใดยิ่งมีคะแนนมากเท่าไร แปลว่าคุณยิ่งมีการใส่ใจเรื่องการพัฒนายั่งยืนทางสังคมเข้าไปสู่บริษัทของคุณมากเท่านั้น และผลคะแนนเท่าไรนั้นอาจไม่สำคัญเท่ากับการเปลี่ยนแปลงที่ขึ้นหรือลงต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญในการประเมิน” ธีรวิทย์ให้คำอธิบาย

การที่คะแนนของ CP Freshmart เพิ่มขึ้นนั้น ธีรวิทย์มองว่าเป็นผลมาจากนโยบายของเครือ CPF มีการประกาศข้อมูลการทำงานกับผู้ค้าในประเด็นเรื่องสิทธิแรงงาน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการขององค์การบริหารระดับประเทศ ส่วนคะแนนของ Tesco ที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นผลมาจากบริษัทแม่เช่นกัน โดยประกาศว่า มีการใช้กระบวนการตรวจสอบอย่างรอบด้าน (human right due diligence) ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่เอกชนคุ้นเคย โดยการตรวจสอบว่ากลุ่มสินค้าที่ซื้อไปนั้นที่มีความเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย มีจุดอ่อนอยู่ที่ไหน แรงงาน เกษตรกร ผู้หญิง หรือแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งยังใช้หลักการด้านสิทธิมนุษยชนกับการดำเนินธุรกิจ

“เหตุที่ Tesco Lotus ได้คะแนนสูงนั้น เกือบทั้งหมดมาจากนโยบายที่ปรากฏในบริษัทแม่ที่อังกฤษซึ่งให้ความสำคัญกับแนวทางการทำงานกับคู้ค่าและมีจุดยืนในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ถ้าเราลองมาดูเว็บไซต์ของ Tesco Lotus ในไทย จะพบว่ายังเห็นนโยบายลักษณะนั้นน้อย คือได้แค่คะแนนเดียวในมิติเกษตรกรรายย่อย และไม่ได้คะแนนเลยในมิติอื่นๆ”

ด้วยความที่การประเมินครั้งนี้ไม่ได้ประเมินเฉพาะห้างไทย แต่มีทั้งที่อเมริกา อังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ตัวแทนจากอ็อกแฟมระบุว่า ในแต่ละปีซูเปอร์มาร์เก็ตของต่างประเทศจะมีการเพิ่มนโยบายและปรับใช้หลักการใหม่ๆ เสมอ ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยมีการขยับตัวน้อยกว่า และมีกลุ่มที่นิ่ง ไม่ขยับเลย อย่างเช่น Big C เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว ในช่วงเวลาเท่ากัน จะเห็นถึงการขยับหรือการเอาจริงเอาจังที่ไม่เท่ากัน

ธีรวิทย์ยังตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่ Big C คะแนนลดลง อาจเนื่องมาจากการถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ และมีการฮุบกิจการไปเป็นของ BJC แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ รายงานประจำปีที่เคยเข้าถึงได้ผ่านทางเว็บไซต์กลับไม่มีอีกต่อไป

“จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะในภาพรวมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยอาจจะยังช้ากว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่ต่างประเทศ โดยรวมยังเน้นที่กิจกรรม CSR หรือ PR หรือการซื้อตรงเสียมากกว่า ซึ่งไม่ถือเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง”

 

6 ข้อเสนอถึงผู้ประกอบการห้างค้าปลีก

  1. ขอให้มีการเปิดเผยนโยบายด้านสังคม รวมถึงแนวทางการทำงานกับคู่ค้าที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรรายย่อยและแรงงาน และให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางสาธารณะ
  2. ขอให้ทำการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงที่มีขอบเขตงานครอบคลุมด้านสิทธิมนุษยชน และมีโครงสร้างการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง
  3. ควรมีกลไกร้องทุกข์และเยียวยาที่สอดคล้องกับหลักการแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGP) โดยต้องเป็นช่องทางที่เกษตรกรรายย่อย แรงงาน และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้
  4. ขอให้จัดทำและเปิดเผยนโยบายด้านสิทธิแรงงานสำหรับคู่ค้าที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงระหว่างประเทศ
  5. พิจารณาลงนามสนับสนุนหลักการส่งเสริมพลังสตรีของสหประชาชาติ (UN Women’s Empowerment Principles) ซึ่งมุ่งส่งเสริมความเป็นผู้นำของสตรี และการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม
  6. พัฒนาและประกาศแนวทางการจัดซื้อและข้อตกลงที่เป็นธรรม (Ethical Sourcing Practices & Fair Deals) ที่จะรับประกันได้ว่าผู้ผลิตรายย่อยมีอำนาจในการต่อรอง และรวมตัวกันเพื่อเพิ่มรายได้ข้อตกลงในการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น

 

ผู้บริโภคต้องช่วยกันส่งเสียง

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และผู้ประสานงานเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ได้ให้ข้อเสนอแนะเอาไว้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางซูเปอร์มาร์เก็ตมีการนำเสนอแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้างแบบจัดซื้อตรง ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นหลักประกันความยั่งยืนหรือความเป็นธรรม เมื่อเทียบกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น ที่สำคัญการจัดซื้อนั้นควรอยู่ภายใต้ข้อตกลงที่เป็นธรรมและมีการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะด้วย

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา

“ตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็นจากการลงพื้นที่สำรวจคือ กล้วยหอม พบว่าการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว บรรจุ ตลอดจนการขนส่งเข้าไปในห้าง เป็นกระบวนการที่เห็นข้อมูลตลอดเส้นทาง ซึ่งในขั้นตอนการบรรจุนั้นมีการติดตราไว้ด้วยว่ากล้วยนี้มาจากแหล่งไหน ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าปลอดภัย เพราะมีระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับมายังต้นทางได้ ดังนั้น เกษตรกรก็ควรจะได้รับผลตอบแทนในระดับที่สมน้ำสมเนื้อ

“ตลอดเส้นทางของอุตสาหกรรมอาหาร ควรมีการสร้างหลักประกันความยั่งยืนให้กับสังคมและความมั่นคงของเศรษฐกิจ เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตทำการค้ากับคนฐานกว้างและขายของให้กับคนจำนวนมาก ถ้าสร้างหลักประกันให้กับทุกทางได้ก็นับเป็นบทบาทสำคัญที่เรามีความหวังว่าจะเกิดขึ้นได้”

กิ่งกรบอกอีกว่า แนวทางการประเมินนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ตในอนาคตข้างหน้า จะต้องมีการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสวัสดิการผู้บริโภค เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการต่อรอง สร้างความร่วมมือ และกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจและมีส่วนร่วมมากขึ้น

“ถ้าผู้บริโภคมีความตื่นตัว มีการจับตา เรียกร้อง กระตุ้น ตั้งคำถามกับซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วหากซูเปอร์มาร์เก็ตไหนทำดี ผู้บริโภคก็จะให้ความเชื่อมั่น เพราะผู้บริโภคไม่ได้ดูแค่ของสด ของดี หรือสมราคาเท่านั้น เขายังดูไปถึงว่า ห้างนี้มีความโปร่งใสหรือมีความเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งก็จะได้ใจผู้บริโภคด้วย”

สุดท้ายการยกระดับนโยบายด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมดจะมุ่งไปสู่การส่งเสริมระบบอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพียงไร อาจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การรณรงค์เฉพาะในฝั่งของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ความเป็นธรรมกับเกษตรกรและแรงงาน ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องมาจากความจริงใจของซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นสำคัญ ในฐานะที่เป็นตลาดซึ่งใกล้ชิดกับปากท้องของเราที่สุด

 

ทำแท้งปลอดภัย: “สำหรับผม ชีวิตตรงหน้า สำคัญกว่าบาปบุญคุณโทษ” ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ

ผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย 70,000 คน/ปี โดย 95 เปอร์เซ็นต์ มาจากประเทศที่กำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย

แม้พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มาตรา 5 ระบุให้วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และข้อบังคับแพทยสภา อนุญาตให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายหากเข้าเกณฑ์ตามข้อบ่งชี้ข้อใดข้อหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคือ การตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพกาย-สุขภาพจิตของมารดา

แต่เพราะที่ผ่านมา อุปสรรคสำคัญคือความคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษของบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการ

“การทำแท้งเป็นเรื่องความชั่วร้ายที่ต้องเกิดขึ้นกับพวกเธอ บริการทำแท้งจึงไม่ใช่หน้าที่ของเรา ความคิดแบบนี้ทำให้มีผู้หญิงอีกหลายๆ คนถูกหมอทำร้าย ด้วยวาจา ด้วยสายตา และด้วยความจงเกลียดจงชัง”  

ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็เคยคิดเช่นนั้น แต่เพราะ ‘ความตาย’ ของหลายชีวิตจากการทำแท้งเถื่อน ค่อยๆ เปลี่ยนคุณหมอให้บอกตัวเองว่า “เราคือคนนอก”

อย่าเอาตัวเราเข้าไปเป็นเขา ไม่ต้องมาเป็นผู้มอบความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ถ้าเขาต้องการเลือกวิธี ทางออกแบบไหนเราต้องแนะนำ ว่าสิ่งที่คุณเลือกมา มันปลอดภัยหรือไม่ ถ้าปลอดภัยก็ทำซะ” 

และสำหรับคุณหมอ ชีวิตตรงหน้า สำคัญกว่าบาปบุญคุณโทษ

คนไทยมีความรับรู้มากน้อยแค่ไหน เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์

ก่อนตอบคำถามเราต้องมาปูพื้นกันสักนิดนึง จริงๆ การยุติการตั้งครรภ์ด้วยการทำแท้งมีได้หลายวิธี อันดับแรกแบ่งเป็นวิธีที่แพทย์ลงมือ เป็นผู้ทำให้ โดยนำการตั้งครรภ์นั้นออกมาจากโพรงมดลูก ในสมัยอดีตเราใช้วิธีการเอาเหล็กขูดโพรงมดลูกเพื่อให้ตัวอ่อนหลุดออกมา

แต่ในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าการใช้หลอดดูดสุญญากาศ สามารถดูดได้ทั้งตัวอ่อนและรกออกจากโพรงมดลูกได้ด้วยแรงที่พอเหมาะ ซึ่งวิธีนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้หญิงน้อยมาก เนื่องจากหลอดดูดเป็นพลาสติก โดยที่การตั้งครรภ์ที่เราสามารถทำการดูดได้จะต้องมีอายุครรภ์ไม่เกิน 10-12 สัปดาห์ นั่นแปลว่าตัวอ่อนยังมีขนาดเล็กมาก

ถ้าถามว่าการดูดแบบนี้น่ากลัวไหม สำหรับหมอมันไม่ต่างจากการดูดเพื่อทำการรักษาหรือวินิจฉัย ในช่วงเวลานั้น เรายังมองไม่ออกหรอกว่าตัวอ่อนมีหน้าตาแบบไหน เพราะเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ยังไม่มีอวัยวะให้เรามองเห็นด้วยซ้ำ ฉะนั้นสังคมที่มักมองว่าการทำแท้งโดยการดูดเป็นเรื่องที่น่ากลัว ดูดออกมาเป็นแขน ขา เหมือนผู้ใหญ่ ความจริงไม่ใช่เลย สิ่งที่ออกมาเป็นน้ำและเนื้อเยื่อเท่านั้น

เมื่อวิธีการทำแท้งเปลี่ยนไป ส่งผลอะไรบ้าง

เมื่อเราเปลี่ยนจากการขูดโพรงมดลูกเป็นดูดผ่านหลอดสุญญากาศ ทำให้ผู้หญิงปลอดภัยขึ้นเยอะ อาการบาดเจ็บจากมดลูกทะลุน้อยลงแทบจะหายไปจากประเทศไทย ซึ่งวิธีนี้สามารถทำได้ทันทีแค่ให้คนไข้รับประทานยาลดอาการปวด และฉีดยาชาที่ปากมดลูกก่อน

นอกจากการดูด 20 ปีให้หลังมานี้ เราพบว่ามียาชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะแท้งได้ ยาตัวนั้นชื่อว่า Cytotec หรือชื่อสามัญว่า Misoprostol ซึ่งยาตัวนี้เริ่มต้นด้วยการจดทะเบียนเป็นยากลุ่มรักษาโรคกระเพาะ แต่ผลลัพธ์พบว่าสามารถทำให้เกิดการแท้งได้ ดังนั้นในประเทศไทยจึงเริ่มมีการวิจัยเพื่อยืนยันว่ายาตัวนี้ทำให้เกิดการแท้งได้จริงๆ กลายเป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะย้อนไปในสมัยก่อนหากต้องการทำแท้งจะต้องใช้วิธีที่ยุ่งยาก ต้องมีการใส่สารบางอย่างเข้าไปภายในมดลูกเพื่อให้เด็กเสียชีวิตหรือให้เกิดอาการอักเสบขึ้นก่อน และต้องใช้วิธีทำให้เกิดการบีบตัว จนเกิดการแท้งออกมา

แต่หลังจากที่เราใช้ยา Cytotec หรือชื่อสามัญว่า Misoprostol (หมอขออนุญาตใช้ทั้งสองคำผสมกัน) เราพบว่าการแท้งสำเร็จจำนวนเยอะขึ้น มีบ้างที่จะเกิดภาวะรกค้างแต่ไม่น่ากลัวและไม่อันตราย ต้องควบคุมการใช้ยา 2 ตัวนี้ให้ดี เพราะส่งผลต่อแรงบีบมดลูกที่อาจจะไม่เหมาะสม รวมถึงต้องระมัดระวังการใช้ยาในขณะที่อายุครรภ์เหมาะสมด้วย

ต่อมามีการเพิ่มยาอีกชนิดหนึ่งมาใช้ร่วมกับ Cytotec นั่นคือ RU 486 หรือ Mifepristone ยาตัวนี้จะทำให้รกเสื่อม เพราะเข้าไปต้านฮอร์โมนการตั้งครรภ์ เมื่อเรากินเข้าไปรกก็จะเสื่อมทันที และภายหลังให้ยาตัวนี้หนึ่งวันจะให้คนไข้อมยา Cytotec ไว้ใต้ลิ้นหรือสอดในช่องคลอดอีกครั้ง เพื่อให้เกิดการบีบเอาตัวอ่อนที่ขนาดเล็กมากๆ ออกมา (ผมพูดถึงตัวอ่อนมันไม่ใช่เด็กทารก) ซึ่งอัตราการเกิดการแท้งจากการใช้วิธีเช่นนี้มีมากกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ โดยอีก 2 เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออาจถึงมือแพทย์เป็นผู้ดำเนินการต่อไป ซึ่งประเทศไทยใช้ยาในลักษณะนี้มานานสักพักแล้ว โดยผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ได้รับการบริการเช่นนี้จะปลอดภัย กลับไปใช้ชีวิตต่อได้

แต่อีกมุมหนึ่ง เมื่อพูดถึงการทำแท้งก็จะมีคนบางกลุ่มที่ รู้สึกเฉยๆ และรู้สึกต่อต้าน ซึ่งกลุ่มคนที่ต่อต้านจะทำให้การดำเนินงานในการนำยาเหล่านี้เข้ามาเกิดได้ยากขึ้น

เราเคยเห็นภาพผู้หญิงบาดเจ็บและล้มหายตายจากจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยมาตั้งแต่อดีตเป็นเวลานาน แต่ในช่วง 6 ปีหลัง กลับพบว่าผู้หญิง สามารถใช้ยาตัวนี้ได้แล้ว โดยมีงานวิจัยรองรับ และมีการจดทะเบียนยากับทาง อย. อย่างจริงจัง รวมถึงมีการแจกจ่ายยาจริง ภายใต้เงื่อนไขตามที่แพทยสภากำหนด โดยกรมอนามัยเป็นผู้ดูแล และผู้รับบริการไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม เพราะรัฐบาลเป็นคนสนับสนุน

ซึ่งผมมองว่ากระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้หญิง เนื่องจากเมื่อผู้หญิงได้รับอันตรายจากการทำแท้งเถื่อน เกิดภาวะมดลูกเน่าไตวายตับวาย บางคนต้องโดนตัดแขนขา เมื่อรัฐบาลเล็งเห็นผลกระทบตรงนี้จึงต้องกระจายยาเพื่อให้คนได้ใช้และเข้าถึง นี่คือการทำงานในยุคหลังๆ ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เราจะรู้ได้ยังไงว่า แต่ละคนเหมาะกับวิธียุติการตั้งครรภ์แบบไหน

แล้วแต่การคุยระหว่างคนไข้กับหมอ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้รู้ไว้ คือทุกคนมี option ในการเลือกของตัวเอง เมื่ออายุครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ อาจจะต้องใช้การดูดสุญญากาศ ซึ่งวิธีนี้รวดเร็วแต่เจ็บหน่อย กลับกัน ถ้าอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ต้องใช้วิธีรรับประทานยา เจ็บน้อย แต่จะมีเลือดออกกะปริบกะปรอย

เมื่อมีทั้งยาและวิธีทำแท้งอย่างปลอดภัยแต่ทำไมยังเกิดปัญหาภาวะการทำแท้งเถื่อนอยู่

จริงๆ แล้วอุปสรรคใหญ่อยู่ที่คนทำงานในระบบสาธารณสุขเสียเอง จริงอยู่นะครับที่เรามีหมอหลายคนให้บริการเหล่านี้ได้ เราเข้าอินเทอร์เน็ตและพิมพ์ว่าแพทย์อาสาก็จะเจอกับกลุ่มคนที่สามารถใช้ยาเหล่านี้ในการทำแท้งอย่างปลอดภัยได้ โดยที่พวกเขาผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัยเรียบร้อย ดังนั้นผู้หญิงที่เข้าสู่บริการตรงนี้ได้ถือว่าเป็นคนโชคดี แต่ถ้าผู้หญิงเลือกเดินเข้าโรงพยาบาล ลองจินตนาการว่าพวกเขาจะเจออะไรบ้าง

อันดับแรกเมื่อเข้าไป คุณจะโดนถามเลยว่ามาทำไม ถ้าคุณตอบว่ามาด้วยเหตุผลท้องไม่พร้อมลองนึกหน้าผู้ฟังคำตอบของคุณให้ดีๆ คุณคิดว่าคุณจะเจออะไรบ้าง ถ้าเจอคำตอบกลับมาว่าที่นี่ไม่รับทำแท้ง คุณจะทำอย่างไรต่อไป

ผมมองว่ามันยังขาดมาตรฐานการเข้ารับบริการของการทำแท้งปลอดภัยอยู่ บุคลากรทางการแพทย์จะรู้สึกดีมากถ้าผู้หญิงเข้ามารับการรักษามะเร็งปากมดลูก ปรึกษาปัญหาการอยากมีลูก ปรึกษาการบริการต่อหมัน แต่ถ้ามาด้วยเหตุผลหนูอยากทำแท้ง โอกาสมันจะต่างกันมากเลยนะ อุปสรรคสำคัญจึงไม่ใช่สื่อ แต่เป็นผู้ให้บริการที่ไม่พร้อมให้บริการ

คนเป็นหมอสามารถปฏิเสธคนไข้ได้ด้วย?

หมอก็เป็นคน ก่อนที่ผมจะมีความคิดแบบนี้ ผมก็เคยปฏิเสธคนมาก่อน เพราะแม่ก็สอน ยายก็สอน พระก็สอน ครูก็สอน ว่าทำแท้งมันเป็นเรื่องที่ไม่ดี เราฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สมัยก่อนผมยอมรับเลยว่าผมให้ความรู้สึกจงเกลียดจงชังกับผู้หญิงแบบนี้มาก ดังนั้นมันจึงไม่แปลกเพราะเราถูกสอนให้คิดแบบนี้กันทั้งประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยด้วยที่มีแนวคิดแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอื่นๆ เขาก็มองว่าการทำแท้งคือสิ่งที่มันไม่โอเค

แต่ถ้าเราพลิกมุมมองมองอีกมุมหนึ่ง มองว่าเราเป็นผู้ให้บริการสาธารณสุข เรามองเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปัญหาสุขภาพหรือเปล่า ถ้าเรามองว่า ‘ใช่’ จิตใจเราจะอ่อนโยนขึ้น

ถ้าเราบอกว่ามัน ‘ไม่ใช่’ การทำแท้งเป็นเรื่องความชั่วร้ายที่ต้องเกิดขึ้นกับพวกเธอ จะรู้สึกว่าการให้บริการทำแท้งไม่ใช่หน้าที่ของเรา ซึ่งความคิดแบบนี้มันจึงทำให้มีผู้หญิงอีกหลายๆ คนถูกหมอทำร้าย ด้วยวาจา ทำร้ายด้วยสายตา ทำร้ายด้วยความจงเกลียดจงชัง

แล้วอะไรทำให้คุณหมอเปลี่ยน

ความตายครับ เมื่อก่อนเราด้านชาขนาดที่ว่าแม่และลูก มาขอร้องให้เราช่วยยุติการตั้งครรภ์ แล้วเราก็ไล่เขาไปด้วยการใช้ภาษาที่ไม่น่าฟัง ‘หมอทำให้เธอท้องหรือเปล่า?’ แค่ประโยคแค่นี้ง่ายๆ แต่เรารู้สึกสะใจ เรารู้สึกได้ว่าทำร้ายเขา ผมรู้สึกว่าตัวเองมีศีลธรรมขึ้นมา แม้ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนดีเลย แต่ในตอนนั้นผมคิดว่าเราเป็นคนดีมาก เพราะผมปฏิเสธผู้หญิงคนนั้นไป เพราะการที่เขาท้องมันเป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาจะไปทำแท้งที่อื่น แล้วเจอแท้งเถื่อนมันก็เป็นกรรมของเขา ผมก็แค่ทำหน้าที่รักษาอาการหลังแท้งเถื่อนที่มันเกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งบางครั้งมันทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของความตายโดยที่เราไม่คาดฝัน

ปัจจุบันการยุติการตั้งครรภ์มันง่ายกว่าอดีตมาก ขอโทษนะครับขอยกตัวอย่าง เราขึ้นขาหยั่ง ทายา สอดหลอดดูด แล้วดูดออกมา ใช้เวลาแป๊บเดียว แล้วลงมานั่งพัก เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ กลับไปทำงานได้อย่างปกติ สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ – แต่เราไม่ทำ

ซึ่งหลายๆ คนที่เข้ามาทำแท้งเขาก็เป็นลูกที่มีพ่อมีแม่ เขาอาจจะเป็นความหวังของครอบครัว บางคนต้องเตรียมตัวดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว มีภาระต้องรับผิดชอบต้องดูแลพี่น้อง หลายๆ คนมีสถานะเป็นแม่ มีลูกมีสามี เรื่องแบบนี้ไม่ควรที่จะทำให้เขาต้องพลัดพราก ความตายที่มันเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา รวมถึงอาการบาดเจ็บ โดยที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเราไม่เป็นส่วนหนึ่ง

แต่เรื่องนี้ใช้เวลาคิดหลายปีนะครับ เพราะใจผมยังเชื่ออยู่ว่าการทำเรื่องแบบนี้คือบาป แต่สุดท้ายผมก็ต้องหาทางออกให้ตัวเอง เมื่อเขากลับไปใช้ชีวิตของตัวเอง กลับไปเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ จะไปเป็นแม่ที่ลูกได้กอด มันจะทำให้เรารู้สึก ‘เฮ้ย ช่างมันเถอะ หน้าที่ของเราคือการทำอย่างไรก็ได้ให้สุขภาพของผู้หญิง กลับไปอย่างสมบูรณ์’

จริงๆ การเป็นหมอสูตินรี เราต้องเข้าใจผู้หญิง เราต้องดูแลผู้หญิง มันมีเสียงที่แย้งผมมาเสมอว่า ‘ก็ป้องกันสิ จะได้ไม่ท้อง’ ผมถามหน่อยเราสอนการป้องกันมาเป็นชาติแล้ว แต่ปัญหามันก็ยังมีอยู่ไม่ใช่เหรอ เหมือนคนเป็นหวัดออกกำลังกาย คุณต้องไปออกกำลังกายแล้วจะไม่เป็นหวัด จริงเหรอ คนที่ออกกำลังกายทุกวันก็เป็นหวัดได้ ใช่หรือไม่? มันก็ไม่ต่างกับการที่เราบอกให้เขาคุมกำเนิด เขาก็คุม คุมแบบโง่ก็มี คุมแบบฉลาดก็มี แต่มันก็ยังท้องได้ ฉะนั้นมันก็ต้องมีทางออกให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้

โดยทางออกมันก็มีหลายวิธี ยิ่งเราไม่ได้เป็นคนที่ทำให้เขาท้อง เราจะเห็นทางออกเยอะแยะเลย

ท้ายที่สุดเราจะแนะนำทางออกอย่างไรก็แล้วแต่ อย่าเอาตัวเราเข้าไปเป็นเขา ไม่ต้องมาเป็นผู้มอบความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เราเป็นคนนอก แต่ถ้าเขาต้องการเลือกวิธีทางออกแบบไหนเราต้องแนะนำ ว่าสิ่งที่คุณเลือกมา มันปลอดภัยหรือไม่ ถ้าปลอดภัยก็ทำซะ

ผมว่าหน้าที่ของหมอต้องเปลี่ยนบทบาทให้เป็นแบบนี้ ผมว่าน่าจะดี มันก็เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นมาตั้งแต่ชาติที่แล้วแล้ว เพียงแต่เรายังขาดความเข้าใจและยังเอาตัวเองเข้าไปอินกับบาปบุญคุณโทษ มากกว่าชีวิตของคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าเรา

สมมุติมีผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์เดินมาหาคุณหมอ คุณหมอทำอย่างไรบ้าง

อุปสรรคสำคัญ คือผู้ให้บริการ เมื่อก่อนผมสามารถให้บริการในโรงพยาบาลได้หลายแห่ง

ปัญหาคือคนร่วมงานบางกลุ่มเขารู้สึกบาดเจ็บ เขาสลัดความบาดเจ็บแบบผมไม่ได้ เขาถึงไม่โอเคกับการทำแท้ง แต่องค์กรมันควรจะอยู่ได้ ในเมื่อเขาอยู่ไม่ได้ ทางออกวิธีง่ายที่สุดคือผมต้องหยุดทำแท้งในโรงพยาบาลนั้น และใช้วิธีอื่น ผมจึงหันมาใช้วิธีเดินสายประชาสัมพันธ์ถึงเรื่องทำแท้ง ‘ประเทศไทยทำแท้งได้นะครับ แล้วสามารถทำได้ตรงไหนบ้าง’ นี่คือสิ่งที่ผมทำ

นำไปสู่การตอบคำถาม ถ้ามีผู้หญิงเดินมาหาคุณหมอเพื่อที่จะทำแท้งคุณหมอจะทำอย่างไรต่อ

สิ่งที่เป็นเสาบ้านเสาเรือน คอยเป็นหลักในการตัดสินใจต่างๆ นั่นคือกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ยกเว้นความผิด ในกรณีผู้ทำแท้งเป็นแพทย์ผู้มีใบอนุญาต และเป็นการทำแท้งด้วยความจำเป็นด้านสุขภาพของหญิง หรือกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืนกระทำชำเรา ในผู้หญิงที่อายุไม่ถึง 15 ปี รวมถึงกรณีที่ตั้งครรภ์เกิดจากการถูกล่อลวง บังคับ ขู่เข็ญ ลวงหลอก ข่มขู่ทางเพศ เพื่อสนองความใคร่ ครูผมเคยสอนและยกตัวอย่างไว้ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ทลายซ่อง ให้เชิญผู้หญิงมาตรวจปัสสาวะ พบว่าใครตั้งครรถ์ สามารถทำแท้งได้ถูกต้องตามกฎหมาย

นี่คือหลักการที่ควบคุมการยุติการตั้งครรรภ์ หลักการนี้มันไม่สามารถเอามาใช้ได้เลยถ้าหมอบอกว่า ‘กูไม่ทำ’ ขอโทษที่พูดหยาบนะครับ ในเมื่อผมไม่ทำ มันจะทำไม ก็ในเมื่อสุขภาพของเธอ เธอกำลังจะตาย หมอไม่ทำ ยังไงก็ไม่ทำ มันจึงทำให้มีผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ต้องล้มหายตายจากไปเพราะเรื่องงี่เง่าแบบนี้

แต่ก็พบความพยายามที่จะแก้ปัญหา เช่น แพทยสภาขอขยายนิยามของคำว่าสุขภาพ ให้อิงตาม WHO กรมอนามัยโลก ที่ระบุไว้ว่าสุขภาพคือ ร่างกายและจิตใจ สุขภาพกายและสุขภาพใจมันแยกกันไม่ได้

ตอนที่เราทำข้อบังคับนี้ก็มีการถกเถียงกันว่า คำว่าสุขภาพใจคืออะไร ถึงขั้นเป็นโรคจิต ถึงขั้นฆ่าตัวตาย หรือเปล่า จึงทำนิยามให้มันหลวมๆ ไว้ เอาเป็นว่าใครที่ไม่สบายใจที่จะตั้งครรภ์ จนเกิดผลกระทบต่อร่างกาย นอนไม่ได้ กินไม่ได้ แปลว่าสุขภาพเริ่มไม่ดีแล้ว เพราะมันแฝงไปด้วยความเครียด นี่ก็เป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งแล้ว จึงพยายามนำคนเหล่านี้เข้าสู่บริการทางการแพทย์ให้ได้

ล่าสุด ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ระบุไว้คำว่า ‘สุขภาพ’ หมายถึง ‘ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล’ พอผมได้อ่านนิยามนี้แล้วจะรู้สึกน้ำตาตก เพราะคิดถึงความรู้สึกที่ตัวเองเคยดูถูกผู้หญิง มองว่าเขาเลว ซึ่งความคิดของผมก็เลวไม่ได้ต่างจากคำที่ผมดูถูกเขาเลย

เมื่อเรารู้ว่าเราไม่สบายใจกับการยุติตั้งครรภ์ ก่อนจะไปถึงขั้นขึ้นขาหยั่ง คุณหมอมีวิธีดำเนินการอย่างไรบ้าง

การทำแท้งที่ดีมันต้องเริ่มตั้งแต่เห็นหน้าคนไข้ และได้ทักทายกัน การขึ้นถึงขั้นขาหยั่ง มันคือกระบวนการการทำแท้ง แต่จริงๆ แล้ววิธีการรักษาคนไข้เหล่านี้มันเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่คำว่า ‘สวัสดี แล้วถามว่าเธอมีปัญหาอะไร’

‘ไหนเล่าให้ฟังซิว่ามันเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาอะไร หมอไม่ใช่คนที่ทำให้เธอท้อง หมอย่อมเห็นปัญหาได้รอบด้านมากกว่า ไหนลองพูดมาว่าปัญหาที่มันเกิด มันเป็นปัญหาจริงหรือเปล่า’ นี่คือคำพูดที่มันเข้าไปทำงานกับคนไข้

บางครั้งปัญหาเกิดขึ้น เขาแค่กลัว เขาไม่กล้าบอกแม่ งั้นหมอเสนอ ‘เอาอย่างนี้หมอบอกให้ไหม ถ้าเธออยากมีลูกเดี๋ยวหมอช่วยบอกแม่ให้ หรือถ้าเธอไม่อยากมีลูกหมอก็ช่วยบอกแม่ให้ได้’

เพียงแค่เราคุยกัน การพูดคุยมันช่วยเยียวยาได้จริงๆ นะ ยิ่งกว่าการคุยคือการรับฟังด้วย การฟังคนไข้มันช่วยได้มากจริงๆ บางครั้งหมอก็เจอเคสที่เข้ามาจะทำแท้ง คุยกันคุยไปคุยมาเขาก็ตัดสินใจไม่ทำแท้งแล้ว

แสดงว่าแม้การทำแท้งสามารถทำให้ปลอดภัยและถูกกฎหมายได้ แต่อุปสรรคใหญ่นั่นคือความคิดของบุคลากรการแพทย์

เมื่อบทสัมภาษณ์นี้ได้เผยแพร่ออกไป ทุกคนต้องบอกผมว่าผมคิดไปเอง ผมคิดไปเองว่ามันถูกกฎหมาย แต่ในมุมมองของผม ผมมองว่าสุขภาพของแม่ มันรวมไปถึงสุขภาพใจ และรวมไปถึงความสามารถที่จะรู้สึกเป็นสุข เมื่ออยู่บนโลกใบนี้โดยมีองค์รวมอย่างสมดุล

ดังนั้นถ้าคุณไม่เข้าใจคำนี้ต่อให้ผมพูดไปอีก 10 ปี คุณก็ไม่เข้าใจหรอก ยังไงเสียคนก็ต้องเข้าใจว่าการทำแท้งคือเรื่องที่เลวทราม แต่ผมถามจริงๆ ถ้าเกิดเป็นน้องสาวของคุณ พี่สาวของคุณ คุณจะคิดอย่างไร พอเป็นคนใกล้ตัวปุ๊บ เชื่อว่าศีลธรรมมันเลือนหายไปทันที ซึ่งทุกคนในโลกคิดไม่ต่างจากคุณหรอก การท้องไม่พร้อมจึงกลายเป็นความผิดปกติทางจิตเช่นเดียวกัน เพราะมันก่อให้เกิดความอยู่ไม่สุขและอยู่ไม่ได้

ผมจะย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าทางออกทุกทางเป็นสิทธิของร่างกายของคุณ ตั้งแต่เกิดคนเราทุกคนมีสิทธิอะไรที่เท่าเทียมกันบ้าง แต่อย่างหนึ่งที่เราทุกคนมีอย่างเท่าเทียมก็คือการเป็นเจ้าของร่างกายตัวเอง

สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าสังคมพูดแต่ปาก แต่ไม่เคยเข้าใจว่า บางครั้งร่างกายของคนอื่นก็เป็นสิทธิในร่างกายของเขา เขาจะเป็นคนแบบไหน มันก็เป็นเรื่องของเขา อาจจะมีทางออกที่ดีกว่าการทำแท้งก็ได้ แต่ถ้าเขาจะไม่เลือกมันก็เรื่องของเขา อย่าไปคิดแทน เพราะผมเป็นเพียงคนที่ให้บริการทำให้เขาปลอดภัยและกลับไปอยู่ในสังคมได้เท่านั้นเอง

แล้วสิทธิการเกิด ลืมตาดูโลกของเด็ก?

ผมถามกลับว่าแล้วผู้หญิงที่มานั่งตรงหน้าเราล่ะ เขาโตมากี่ปีแล้ว เขาโตมา 18 ปี 32 ปี 47 ปี คนนี้แหละคือคนที่มีสิทธิมากกว่าคนที่เพิ่งมาอยู่ในท้อง มันอาจแฟร์ที่เราคิดแบบนี้นะครับ ผมน่าจะเป็นคนเลวทันทีเมื่อพูดแบบนี้ออกไป

ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมต้องแคร์ก่อน คือเธอที่อยู่ตรงหน้า ผมต้องแคร์คนไข้ก่อน เพราะเธอคือคนที่ใช้ชีวิต เธอคือคนที่มีครอบครัว เธอคือคนที่มีคนรัก ถ้าเราเห็นใครสักคนตายไปต่อหน้าต่อตา โดยที่เราไม่รู้สึกรู้สา ‘ช่างแม่ง เพราะเขาไม่ใช้ญาติผมนี่’ ถ้าเราปล่อยเขาตายไป พ่อแม่ สามี ลูก ครอบครัว ต้องเสียน้ำตามากแค่ไหน ถ้าเราไม่รู้สึกตรงนี้ ผมคงเป็นคนที่ใจดำมาก

ถามอีกมุม การทำแท้งปลอดภัย จะส่งเสริมให้เกิดสังคม free sex หรือเปล่า

ไม่รู้สิครับ ถึงจะทำแท้งหรือไม่ทำแท้ง ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันคนก็มีเซ็กส์กันไม่ใช่เหรอ?

การมีเซ็กส์ มันสัญชาตญาณการสืบพันธุ์ มีเซ็กส์แล้วมันสนุก ผมยืนยันเลย (ยิ้ม) คนชอบคิดว่าการเปิดโอกาสให้คนทำแท้ง จะทำให้ผู้หญิงเข้าสู่การทำแท้งมากขึ้น แต่ถ้าเราคิดกลับกันถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้คนได้ทำแท้งจะมีผู้หญิงที่บาดเจ็บล้มตายจากการทำแท้งเถื่อนมากขึ้นหรือเปล่า ทุกวันนี้ปัญหาเหล่านี้มีน้อยลงมากแล้วนะ

สมัยหนึ่งในประเทศโรมาเนีย กฎหมายในการทำแท้งมีความเข้มงวดมาก ไม่เปิดให้ทำ ผู้หญิงจึงล้มตายจากการตั้งท้องจากการทำแท้งเถื่อนจำนวนสูงมหาศาล แต่หลังจากที่โรมาเนียได้ประกาศว่าสามารถให้ผู้หญิงทำแท้งได้ด้วยความปลอดภัย ความตายจากการตั้งท้องของผู้หญิงลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

ซึ่งตั้งแต่สังคมไทยเริ่มเปิดในเรื่องนี้ ผู้หญิงเราตายน้อยลงจริงๆ อาการมดลูกทะลุ-มดลูกเน่าน้อยลงมาก มันจึงพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เราจะไม่ได้ใจกว้างเท่าโรมาเนีย แต่ทุกวันนี้การตายของผู้หญิงไทยมันลดน้อยลง อัตราการตายจากการตั้งครรภ์มันกลายเป็นอย่างอื่นไปแล้ว เป็นเรื่องของครรภ์เป็นพิษ เป็นโรคหัวใจแล้วท้อง ท้องแล้วมีอาการตกเลือด ส่วนการตายจากแท้งเถื่อนน้อยลงเยอะ แต่ก็ยังมีอยู่บ้าง ซึ่งในฐานะที่เป็นคนทำงานมา 20 ปี ผมยืนยันได้ว่ามันน้อยลง

ขณะที่ข้อมูลเรื่องการทำแท้งปลอดภัยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่อัตราการท้องไม่พร้อมกับเพิ่มสูงขึ้น สมการนี้เกี่ยวกันไหม

มันไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นหรอกครับ มนุษย์ยังมีเซ็กส์เหมือนเดิม ถ้าเพิ่มขึ้นก็คงตามยุคสมัยที่เปลี่ยน หรือตามจำนวนคนที่เปลี่ยนไป การทำแท้งก็เช่นเดียวกันมันยังมีเท่าเดิม มันยังมีเหมือนเดิม เพียงแค่มีคนตายน้อยลงกว่าเดิม ถ้าจะบอกว่าการที่ทำแท้งเข้าถึงได้มากขึ้น จะทำให้คนเข้ามาทำแท้งมากขึ้น มันเป็นสมการที่คิดเอาเองหมดเลย ลองเอาตัวเลขออกมาดูสิ มันไม่จริงหรอก

แต่สิ่งที่เราเห็นคือคนเลือกเดินมาหาเราเพราะอยากทำแท้งที่ปลอดภัยได้มากขึ้นมากกว่า สมัยก่อนคนเหล่านี้ไปตกอยู่ในมือพวกหมอเถื่อน ไปตกอยู่ในมือของพวกเว็บไซต์ขายยาเถื่อน มันเป็นการทำแท้งเสรี (ซึ่งอาจจะไม่ปลอดภัย) มันมียาเถื่อนซื้อได้ทุกที่ขายได้ทุกเวลาในอินเทอร์เน็ต แล้วมันก็เสี่ยงมาก ทั้งที่ในความเป็นจริงเรามียาฟรีๆ ให้คุณในโรงพยาบาลรัฐ

การทำแท้งอย่างเสรีที่ไม่ได้มาตรฐานจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงในสถานบริการที่การทำแท้งอย่างปลอดภัยเข้าถึงได้ หมายความว่า การทำแท้งปลอดภัยจะเอาตัวอ่อนออกมาก่อนที่เขาจะมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่การใช้ยาเพื่อให้เด็กหลุดออกมา นั่นเขาเรียกว่าการคลอดก่อนกำหนด

ผมยกตัวอย่าง สมมุติตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์แล้วอยากทำแท้ง สิ่งที่อยู่ในท้องคุณจะเป็นตัวอ่อนที่มีขนาดไม่ถึงครึ่งเซนติเมตร และตามมาตรฐานกำหนดการทำแท้งปลอดภัยจะทำได้เมื่อเด็กอายุไม่เกิน 24 สัปดาห์ เพราะเขาเริ่มเป็นเด็ก เป็นสิ่งมีชีวิตที่หายใจได้ เราจะไม่ทำ ฉะนั้นยิ่งจัดการเร็วยิ่งดี

ผมในฐานะแพทย์ไม่เคยสุขใจที่ได้ทำแท้งหรอกแต่ผมสุขใจที่เห็นเธอตรงหน้ามีชีวิตที่ดีขึ้น มีแรงใจที่จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตต่อได้

การทำแท้งครั้งแรกของคุณหมอเป็นอย่างไรบ้าง

ผมทำแท้งครั้งแรกก็ตอนเรียน ก่อนการทำแท้งมันเข้มงวดมาก ผู้หญิงประเภทที่เดินเข้ามาเพราะท้องไม่พร้อม ไม่ค่อยมี จะมีในกรณีที่ตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่ามีความผิดปกติ เช่น เป็นดาวน์ซินโดรม ขั้นตอนและวิธีทำคือการเจาะน้ำคร่ำและใส่น้ำเกลือเข้าไปเพื่อให้เด็กเสียชีวิตในท้อง และกระตุ้นให้เกิดการแท้งออกมา อยู่ในยุคปลายของวิธีการที่น่ากลัว เพราะหลังจากนั้นเราสามารถใช้วิธีกินยากินเพื่อยุติการตั้งครรภ์ได้

ด้านความรู้สึก เป็นอย่างไร

ย้อนไปตอนเรียนต้องเจาะเลือดไปที่หัวใจของเด็กมีปัญหาทางสุขภาพที่เขาแท้งออกมา ตอนนั้นผมก็ยังเป็นวัยรุ่น ยังเป็นหมอหนุ่ม ด้วยความเร่งรีบของเราจึงไม่ได้ดูอย่างถี่ถ้วนว่าเด็กที่แท้งออกมาเสียชีวิตไปหรือยัง พอเราเอาเข็มจิ้ม เด็กกลับมีปฏิกิริยาสะดุ้งกลับขึ้นมา ตอนนั้นมันแบบ…(เงียบ)… ผมจึงเกลียดการทำแท้งไปเลย เพราะผมก็เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจอะ แต่ต้องทำมันเพราะหน้าที่ มันแย่นะ ซึ่งในระบบการเรียนการสอนเราที่ผมเรียนรู้มาตลอด ทุกอย่างบอกกับผมว่าการแท้งคือเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องบาป เป็นเรื่องไม่สมควร ในตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้อินกับการทำแท้งเท่าไหร่

ตอนนั้นผมยังเป็นผมในเวอร์ชั่นที่มีศีลธรรมสูงมาก มองไม่เห็นมุมอื่นๆ แต่พอเวลาดำเนินไป เราผ่านการเห็นความตายที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ผมใช้เวลาคิดตรงนี้มาเป็น 10 ปี เพื่อจัดการความคิดตัวเอง และเมื่อความคิดตรงนั้นมันคลิกเปลี่ยน มันก็จบเลย

ช่วง 10 ปีที่ว่าถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน คุณหมอผ่านมันมาได้อย่างไร

มันก็ว้าวุ่นนะ สมัยก่อนที่เราพยายามจะผลักดันการทำแท้งปลอดภัย มีครูคนหนึ่งเดินเข้ามาบอกว่า ‘สิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ดี’ ผมจึงตอบกลับไปว่า ‘ถ้าผมไม่ทำอย่างนี้เขาต้องเดินไปสู่หนทางหายนะแน่ๆ’ คำตอบที่ครูคนนั้นตอบกลับมาก็คือ ‘ปล่อยให้มันเป็นกรรมของเขาที่เขาสมควรจะได้รับ’ หน้าที่ของเราคือการรักษากรรมของเขาก็พอ

ดังนั้นในช่วง 10 ปี ผมใช้เวลาคิดทบทวน พอคิดไปคิดมา คิดคนเดียวมันไม่ถี่ถ้วนจึงจัดประชุมถึงบทบาทจริยธรรมของแพทย์ ‘ถ้าเราไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น จะเกิดแท้งเถื่อนจะเกิดปัญหาติดเชื้อ และสุดท้ายก็นำไปสู่ความตาย’ เมื่อรู้เช่นนี้เราจะทำอะไรสักอย่างก่อนได้ไหม ก่อนที่เราจะต้องคอยรับเคสรักษาผู้หญิงมีภาวะมดลูกเน่าเข้ามา

หลักสูตรของแพทย์ส่งผลต่อความคิด ในเรื่องทำแท้งกับนักศึกษาแพทย์อย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้วหลักสูตรเป็นกลางมาก แต่คนที่ทำให้รู้สึกและจะเชพความคิดให้เป็นอย่างไร น่าจะเป็นครูมากกว่า อย่างที่บอกไปข้างต้น ผมเคยโดนสอนมาให้เลือกปฏิบัติ ให้เลือกทำแท้งให้กับแม่ที่มีปัญหาสุขภาพ (กาย) เท่านั้น ส่วนเรื่องการโดนข่มขืน การกระทำต่อเด็กอายุ 15 ปีต่างๆ ครูไม่ได้สอน เพราะเขาเชื่อมาว่าการทำแท้งคือเรื่องไม่ดี

ในเมื่ออุปสรรคสำคัญคือวิธีคิดของคนต่อการทำแท้ง ถามแบบกำปั้นทุบดิน แล้วเราจะแก้อย่างไรดี

อืม…คุณตอบไม่ได้หรอกครับ ผมตอบไม่ได้จริงๆ เพราะวิธีแก้มันมีหลากหลาย ถ้าเป็นผม ในฐานะหมอสูติ ผมไม่ค่อยแคร์ใคร ก็ทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปนี้ เช่น การสอนลูกศิษย์รุ่นใหม่ๆ ผมเขียนเว็บเพจเป็นของตัวเองเพื่อสื่อสาร ผมเดินสายเป็นวิทยากร ผมทำได้เพียงเท่านี้ ถ้าเป็นคนอื่นอย่างเช่นอาจารย์ของผม ท่านมีตำแหน่งหน้าที่ที่สามารถเข้าไปจัดการหลักสูตร เข้าไปดีไซน์การสอนได้ ท่านก็จะมีวิธีจัดการอีกแบบของท่านไป

เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายทำ: Muchroom Coworking Space

แผ่นแปะลดอ้วน ไม่ช่วยให้ผอมจริง แต่ถูกจับจริง

ปฏิบัติการกวาดล้างผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สามารถเข้าทลายโรงงานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอางเถื่อน ยึดของกลางได้ 450,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่านับ 10 ล้านบาท รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่อวดอ้างว่าช่วยลดความอ้วน ได้แก่ แผ่นแปะสะดือเผาผลาญไขมันและสบู่นมเด้ง หรือ ‘สบู่นมตึงจนผัวทัก’ ซึ่งมีการโฆษณาและจำหน่ายผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ มูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท

ปฏิบัติการครั้งนี้แสดงถึงความเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า ผู้อยู่เบื้องหลังของผลิตภัณฑ์เหล่านี้เต็มไปด้วยเครือข่ายที่ร่วมกระทำผิดอย่างเป็นขบวนการ

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 อย. พร้อมด้วย บก.ปคบ. แถลงผลการจับกุมผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายครั้งใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค

ล็อตแรกคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ LANO BY GLUTA COLLA และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ SKB1 ซึ่งเป็นเครือข่ายของบริษัท ฟู้ดชายน์ซัพพลายเซอร์วิส จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อลีน (lyn) ที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2561 เคยมีผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อหาไปรับประทานจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เนื่องจากมีส่วนผสมของสารไซบูทรามีน เจ้าหน้าที่ยึดของกลางได้ 450,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

ล็อตต่อมา เจ้าหน้าที่ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง 2 ชนิด ได้แก่ แผ่นแปะสะดือเผาผลาญไขมัน อ้างว่าสามารถช่วยปรับสมดุลการเผาผลาญไขมัน และสบู่นมเด้ง หรือ ‘สบู่นมตึงจนผัวทัก’ เพิ่มเนื้อนมให้ดูอวบอิ่ม ผิวขาวกระจ่างใส โดยยึดของกลางแผ่นแปะสะดือได้ 12,000 ชิ้น และสบู่นมเด้งอีก 130 ก้อน รวมมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท

พ.ต.อ.ไพฑูรย์ พูลสวัสดิ์ ผกก. (สอบสวน) บก.ปคบ. ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานไม่จดทะเบียนสถานประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ โฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

ด้าน เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า แผ่นแปะสะดือเผาผลาญไขมันที่ขายเกลื่อนตามสื่อออนไลน์นั้นเป็นการอวดอ้างสรรพคุณทำนองว่า ช่วยปรับสมดุลของขบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ช่วยสลายไขมัน ขับไขมันออกจากร่างกาย ซึ่งเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 โดย อย. ตรวจสอบฐานข้อมูลแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าแต่อย่างใด

สำหรับผลิตภัณฑ์สบู่นมเด้ง (สบู่นมตึงจนผัวทัก) อวดอ้างสรรพคุณทำนองว่า เพิ่มเนื้อนมให้ดูอวบอิ่มผิวขาวกระจ่างใส ข้อความลักษณะนี้ถือเป็นข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินจริง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เนื่องจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับภายนอกร่างกาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดและความสวยงามเท่านั้น โดยไม่ได้มีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกาย การโฆษณาดังกล่าวจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

รองเลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า อย. เตรียมดำเนินคดีกับผู้ผลิตทันที และขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อโฆษณาแผ่นแปะสะดือเผาผลาญไขมัน และผลิตภัณฑ์สบู่นมเด้ง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่ได้แสดงปริมาณและส่วนประกอบที่ชัดเจน อีกทั้งส่วนผสมของกาวแปะอาจทำให้เกิดการอักเสบระคายเคืองได้ หากแปะไว้นานเกินไปอาจทำให้เกิดอาการแพ้ตั้งแต่น้อยๆ เป็นผื่นแพ้คัน หรืออาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนการเลือกซื้อได้ที่แอพพลิเคชั่น ‘ตรวจเลข อย.’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงมือผู้บริโภคได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เป็นการสร้างความมั่นใจเบื้องต้นให้กับผู้บริโภค หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ Line @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะทำการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดต่อไป

ข้อมูลและภาพ: อย.

 

ทำงานหนักอย่างขุนเขา จากไปอย่างเบาสบาย

หนังสืออนุสรณ์งานบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจ ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ เภสัชกรหญิงสำลี ใจดี

หนังสือชื่อ “ทำงานหนักอย่างขุนเขา จากไปอย่างเบาสบาย” เล่มนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกแด่อาจารย์
สำลี ใจดี สตรีผู้ยิ่งใหญ่ในวงการยาและสาธารณสุข ที่ได้จากพวกเราไปเมื่อเวลา ๐๐.๕๗ นาฬิกาของวันอาทิตย์
ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ สิริอายุได้เกือบ ๗๗ ปี ขาดไปเพียง ๒๔ วัน ทั้งนี้ อาจารย์ฯได้เสียชีวิตด้วย
โรคปอดติดเชื้อที่ยากจะเยียวยา และอาจารย์ฯก็ปฏิเสธวิธีการรักษาทุกชนิดเพื่อยื้อชีวิตให้ยาวนานออกไปโดย
ไม่มีคุณภาพ รวมถึงปฏิเสธการฉีดมอร์ฟีนสงบระงับอาการปวด เพื่อที่จะได้มีสติรู้ตัวอยู่เสมอเพื่อการสื่อสาร
กับผู้มาเยี่ยมในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่มาก

ภายหลังการเสียชีวิตของอาจารย์ฯ มีผู้ที่เคารพรักอาจารย์ฯหลายท่านเขียนคำอาลัยส่งมาให้ทีมงาน ซึ่ง
ได้พิจารณาแล้วว่ามีคุณค่าสมควรแก่การอ่านและการจดจำ ทีมงานจึงตั้งใจจะรวบรวมงานเขียนเหล่านี้เป็นรูป
เล่มเพื่อแจกในงานฌาปนกิจวันเสาร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

งานเขียนทยอยเข้ามาเรื่อยๆอย่างไม่ขาดสาย ทีมงานจึงตัดสินใจปิดรับต้นฉบับเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม
พุทธศักราช ๒๕๖๒ ได้งานเขียนทั้งหมดประมาณ ๑๒๐ เรื่อง

เนื่องจากอาจารย์ฯมีผลงานมากมาย ล้วนยิ่งใหญ่หรือมีผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง ดังนั้น หนังสือเล่ม
นี้จึงมิได้เป็นเพียงของชำร่วยที่รวบรวมคำไว้อาลัยดังเช่นบุคคลทั่วๆไปเท่านั้น แต่ได้รวบรวมแง่มุมต่างๆจาก
ประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้เคยสัมผัสอาจารย์ฯหรือเคยร่วมงานกับอาจารย์ฯ ที่ผู้เขียนประทับใจมิรู้ลืมและ
อยากฝากไว้ในความทรงจำของผู้อ่านด้วย

“อาจารย์สำลีจะต้องไม่ตายไปจากใจของพวกเรา”

Download Click