COVID-19: กับโลกของคนไร้บ้าน

การระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกป้องกันตนเองอย่างตื่นตัว แต่สำหรับคนไร้บ้าน พวกเขาใช้ชีวิตปกติเหมือนทุกวัน ราวกับว่าโรค COVID-19 ไม่สามารถระบาดเข้ามาในโลกของพวกเขา

และในขณะเดียวกัน มาตรการจากภาครัฐก็ไม่มี ‘พวกเขา’ อยู่ในแผนการควบคุมการระบาด

 

สบู่กำจัดโคโรนาไวรัสได้อย่างไร

ไวรัสทำงานอยู่นอกร่างกายมนุษย์ได้เป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน ทั้งน้ำยาฆ่าเชื้อ ทิชชูเปียก เจลล้างมือ และครีมที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่างก็มีประโยชน์มากในการกำจัดเชื้อไวรัส แต่ก็ยังไม่ดีเท่าสบู่ธรรมดาๆ

ช่วงที่ผ่านมาเราคงได้ยินผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าคุณติดไวรัสตัวนี้แล้ว ยาอะไรก็ฆ่ามันไม่ได้ แต่สบู่ธรรมดาๆ บนชั้นวางในบ้านของคุณนี่แหละที่กำจัดมันได้

คำถามคือ ทำไมสบู่จึงจัดการโคโรนาไวรัส (และไวรัสอื่นๆ) ได้ดีที่สุด?

เล่าแบบสั้นๆ ก็เพราะไวรัสคือการรวมกลุ่มกันของอนุภาคเล็กจิ๋วที่มีเยื่อไขมันห่อหุ้มไว้ แน่นอน เราใช้สบู่ละลายไขมัน และเมื่อเยื่อไขมันถูกทำลาย โครงสร้างของไวรัสก็ทลายและตาย หรือถ้าให้ถูก ต้องกล่าวว่าไวรัสหยุดทำงาน เพราะมันไม่ใช่สิ่งมีชีวิต จึงไม่อาจตายได้

หากเล่าให้ยาวกว่าเดิมอีกหน่อยก็คือ ไวรัสประกอบด้วย 3 โครงสร้างหลัก ได้แก่ กรดไรโบนิวคลีอิก (RNA) โปรตีน และไขมัน องค์ประกอบเหล่านี้ไม่ได้มีพันธะโควาเลนต์ (พันธะภายในโมเลกุลชนิดหนึ่ง) คอยยึดพวกมันไว้ คุณจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีที่รุนแรงในการแยกทั้งสามสิ่งนี้ออกจากกัน

เซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสจะผลิตองค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้และสร้างไวรัสตัวใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อเซลล์ที่ติดเชื้อตายลง ไวรัสตัวใหม่ก็จะหนีไปแพร่เชื้อให้กับเซลล์อื่นๆ ต่อไป จนบางส่วนลงเอยไปอยู่ในปอด

เมื่อคุณไอหรือจาม ฝอยละอองขนาดเล็กจะกระจายไปในอากาศได้ไกลถึง 10 เมตร แต่ละอองขนาดใหญ่ที่มีเชื้อไวรัสอยู่จะไปได้ไกลอย่างน้อยที่สุดคือ 2 เมตร

ละอองพวกนั้นจะไปเกาะอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ถึงแม้มันจะแห้งเร็ว แต่ไวรัสยังคงทำงานอยู่ เมื่อคุณไปสัมผัสกับพื้นผิวพวกนั้น ไวรัสก็จะทำปฏิกิริยากับโปรตีนและกรดไขมันในเซลล์ที่ตายแล้วบนผิวหนัง ทำให้ไวรัสเกาะแน่นอยู่บนผิวเหมือนกับกาว ก่อนจะถูกส่งผ่านมาด้วยมือของคุณเอง

ถ้าคุณยกมือขึ้นมาสัมผัสกับใบหน้า โดยเฉพาะดวงตา รูจมูก หรือปาก คุณก็มีโอกาสติดเชื้อ และปรากฏว่าคนส่วนใหญ่มักจะใช้มือจับหน้าตัวเองอย่างน้อย 1 ครั้งในทุกๆ 2-5 นาที

การกำจัดไวรัสด้วยการล้างมือกับน้ำเปล่าไม่ค่อยได้ผลนัก เพราะว่าไวรัสนั้นเกาะหนึบอยู่บนผิวหนังเราเหมือนกาว ไม่สามารถชะล้างได้ด้วยน้ำเปล่า

แต่น้ำสบู่นั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง สบู่จะมีสสารคล้ายไขมันที่เรียกว่า ‘แอมฟิไฟล์ (Amphiphile)’ ที่มีโครงสร้างบางส่วนคล้ายกับไขมันในเยื่อหุ้มเซลล์ของไวรัสมาก ทำให้โมเลกุลของสบู่สามารถกำจัดไขมันในเยื่อหุ้มเซลล์ของไวรัสได้ คล้ายๆ กับวิธีการที่สบู่กำจัดสิ่งสกปรกธรรมดาออกจากผิวหนังของเรานั่นแหละ

สบู่ไม่ได้เพียงแต่สลาย ‘กาว’ ที่เชื่อมไวรัสกับผิวหนังไว้อย่างเหนียวแน่นเท่านั้น แต่ยังสลายปฏิกิริยาที่ยึดโครงสร้างหลักของไวรัสอย่างโปรตีน ไขมัน และกรดไรโบนิวคลีอิกเข้าด้วยกันได้อีกด้วย เอาง่ายๆ ก็คือ สบู่ไม่ได้แค่ล้างไวรัสออกไปจากมือ แต่ฆ่ามันให้ตายได้เลยอีกต่างหาก

ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อ หรือเจลล้างมือที่มีเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์สูง (ส่วนใหญ่จะประมาณ 60-80 เปอร์เซ็นต์) ก็สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ในรูปแบบคล้ายๆ กัน แต่สบู่จะดีกว่าตรงที่มันสามารถถูให้ทั่วทั้งมือได้ง่ายๆ ด้วยปริมาณเพียงนิดเดียวเท่านั้น ในขณะที่การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือไม่ได้การันตีว่าไวรัสที่อยู่ในทุกซอกทุกมุมบนมือของคุณเปียกชุ่มไปด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากพอ

ดังนั้น สบู่นี่แหละ ดีที่สุด แต่ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สะดวกจะใช้สบู่ ก็ใช้เจลแอลกอฮอล์ไปก่อนก็ได้

 

ที่มา: theguardian.com

Side effect ของโคโรนาไวรัส: ฉันแก่ในสมัย COVID-19 ระบาด

ข้อมูลผู้ติดเชื้อทั้งหมดในประเทศจีน สามารถแบ่งอาการได้ดังนี้

81 เปอร์เซ็นต์ อาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย

14 เปอร์เซ็นต์ มีอาการ รู้ตัว ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล

5 เปอร์เซ็นต์ อาการหนัก รักษาใน ICU

จากตัวเลขดังกล่าว ผู้ติดเชื้อ 3 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิต ช่วงวัยส่วนใหญ่ที่เสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

 

ผู้สูงวัยคือกลุ่มเสี่ยง

2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตคือผู้ที่มีโรคประจำตัว เหตุที่ทำให้เสียชีวิตเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ 1. การมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน มะเร็ง หรือมีการกินยากดภูมิคุ้มกัน 2. การเกิดโรคแทรกซ้อนที่ปอดหรือปอดอักเสบทำให้ขาดออกซิเจนและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อัตราการตายสูงถึง 14.8 เปอร์เซ็นต์

ในเคสของประเทศจีน จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีที่ติด COVID-19 ทั้งหมดไม่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตเลยแม้แต่เคสเดียว ไม่ว่าจะเป็นเคสเด็กทารก 3 อาทิตย์ หรือ 8 อาทิตย์ ล้วนหายจากไวรัสตัวนี้โดยไม่มีอาการมาก เด็กที่อายุระหว่าง 11-20 ปี มีจำนวนต่ำกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่ควรหลีกเลี่ยงการติดเชื้อให้ได้มากที่สุดคือ กลุ่มผู้สูงวัย

ขาขึ้นของการระบาด ขาลงของชีวิต

ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของคนสูงวัยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มอายุนี้มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 รวมถึงการมีโรคประจำตัวต่างๆ แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเหตุผลทางสังคม

ผู้สูงวัยมักจะอาศัยอยู่ในสถานพยาบาล บ้านพักคนชรา และอาศัยอยู่กับครอบครัว ซึ่งล้วนแต่เป็นสถานการณ์ที่แออัด จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ในหลายสังคม ผู้สูงวัยมีแนวโน้มยากจน พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นในการดูแลรักษาตัวเอง ดูเหมือนว่าความชราและความยากจนคือสิ่งท้าทายระบบสาธารณสุข

สถานการณ์การระบาดในประเทศไทย กำลังอยู่ใน ‘ระยะขาขึ้น’ ข้อมูลการติดเชื้อ ณ วันที่ 19 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ เพิ่ม 60 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 272 ราย ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว มาจากการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมาก เช่น เคสสนามมวย มีการคำนวณตามสมการการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 คาดว่า ผู้ติดเชื้อในสนามมวยมีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 100 คน ซึ่งกระจายไปตามที่ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เคสนี้น่าจะแพร่ไปในวงกว้างยิ่งกว่าอาจุมม่าแทกูของเกาหลีใต้

ผลข้างเคียงของการระบาด

ผลข้างเคียงของการระบาด คือบุคลากรทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ และโรงพยาบาล ต้องรับมือกับการระบาด แต่ผู้สูงอายุมักจะเป็นกลุ่มที่ต้องไปโรงพยาบาล ในภาวะปกติผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเจ็บป่วยสูงที่สุด ข้อมูลในปี พ.ศ. 2558 อัตราการเจ็บป่วย 46,357 ต่อแสนประชากร หรือเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

สิ่งที่ชวนให้กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ก็คือ คนชราที่เป็นโรคหัวใจที่อาศัยในเมืองที่กำลังมีโรคระบาดรุนแรง ย่อมมีแนวโน้มที่จะได้รับการรักษาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะระบบสาธารณสุขและการแพทย์ ไม่สามารถรองรับได้ตามมาตรฐานในภาวะปกติ

คำถามที่ตามมาก็คือ คนชราที่มีนัดตรวจสุขภาพกับหมอในช่วงการระบาด พวกเขาควรไปไหม ซึ่งอาจจะต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงของการได้รับการติดเชื้อไวรัสกับประโยชน์ของการพบแพทย์ ช่วงนี้พวกเขาอาจพิจารณาเพียงแค่อยู่บ้าน ดังนั้นมันเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่แท้จริง การให้บริการทางการแพทย์ทางไกลก็เป็นสิ่งที่หลายประเทศเริ่มดำเนินการ แต่สิ่งเหล่านี้ก็อาจยังเป็นเรื่องยากสำหรับผู้อาวุโสในการเข้าถึง

ข้อแนะนำสำหรับผู้สูงวัยในการระบาด

มีข้อแนะนำแก่ผู้สูงวัยในช่วงเวลาของการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่จำเป็นต่อการที่ผู้สูงวัยจะต้องดูแลตัวเอง รวมถึงลูกหลานที่ดูแลผู้สูงวัยในครอบครัว

  • สำหรับคนที่ใกล้ชิดผู้สูงวัย หากมีไข้ ไอ ต้องไม่เข้าไปคลุกคลีกับผู้สูงวัย โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน เพราะอาจจะติดมาจากโรงเรียน
  • ป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยในช่วงการระบาด เพราะโรงพยาบาลอาจจะแน่นมาก
  • หากต้องรับประทานยาต่อเนื่องและหยุดไม่ได้ ควรจะขอแพทย์เพิ่มเวลานัดให้ยาวขึ้น เช่น 3 เดือน รับยามาล่วงหน้า เก็บให้ถูกต้อง โดยเฉพาะยาฉีด กินยาให้สม่ำเสมอ
  • หากต้องไปฉีดยา ให้ลองหาโรงพยาบาล สถานบริการใกล้บ้านที่ไม่ค่อยยุ่งมาก ไปสอบถามว่ามาฉีดยาได้ไหม
  • งดรับประทานอาหารที่อาจจะทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ห้ามล้ม!!!! จากข้อมูล ทุกวันมีผู้สูงอายุล้มจนต้องเข้าโรงพยาบาล ถึง 140 คน/วัน
  • ทุกวันก่อนออกจากบ้าน ให้ท่านยิ้มให้ดูหน่อย ยิ้มหวานสุดชึวิต หากพบมุมปากเบี้ยว หรือ ยกแขนขาไม่มีแรง ให้นึกถึงหลอดเลือดในสมองตีบ ไปโรงพยาบาลให้ทันใน 4 ชั่วโมง มีโอกาสหายดี เดินได้
  • งดไปกินสุกี้ ชาบู หมูกระทะ เพราะน้ำจิ้ม น้ำซุปอาจมีเกลือ/ผงชูรสมาก หากท่านเป็นโรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง อาจจะเกิดการคั่งของน้ำ แล้วหอบเหนื่อยได้ ควรให้ชั่งน้ำหนักทุกวัน หากน้ำหนักเพิ่มขึ้นรวดเร็ววันละ 1 กิโลกรัม ให้ระวังน้ำมากเกิน
  • ตรวจสอบการได้รับวัคซีน ผู้สูงวัยควรจะได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในเดือนเมษายนนี้ สามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้ารับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน
  • อย่าไปเชื่อ fake news เช่น ออกไปยืนตากแดดจะฆ่าไวรัส, เครื่องรางของขลังป้องกันเชื้อได้, อมน้ำส้มสายชูในลำคอ 4 นาที ฯลฯ
  • การสร้างระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ไม่ได้เหมาะกับคนวัยทำงานเท่านั้น แต่เหมาะกับคนทุกวัยรวมถึงผู้สูงอายุด้วย
  • หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านเว้นแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น ซื้ออาหารร้านใกล้บ้าน หรือนัดพบแพทย์ที่จำเป็นจริงๆ และหลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนจำนวนมาก
  • เมื่อกลับบ้าน หรืออยู่บ้าน ควรล้างมือด้วยสบู่สม่ำเสมออย่างน้อย 15 วินาที

รอบบ้านทั้ง 4 ทิศ สำรวจ COVID-19 ใน 7 ประเทศอาเซียน

ฉันคิดว่าพม่าไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยพอจะรู้ว่ามีเชื้อไวรัสอยู่ที่นี่แล้วหรือยัง

ข้างต้นคือคำกล่าวของศัลยแพทย์แห่งโรงพยาบาลมัณฑะเลย์ แม้จะถูกประชาชนตั้งคำถามมากมาย รัฐบาลเมียนมาร์ก็ยังยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ภายในประเทศ เมียนมาร์เป็น 1 ใน 2 ประเทศในอาเซียนที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ อีกประเทศคือประเทศลาว ขณะที่มาเลเซียพบผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในอาเซียน แน่นอน สิงคโปร์ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติในการควบคุมการระบาดและการจัดการในสถานการณ์วิกฤติ

และนี่คือการสำรวจสถานการณ์การระบาดและการควบคุมไวรัส C0VID-19 ใน 7 ประเทศอาเซียน

มาเลเซีย

  • บ่ายวันที่ 18 มีนาคม พบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่ม 120 คน ทำให้ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 673 คน มาเลเซียจึงเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
  • ผู้ติดเชื้อ 438 คน จากทั้งหมด 673 คน ได้รับเชื้อจากการรวมตัวกันของคน 16,000 คน ในการประกอบกิจกรรมทางศาสนาในมัสยิดบริเวณกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม
  • มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 แล้ว 2 คน คนแรกคือชายวัย 34 ปี เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาดังกล่าว คนที่สองคือชายวัย 60 ปี ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคเรื้อรังมาก่อน
  • มีผู้ป่วย 12 คนต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU และมีผู้ป่วย 49 คนได้รับการรักษาจนหายแล้ว
  • นายกรัฐมนตรีประกาศปิดประเทศ (Lockdown) เป็นเวลา 2 อาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2020 โดยมีมาตรการดังนี้
    • ห้ามจัดงานชุมนุมทั่วประเทศ ให้ปิดศาสนสถานและธุรกิจต่างๆ ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อที่ขายของใช้จำเป็น และงดกิจกรรมทางศาสนาสำหรับชาวมุสลิม
    • ชาวมาเลเซียที่เดินทางกลับเข้าประเทศจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพและกักตัว 14 วัน
    • ห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ
    • ปิดสถานศึกษาทั้งหมด
    • ปิดสถานที่ทั้งหมดทั้งของรัฐและเอกชน ยกเว้นบริการที่จำเป็น เช่น โทรคมนาคม การขนส่ง น้ำมัน แก๊ส เชื้อเพลิง น้ำ ไฟ โรงพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น

กัมพูชา

  • พบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในวันที่ 17 มีนาคม จำนวน 21 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่เดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่มาเลเซีย และมีคนไทย 1 คน รวมผู้ติดเชื้อขณะนี้มีทั้งหมด 33 คน
  • ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น หรือชาวกัมพูชาที่เดินทางมาจากประเทศอื่น โดยก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ได้รับการรักษาจนหาย และกลับประเทศตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว
  • ผู้โดยสาร 781 คนบนเรือสำราญ Westerdam ที่ได้รับอนุญาตให้จอดเทียบท่าที่กัมพูชา ได้รับการวินิจฉัยว่า ไม่พบไวรัส COVID-19 และเริ่มนำตัวขึ้นฝั่ง
  • นายกรัฐมนตรีสั่งห้ามประชาชนเดินทางไปยุโรป อเมริกา และอิหร่าน ส่วนผู้ที่เดินทางกลับมาจากยุโรป อเมริกา อิหร่าน จะต้องกักตัว 14 วัน
  • ประกาศแบนนักท่องเที่ยวจากอิตาลี เยอรมนี สเปน ฝรั่งเศส อเมริกา เป็นเวลา 30 วัน
  • กระทรวงการศึกษาฯ ประกาศปิดโรงเรียนทั่วประเทศ

ฟิลิปปินส์

  • มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 202 คน ได้รับการรักษาจนหายแล้ว 7 คน เสียชีวิตแล้ว 17 คน หนึ่งในนั้นเป็นเด็กหญิงวัย 13 ปี ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยที่สุดในฟิลิปปินส์
  • ประกาศ Lockdown เมโทรมะนิลา และเกาะลูซอน 1 เดือน
  • ประธานาธิบดีประกาศให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ยกเว้นบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเท่านั้น พร้อมขอความร่วมมือจากบริษัทธุรกิจต่างๆ ให้พนักงานทำงานที่บ้าน
  • แบนการเดินทางภายในประเทศ
  • เทศบาลท้องถิ่นจะได้รับมอบหมายให้บริการจัดส่งอาหารให้กับประชาชน
  • วันที่ 16 มีนาคม ชาวฟิลิปปินส์ 444 คนที่ติดอยู่บนเรือสำราญ Grand Princess ที่แคลิฟอร์เนีย เดินทางกลับมายังฟิลิปปินส์เรียบร้อยแล้ว หลังได้รับการตรวจสุขภาพกับทางการของสหรัฐ และทั้งหมดจะต้องได้รับการกักตัวอีก 14 วันที่หมู่บ้านนักกีฬาใน New Clark City จังหวัดตาร์ลัก

สิงคโปร์

  • มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 243 คน (ข้อมูลจากวันที่ 16 มีนาคม 2020) มี 5 คนเป็นชาวสิงคโปร์ที่เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่มาเลเซีย
  • ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อ 47 คนที่มาจากการจัดงานดินเนอร์ฉลองปีใหม่จีนของกลุ่มนักร้องชาวฮกเกี้ยน ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ Safra Jurong โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 400 คน
  • ประกาศปิดมัสยิดทั่วประเทศถึงวันที่ 26 มีนาคม 2020
  • วันที่ 17 มีนาคม ลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาประเทศ กล่าวว่า สิงคโปร์ยังไม่มีมาตรการ Lockdown ประเทศ เนื่องจากมองว่า ตอนนี้รัฐบาลยังคงรับมือกับสถานการณ์ได้ดีอยู่ ทั้งการควบคุมคนเข้าออกประเทศ การรักษาระยะห่างระหว่างคนในสังคม (Social Distancing) และการติดตามผู้ติดต่อ (Contact Tracing) ซึ่งเป็นการตรวจสอบการเดินทางของผู้ป่วยเพื่อตรวจหาผู้ที่อาจติดเชื้อรายต่อไป หากสิ่งเหล่านี้ยังคงทำได้โดยเคร่งครัด ประเทศก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่สุดโต่งอย่างการ Lockdown
  • ส่วนมาตรการสั่งปิดโรงเรียน รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาประเทศ ก็กล่าวว่ายังไม่มีเช่นกัน โดยทางรัฐบาลกำลังประเมินถึงประสิทธิภาพที่จะชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสหากมีการสั่งปิดโรงเรียนอยู่
  • ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์ได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการตรวจหาและสกัดไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อินโดนีเซีย

  • บ่ายวันที่ 17 มีนาคม พบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มอีก 38 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 172 คน โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในเมืองจาการ์ตา
  • รัฐบาลจะประสานงานกับองค์กรบริหารและตำรวจของเมืองจาร์กาตาในการทำ Contact Tracing หรือการติดตามผู้ติดต่อ ตรวจสอบเส้นทางการเดินทางและผู้ที่ติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยเพื่อหาผู้ที่อาจติดเชื้อรายอื่นๆ และขอความร่วมมือให้ผู้ที่ได้รับผลวินิจฉัยเป็นลบหรือไม่มีเชื้อไวรัสให้แยกตัวอยู่ที่บ้าน
  • ผู้ที่อยู่ในอิตาลี วาติกัน สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ อิหร่าน จีน และเกาหลีใต้ภายใน 14 วันก่อนมาถึงอินโดนีเซียจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ
  • ชาวอินโดนีเซียที่เดินทางกลับมาจากประเทศดังกล่าว หากมีอาการว่าติดเชื้อไวรัสจะต้องได้รับการกักตัวอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล ส่วนผู้ที่ไม่แสดงอาการจะต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน
  • รัฐบาลมีมาตรการลดจำนวนรถโดยสารทั้งรถไฟฟ้าและรถเมล์ลงเพื่อลดการใช้บริการ ทำให้วันจันทร์ที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมามีประชาชนที่ต้องเดินทางไปทำงานได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากต้องต่อคิวรอรถเป็นเวลานานกว่าเดิม บางป้ายสถานีมีคนต่อคิวยาวถึง 1 กิโลเมตร

ลาว

  • เป็นหนึ่งในสองประเทศของภูมิภาคอาเซียนที่ยังไม่มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19
  • เมื่อวันที่ 16 มีนาคม มีรายงานว่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 3 คนที่เดินทางไปยังประเทศลาวได้รับการตรวจแล้วว่าไม่พบเชื้อไวรัส COVID-19 เช่นเดียวกับนักเรียนอีก 6 คนที่เพิ่งเดินทางกลับจากเวียดนามและกักตัวอยู่บ้านแล้ว 14 วัน ก็ได้รับผลการตรวจว่าไม่พบเชื้อไวรัส COVID-19 เช่นกัน
  • ระงับไฟลต์บินที่จะเดินทางไปยังประเทศจีนแล้ว
  • สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าไปในประเทศลาว หากไม่มีอาการว่าติดเชื้อไวรัส จะต้องกักตัวเองไว้ที่บ้าน 14 วัน แต่หากมีอาการเข้าข่ายว่าติดเชื้อ จะถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยทันที
  • มีการปิดด่านชายแดนบ้านฮวก จังหวัดพะเยา และด่านชายแดนที่ติดกับกัมพูชาและเวียดนาม 14 จุด
  • นายกรัฐมนตรีสั่งปิดโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ

เมียนมาร์

  • แม้จะถูกประชาชนตั้งคำถามมากมาย รัฐบาลเมียนมาร์ก็ยังยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ภายในประเทศ
  • Aung Aung ศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลมัณฑะเลย์ ให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่า “ฉันคิดว่าพม่าไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยพอจะรู้ว่ามีเชื้อไวรัสอยู่ที่นี่แล้วหรือยัง”
  • มีผู้ป่วยที่กำลังกักตัว 10 คนอยู่ระหว่างรอผลตรวจเชื้อไวรัส COVID-19
  • นักท่องเที่ยวที่เคยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเช่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เมืองแทกูและคยองบก ประเทศเกาหลีใต้ ภายใน 14 วันก่อนมาถึงพม่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ และจะถูกส่งไปกักตัวภายใต้ความดูแลของรัฐบาล 14 วัน เช่นเดียวกับผู้ที่เคยอยู่ในอิตาลี อิหร่าน ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี จะต้องได้รับการกักตัวภายใต้ความดูแลของรัฐบาล 14 วันด้วย
  • ทั้งประชาชนชาวพม่าและนักท่องเที่ยวที่เคยอยู่ในเมืองอื่นๆ ของประเทศเกาหลีใต้ 14 วันก่อนมาถึงพม่าจะต้องกักตัวเองไว้ที่บ้าน 14 วัน และต้องได้รับใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าไม่มีอาการป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง
  • ยกเลิก Visa on Arrival (VOA) จากประเทศจีน
  • เลื่อนการจัดงานหรือเทศกาลต่างๆ ในเดือนเมษายนทั้งหมด

 

อ้างอิง

ภูเขาขยะทางการแพทย์ ปัญหาใหม่ของอู่ฮั่นหลังวิกฤติ COVID-19

วันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกตรวจเยี่ยมเมืองอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของจีน สถานที่อันเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) และได้ประกาศผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยพบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่นและมณฑลหูเป่ยในเบื้องต้นไว้ได้แล้ว ความสำเร็จในเบื้องต้นนี้ทำให้สถานการณ์มีเสถียรภาพในมณฑลหูเป่ยและเมืองอู่ฮั่น

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ช่วงวิกฤติสูงสุดของการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปจากเมืองอู่ฮั่น และดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่าปัญหาใหญ่ที่กำลังตามมา คือภูเขาขยะทางการแพทย์ที่กำลังส่งสัญญาณถึงเค้าลางหายนะทางระบบนิเวศ หากไร้มาตรการจัดการอย่างรัดกุม

อู่ฮั่นซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 สร้างขยะทางการแพทย์มากกว่าสถานการณ์ปกติถึง 6 เท่า

คือเสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่เมืองอู่ฮั่นต่อสถานการณ์ขยะที่ล้นเมือง

เจ้า คุนหยิง (Zhao Qunying) รัฐมนตรีกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินกล่าวว่า

โรงพยาบาลในเมืองอู่ฮั่น มีขยะทางการแพทย์ถึง 240 ตันต่อวันในช่วงที่ระบาดหนัก เทียบกับสถานการณ์ปกติที่มีเพียง 40 ตันต่อวันเท่านั้น

แน่นอนว่านี่คือปัญหาใหญ่ ซึ่งทางรัฐบาลกลางของจีนได้ส่งศูนย์จัดการขยะทางการแพทย์เคลื่อนที่กว่า 46 แห่งไปยังเมืองต่างๆ และสร้างศูนย์จัดการขยะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับขยะเพิ่มอีก 30 ตันภายใน 15 วัน รัฐมนตรีกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉิน กล่าวว่า “เราได้อัพเกรดศูนย์จัดการขยะอันตรายให้สามารถจัดการขยะทางการแพทย์ มาตรการนี้ออกแบบมาเพื่อเพิ่มจำนวนการจัดการขยะของเมืองจาก 50 ตันต่อวันให้เป็น 263 ตัน”

รัฐมนตรีกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ได้เจาะจงว่าเมืองไหนที่ขยะล้นหรือใกล้เต็มความจุ แต่การจัดการขยะทางการแพทย์ในจีน เป็นปัญหาที่มีมาเป็นเวลานานแล้ว ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2018 ระบุว่า มีการสร้างขยะทางการแพทย์กว่า 2 ล้านตัน ซึ่งในช่วงที่รัฐบาลแนะนำให้ทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส ก็เป็นการเพิ่มจำนวนของขยะทางการแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้แพร่เชื้อไปกว่า 80,000 คน มีผู้เสียชีวิตถึง 3,000 คน และกระจายไปกว่า 100 ประเทศ ซึ่งหลังผ่านพ้นช่วงวิกฤติสูงสุดของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น โจทย์สำคัญต่อมาคือวิธีการจัดการกับขยะทางการแพทย์

การกำจัดของเสียทางการแพทย์เป็นส่วนสำคัญของการต่อสู้กับการระบาด ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลเร่งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่และการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบำบัดของเสีย

ตู้ หัวเจิ้ง (Du Huanzheng) ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจรีไซเคิลแห่งมหาวิทยาลัยถงจี้ (Tongji University) กล่าว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 คือตัวเร่งให้เกิดการเพิ่มขึ้นของขยะและของเสียทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญจากจีนได้กล่าวว่า การเผายังคงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการควบคุมจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้น และความกังวลที่ตามมาคือเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

กรณีดังกล่าว สะท้อนคำถามถึงบ้านเราได้อย่างดี ว่าในสถานการณ์แพร่ระบาดในประเทศที่ข้อมูลยังคงคลุมเครือเช่นนี้ มีมาตรการรับมือกับสถานการณ์ที่จะตามมาอย่างไร

อ้างอิง

https://www.scmp.com

10 ประเทศเสี่ยงทั่วโลกรับมืออย่างไรกับไวรัส COVID-19

สำรวจมาตรการรับมือไวรัส COVID-19 ของ 10 ประเทศทั่วโลก

จีน

  • นับจากต้นเดือนมีนาคม การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีน เริ่มลดลงอย่างมาก เมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคม ทางการจีนแถลงว่า มีคนติดเชื้อรายใหม่ 125 คน เสียชีวิต 31 ราย นับเป็นตัวเลขจำนวนคนติดเชื้อที่ต่ำสุด จากเดิมก่อนหน้านี้ที่เคยมีตัวเลขคนติดเชื้อไวรัสสูงถึงวันละ 2,500 คน
  • จีนหาทางลดความรุนแรงของโรคระบาดด้วยการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรค ยาปฏิชีวนะ หรือใช้เครื่องวัดไข้เทอร์โมสแกน เป็นต้น
  • มาตรการปิดเมืองที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ การปิดพรมแดน การกักกันโรคบนเรือ และการห้ามให้มีคนเข้าออกเมืองที่เกิดการแพร่ระบาด เช่น การปิดเมืองอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 23 มกราคม กันไม่ให้คนเข้าออกเมือง เป็นสิ่งที่จีนออกมาตรการอย่างเด็ดขาด
  • การตรวจสอบคนที่มีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด และการกักกันตัว
  • การเน้นการรักษาสุขภาพแบบพื้นฐานที่ไม่ต้องใช้ยา เช่น การล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย
  • ช่วงปลายเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ จีนใช้มาตรการ ‘ระยะห่างทางสังคม’ (Social Distancing) ที่เข้มงวดเด็ดขาด โดยการจำกัดพื้นที่ให้คนหลายร้อยล้านคนอยู่กับบ้าน ทำให้จำนวนคนติดเชื้อไวรัสลดลง
  • รัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายการจำกัดการเคลื่อนไหวของคนจีน หลังจากที่มีแอพฯ บนสมาร์ทโฟนที่พัฒนาโดย Alibaba เพื่อตรวจสอบภาวะสุขภาพของประชาชนแต่ละคน สีเขียวสำหรับคนที่สามารถออกจากบ้านได้ สีเหลืองสำหรับคนที่จำเป็นต้องกักกันตัวเองที่บ้าน 7 วัน และสีแดงสำหรับคนที่ต้องกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน (แอพฯ นี้จะคอยติดตามการเคลื่อนไหวของแต่ละคน หากคนคนนั้นติดต่อกับคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ภาวะสุขภาพจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองหรือสีแดง คนที่อยู่ในภาวะสีเขียวจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจ หรือเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ หรือใช้บริการสาธารณะอื่นๆ การตรวจสอบการเคลื่อนไหวของประชาชน จะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และคณะกรรมการท้องถิ่น)

เกาหลีใต้

  • รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายพิเศษในกรณีผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 รายที่ 31 ที่ปกปิดข้อมูล โดยให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดและเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาตรวจทันที หลังจากเชื้อแพร่สู่คนจำนวนมาก (super spreader)
  • หลักจากการประกาศกฎหมายและพื้นที่ฉุกเฉิน ทำให้รัฐบาลสามารถย้ายบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกาหลีใต้ตรวจคนได้เกือบ 20,000 คนต่อวัน
  • รัฐบาลเกาหลีใต้ร่วมมือกับห้องตรวจและวิจัยกว่า 96 แห่งทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน ในการร่วมมือตรวจตัวอย่างจากประชาชน ในช่วงแรกจึงตรวจเจอผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จากนั้นก็ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการแสดงอาการน้อย (mild-symptom)
  • การเจอตัวผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราการเสียชีวิตของเกาหลีใต้อยู่ที่ 0.7 เปอร์เซ็นต์ น้อยที่สุดในทุกประเทศและต่ำกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกซึ่งอยู่ที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์
  • เกาหลีใต้ฝ่าวิกฤติ COVID-19 ด้วยแผน 3T (Trace, Test, Treat)
    Trace (ติดตาม) คือติดตามเส้นทางของผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อ COVID-19 จากนั้นเดินทางไปหาให้เร็วที่สุด เพื่อสอบถามประวัติว่าผู้ป่วยมีการเคลื่อนที่อย่างไรบ้าง ไปไหน ไปเจอใครมาบ้าง
    Test (ตรวจ) รีบนำผู้ป่วยติดเชื้อเข้าถึงการตรวจหาเชื้อให้ได้จำนวนมากที่สุดและเร็วที่สุด
    Treat (รักษา) เมื่อพบผู้ป่วยแล้ว จากนั้นรีบนำเข้าสู่กระบวนการรักษาตามขั้นตอน เริ่มรักษาตั้งแต่อาการไม่หนัก นี่คือสาเหตุทำให้อัตราการตายต่ำ
  • สื่อมวลชนหลายสำนักนำเสนอข้อมูลจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางโทรทัศน์เกือบตลอด 24 ชม. สร้างความตระหนักรู้ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนอย่างถูกต้อง

ญี่ปุ่น

  • กำหนดให้โรคปอดอักเสบจากไวรัส COVID-19 เป็น ‘โรคติดเชื้อที่ถูกกำหนดตามกฎหมาย’ (designated infectious disease) โดยกำหนดให้ผู้ติดเชื้อจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที และห้ามมิให้ผู้ป่วยเดินทางไปทำงานโดยเด็ดขาด รวมทั้งยังต้องมีการกำจัดเชื้อไวรัสในพื้นที่โดยรอบสถานที่ตรวจพบเชื้อ และแพทย์ต้องรายงานผลการตรวจผู้ป่วยทุกรายที่พบการติดเชื้อไวรัสโควิดด้วย
  • จัดตั้งงบประมาณสำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลตามข้อกำหนด
  • ยกเลิก 20,000 เที่ยวบินจากจีน ห้ามชาวจีนที่ถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยมณฑลหูเป่ยเข้าประเทศ และห้ามชาวต่างชาติที่มีประวัติไปจีนช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเข้าญี่ปุ่นไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม
  • ส่งเครื่องบินรับชาวญี่ปุ่นในอู่ฮั่นกลับเมื่อวันที่ 28 มกราคม ซึ่งเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าอพยพคนของตัวเองในจีนกลับประเทศ
  • ชินโซ อาเบะ แสดงความมั่นใจต่อมาตรการของรัฐบาล โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ยกเลิกการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ และกล่าวว่ารัฐบาลทำงานอย่างหนักโดยร่วมมือกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและองค์การอนามัยโลก ล่าสุดออกมาประกาศว่าให้การสนับสนุนการทำวัคซีนรักษาและชุดทดสอบเชื้อโคโรนาไวรัส เพื่อหยุดการกระจายไวรัส พร้อมกล่าวว่าชีวิตและสุขภาพของประชาชนมาก่อน ซึ่งการทำงานของภาครัฐตอบสนองต่อภาคประชาชนได้จริง และประชาชนเชื่อใจการทำงานของรัฐบาล

สิงคโปร์

  • สิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก มาตรฐานทางการแพทย์สูงและสามารถออกมาตรการเข้มงวดได้โดยไม่มีการต่อต้าน
  • รัฐบาลเพิกถอนสถานะผู้มีถิ่นพำนักถาวรของชายวัย 45 ปี คนหนึ่ง เพราะฝ่าฝืนคำสั่งให้อยู่บ้าน
  • มาตรการ ‘การติดตามผู้ติดต่อ’ ตรวจสอบว่าผู้ป่วยไปไหนบ้างเพื่อหาคนที่อาจติดเชื้อรายต่อไป โดยอาศัยความร่วมมือของตำรวจ
  • ปิดรับนักเดินทางจากจีน ห้ามผู้ที่มาจากแดนมังกรเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์
  • ตรวจสอบผู้ป่วยที่มีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบทุกราย
  • คำสั่งห้ามประชาชนจำนวนมากรวมตัวกัน
  • รัฐบาลส่งหน้ากากอนามัยให้ครัวเรือนละ 4 ชิ้น
  • การยกระดับมาตรฐานติดตามเชื้อไวรัสเป็นระดับสีส้ม
    “ดังนั้นประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะเราไม่ได้มีการปิดเมือง หรือว่าจำกัดให้ทุกคนอยู่แต่ในบ้าน เรามีเครื่องอุปโภคบริโภคเพียงพอ ประชาชนทุกคนไม่จำเป็นต้องกักตุนอาหาร บะหมี่สำเร็จรูป อาหารกระป๋อง หรือกระดาษชำระ” ส่วนหนึ่งจากคำแถลงของ ลี เซียนลุง
  • ภาวะผู้นำของ ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่ออกมาแถลงการณ์ถึงสถานการณ์โรคถึง 2 ครั้ง โดยไม่ได้ปกปิดข้อเท็จจริงใดๆ หรือลังเลที่จะพูดเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจเลวร้ายลง

อิตาลี

  • อิตาลีดำเนินความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหยุดยั้งการระบาด โดยบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวด เช่น
  • ปิดประเทศและปิดบางเมืองที่พบการแพร่ระบาด
  • ควบคุมและจำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่ของประชาชน
  • สั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
  • ให้ประชาชนเก็บตัวในบ้าน ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน
  • ห้ามการชุมนุมและเตือนให้ประชาชนอยู่ห่างกันในระยะ 1 เมตร

สเปน

  • รัฐบาลสเปนประกาศภาวะฉุกเฉิน
  • สเปนมีมาตรการห้ามประชาชนออกจากบ้านเรือน และสั่งปิดประเทศ​ 15 วัน อนุญาตให้แค่ผู้ที่จำเป็นต้องออกไปทำงาน ไปซื้ออาหารหรือของใช้จำเป็น ไปโรงพยาบาล และออกไปเพื่อช่วยเหลือเด็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุเท่านั้น
  • งดกิจกรรมหรือการรวมตัวชั่วคราว

ฝรั่งเศส

  • รัฐบาลฝรั่งเศสแถลงมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 โดยกำหนดปิดสถานที่เหล่านี้ถึงวันที่ 15 เมษายน
    – สถานที่จัดการประชุม สัมมนา และการแสดง หรือสถานที่จัดงานแบบอเนกประสงค์
    – ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และร้านขายเครื่องดื่ม (ร้านอาหารและบาร์ รวมทั้งร้านอาหารในโรงแรมยังคงสามารถให้บริการขายแบบ take away หรือ home delivery ได้)
  • งดจัดงานมหรสพ การแข่งขันกีฬา  การชุมนุม
  • ฝรั่งเศสจะมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นในการคมนาคม บริเวณด้านชายแดนติดกับเยอรมนี โดยจะจำกัดให้มีเพียงการข้ามแดนที่จำเป็นเท่านั้น

สหรัฐอเมริกา

  • รัฐบาลกลางสหรัฐ เริ่มวางแผนในการร่างกฎหมายและมาตรการฉุกเฉินในการควบคุมการระบาดของ COVID-19
  • เบื้องต้นสามารถอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือฉุกเฉิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.58 ล้านล้านบาท) เพื่อชดเชยรายได้สำหรับผู้ป่วย 2 สัปดาห์ และเงินชดเชยรายได้ 3 เดือนหากต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังช่วยเหลือด้านอาหารและมีงบอุดหนุนให้ผู้ไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพตรวจ COVID-19 ฟรี
  • รัฐบาลกลางสหรัฐ มีแผนกระจายชุดตรวจ COVID-19 อีก 5 แสนชุดในสัปดาห์หน้า และภาคเอกชนจะเร่งผลิตชุดตรวจอีก 5 ล้านชุดภายใน 1 เดือน
  • นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ค ออกคำสั่งให้ร้านอาหาร ภัตตาคาร และไนท์คลับในเมืองหยุดรับลูกค้าเข้าร้าน โดยอนุญาตให้สั่งออกไปกินนอกร้านเท่านั้น

เวียดนาม

  • นายกฯ เวียดนามตื่นตัว ดำเนินการตอบรับและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ระยะแรกๆ ของการแพร่ระบาด เช่น สั่งการให้ตรวจสอบผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาบริเวณด่านเข้าประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนทั้งตามถนนหนทางต่างๆ รวมทั้งผู้ที่เดินทางเข้าประเทศทางน้ำ และทางอากาศ
  • มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อในวงกว้างด้วยการสั่งงดการเรียนการสอน ขยายเวลาการปิดเทอมของนักเรียน-นักศึกษาจนถึงวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยนับตั้งแต่วันหยุดตรุษจีนเป็นต้นมา นักเรียน-นักศึกษาจำนวนนับล้านๆ คนในหลายพื้นที่ของเวียดนาม ยังไม่ได้กลับเข้าเรียนตามมาตรการของรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ในสถาบันการศึกษา
  • มีการสั่งทำความสะอาดและฆ่าเชื้อห้องเรียนก่อนที่การเรียนการสอนจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง ครูและทีมงานของโรงเรียนได้รับการฝึกอบรมให้สามารถแนะนำการปฏิบัติตนพื้นฐานแก่นักเรียน และมีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าเรียน รวมทั้งการกรอกแบบฟอร์มติดตามบันทึกสุขภาพของนักเรียน-นักศึกษาเป็นระยะๆ
  • ออกประกาศห้ามการนำเข้าสัตว์ป่ามายังเวียดนามตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน กรมป่าไม้เวียดนามยังสั่งห้ามเป็นการชั่วคราวไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามจังหวัดภายในประเทศเวียดนาม
  • งดออกวีซ่าให้กับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เช่น ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้เดินทางเข้าเวียดนาม ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากอิหร่านและอิตาลี หากเดินทางมาเวียดนามจะต้องถูกกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 14 วัน
  • มีคนในเมือง Son Loi ติดเชื้อ 6 คน เวียดนามสั่งปิดเมืองทันที เวียดนามสั่งปิดชุมชนในเขต Son Loi ซึ่งมีประชากรราว 10,600 คน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงฮานอยเป็นเวลา 20 วัน เพื่อกักกันโรค จากการที่เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ได้รับการยืนยันว่าพบการติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากคนในชุมชน 6 ราย (ทำตามจีนที่ปิดเมือง)
  • ระงับการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่า (Visa Free) ให้กับพลเมืองจาก 8 ประเทศในทวีปยุโรป ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน ซึ่งเคยเข้าเวียดนามโดยไม่ต้องขอวีซ่า หลังในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามพบผู้ป่วย COVID-19 รายใหม่ 14 ราย โดยในจำนวนนี้ 11 ราย มีประวัติการเดินทางในประเทศยุโรป
  • กำลังพิจารณาใช้มาตรการระงับวีซ่าเพิ่มเติม กับประเทศที่มีผู้ป่วยมากกว่า 500 ราย หรือประเทศที่มีอัตราพบผู้ป่วยมากกว่า 50 รายต่อวัน

ไทย

  • แม้ประเทศไทยยังไม่ปิดประเทศ แต่มีมาตราการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยผู้เดินทางต้องทำการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรคเป็นเวลา 14 วัน
  • ประกาศยกเลิก Visa on Arrival (VOA) 18 ประเทศ ได้แก่ บัลแกเรีย ภูฏาน จีน ไซปรัส เอธิโอเปีย หมู่เกาะฟิจิ จอร์เจีย อินเดีย คาซัคสถาน มอลตา เม็กซิโก นาอูรู ปาปัวนิวกินี โรมาเนีย รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย อุซเบกิสถาน วานูอาตู และไต้หวัน (เขตเศรษฐกิจ) โดยผู้ที่จะเดินทางเข้าไทยต้องขอวีซ่าที่สถานทูตเท่านั้น รวมทั้งใช้มาตรการคัดกรอง เช่น ต้องใช้เอกสารใบรับรองแพทย์
  • ประกาศยกเลิก Free Visa ชั่วคราว กับนักท่องเที่ยว 3 ประเทศ คือ อิตาลี เกาหลีใต้ ฮ่องกง
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติให้ COVID-19 อยู่ในสิทธิบัตรทอง โดยครอบคลุมดูแลทั้งการป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ ตรวจวินิจฉัยโรค รักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์

 

อ้างอิง

Social Distance: รวมกันเราติด ห่างกันเราอยู่

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย ณ วันที่ 15 มีนาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 32 ราย และรอยืนยันอีก 51 คน รวมผู้ติดเชื้อทั้งหมด 114 ราย รักษาหายแล้ว 37 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย

 

ระยะห่างของประเทศไทยกับ COVID-19

สถานการณ์การระบาดของประเทศไทยขณะนี้ยังอยู่ในวงจำกัด (Phase 2) แต่ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่จะพบการระบาดในวงกว้าง เนื่องจากประเทศทั่วโลกที่พบการระบาดมีจำนวนมากขึ้น ทำให้มีโอกาสสูงขึ้นที่ผู้ป่วยจากประเทศเหล่านี้จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ในขณะที่ความเข้มข้นในการคัดกรองของด่านควบคุมโรคมีจำกัด ขณะที่ผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศก็ไม่สามารถระบุต้นตอของการติดเชื้อได้อย่างชัดเจน

และประเทศไทยยังคงมีการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสที่จะพบเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยเข้าไปในสถานที่แออัดและเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว ดังเช่น โบสถ์ในเมืองแทกูประเทศเกาหลีใต้และเรือสำราญ ประเทศญี่ปุ่น1

 

เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความว่า “Social Distancing!”

เพื่อชะลอการระบาดระยะที่ 3 หรือการระบาดอย่างหนักจนไม่สามารถระบุต้นต่อการติดเชื้อได้ เราจำต้องใช้ทั้งมาตรการด้านเภสัชกรรม เช่น วัคซีนและยาต่อต้านไวรัส การสอบสวนติดตามการติดเชื้อ และการกักกันตัวคนที่ต้องสงสัยจะติดเชื้อ แต่ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีวัคซีนรักษา COVID-19 สิ่งที่เรียกว่า Social Distance หรือ ‘ระยะห่างทางสังคม’ จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง และเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งและชะลอการระบาดของ COVID-19

โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความว่า “Social Distancing!” และประกาศเรื่องการประชุมที่ทำเนียบขาว แบบ Social Distancing

ขณะที่ ทิม คุก ซีอีโอแห่งค่าย Apple ระบุในแถลงการณ์เรื่องการปิด Apple Store ทั่วโลก ว่าในสถานการณ์ที่โรคยังระบาดหนักอยู่ สิ่งที่ทำแล้วได้ผลในการลดการแพร่ระบาดของไวรัสคือ การไม่ให้มีคนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก รวมทั้งให้คนอยู่ในระยะห่างกัน

Social Distance หรือ ‘ระยะห่างทางสังคม’ และ Personal Distance หรือ ‘ระยะห่างระหว่างบุคคล’ เป็นหลักจิตวิทยาที่ถูกนำมาใช้เป็นมาตรการทางสาธารณสุข มีความสำคัญมากในการลดการแพร่ระบาดของโรคระบาดในปัจจุบัน

 

ประวัติศาสตร์ของความไม่ห่าง

วันที่ 28 กันยายน 1918 ขบวนเดินพาเหรดฉลองชัยในสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในเมืองฟิลาเดลเฟีย ผู้คนกว่า 200,000 คนเข้าร่วมชื่นชมความยิ่งใหญ่และหอมหวานของชัยชนะ แต่ในปีนั้นเป็นปีเดียวกับการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ 1918

3 วันหลังจากขบวนเดินพาเหรด โรงพยาบาล 31 แห่งในเมืองเต็มไปด้วยคนป่วยจากไข้หวัดใหญ่ ทางการเมืองฟิลาเดลเฟียพยายามใช้มาตรการระยะห่างทางสังคม แต่ก็ไม่สามารถหยุดการระบาดได้ทัน

2 สัปดาห์หลังการฉลองชัยสงคราม ผู้คนเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 4,500 คน นี่คือสงครามอีกรูปแบบที่มนุษย์เป็นฝ่ายปราชัย

 

Social Distance: รวมกันเราติด ห่างกันเราอยู่

การรวมกันของคนหมู่มากเป็นแหล่งของการกระจายโรคอย่างรวดเร็ว (super spread) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ หรือ Center for Disease Control and Prevention กล่าวว่า ไวรัส COVID-19 สามารถแพร่ระบาดระหว่างคนที่อยู่ใกล้ชิดกันในระยะ 6 ฟุต หรือในระยะ 2 เมตร

ระยะห่างทางสังคม (Social Distance) เป็นมาตรการสาธารณสุข ที่มีผลเป็นวงกว้าง เช่น การปิดโรงเรียน ยกเลิกงานเทศกาล หรือยกเลิกการขนส่งสาธารณะ เพื่อชะลอและควบคุมโรคที่สามารถแพร่ระบาดทางอากาศ เนื่องจากเมื่อเกิดการแพร่ระบาดแล้ว เราไม่สามารถจะไปหยุดยั้งมัน ระยะห่างทางสังคมจึงเป็นมาตรการที่ใช้เพื่อชะลอการแพร่ระบาด

ขณะที่ ระยะห่างระหว่างบุคคล (Personal Distance) ก็มีความจำเป็นยิ่งในการลดการติดต่อของโรค เพราะการพูดคุยหากมีฝอยละอองกระเซ็นออกมา จะสามารถติดต่อได้ในระยะ 1 เมตร

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโรค จึงมีคำแนะนำว่า ถ้าจะให้ปลอดภัย Personal Distance ควรจะห่าง 2 เมตร หรือ 6 ฟุต เพื่อหลีกเลี่ยงการติดต่อของโรค

“งานสังคมจำเป็นที่จะต้องงด การจัดประชุมวิชาการ ก็ต้องหาทางออกด้วย tele-conference สนามมวย การแข่งขันกีฬาต่างๆ โรงเรียนกวดวิชาก็จะต้องปิดการสอน เพื่อลดการระบาดของโรคให้ได้”

 

สงกรานต์: โจทย์ใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า

การเคลื่อนย้ายประชากร เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคมากขึ้น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของจีนซึ่งเป็นช่วงของการระบาดของ COVID-19 ประเทศจีนควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากร สามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดในมณฑลหูเป่ย และในที่สุดก็สามารถที่จะควบคุมได้

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน ซึ่งจะมีประชากรเดินทางจำนวนมาก และนั่นหมายถึงการแพร่ระบาด นี่คือโจทย์ที่รอเราอยู่ข้างหน้า

 


เชิงอรรถ

1 ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

6 ข้อสงสัยชวนให้เข้าใจผิด COVID-19

เมื่อองค์การอนามัยโลกประกาศว่า COVID-19 เข้าสู่ภาวะ ‘ระบาดใหญ่’ ทั่วโลก หรือ Pandemic คำถามเรื่องการใช้ชีวิตต่างๆ นานาและรายละเอียดยิบย่อยไหลเข้ามาไม่ขาดสาย

6 ข้อต่อไปนี้ คือคำถามที่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญในสถานการณ์โรคระบาดพบบ่อยมากถึงมากที่สุด

 

1. ถ้าต้องเดินทางโดยเครื่องบินจะมีความเสี่ยงแค่ไหน ควรยกเลิกไฟลท์ไปเลยหรือเปล่า

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) มีคำแนะนำสำหรับเรื่องนี้ว่า แน่นอน ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่เป็นพื้นที่ระบาดระดับ 3 ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง เช่น จีน อิตาลี เกาหลีใต้ และอิหร่าน

นพ.ยูดีน แฮร์รี (Eudene Harry) แพทย์ฉุกเฉินผู้เชี่ยวชาญและแพทย์อำนวยการของศูนย์การแพทย์ Oasis Wellness & Rejuvenation Center เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า ถึงแม้เครื่องบินโดยสารอาจจะดูน่ากลัวและอันตรายสำหรับโรคติดเชื้อที่แพร่ระบาดได้ง่าย แต่จริงๆ แล้วภายในยานพาหนะอย่างเครื่องบินกลับเป็นพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และยังมีแผ่นกรองอากาศคุณภาพดีอยู่ด้วย (HEPA) ฉะนั้นความเป็นไปได้ของการแพร่เชื้อในเครื่องบินจึงยังไม่มากพอที่จะต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางทางอากาศทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญมีเพียงข้อแนะนำว่า ถ้าต้องเดินทางไปยังที่ที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดต่ำ ให้รักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด เช่น ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วยเท่านั้น

 

2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกัน COVID-19 ได้ไหม

นพ.ยูดีน แฮร์รี ยืนยันว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ แต่ก็ไม่ห้ามถ้าอยากฉีดวัคซีนชนิดนี้ เพราะถึงแม้ว่ามันจะไม่สามารถป้องกันไวรัสได้โดยตรง แต่ก็ช่วยบรรเทาเชื้อไข้หวัดใหญ่ และสามารถบรรเทาการติดเชื้อจากโรคอื่นๆ รวมถึงไวรัสโคโรนาได้ด้วย

นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดน้อยลง บุคลากรทางการแพทย์ก็จะมีเวลาช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยประเภทอื่นๆ อย่างผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้เต็มที่

 

3. ควรหยุดแผนการที่จะมีลูกระหว่างไวรัสระบาดไหม

จากกรณีที่มีทารกรายหนึ่งที่โรงพยาบาลเด็กอู่ฮั่น ลืมตาดูโลกได้ 36 ชั่วโมง แล้วผลตรวจเชื้อ COVID-19 ออกมาเป็นบวก จนกลายเป็นประเด็นวิตกกังวลว่า คุณแม่ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มีความเสี่ยงแพร่เชื้อให้ลูกหรือไม่

ขณะนี้ทางการแพทย์ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า มีการแพร่เชื้อทางตรงจากแม่สู่ลูก (vertical transmision) ไม่ว่าจะในครรภ์หรือผ่านการให้นม เนื่องจากจำนวนเคสตัวอย่างในการศึกษายังมีน้อยเกินไป

กุมารแพทย์มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้เคยทดลองตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาจากตัวอย่างที่เก็บจากคอและเลือดที่สายรกจากทารกหลังผ่าคลอด 10 รายในอู่ฮั่น ผลออกมาเป็นลบทั้งสิ้น และเมื่อตรวจน้ำนมแม่ก็ไม่พบเชื้อ

นอกจากนี้ ยังมีทีมแพทย์อื่นที่ศึกษาแบบเดียวกันกับทารกที่เกิดจากมารดา 20 คน ซึ่งติดเชื้อ COVID-19 เป็นเวลา 36 ชั่วโมงหลังจากลืมตาดูโลก ผลตรวจออกมาก็ไม่พบเชื้อดังกล่าวในทารก

จนถึงขณะนี้ พบว่ามีเด็กแรกเกิดติดเชื้อไวรัสนี้เพียงกรณีเดียวเท่านั้น และยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถแพร่จากแม่สู่ลูกได้หรือไม่

“ดูเหมือนว่าไวรัสจะไม่ถูกส่งผ่านน้ำคร่ำ เลือดจากสายสะดือ หรือน้ำนมแม่” Wei Zhang ผู้ร่วมวิจัยด้านเวชศาสตร์ป้องกันของโรงเรียนแพทย์ Northwestern University Feinberg กล่าว

อย่างไรก็ตาม พญ.คริสติน ดีน (Kristin Dean) จากศูนย์ Doctor on Demand ในอเมริกา กล่าวถึงข้อกังวลนี้ว่า COVID-19 ก็เหมือนกับโรคระบาดอื่นๆ เช่นไข้หวัดใหญ่ ที่ผู้หญิงมีครรภ์อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหากติดเชื้อไวรัส ดังนั้นคำแนะนำจึงเป็นเช่นเดียวกับกรณีของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล คือ ไม่แนะนำให้ผู้หญิงวางแผนที่จะมีบุตรในช่วงที่กำลังระบาด ส่วนผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ก็ควรจะระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ เช่น ไม่เข้าใกล้ผู้ที่มีอาการป่วย และล้างมือบ่อยๆ

 

4. ผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าผู้ชาย?

ผลการวิเคราะห์ล่าสุดจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ของจีน ชี้ว่าแม้อัตราการติดเชื้อ COVID-19 ระหว่างชายและหญิงจะไม่ต่างกันมากนัก แต่อัตราการเสียชีวิตนั้นทิ้งห่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีจำนวนคนไข้ชายที่เสียชีวิต 2.8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คนไข้หญิงเสียชีวิต 1.7 เปอร์เซ็นต์

การระบาดของเชื้อไวรัสซึ่งเป็นต้นทางของโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจหลายครั้งที่ผ่านมา ผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิงมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ส (SARS) โรคเมอร์ส (MERS) โดยวารสารการแพทย์ Annals of Internal Medicine รายงานเมื่อปี 2003 ว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคซาร์สของผู้ชายในฮ่องกงสูงกว่าผู้หญิงถึง 50 เปอร์เซ็นต์

ส่วนหนึ่งของคำตอบในเรื่องนี้คือ ผู้ชายมักจะมีวิถีชีวิต พฤติกรรม และการดูแลสุขภาพแย่กว่าผู้หญิง

สิ่งนี้เป็นปัญหาใหญ่ในประเทศจีนที่มีผู้ชายสูบบุหรี่ถึง 52 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มีอัตราการสูบเพียง 3 เปอร์เซ็นต์

 

5. ถ้าเคยป่วยแล้วครั้งหนึ่ง จะมีภูมิต้านทานต่อไวรัสชนิดนี้ และไม่กลับมาเป็นอีกจริงไหม

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เชื่อว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วจะมีภูมิต้านทานในการต่อต้านเชื้อ COVID-19 เพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่เหมือนกับอาการป่วยในไข้หวัดทั่วๆ ไป

เหตุเพราะไวรัสชนิดนี้มีแนวโน้มที่จะกลายพันธุ์และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะพัฒนาไปสู่ไวรัสในเวอร์ชั่นที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่ตอบสนอง ดังนั้นถ้าเคยได้รับเชื้อโคโรโนามาแล้วครั้งหนึ่ง ก็เป็นไปได้ที่จะป่วยซ้ำอีก

 

6. การแพทย์ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา COVID-19 ใช่หรือไม่

ในขณะนี้ยังไม่มียารักษาและยังไม่มีวัคซีนใดๆ ป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ซึ่งการรักษาในตอนนี้เป็นเพียงการแก้ไขไปตามอาการเท่านั้น เช่น การให้ยาลดไข้สำหรับผู้ป่วยที่มีไข้สูง

ผู้เชี่ยวชาญเตือนด้วยว่า ในเมื่อขณะนี้ยังไม่มีหนทางการรักษา ประชาชนจึงไม่ควรตกเป็นเหยื่อของผู้ที่อ้างว่ารักษาได้ รวมถึงอย่าตกเป็นเหยื่อของการขายอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์รักษาโรคที่อินฟลูเอนเซอร์และกูรูต่างๆ พากันโพสต์ในโซเชียลมีเดีย

“ขณะนี้แพทย์ยังไม่มีการรักษาใดๆ ได้ ฉะนั้นสมุนไพรและสิ่งอื่นๆ ที่โฆษณาอยู่ในอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่สามารถรักษาได้เช่นกัน” นพ.ยูดีน แฮร์รี ยืนยัน

ที่มา:https://www.huffpost.com/

https://www.healthline.com/

https://www.bbc.com/

คลายล็อค ‘กระท่อม’ พ้นบัญชียาเสพติด พร้อมผลักดันร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ

ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 มีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญคือ เห็นสมควรให้ยกเลิกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อมตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมถึงข้อจำกัดบางประการที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมปัจจุบัน หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา และนำสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2563

เหตุผลหนึ่งในการปลดล็อคกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ เนื่องจากที่ผ่านมามีการควบคุมที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน และกลุ่มแรงงานในพื้นที่ภาคใต้ที่นิยมนำพืชกระท่อมมาเคี้ยวหรือนำมาชงชาดื่ม อีกทั้งส่งผลกระทบต่อการศึกษาวิจัยกระท่อมเพื่อใช้ประโยชน์ทางยา ทำให้ไทยไม่สามารถส่งเสริมและพัฒนาการใช้พืชกระท่อมในเชิงธุรกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมได้

ปัจจุบันนานาประเทศทั่วโลกไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ มีเพียง 4 ประเทศที่ยังควบคุมพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดอยู่ ได้แก่ ไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ และอินเดีย ขณะที่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ก็ไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ต้องควบคุม

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้มีการศึกษาวิเคราะห์แนวทางในการยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า พืชกระท่อมส่งผลต่อร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเพื่อให้การขับเคลื่อนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงสั่งการให้สำนักงาน ป.ป.ส. ยกร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. … และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 3-17 มกราคม 2563 เพื่อนำข้อมูลความคิดเห็นมาใช้ประกอบการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งให้รัฐสภาพิจารณา

นักวิชาการชงร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ พร้อมรวบรวม 10,000 รายชื่อ

ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากการผลักดันพืชกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดให้โทษแล้ว เครือข่ายวิชาการที่นำโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) พร้อมด้วยภาคีวิชาการ ผู้ป่วย นักกฎหมาย ยังได้ร่วมกันศึกษาและนำเสนอร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม พ.ศ. … เพื่อให้เกิดกฎหมายที่ดูแลจัดการพืชยาแบบครบวงจร โดยได้ยื่นร่างฉบับประชาชนแก่ผู้แทนประธานรัฐสภาไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. ระบุว่า แม้ปัจจุบันกัญชาและกระท่อมจะถูกคลายล็อคด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในระดับหนึ่ง มิใช่การปลดล็อคเสียทีเดียว เช่น ผู้ป่วยยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเหมาะสม นโยบายยาเสพติดยังมุ่งเน้นเรื่องการปราบปราม เงื่อนไขในการปลูกหรือครอบครอง ฯลฯ อีกทั้งต้องรอให้มีการออกกฎหมายลูกมารองรับซึ่งกระบวนการค่อนข้างเชื่องช้า

ด้วยเหตุนี้ภาคีเครือข่ายของ กพย. จึงได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ เพื่อให้เกิดการจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยขอเชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วยร่วมลงนามสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ให้ได้อย่างน้อย 10,000 รายชื่อ ด้วยการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มให้ครบถ้วน เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ทางด้านที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขพืชกระท่อมอย่างเป็นระบบ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ที่มี นายเทพไท เสนพงศ์ สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ. ได้เชิญตัวแทนภาควิชาการเข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษาสรรพคุณด้านยาของพืชกระท่อม ซึ่งการนำเสนอผลการวิจัยพบว่า พืชกระท่อมสามารถใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน และใช้เป็นยาลดความอ้วนได้ นอกจากนี้ยังใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน ความดัน ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเชื่อมั่นว่าการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายพืชกระท่อมในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน

เอาชีวิตรอดจาก COVID-19: หน้ากากผ้า มีดียังไง

ท่ามกลางภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า “หน้ากากผ้าป้องกันไวรัสได้จริงหรือ?” กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีข้อแนะนำว่า ถึงแม้หน้ากากผ้าจะไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ถึง 54-59 เปอร์เซ็นต์ เพียงพอสำหรับคนทั่วไปที่ยังไม่มีอาการป่วย

ในเมื่อรัฐไม่สามารถหามาตรการรับมือภาวะหน้ากากอนามัยขาดตลาด ก็ถึงคราวที่ประชาชนต้องพึ่งตนเอง และหันมาใช้หน้ากากผ้าทดแทนหน้ากากอนามัย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีหน้ากากอนามัยเพียงพอสำหรับปฏิบัติงาน