‘คณะกรรมการวัตถุอันตราย’ ส่อเลื่อนแบนสารเคมีเกษตรอีก 6 เดือน อ้างพิษ COVID-19

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ได้ติดตามมาตรการควบคุมการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต พบว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2563 ได้ปรากฏข่าวที่อ้างถึงหนังสือเลขที่ สค.065/2563 จาก นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศในการกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จากวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็น 31 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส (COVID-19) จะสิ้นสุดลง และมีผู้ประกอบการธุรกิจเคมีเกษตรติดตามการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียน ใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตราย และการต่ออายุวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมหารือเพื่อเลื่อนการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง โดย นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ เป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อคัดค้านการเลื่อนการแบนสารเคมีด้านการเกษตรทั้งสองชนิด

รายละเอียดหนังสือถึงประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ความเห็นว่า

1) ข้ออ้างของ นายกลินท์ สารสิน ที่ให้ขยายเวลาการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปเป็นปลายปี 2563 โดยกังวลเรื่องการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 2 ชนิด ในผลผลิตที่นำเข้าแล้วจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศนั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกแบนพาราควอตมากว่าทศวรรษ สหภาพยุโรปประกาศแบนคลอร์ไพริฟอสตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 หรือเวียดนามซึ่งแบนพาราควอตเมื่อปี 2560 และแบนคลอร์ไพริฟอสเมื่อต้นปี 2562 เป็นต้น ไม่มีประเทศใดอ้างปัญหาการตกค้างจนส่งผลกระทบต่อการผลิตและอุตสาหกรรมใดๆ เลย แม้กระทั่งจดหมายของสหรัฐเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ส่งมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อคัดค้านการแบนไกลโฟเซต แต่ก็ไม่ได้คัดค้านการแบนและอ้างการตกค้างของพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสแต่ประการใด

2) ไม่เห็นด้วยกับการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียน ใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตราย และการต่ออายุวัตถุอันตรายเพิ่มเติม เนื่องจากเหตุผลหนึ่งที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 1-1/2562 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 พิจารณาเลื่อนระยะเวลาการแบนออกไปอีก 6 เดือน เป็น 1 มิถุนายน 2563 เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนสามารถจำหน่ายสต็อคสารเคมีกำจัดศัตรูพืชคงค้าง โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียค่าทำลาย การนำเข้ามาเพิ่มเติมเป็นการกระทำที่ขัดกับมติและเจตนาของการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงของคณะกรรมการฯ เอง และจะถูกครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน โดยปราศจากเหตุผลที่ชอบธรรมรองรับ

3) เครือข่ายฯ ยืนยันข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการออกประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายและออกมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในการประชุมครั้งที่ 41-9/2562 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นมติโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามหนังสือเลขที่ มชว.-คตส. 013/2563 ลงวันที่ 15 เมษายน 2563

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ระบุด้วยว่า

“ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เครือข่ายฯ หวังว่าจะไม่เกิดการซ้ำเติมปัญหาสุขภาพทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยยื้อการแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดออกไป

“ภายใต้วิกฤตินี้ ประเทศต้องทบทวนการผลิตพืชอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยวที่ใช้สารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรกรรมผสมผสานที่ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับรายงานและข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ให้แบนสารเคมีร้ายแรงทั้ง 3 ชนิด และส่งเสริมเกษตรกรรมอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืนให้มีพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรกรรมในปี 2573”

ขณะที่เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า นายกลินท์ สารสิน ชี้แจงเหตุผลในการทำหนังสือถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะประชุมในวันที่ 30 เมษายน นี้ พิจารณาผ่อนปรนขยายระยะเวลาบังคับใช้ประกาศแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ออกไปก่อนชั่วคราว เพื่อหาทางออกสำหรับอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ยังจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

“หากไทยแบนสารเคมีไปเลยอาจจะส่งผลให้อุตสาหกรรมขาดวัตถุดิบในการผลิต ดังนั้น ควรหาทางออกร่วมกัน เช่นว่า เป็นไปได้หรือไม่หากจะพิจารณาให้มีการจำกัดการใช้สารเคมี โดยยึดมาตรฐานสากล Codex ซึ่งได้กำหนดปริมาณขั้นต่ำ (minimum) ของสารเคมีในวัตถุดิบได้ ไม่ใช่เลิกเป็น 0 ไปเลย” นายกลินท์กล่าว

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสามชนิดภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 และยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรก โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน มีมติให้เลื่อนการแบน ‘พาราควอต’ และ ‘คลอร์ไพริฟอส’ ออกไปอีก 6 เดือน เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วน ‘ไกลโฟเซต’ ให้จำกัดการใช้และให้จัดอบรมการใช้อย่างเหมาะสม

ล่าสุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งคาดว่าจะมีการเลื่อนการแบนสารเคมีออกไปอีก 6 เดือน หรือปลายปี 2563

สวัสดิการถ้วนหน้าคือวัคซีนฆ่าไวรัสความเหลื่อมล้ำ

นักวิจัยซึ่งเป็นคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย 6 มหาวิทยาลัย รวมตัวกันในนามคณะนักวิจัย โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ได้ร่วมกันจัดทำการสำรวจผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของโรคระบาดโควิด-19 ต่อคนจนเมืองเป็นการเร่งด่วน เพื่อต้องการทราบสถานการณ์ของคนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19 การเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐ ตลอดจนเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และบ้านของคนจนเมือง

ผลสำรวจพบว่า คนจนเมืองเกือบทั้งหมดของผู้ตอบแบบสอบถาม (89.90 เปอร์เซ็นต์) มีการดูแลตนเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน พวกเขาแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนและมีราคาแพงด้วยการหันมาใช้หน้ากากผ้าที่มีราคาถูกกว่า บางครัวเรือนมีการปรับตัวมาเย็บหน้ากากอนามัยขายด้วย ข้อเท็จจริงนี้หักล้างความเข้าใจที่ว่า คนจนเป็นผู้ละเลยไม่ดูแลตนเองและอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงของการแพร่เชื้อ ความเข้าใจที่ว่านี้เป็นความเข้าใจที่ผิด

  • 44.27 เปอร์เซ็นต์ พกเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
  • 29.45 เปอร์เซ็นต์ พกเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือเป็นบางครั้งที่ออกจากบ้าน
  • 26.28 เปอร์เซ็นต์ ไม่พกเจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์เมื่อออกจากบ้าน

คณะผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะเจลหรือแอลกอฮอล์มีราคาแพงกว่าหน้ากากอนามัยจึงมีผู้ใช้น้อยกว่า

ขณะที่สภาพที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองไม่เอื้อให้จัดสรรพื้นที่ หากมีสมาชิกในครอบครัวมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและต้องกักตนเอง

  • 43.79 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยเป็นที่กักสมาชิกในครอบครัวโดยแยกจากคนอื่น
  • 26.43 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่อาศัยไม่พร้อม แต่สามารถดัดแปลงได้
  • 29.78 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่อาศัยมีความเหมาะสมหากจะต้องใช้กักสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวแยกจากสมาชิกคนอื่นๆ

ข้อเท็จจริงประการนี้ สะท้อนว่า หากคนจนเมืองคนใดเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 รัฐจำเป็นต้องให้การดูแลให้การกักตนเองระหว่างดูอาการนั้นมีความเป็นไปได้ มิเช่นนั้น เขาอาจจะนำเชื้อไปเผยแพร่ให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวได้

อยู่บ้านเพื่อชาติ รายได้ลดลงเหลือเดือนละ 3,906 บาท

ข้อมูลจากการสำรวจแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มาตรการต่างๆ ของรัฐที่จำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างเข้มงวด โดยไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้คนจนเมืองต่างประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจอย่างมากในหลายประการ

  • 18.87 เปอร์เซ็นต์ นายจ้างให้หยุดงานโดยสิ้นเชิง
  • 18.00 เปอร์เซ็นต์ นายจ้างให้ลดเวลาทำงานและรายได้ลดลง
  • 18.22 เปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบอาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอยไม่สามารถค้าขายได้ เพราะพื้นที่ที่ค้าขายถูกจำกัด
  • 18.44 เปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ช่าง คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถรับจ้าง รถตู้ ฯลฯ ก็ได้รับผลกระทบมีผู้ว่าจ้างน้อยลงหรือไม่มีเลย

เมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังปกติจึงทำให้รายได้ลดลง

  • 60.24 เปอร์เซ็นต์ รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด
  • 31.21 เปอร์เซ็นต์ รายได้ลดลงราวครึ่งหนึ่ง

กล่าวได้ว่า คนจนเมืองมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากวิกฤติโควิด-19 มีเพียงผู้ที่ทำงานมีเงินเดือนประจำไม่ถึงร้อยละ 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่ได้รับผลกระทบน้อยหรือไม่ได้รับผลกระทบเลย

หากคำนวณเป็นรายได้ที่ลดลงของผู้ตอบแบบสำรวจ คนจนเมืองมีรายได้ลดลงเฉลี่ย 70.84 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมรายได้เฉลี่ยของคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามก่อนวิกฤติโควิด อยู่ที่ 13,397 บาท ต่อเดือน ดังนั้นในช่วงระหว่างวิกฤติคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามรายได้ลดลง 70.84 เปอร์เซ็นต์ หรือ 9,490 บาท ต่อเดือน คงเหลือรายได้เพียง 3,906 บาท ต่อเดือน

จากรายได้ที่ลดลงราว 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนจนเมืองประสบความเดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ

  • 54.41 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีเงินชำระหนี้สิน ทั้งหนี้สินนอกระบบ หนี้รถจักรยานยนต์ หนี้รถปิคอัพ
  • 29.83 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีรายได้ถึงขนาดประสบปัญหาการกินอยู่ในชีวิตประจำวัน คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งดำรงชีพอยู่ได้จากการช่วยเหลือจากภาคเอกชน และบุคคลทั่วไปที่ทำอาหารแจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อน
  • 33.82 เปอร์เซ็นต์ ต้องกู้หนี้ยืมสิน
  • 13.24 เปอร์เซ็นต์ ต้องนำข้าวของไปจำนำ
  • 26.05 เปอร์เซ็นต์ ประสบปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเจ้าของบ้านหรือเจ้าของห้องขับไล่ให้กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการปรับตัวมาทำงานที่บ้านหรือ work from home นั้น คนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 79 ตอบว่า อาชีพที่ตัวเองทำนั้นไม่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้ ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นการตอกย้ำว่า คนจนเมืองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการของรัฐที่จำกัดการออกไปทำงานนอกบ้าน เพราะคนจนเมืองต่างจากชนชั้นกลางหรือผู้ประกอบอาชีพอื่น ที่สามารถปรับตัวจากการทำงานในสำนักงานโดยเครื่องมือสารสนเทศทำงานที่บ้านได้

การเข้าถึงมาตรการเยียวยาของภาครัฐ

  • 66.67 เปอร์เซ็นต์ พยายามลงทะเบียนในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกันของรัฐบาล
  • 51.87 เปอร์เซ็นต์ ลงทะเบียนสำเร็จ
  • 14.60 เปอร์เซ็นต์ ลงทะเบียนไม่สำเร็จ
  • 28.99 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ลงทะเบียน เพราะทราบว่าตนเองขาดคุณสมบัติ
  • 4.54 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ทราบวิธีการในการลงทะเบียนจึงไม่ได้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ

คณะนักวิจัยตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลว่า คนจนเมืองไม่ใช่เป็นคนฉวยโอกาส เพราะเกรงว่าหากไม่มีคุณสมบัติแล้วได้รับเงินจะมีความผิดในภายหลัง นอกจากนี้ ยังมีคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามอีก

เปลี่ยนการสงเคราะห์เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า

คณะนักวิจัยได้ทำข้อเสนอต่อรัฐบาล ว่ารัฐควรปรับเปลี่ยนหลักคิดและวิธีการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤตินี้จาก ‘การสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน’ เป็น ‘การให้สวัสดิการถ้วนหน้า’ หรือเปลี่ยนวิธีการจาก ‘คัดคนเข้า’ เป็น ‘คัดคนออก’ กล่าวคือ แทนที่รัฐจะใช้วิธีการคัดกรองอย่างเข้มงวดว่า เฉพาะคนที่พิสูจน์และผ่านการตรวจสอบว่าได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างชัดเจนเท่านั้น จึงจะได้รับการสงเคราะห์ รัฐควรใช้หลักคิดใหม่ว่า คนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐทั้งสิ้น ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ คงมีเฉพาะคนส่วนน้อยที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าราชการประจำและพนักงานประจำรายเดือนที่ไม่ถูกลดชั่วโมงการทำงาน ยังคงมีรายได้เท่าเดิม ที่จะถูก ‘คัดออก’ ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ

ส่วนคนกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด หากอยู่ในวัยทำงาน คนกลุ่มนี้ควรได้รับการช่วยเหลือทุกคน ดังเช่น หลายประเทศอย่าง สิงคโปร์ ไต้หวัน และ สหรัฐอเมริกา ต่างดำเนินการในแนวทางนี้ และรัฐต้องตระหนักว่า ภาครัฐไม่มีข้อมูลของคนกลุ่มนี้อย่างครบถ้วนและทันสมัย จึงไม่ควรยึดฐานข้อมูลของรัฐเป็นเกณฑ์ในการตัดสิทธิประชาชน หากแต่รัฐควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างฐานข้อมูลและให้การช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด แน่นอนว่า การจ่ายเงินด้วยหลักคิดใหม่นี้ ผู้ประกอบอาชีพอิสระบางรายที่ยังมีรายได้ตามปกติจะหลุดลอดเข้ามาเป็นผู้รับประโยชน์บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว คนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้าและรวดเร็ว

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562 ชี้ว่า ประเทศไทยมีแรงงานรวม 37.5 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งคือ 20.5 ล้านคน ซึ่งก็ใกล้เคียงกับตัวเลขผู้ลงทะเบียนในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน หากรัฐให้การช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คือ 15,000 บาท ต่อคน ก็จะใช้เงินราว 300,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินเพียงครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ตั้งไว้ 600,000 ล้านบาท ที่สำคัญจะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนได้อย่างถ้วนหน้าและทันท่วงที

ตรงกันข้าม วิธีการที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้สะท้อนหลักคิดที่ผิดพลาด คือมุ่งคัดกรองเฉพาะคนผ่านตะแกรงร่อนมารับความช่วยเหลือ โดยไม่ได้ตระหนักว่า มาตรการที่เข้มงวดของรัฐ ทำให้ผู้ประกอบอาชีพนอกระบบต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า อีกทั้งวิธีการดังกล่าวยังล่าช้าและเกิดข้อผิดพลาดในหลายกรณี เพราะเชื่อมั่นในระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มากเกินไป โดยไม่ได้ตระหนักว่าระบบ AI หากไม่มีฐานข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับมาตรการของภาครัฐ คณะนักวิจัยเสนอว่า รัฐควรผ่อนปรนเปิดพื้นที่ค้าขายและการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างมีการจัดการ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดได้คลี่คลายลงและการดำเนินชีวิตของประชาชนก็ต่างตื่นตัวในการป้องกันตนเอง ดังนั้นการเปิดพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ค้าขายอย่างมีการจัดการ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย มีเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมืออย่างทั่วถึง

การจัดพื้นที่ไม่ให้ผู้คนอยู่ใกล้ชิดกัน การต่อคิวอย่างมีระยะห่าง ฯลฯ จะช่วยฟื้นชีวิตทางเศรษฐกิจให้คนจนเมืองและทำให้ผู้คนในเมืองมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และมีความปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน

ในช่วงภาวะวิกฤติ รัฐควรเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รัฐให้แก่ผู้สูงอายุคนละ 600-800 บาท ต่อเดือนตามช่วงอายุ เป็น 2,000 บาท เพราะครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุต่างก็ประสบภาวะฝืดเคืองในช่วงภาวะวิกฤติ การเพิ่มเงินในส่วนนี้ขึ้นไประดับหนึ่งอย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระของครัวเรือนต่างๆ ได้

 

ความจริงที่ถูกซ่อน ใต้ฉลากอาหาร GMO

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมผลักดัน (ร่าง)​ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. … เรื่องการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม หรือ GMO โดยกำหนดให้อาหารที่มีส่วนประกอบของ GMO เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ต้องแสดงข้อมูลบนฉลาก

พูดให้ชัดกว่านั้นคือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มี GMO ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องติดฉลากให้ผู้บริโภครับรู้

คำถามมีอยู่ว่า เนื้อหาของร่างประกาศฉบับนี้เท่ากับเป็นการปิดบังข้อมูลแก่ผู้บริโภค อันเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัย ใช่หรือไม่?

ค้านรัฐบาลตัดงบบัตรทอง 2,400 ล้าน ไม่เห็นหัวประชาชน

‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คัดค้านการตัดงบบัตรทองและงบสาธารณสุขรวมทั้งสิ้นกว่า 3,300 ล้านบาท เนื่องจากผิดหลักการโอนงบประมาณ กระทบต่อคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

การคัดค้านดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อนำมาจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. … ในกรอบวงเงิน 100,395 ล้านบาท โดยให้ตัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 2,400 ล้านบาท และงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข 938.4 ล้านบาท จากนั้นจะนำสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 1, 2 และ 3 วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 และคาดว่าจะประกาศบังคับใช้ประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2563

ทั้งนี้ ในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ รัฐบาลอ้างว่าจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมทั้งกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น

“พวกเรา ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ เป็นประชาชนที่รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนให้เกิดรัฐสวัสดิการและมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพให้มีความยั่งยืนมาตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ขอคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยเฉพาะการตัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรืองบบัตรทอง และงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข”

เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก ระบุเหตุผลว่า

  1. งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ งบบัตรทอง จำนวน 2,400 ล้านบาท คือเงินในส่วนที่เรียกว่า ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 49 ล้านคน ถือเป็นงบกองทุนรักษาพยาบาล เป็นลักษณะรายจ่ายประจำที่เป็นไปเพื่อการจัดสวัสดิการแห่งรัฐ หรือค่าใช้จ่ายรายหัวตามสิทธิพื้นฐานจากการบริการของรัฐที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน อันเป็นหลักการสำคัญที่จะไม่นำงบประมาณรายจ่ายส่วนนี้ไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ขณะที่งบประมาณกระทรวงสาธารณสุข 938.4 ล้านบาท งบลงทุนซ่อม-สร้างอาคาร ห้องพักผู้ป่วย ห้องพักเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ไม่ใช่งบประมาณค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ หรืองบบริหาร ซึ่งหากมีการดึงงบประมาณส่วนนี้ไป ย่อมส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศและคุณภาพในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโดยรวม
  1. ภายใต้วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโครานาสายพันธุ์ใหม่นี้ อาจดูเหมือนว่าประชาชนมารับการรักษาพยาบาลตามหน่วยบริการต่างๆ น้อยลง แต่นั่นเป็นเพราะประชาชนได้รับคำแนะนำให้ชะลอการเข้ามารับการรักษาพยาบาล อีกทั้งโรงพยาบาลต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดความแออัดของหน่วยบริการ เพื่อรองรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีที่สุด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ภาระโรค หรือภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนจะลดน้อยลงไป หากงบประมาณด้านรักษาพยาบาลถูกปรับลดลง จะสร้างภาระด้านการเงิน เพิ่มภาระการบริหารจัดการภายใน ส่งผลต่อภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นและประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลประชาชนในภาพรวมอย่างแน่นอน ดังนั้น แม้คณะรัฐมนตรีจะเตรียมงบประมาณสนับสนุนการรักษาพยาบาล COVID-19 ก็ไม่พึงตัดลดงบประมาณกองทุนบัตรทองและค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ

“พวกเราในนามกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีทบทวนรายละเอียดดังกล่าว โดยยกเลิกการตัดงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2,400 ล้านบาท และงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข 938.4 ล้านบาท ไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย และขอให้การใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ตาม พ.ร.บ.โอนเงินฯ และ พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ เป็นไปอย่างเปิดเผย เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณของแผ่นดินเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง แม้จะเป็นการใช้จ่ายอย่างเร่งด่วนในภาวะวิกฤติก็ตาม” กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เว็บไซต์กรมสรรพาวุธทหารบก ได้เผยแพร่ประกาศกองทัพบก เรื่อง เผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้าง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เกี่ยวกับการจัดซื้อยานเกราะล้อยาง พร้อมระบบอาวุธ จำนวน 50 คัน วงเงิน 4,515 ล้านบาท คาดว่าจะมีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19

อีกทั้งสำนักข่าวประชาไท ยังมีรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา กรมสรรพาวุธทหารบก ได้มีประกาศเรื่องการจ้างซ่อมปรับปรุงปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานกว่า 446 ล้านบาท และแผนการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับสนับสนุนรถถังหลัก จำนวน 4 รายการ วงเงินเกือบ 200 ล้านบาทอีกด้วย

เราไม่ทิ้งกัน ชาวโลกทำกันอย่างไร

เราทั้งหมดมีความทึ่งใจมาก เป็นเรื่องแปลกใจมากที่ทุกอย่างจัดการได้อย่างรวดเร็ว และการดำเนินการเพื่อได้รับเงิน เตรียมตัววางแผนกันมาเป็นอย่างดีเยี่ยม

 Laurenz Bostedt

ข้างต้นคือคำกล่าวของ Laurenz Bostedt ช่างภาพอิสระชาวเยอรมนี หลังจากประเทศเยอรมนีดำเนินนโยบายการเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส Covid-19

นอกจากเยอรมนี หลายประเทศทั่วโลกล้วนเผชิญกับสถานการณ์คล้ายคลึงกัน จึงจำเป็นต้องมีนโยบายช่วยเหลือประชาชน โอบอุ้มภาคธุรกิจ เพื่อพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำข้อมูลมาตรการการเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส Covid-19 ในประเทศต่างๆ

ในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ละประเทศดำเนินนโยบายอย่างไร เพื่อทำให้คำว่า “เราไม่ทิ้งกัน” สมจริงและมีผลในทางปฏิบัติมากกว่าคำพูด

ญี่ปุ่น

แจกเงิน

  • แจกเงิน 1 แสนเยน (ราว 30,000 บาท) ให้ประชาชนทุกคน

เงินอุดหนุน-ชดเชย

  • ให้เงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบสูงสุด 8,330 เยน/วัน (ราว 2,500 บาท)
  • ให้เงินช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือรับจ้างทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ 4,100 เยน/วัน (ราว 1,200 บาท)

เยียวยา

  • กู้เงินฉุกเฉินได้คนละ 100,000-200,000 เยน (ราว 30,000-60,000 บาท) โดยไม่คิดดอกเบี้ย

ภาคธุรกิจ

  • ปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ โดย Japan Federation of Credit Guarantee Corporations (JFG) จะช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้
  • ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศใช้ Special Funds-Supplying Operations ช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยไม่คิดดอกเบี้ย เป็นเวลา 1 ปี

เกาหลีใต้

แจกเงิน

  • แจกเงินครัวเรือนละ 1 ล้านวอน (ราว 27,000 บาท) ยกเว้นครัวเรือนที่มีรายได้สูง (ประมาณ 30% ของครัวเรือนทั้งหมด)
  • แจกบัตรของขวัญจำนวน 3.5 ล้านล้านวอน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น
  • แจกเงินผ่าน paychecks กระตุ้นการใช้จ่าย

เงินอุดหนุน-ชดเชย

  • เพิ่มเงินเดือน 20% ให้ผู้สูงอายุ
  • เพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้หางานอายุน้อย

เยียวยา

  • ลดภาษีรถยนต์ส่วนตัว 70%
  • คืนเงินที่ใช้ซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน 10% หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากประหยัดไฟ

ภาคธุรกิจ

  • อุดหนุนบริษัทที่พนักงานลาหยุดโดยที่ยังได้รับค่าจ้าง (paid leave) เพื่อกักตัว 14 วัน
  • ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก
  • ให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยจ่ายเงินเดือนพนักงาน
  • ช่วยเหลือร้านค้าขนาดเล็กที่มีผู้ติดเชื้อแวะเข้าไปในพื้นที่ เมื่อกลับมาเปิดทำการปกติ
  • ให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการป้องกันเพลิงสำหรับเจ้าของที่ หรือผู้ให้เช่าตลาดพื้นเมือง (traditional market) หากผู้ให้เช่าลดค่าเช่าอย่างน้อย 20% ของทั้งพื้นที่

ฮ่องกง

แจกเงิน

  • ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจะได้รับเงิน 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 42,000 บาท)
  • เพิ่มเบี้ยเลี้ยงรายเดือนให้ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยเป็น 2 เท่า

เงินอุดหนุน-ชดเชย

  • พนักงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะได้รับเงินชดเชย 50% เป็นเวลา 6 เดือน สูงสุดไม่เกิน 9,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 38,000 บาท)

เยียวยา

  • ผู้เช่าที่อยู่อาศัยในอสังหาฯ ที่เป็นของรัฐ จะได้รับส่วนลดค่าเช่า 75%
  • สร้างงาน 30,000 ตำแหน่ง รวมถึงงานราชการและฝึกงาน
  • ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า MTR 20% เป็นเวลา 6 เดือน
  • เลื่อนจ่ายภาษีออกไปอีก 3 เดือน

ภาคธุรกิจ

  • ให้เงินช่วยเหลือธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
  • สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ SMEs โดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเต็มจำนวน เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ ไม่เกินจำนวน 2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงต่อธุรกิจ
  • เยียวยาผู้ประกอบการของท่าอากาศยานฮ่องกงโดยเฉพาะร้านค้าปลีกและร้านอาหาร ด้วยการลดค่าเช่าสถานที่ และค่าบริการสนามบินอื่นๆ

มาเลเซีย

แจกเงิน

  • คนขับแท็กซี่ คนขับรถทัวร์ คนขับสามล้อที่ขึ้นทะเบียน และไกด์ท่องเที่ยว
    ได้รับเงิน 600 ริงกิต (ราว 4,500 บาท)
  • ครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 4,000 ริงกิต (ราว 30,000 บาท) ได้รับเงิน 1,600 ริงกิต (ราว 12,000 บาท)
  • คนโสดอายุ 21 ปีขึ้นไปที่มีรายได้ไม่เกิน 2,000 ริงกิต (ราว 15,000 บาท) ได้รับเงิน 800 ริงกิต (ราว 6,000 บาท)
  • ครอบครัวที่มีรายได้ 4,001-8,000 ริงกิต ได้รับเงิน 1,000 ริงกิต (ราว 7,500 บาท)
  • คนโสดอายุ 21 ปีขึ้นไป มีรายได้ 2,001-4,000 ริงกิต (ราว 15,000-30,000 บาท) ได้รับเงิน 500 ริงกิต (ราว 3,750 บาท)

เงินอุดหนุน-ชดเชย

  • ไม่อนุญาตให้นายจ้างลดเงินเดือนลูกจ้าง ที่มีรายได้ต่ำกว่า 4,000 ริงกิตต่อเดือน (ราว 30,000 บาท)
  • ลดอัตราการส่งเงินสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจาก 11% เหลือ 7%
  • แรงงานที่ต้องหยุดพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 และได้ขึ้นทะเบียนประกันการว่างงาน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 600 ริงกิตต่อเดือน (ราว 4,500 บาท) เป็นระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน
  • เพิ่มเบี้ยเลี้ยงพิเศษให้บุคลากรสาธารณสุข จากเดิม 400 ริงกิต/เดือน เป็น 600 ริงกิต/เดือน (ราว 4,500 บาท)
  • จ่ายเบี้ยเลี้ยงพิเศษให้กับทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ป้องกันพลเรือน พนักงานดับเพลิง และอาสาสมัคร 200 ริงกิต/เดือน (ราว 1,480 บาท)
  • ข้าราชการและข้าราชการเกษียณ ได้รับเงิน 500 ริงกิต (ราว 3,700 บาท)

เยียวยา

  • ลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา
  • ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี ตลอดช่วงการ lockdown
  • ขยายเวลาชำระหนี้สินเชื่อต่างๆ รวมถึงสัญญาจำนองและสัญญาเช่าซื้อให้แก่ลูกหนี้รายบุคคลและผู้ประกอบการ SMEs เป็นเวลา 6 เดือน
  • ขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เมษายน 2563
  • ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุด 1,000 ริงกิต (ราว 7,500 บาท) เมื่อใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในประเทศ (ตั้งแต่มีนาคม-สิงหาคม 2563)

ภาคธุรกิจ

  • ให้เงิน 1,000 ริงกิต (ราว 7,500 บาท) แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นจำนวน 10,000 ราย เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าใน E-commerce
  • ลดค่าไฟฟ้า 15% ต่อเดือน สำหรับธุรกิจโรงแรม บริษัทท่องเที่ยว สายการบิน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์แสดงสินค้า และสวนสนุก (ตั้งแต่เมษายน-กันยายน 2563)
  • จัดสรรเงินช่วยเหลือ 200 ล้านริงกิต ให้แก่ Human Resource Development Fund (HRDF) เพื่อให้ลูกจ้าง 40,000 คน ในภาคการท่องเที่ยวและผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

สิงคโปร์

แจกเงิน

  • ผู้ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป และมีรายได้น้อยกว่า 28,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/ปี (ราว 644,000 บาท) จะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,200 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 27,600 บาท)
  • คนที่มีรายได้ 28,000-100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/ปี (ราว 644,000-2,300,000 บาท) จะได้รับเงินช่วยเหลือ 900 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 20,700 บาท)
  • คนที่มีรายได้มากกว่า 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/ปี (ราว 2,300,000 บาท) หรือเป็นเจ้าของอสังหาฯ มากกว่า 1 แห่ง จะได้รับเงินช่วยเหลือ 600 ดอลลาร์สิงคโปร์
  • สำหรับคนที่มีลูกอายุต่ำกว่า 21 ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 6,900 บาท)
  • ผู้สูงอายุ (มากกว่า 50 ปีขึ้นไป) จะได้รับการเติมเงินในบัตร PAssion 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2,300 บาท) เพื่อใช้ซื้อสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าในเครือข่าย
  • ผู้มีรายได้น้อยจะได้เงินอุดหนุนและคูปองซื้ออาหารเพิ่ม 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2,300 บาท)

เงินอุดหนุน-ชดเชย

  • พนักงานของบริษัทที่ต้องกักตัวจะถือว่าเป็นการลาป่วยพิเศษและได้รับเงินเดือน
  • บริษัทที่พนักงานต้องกักตัวตามคำสั่ง จะได้รับเงินชดเชยวันละ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2,300 บาท) หลังจากพนักงานครบกำหนดระยะเวลา Quarantine
  • คนขับแท็กซี่และรถเช่าส่วนบุคคล ที่ถูกสั่งให้กักตัว (Quarantine Order) จะได้รับเงินชดเชยอย่างน้อย 400 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 9,200 บาท) พร้อมยกเว้นค่าเช่าแท็กซี่
  • คนขับรถแท็กซี่และรถเช่าส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้ใช้บริการลดลง จะได้รับเงินชดเชยไม่เกิน 20 ดอลลาร์สิงคโปร์/คัน/วัน (ราว 460 บาท) เป็นเวลา 3 เดือน
  • คนที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ที่เป็นผู้อยู่อาศัยถาวรและเป็นพลเมืองของสิงคโปร์ จะได้รับเงินชดเชยวันละ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2,300 บาท)

เยียวยา

  • สนับสนุนเงินค่าไฟฟ้าและน้ำประปา เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตามขนาดของครัวเรือน (โครงการ USave rebates เป็นมาตรการที่มีอยู่แล้ว แต่เพิ่มมูลค่าเงินสนับสนุน)

ภาคธุรกิจ

  • เดือนเมษายน 2563 รัฐบาลช่วยทุกบริษัทจ่ายเงินเดือนพนักงาน 75% แต่สูงสุดไม่เกินคนละ 3,450 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 79,000 บาท)
  • เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2563 รัฐจะช่วยจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 25-75% ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ เช่น ธุรกิจการบินและท่องเที่ยว ได้รับ 75%, ธุรกิจอาหาร ได้รับ 50%, อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้รับ 25%

ฟิลิปปินส์

แจกเงิน

  • แจกเงินกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 18 ล้านครัวเรือน จำนวน 5,000-8,000 เปโซฟิลิปปินส์ (ราว 3,200-5,000 บาท) เป็นเวลา 2 เดือน รวมถึงกลุ่มคนไร้บ้าน ครอบครัวที่มีคนว่างงาน ผู้สูงอายุ ครอบครัวเล็ก ผู้พิการ ผู้ตั้งครรภ์และต้องหยุดงานเพื่อให้นมบุตร

เงินอุดหนุน-ชดเชย

  • สนับสนุนค่าจ้าง และสนับสนุนด้านการเงินให้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เยียวยา

  • จัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานและได้รับผลกระทบผ่านการเพิ่มทักษะ รวมทั้งมีคอร์สเรียนฟรีผ่านมือถือและคอมพิวเตอร์
  • จัดสรรสินเชื่อภายใต้โครงการของ Government Service Insurance System (GSIS) ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงผู้เกษียณที่ได้รับผลกระทบ

อิตาลี

แจกเงิน

  • จ่ายค่าชดเชย 50%ของเงินเดือนให้พ่อแม่ที่ใช้สิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร (parental leave) สำหรับครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
  • แจกคูปองให้ลูกจ้างในภาคการท่องเที่ยว คนละ 600 ยูโร (ราว 21,300 บาท)

เงินอุดหนุน-ชดเชย

  • สนับสนุนค่าจ้าง และสนับสนุนด้านการเงินให้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เยียวยา

  • เลื่อนจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ รวมทั้งค่าเช่าที่อยู่อาศัยของครัวเรือนออกไป
  • ลดหย่อนภาษีและเลื่อนการจ่ายเบี้ยประกันให้กับผู้มีรายได้รวมต่ำกว่า 2 ล้านยูโร/ปี รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดเมือง

ภาคธุรกิจ

  • ลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจที่มีรายได้รวมต่ำกว่า 2 ล้านยูโร/ปี รวมทั้งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดเมือง
  • อนุญาตให้พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
  • จัดสรรงบประมาณมูลค่ากว่า 4 พันล้านยูโร ให้แก่หน่วยงาน SACE (State-owned Export Credit Agency) เพื่อสนับสนุนธุรกิจส่งออกและขาดสภาพคล่อง

สเปน

เงินอุดหนุน-ชดเชย

  • จ่ายเงินให้พนักงานบริษัทที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 75% ของเงินเดือน
    ภาคธุรกิจ

เยียวยา

  • ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ประปา อินเทอร์เน็ต และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ให้บริการทั่วถึงแก่ประชาชนทุกคน
  • ลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ตกงานหรือผู้ที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ภาคธุรกิจ

  • รัฐบาลสเปนช่วยจ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้พนักงานแทนบริษัทที่เป็น SMEs เต็มจำนวน แต่กรณีที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่กว่า SMEs รัฐบาลจะจ่ายให้ในสัดส่วน 75%

เยอรมนี

เงินอุดหนุน-ชดเชย

  • รัฐบาลจ่ายเงินค่าจ้างบางส่วนให้พนักงานที่สูญเสียรายได้จากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง และหากพนักงานมีบุตร จะได้เงินสนับสนุน 67%  ครอบคลุมทั้งพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว (temporary worker)

ภาคธุรกิจ

  • รัฐบาลช่วยจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเต็มจำนวนให้พนักงานจนถึงสิ้นปี 2564 จากเดิมกำหนดให้บริษัทเอกชนต้องเป็นผู้จ่ายให้พนักงาน
  • รัฐบาลท้องถิ่น (state government) อาทิ แคว้นบาวาเรีย มีแผนการจ่ายเงินโดยตรงให้แก่ SMEs รายเล็ก เพื่อเยียวยาผลกระทบอย่างเร่งด่วน เป็นเงินจำนวน 5,000-30,000 ยูโร/ราย (ราว 178,000-1,070,000 บาท)
  • ปรับกฎเกณฑ์ทางภาษีให้ยืดหยุ่นขึ้น อาทิ อนุมัติให้บริษัทเอกชนที่ได้รับผลกระทบเลื่อนการจ่ายภาษีออกไปได้ และไม่คิดเบี้ยปรับภาษีจนถึงสิ้นปี 2563
  • สนับสนุนสภาพคล่องให้กับบริษัทเอกชน โดยผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของโครงการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทเอกชน และโครงการปล่อยสินเชื่อให้กับ start-up ที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี

ฝรั่งเศส

เงินอุดหนุน-ชดเชย

  • ครอบครัวได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกครอบครัวละ 150 ยูโร (ราว 5,300 บาท) และอีก 100 ยูโร (ราว 3,500 บาท) ต่อบุตร 1 คน
  • ครอบครัวที่ได้รับเงินช่วยเหลือเกี่ยวกับที่พักอาศัย หรือเงินช่วยเหลือผู้พิการ จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 100 ยูโร (ราว 3,500 บาท)
  • กรณีสูญเสียรายได้จากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยครอบคลุมทั้งพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว

ภาคธุรกิจ

  • อนุญาตให้บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เลื่อนการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม และการจ่ายภาษี
  • บริษัทที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สามารถแสดงความจำนงเพื่อขอภาษีคืนได้
  • ไม่มีบทลงโทษสำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบ หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้กับคู่สัญญาที่เป็นรัฐ

อังกฤษ

เงินอุดหนุน-ชดเชย

  • ชดเชยรายได้ให้ลูกจ้างที่ต้องกักตัว 14 วัน หรือป่วยโควิด-19 สัปดาห์ละ 95.85 ปอนด์ (ราว 3,900 บาท) สูงสุด 28 สัปดาห์

เยียวยา

  • อนุโลมให้ผู้เช่าที่อยู่อาศัยจ่ายค่าเช่าบ้านได้ต่ำสุดที่ 30% ของค่าเช่าบ้านในแต่ละเขต มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563
  • หากกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สามารถขอยกเว้นการผ่อนชำระได้ 3 เดือน
  • เลื่อนการจ่ายภาษีให้บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
  • หากยื่นภาษีจะได้รับคืนภาษีเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 20 ปอนด์ (ราว 1,040 ปอนด์/ปี)

ภาคธุรกิจ

  • รัฐช่วยจ่ายเงินเดือนแทนนายจ้างที่ถูกพักงาน หรือปิดกิจการจากโควิด-19 สูงสุด 80% ของเงินเดือนที่เคยได้ แต่ไม่เกิน 2,500 ปอนด์ (ราว 100,000 บาท) เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่มีนาคม-พฤษภาคม 2563
  • สนับสนุนเงินทุนให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นให้ปล่อยสินเชื่อกับกลุ่ม SMEs
  • ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จาก 1% เป็น 0% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น
  • ช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดเล็ก โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียม 1 ปี, ให้เงิน 3,000 ปอนด์ (ราว 120,000 บาท) กับธุรกิจขนาดเล็กประมาณ 7 แสนบริษัท
  • ยกเว้น business rate tax เป็นเวลา 1 ปี
  • เลื่อนการจ่ายภาษี VAT ของภาคธุรกิจและภาษีรายได้ออกไป

สหรัฐอเมริกา

แจกเงิน

  • คนโสดที่มีรายได้น้อยกว่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 2.4 ล้านบาท) จะได้รับเงินจากรัฐบาล 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 38,400 บาท)
  • คนโสดที่มีรายได้ 75,001- 99,999 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี ได้รับเงินลดหลั่นลงมา
  • ครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่า 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 4.8 ล้านบาท) ได้รับเงิน 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 38,400 บาท)
  • ครอบครัวที่มีลูกอายุต่ำกว่า 17 ปี จะได้รับเพิ่ม 500 ดอลลาร์สหรัฐ/คน (ราว 16,000 บาท)
  • คนว่างงานจะได้รับเพิ่มอีก 600 ดอลลาร์สหรัฐ/สัปดาห์ เป็นเวลา 4 เดือน (ราว 19,200 บาท/สัปดาห์)
  • แจกเงิน 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ/คน (ราว 48,000 บาท) ให้กับทุกคนที่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี

เยียวยา

  • พักชำระหนี้เพื่อการศึกษาได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
  • ถ้าต้องลาป่วยเพราะโควิด-19 เป็นเวลา 2 สัปดาห์ จะได้รับค่าจ้างตามปกติ ถ้า 10 สัปดาห์ จะได้รับค่าจ้าง 2 ใน 3
  • ขยายระยะเวลาการชำระภาษีเงินได้ประจำปี 2562 ออกไป 3 เดือน จากวันที่ 15 เมษายน 2563 เป็น 15 กรกฎาคม 2563 สำหรับยอดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาคธุรกิจ

  • จัดสรรเงินกู้วงเงิน 3.67 แสนล้านดอลลาร์ ให้กับธุรกิจ SMEs
  • รับซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นที่มีอายุน้อยกว่า 270 วัน (Commercial Paper) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ออสเตรเลีย

แจกเงิน

  • แจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ ผู้รับเงินบำนาญ จำนวน 750 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 15,000 บาท)
  • แจกเงิน 550 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 11,000 บาท) ทุก 15 วัน ให้กับคนตกงาน เกษตรกร ฯลฯ เป็นระยะเวลา 6 เดือน

เงินอุดหนุน-ชดเชย

  • อนุญาตให้ถอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อการเกษียณอายุได้ก่อนกำหนด 20,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 400,000 บาท) โดยไม่ต้องเสียภาษี
  • ผ่อนคลายเกณฑ์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันสังคม

ภาคธุรกิจ

  • รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานคนละ 1,500 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 30,000 บาท) ทุก 2 สัปดาห์ สูงสุด 6 เดือน โดยบริษัทนั้นต้องมีรายได้ไม่เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และต้องมีรายได้ลดลงอย่างน้อย 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่หากเป็นบริษัทที่มีรายได้เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จะต้องมีรายได้ลดลงอย่างน้อย 50%
  • ค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 50% ของวงเงินสินเชื่อ พร้อมทั้งเร่งกระบวนการพิจารณาสินเชื่อให้เร็วขึ้น
  • ให้เงินช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน (สายการบินและสนามบิน)

แคนาดา

แจกเงิน

  • ผู้ที่ว่างงานจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 2,000 ดอลลาร์แคนาดา (ราว 46,000 บาท) เป็นเวลา 4 เดือน

เยียวยา

  • ผ่อนผันการชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัย
  • เลื่อนจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้ทุกคนโดยอัตโนมัติ ไปจนถึง 30 กันยายน 2563

ภาคธุรกิจ

  • รัฐบาลช่วยจ่ายค่าจ้าง 75% เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 6 มิถุนายน 2563 โดยจะจ่ายให้ไม่เกิน 847 ดอลลาร์แคนาดา/สัปดาห์ (ราว 20,000 บาท) สำหรับบริษัทหรือองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เท่านั้น และต้องเป็นบริษัทที่มีรายได้ลดลงอย่างน้อย 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน
  • เลื่อนการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2562 ไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2563
  • เลื่อนชำระภาษีไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563

นิวซีแลนด์

เยียวยา

  • นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีประกาศลดเงินเดือนตัวเองลง 20%

ภาคธุรกิจ

  • รัฐบาลช่วยนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้พนักงานที่ทำงานในบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และมีรายได้ลดลงอย่างน้อย 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนี้
  • หากเป็นพนักงานประจำ (full-time) ซึ่งทำงานสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมงขึ้นไป จะได้รับค่าจ้าง 585.80 ดอลลาร์นิวซีแลนด์/สัปดาห์ (ราว 11,500 บาท) เป็นเวลา 12 สัปดาห์
  • หากเป็นพนักงานพาร์ตไทม์ (part-time) ซึ่งทำงานน้อยกว่าสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง จะได้รับค่าจ้าง 350 ดอลลาร์นิวซีแลนด์/สัปดาห์ (ราว 6,800 บาท) เป็นเวลา 12 สัปดาห์

 

วิกฤติขาดแคลนยา ภารกิจเร่งด่วนในสถานการณ์ COVID-19

ผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เริ่มก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนยาจำเป็นในบางรายการ ขณะที่อุตสาหกรรมยาก็เริ่มประสบปัญหาในการจัดหาวัตถุดิบยา เหตุจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ใช้มาตรการปิดประเทศ

“ถ้าประเทศไทยไม่เตรียมมาตรการจัดการยา ทั้งการสั่งซื้อล่วงหน้า การกระจายยา และการสำรองยา นอกจากจะเกิดปัญหาในกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรค COVID-19 แล้ว ยาจำเป็นอื่นๆ เช่น ยาช่วยชีวิต ยารักษาโรคเรื้อรัง ก็จะเกิดปัญหาตามมา” รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เสียงสะท้อนและข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมและเครือข่าย…กำลังรอคำตอบจากรัฐบาล

พิษ COVID-19 ยอดร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ-ยกเลิกเที่ยวบิน-หนี้บัตรเครดิต พุ่งสูงสุด

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถิติสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบหลายด้าน โดยในช่วง 3 เดือนนี้ มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภคได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมดจำนวน 1,055 เรื่อง

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากสถิติเรื่องร้องเรียนพบข้อสังเกตที่น่าสนใจ 3 อันดับแรก ดังนี้

(ภาพ: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)

อันดับ 1 อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ยังคงเหมือนกับสถิติปี 2562 คือ เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ จำนวน 381 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 36.11 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด

เมื่อดูรายละเอียดของเรื่องร้องเรียนจะพบว่า หมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ลักษณะปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหรือหลอกลวง ซึ่งมีมากถึง 137 เรื่อง มีทั้งการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง การแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ แสดงที่ตั้งอันเป็นเท็จทำให้หลงเชื่อ

ทั้งนี้ ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหามากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเลข อย. ผลิตภัณฑ์ที่ฉลากถูกสั่งเลิกใช้แล้ว และผลิตภัณฑ์ที่ฉลากไม่ครบถ้วน ไม่มีภาษาไทย

อันดับ 2 บริการสาธารณะ

ปัญหาจากการใช้บริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 353 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 33.46 โดยปัญหาการเลื่อน-ยกเลิกเที่ยวบิน เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ปัญหาเรื่องรถโดยสารสาธารณะยังคงเป็นปัญหาที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 216 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพนักงานประพฤติตัวไม่เหมาะสม และการชดเชยเยียวยาความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสาร ประเภทรถที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ รถตู้โดยสาร และรถโดยสารประจำทาง (รถทัวร์)

นอกจากนี้ ยังพบการร้องเรียนสายการบินจำนวน 128 เรื่อง โดยเป็นปัญหาเรื่องการเลื่อน-ยกเลิกเที่ยวบินถึง 124 เรื่อง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เช่น การประกาศเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ เป็นต้น ซึ่งสายการบินควรจะมีนโยบายการเลื่อน ยกเลิก และคืนเงินให้ผู้บริโภค เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลด้วย

ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเลื่อน-ยกเลิกตั๋วสายการบินหรือทัวร์ สามารถอ่านรายละเอียดการร้องเรียน และดาวน์โหลดจดหมายได้ที่ เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อันดับ 3 การเงินการธนาคาร

ปัญหาเรื่องการเงินการธนาคาร มีผู้ร้องเรียน 94 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 8.91 โดยปัญหามากกว่าครึ่งหนึ่งของหมวดการเงินการธนาคารเป็นการปรึกษาเรื่องหนี้บัตรเครดิต ซึ่งปัญหาที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

ปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต ส่วนใหญ่ผู้บริโภคขอคำปรึกษาเรื่องการผิดนัดชำระ จนเกรงว่าจะทำให้ตนเองติดเครดิตบูโรหรือถูกฟ้องคดี เนื่องจากเมื่อมีการระบาดของ COVID-19 ประชาชนบางกลุ่มถูกให้ออกจากงานเพื่อลดภาระของบริษัท หรือบางบริษัทต้องปิดตัวลง ทำให้ไม่สามารถหาเงินไปชำระหนี้บัตรเครดิตได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาธุรกิจเช่าซื้อยานพาหนะ ธุรกิจสินเชื่อ ที่ได้รับผลกระทบเรื่องการชำระหนี้ แม้รัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือโดยให้สถาบันการเงินบางแห่งพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นเวลา 3 เดือน แต่ก็ยังช่วยเหลือลูกหนี้ได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากผู้บริโภคบางรายมีหนี้สินกับหลายสถาบัน แต่การหยุดพักชำระหนี้ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด รวมถึงระบบการเยียวยาไม่ได้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ทำให้ปัญหาเรื่องหนี้สินของผู้บริโภคยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น

 

จากสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปแล้ว 693 เรื่อง หรือร้อยละ 65.69 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมดในช่วงไตรมาสแรก โดยเรื่องเฝ้าระวังสินค้าอันตรายออนไลน์ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA รวมถึงตลาดออนไลน์ต่างๆ (E-Market place) เช่น Lazada, Shopee ในการจัดการปัญหา หากมีเรื่องร้องเรียนหรือพบว่ามีร้านค้าขายสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตลาดออนไลน์ก็จะมีการตรวจสอบและดำเนินการนำสินค้านั้นออกจากหน้าเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น

ส่วนการแก้ไขปัญหาด้านอื่น เช่น บริการสายการบิน มพบ. และเครือข่าย ได้ประสานงานกับทางบริษัท เพื่อให้ยกเลิกและคืนเงินให้กับผู้บริโภค

ที่มา: www.consumerthai.org

 

COVID-19: เหตุผลที่ต้องสังคายนาระบบคลังยา ก่อนเผชิญวิกฤติระลอกสอง

คลื่นลูกใหญ่จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โถมซัดไปทั่วทุกมุมโลก และคลื่นลูกที่สองที่อาจกระทบฝั่งตามมาในเร็วๆ นี้คือ วิกฤติขาดแคลนยา ไม่ใช่เฉพาะยารักษาโรค COVID-19 เท่านั้นที่อาจไม่เพียงพอ แต่ยังหมายรวมถึงยาประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะยาสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีความจำเป็นต้องเข้าถึงยาและต้องได้รับการดูแลอาการอย่างต่อเนื่อง

มีการคาดการณ์ว่า หากรัฐยังไม่มีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการเข้าถึงยาจำเป็นเหล่านี้ อีกไม่เกิน 1 เดือน จะเกิดปัญหาโกลาหลของห้องยาและผู้ป่วยอย่างแน่นอน

รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ประเมินว่าสถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤติขาดแคลนยาและจะกระทบผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมาก

“ถ้าประเทศไทยไม่เตรียมมาตรการจัดการยา ทั้งการสั่งซื้อล่วงหน้า การกระจายยา และการสำรองยา นอกจากจะเกิดปัญหาในกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรค COVID-19 แล้ว ยาจำเป็นอื่นๆ เช่น ยาช่วยชีวิต ยารักษาโรคเรื้อรัง ก็จะเกิดปัญหาตามมา”

9 มีนาคม 2563 เมื่อเริ่มปรากฏสัญญาณการขาดแคลนยาจำเป็นในบางรายการ สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ได้จัดประชุมหารือร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อระดมความเห็นในการเตรียมความพร้อมด้านยาและเวชภัณฑ์ในภาวะวิกฤติ โดยมีข้อค้นพบเบื้องต้นว่า เรื่องการบริหารจัดการยาทั้งระบบยังไม่มีเจ้าภาพหลักอย่างเป็นทางการ การเตรียมการจัดหายาและเวชภัณฑ์ในภาวะฉุกเฉิน ควรต้องจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

25 มีนาคม 2563 สภาเภสัชกรรมจัดประชุมครั้งที่ 2 มีข้อสังเกตที่น่าสนใจจากสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยาภายในประเทศกำลังประสบปัญหาการจัดหาวัตถุดิบยา เนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และยุโรป ได้ใช้มาตรการปิดประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการจัดส่งวัตถุดิบยาและบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับเริ่มให้สถานพยาบาลบางแห่งจ่ายยาโรคเรื้อรังให้กับผู้ป่วยล่วงหน้า 6 เดือน ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนยาในบางรายการแล้ว ขณะที่ในภาวะปกติอุตสาหกรรมยาจะสำรองวัตถุดิบในการผลิตยาไว้เพียง 6 เดือนเท่านั้น

ที่ประชุมสภาเภสัชกรรมเล็งเห็นว่า ปัญหาสำคัญที่สุดเวลานี้คือ ประเทศไทยยังขาดฐานข้อมูลที่เป็นระบบ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการบริหารจัดการยา เมื่อไม่มีฐานข้อมูลที่ชัดเจนจึงยากที่จะตรวจสอบปริมาณความต้องการยา การสั่งซื้อ การสำรองยา ไปจนถึงการติดตามประเมินผลว่ามีการกระจายยาอย่างเหมาะสมหรือไม่

ในด้านการบริหารจัดการยา ขณะนี้รัฐยังไม่มีนโยบายชัดเจนที่จะให้สถานพยาบาลสำรองยาในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการบริหารการกระจายยา ซึ่งอาจทำให้มียาสำรองในบางสถานพยาบาลมากเกินจำเป็น จนส่งผลให้เกิดการขาดแคลนยาในตลาดยาได้

27 มีนาคม 2563 เอกสารด่วนที่สุดจากสภาเภสัชกรรมและเครือข่ายภาคี ส่งตรงถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีข้อเสนอให้รัฐเร่งวางโครงสร้างบริหารจัดการยาในภาวะวิกฤติ โดยจัดตั้ง war room หรือศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการบริหารระดับนโยบายที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กล่าวภายหลังจากยื่นข้อเสนอดังกล่าวแล้วว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานได้เริ่มมีการขยับตัว ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ อย. เพราะตระหนักแล้วว่า ปัญหาขาดแคลนยากำลังคืบคลานเข้ามาทุกขณะ

รายละเอียดในข้อเสนอยังระบุด้วยว่า แนวทางในการบริหารจัดการยาต้องคำนึงถึงยา 3 กลุ่มใหญ่ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการ

ยากลุ่มแรก คือกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษา COVID-19 มีทั้งยาที่ใช้รักษาโดยตรง และยาที่ใช้ตามอาการ (supportive) เช่น อาการไอ หรืออาการข้างเคียงต่างๆ

ยากลุ่มที่สอง คือกลุ่มยาช่วยชีวิต หรือยาจำเป็นโรคอื่นๆ

ยากลุ่มที่สาม คือกลุ่มยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ

รศ.ภญ.จิราพร อธิบายเพิ่มว่า ยาทั้งสามกลุ่มดังกล่าวต้องมีศูนย์กลางในการบริหารจัดการโดยตรง เพื่อจะได้รู้ว่ามีการกระจายยาไปที่ไหนอย่างไร ทำให้เป็นระบบที่ถูกต้องชัดเจน เวลาเราต้องการยาก็จะมียาใช้ และรู้ปริมาณความต้องการใช้

“ตอนนี้เนื่องจากโรค COVID-19 ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศไทยแล้ว โรงพยาบาลชุมชนก็ต้องรับดูแลผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น และอาจจำเป็นต้องมียาสำรองไว้ใช้อย่างเหมาะสมเพียงพอ ฉะนั้นยาเหล่านี้จึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดี

“เราเห็นว่ายังมีปัญหาอยู่เยอะ ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือ ฐานข้อมูล เราต้องการรู้ว่า ณ ปัจจุบันเรามียาสำรองอยู่มากน้อยแค่ไหน มีปัญหาเรื่องการขนส่งไหม สต๊อคของโรงงานเพียงพอแค่ไหน ปกติแล้วโรงงานจะมีการสำรองวัตถุดิบไว้ประมาณ 3 เดือน และสั่งใหม่ทุกๆ 3 เดือน คำถามก็คือ การสำรองยา 3 เดือน ในสถานการณ์นี้เหมาะหรือไม่เหมาะ พอระบบฐานข้อมูลของเรามีปัญหา การบริหารจัดการก็จะมีปัญหา”

อีกข้อเสนอชัดๆ ของสภาเภสัชกรรมคือ รัฐควรมีนโยบายให้โรงพยาบาลสั่งซื้อยาล่วงหน้า 6 เดือน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเตรียมจัดหาวัตถุดิบให้สอดคล้องต่อปริมาณความต้องการ

“ทางโรงงานอุตสาหกรรมยาเขาถามเราคำหนึ่งว่า การให้เอกชนสำรองวัตถุดิบไว้ 6 เดือน จะทำให้เขาขาดสภาพคล่อง ฉะนั้น ขอให้รัฐเข้ามาช่วยได้ไหม ไม่ได้ต้องการอะไรมาก ขออย่างเดียวคือ ขอให้จ่ายเงินเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้เขาเป็นหนี้”

ประเด็นต่อมา เนื่องจากประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบยาที่สำคัญ อย่างจีน อินเดีย เมื่อมีการประกาศปิดประเทศแล้วอาจกระทบต่อระบบขนส่ง จึงมีข้อเสนอว่า ขอให้กระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐบาลได้มีการประสานแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อขอให้อำนวยความสะดวกในการขนส่งยาและเวชภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม รศ.ภญ.จิราพร ให้มุมมองทิ้งท้ายว่า ถ้าเรามองสถานการณ์ COVID-19 เป็นบทเรียนในการเรียนรู้เพื่อเตรียมการรองรับในอนาคต เมื่อพ้นสถานการณ์ COVID-19 แล้ว ระบบบริหารจัดการยาที่ถูกสร้างไว้ก็จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาวิกฤติอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันการณ์

“เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งเริ่มถูกพูดถึงในประเทศไทย เราคุยกันมานาน แต่ทุกวันนี้ระบบก็ยังไม่เกิด”

เสียงสะท้อนและข้อเสนอของเครือข่ายเภสัชกร กำลังรอคำตอบจากรัฐบาล

 

สภาเภสัชฯ ส่งสัญญาณเตือนวิกฤติขาดแคลนยาในภาวะฉุกเฉิน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อนับเป็นภารกิจเร่งด่วนอันดับหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกันจัดระบบการบริหารจัดการยา ทั้งการจัดหาและการกระจายยา เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเหล่านี้ได้

ขณะเดียวกัน ไม่เพียงแต่ยาที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 เท่านั้นที่มีความสำคัญเร่งด่วน ยาประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยาช่วยชีวิต และยาที่ใช้ในกลุ่มโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็มีความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องเข้าถึงยาและต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เริ่มปรากฏสัญญาณการขาดแคลนยาจำเป็นบางรายการ และอุตสาหกรรมยาในประเทศเริ่มประสบปัญหาในการจัดหาวัตถุดิบยา สืบเนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้ใช้มาตรการปิดประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการจัดส่งวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา และบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับประเทศไทยเริ่มมีนโยบายให้สถานพยาบาลจ่ายยาโรคเรื้อรังให้แก่ผู้ป่วยล่วงหน้า 6 เดือน ทำให้มีการสำรองยาในสถานพยาบาลบางแห่งมากผิดปกติ

นี่ไม่ใช่ภาวะปกติ และจำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดระบบการบริหารจัดการยาที่ต่างไปจากภาวะปกติ

ผลพวงจากสัญญาณวิกฤติที่เกิดขึ้น ทำให้สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) มีข้อกังวลว่า หากไม่มีการวางระบบจัดการยาและกระจายยาอย่างเหมาะสม ประเทศไทยอาจต้องเผชิญคลื่นวิกฤติลูกที่สองจากภาวะขาดแคลนยา โดยได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคราชการและเอกชน เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการ สรุปได้ดังนี้

  1. รัฐบาลต้องจัดให้มีกลไกกลางในการจัดหาและกระจายยาในรายการที่จำเป็น โดยเชื่อมโยงการบริหารระดับนโยบาย ระดับบริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น องค์การเภสัชกรรม สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สภาเภสัชกรรม และนักวิชาการด้านยา
  2. กระทรวงสาธารณสุขต้องมีนโยบายให้สถานบริการสั่งซื้อยาล่วงหน้า 6 เดือน แต่ทยอยการจัดส่งทุก 1-2 เดือน เพื่อให้โรงงานเตรียมจัดหาวัตถุดิบในการผลิตล่วงหน้า
  3. ให้สถานบริการเร่งรัดการจ่ายเงินให้รวดเร็วภายในไม่เกิน 1 เดือน หลังจากได้รับใบแจ้งหนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมยาสามารถสำรองวัตถุดิบยาได้ 6 เดือน จากเดิมที่สำรองวัตถุดิบยาไว้ที่ 3 เดือน
  4. ในกรณีจำเป็นตามคำเรียกร้องของสมาคมผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ให้รัฐบาลประสานกับประเทศจีน อินเดีย และประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบ เพื่อซื้อวัตถุดิบยาในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจัดเครื่องบินไปรับวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา รวมถึงบรรจุภัณฑ์
  5. ให้อุตสาหกรรมยา รวมทั้งองค์การเภสัชกรรม สำรองวัตถุดิบในการผลิตยา 6 เดือน

สภาเภสัชกรรมยังระบุข้อกังวลด้วยว่า ปัญหาการเข้าถึงยาโรคเรื้อรังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขโดยด่วนเช่นเดียวกับการบริหารจัดการรายการยาสำหรับโรค COVID-19 ไม่เช่นนั้นอีกไม่ถึง 1 เดือน จะเกิดปัญหาโกลาหลของห้องยาและผู้ป่วยอย่างแน่นอน จึงนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาจัดการโดยด่วน


สถานการณ์การสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการผลิตยาในภาวะ COVID-19

(ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2563)

อินเดีย

ปัญหาขนส่ง:

  • 22-29 มีนาคม 2563 ประกาศห้ามเครื่องบินพาณิชย์เข้าออก ทำให้เที่ยวบินน้อยลง การส่งสินค้าเริ่มล่าช้า และไม่มีกำหนดส่งที่แน่นอน
  • 26 มีนาคม – 14 เมษายน 2563 อินเดียประกาศ lockdown ประเทศ ไม่สามารถจัดการขนส่งได้ทั้งทางเรือและทางอากาศ สำหรับสินค้าที่ส่งออกมาก่อนปิดประเทศ หากเรือถึงแล้วยังไม่ได้รับเอกสาร Original BL จากทางการอินเดียซึ่งจะต้องออกให้ แต่ออกให้ไม่ได้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วง lockdown ทำให้ดำเนินการพิธีการขาเข้าประเทศไทยไม่ได้ถึงแม้สินค้าจะมาส่งแล้วก็ตาม

ปัญหาของผู้ผลิต:

  • พนักงานของโรงงานไม่สามารถออกจากบ้านได้ แต่บางแห่งกำลังทยอยขออนุญาตเปิดกิจการเป็นรายๆ

แนวทาง/ข้อเสนอแนะ:

  • ต้องการให้ทางโรงพยาบาลรัฐ ทำใบสั่งซื้อและทำสต็อค 6 เดือน เพื่อป้องกันสินค้าขาดชั่วคราว โดยเฉพาะยากลุ่มโรคเรื้อรัง
  • ถ้าปัญหาเริ่มวิกฤติ เรื่องขนส่งอาจจะต้องให้เครื่องบินทหารช่วยขนส่ง แต่ทางภาครัฐต้องเริ่มเตรียมความพร้อมในเชิงปฏิบัติการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่างๆ
  • ต้องรอดูสถานการณ์ไปถึงกลางเดือนเมษายน หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หลังวันที่ 14 เมษายน ก็น่าจะคลายตัวในระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่าราคาสินค้าน่าจะต้องแพงขึ้นจากราคาค่าขนส่งที่สูงขึ้นด้วย

จีน

ปัญหาขนส่ง:

  • สนามบินเปิดทำการเพียงบางเมือง เที่ยวบินจึงมีน้อยลง ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่าย local transport เพิ่มเติม เกิดปัญหาขนส่งสินค้าล่าช้า แต่ยังสามารถส่งได้
  • ท่าเรือบางแห่งยังไม่สามารถเปิดขนถ่ายสินค้าได้ ต้องไปหาท่าเรือที่ไกลกว่า เช่น ฮ่องกง

ปัญหาของผู้ผลิต:

  • ขาดแคลน Intermediate และไม่สามารถนำเข้า Intermediate จากยุโรปได้
  • ยังมีหลายโรงงานเปิดทำการผลิตไม่เต็มที่ ทำให้ผลิตได้ในปริมาณที่จำกัด
  • บางโรงงานเริ่มไม่รับแผนระยะยาว ไม่ยอมเสนอราคา และปรับราคาขึ้น

แนวทาง/ข้อเสนอแนะ:

  • โรงงานผลิตยา ควรวางแผนความต้องการจนถึงสิ้นปี แล้วรีบจัดหา API ก่อนที่ของจะหมดไปก่อน

ยุโรป

ปัญหาขนส่ง:

  • สายการบินพาณิชย์งดเที่ยวบิน ทำให้เที่ยวบินจำกัด

อยู่แบบไม่แพนิค ในวิกฤติ COVID-19

ในสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 สุขภาพใจอาจสำคัญไม่น้อยไปกว่าสุขภาพกาย

ความเครียด วิตกกังวล และความหวาดผวาที่กินเวลามากว่า 3 เดือน นานวันเข้าอาจสั่งสมจนกลายเป็นโรคได้

เอก-สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาแห่งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ‘Knowing Mind’ พาไปสำรวจความรู้สึกข้างในของเราเอง ว่าลึกๆ แล้วเรากังวลกับเรื่องใดกันแน่ เรื่องการติดเชื้อ หรือเรื่องงาน เรื่องเงิน เราเสพข่าวมากไปจนแยกไม่ออกระหว่างข้อเท็จจริงกับข่าวลือหรือไม่ เพื่อจะค้นหาต้นตอที่แท้จริงของความเครียด และแก้ไขปัญหานั้นให้ตรงจุด