วิถีใหม่ยุค COVID-19 ในวันที่เด็กต้องไปโรงเรียน

ผลการสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนที่มีต่อสถานการณ์ COVID-19 จำนวน 6,700 คน ใน 77 จังหวัด ระหว่าง 28 มีนาคม – 6 เมษายน 2563 พบว่า เด็กและเยาวชน 7 ใน 10 คน มองว่า วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล และเบื่อหน่าย

ปัญหาที่เด็กเยาวชนกังวลสูงสุด อันดับ 1 ปัญหาทางเศรษฐกิจของครอบครัว อันดับ 2 เรื่องการเรียน-การสอบ และอันดับ 3 สุขภาพของสมาชิกในครอบครัว

เด็ก 1 ใน 4 คน ระบุว่า อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการกับความเครียดและโรคซึมเศร้า

ดูเหมือนว่า ปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวและความเครียดจะเป็นปัญหาหลักของเด็กและเยาวชน ความเครียดอีกประการหนึ่งมาจากการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติ

ในกรณีการเกิดโรคระบาด เด็กที่อาจถูกตีตราหรือถูกเลือกป4ฏิบัติ มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับเด็กที่ติดเชื้อหรือมีคนในครอบครัวติดเชื้อ เด็กที่เจ็บป่วยด้วยอาการคล้ายกับโรค COVID-19 หรือเด็กที่ผู้ปกครองมีอาชีพที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ดังนั้น การให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับ COVID-19 จะสามารถช่วยลดความกลัวลงได้ และเมื่อความกลัวลดลง การตีตราและการเลือกปฏิบัติก็จะลดลงไปด้วย

วัคซีน COVID-19 อีกนานแค่ไหนที่ต้องรอ

การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะยังไม่ยุติ จนกว่าผู้ติดเชื้อรายสุดท้ายจะหมดไป

แม้ ศบค. จะตอกย้ำถ้อยคำซ้ำๆ เดิมๆ ว่า ‘การ์ดอย่าตก’ แต่หากมาตรการของรัฐยังเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐานหรือย่อหย่อนเสียเอง โอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 ย่อมเป็นไปได้ทุกเมื่อ

‘วัคซีนต้านไวรัส’ เป็นความหวังที่ทุกคนเฝ้ารอ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่อาจยืนยันได้ชัดว่า ผลการทดลองจะสำเร็จเมื่อใด และกว่าที่วัคซีนจะถูกนำมาใช้กับคน ก็ต่อเมื่อได้รับการรับรองว่าปลอดภัยจริง

เช็คให้ชัวร์ก่อนใช้ ‘เจลแอลกอฮอล์’

กว่าครึ่งปีผ่านไป สถานการณ์ COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย และหลายประเทศเริ่มเกิดการแพร่ระบาดระลอกสอง

คำแนะนำจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ระบุว่า วิธีป้องกันไวรัสที่ดีที่สุดคือ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หากจำเป็นอาจใช้ ‘เจลแอลกอฮอล์’ แทนได้

คำถามก็คือ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เจลแอลกอฮอล์ที่ว่านั้นมีประสิทธิภาพกำจัดเชื้อไวรัสได้จริง?

เชื่อหรือไม่ว่า ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ โดยศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สุ่มตรวจจากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก และร้านค้าออนไลน์ พบว่า มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานถึงร้อยละ 67

นั่นสะท้อนว่า ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ในท้องตลาดมีปัญหาด้านคุณภาพการผลิต และไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้จริง

เรียนรู้สิทธิการตาย ก่อนลมหายใจสุดท้ายจะมาถึง

ในนาทีที่ต้องเลือกระหว่าง ‘ความเป็น’ กับ ‘ความตาย’ ของผู้ป่วยระยะสุดท้าย อาจเป็นห้วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในการตัดสินใจสำหรับคนในครอบครัวและผู้ที่อยู่ข้างหลัง

มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จึงถูกบัญญัติขึ้นเพื่อให้สิทธิประชาชนในการเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาได้ หากการรักษานั้นไม่สามารถช่วยให้หายจากโรคหรือเป็นเพียงการยืดเวลาออกไปโดยไม่เกิดประโยชน์

การทำพินัยกรรมชีวิตหรือที่เรียกว่า ‘หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต’ (living will) เป็นทางออกที่สำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด ด้วยการจากไปอย่างสงบและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หนังสือแสดงเจตนาฯ สามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้ อย่ารอให้ถึงวันนั้น

‘คลินิกกัญชา’ ความหวังบนทางท้าทาย

‘คลินิกกัญชา’ เป็นก้าวย่างสำคัญของการยกระดับกัญชาจากใต้ดินขึ้นสู่บนดิน ช่วงเวลาหลังจากนี้คือการพิสูจน์ตัวเองของกัญชาให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นในวงการแพทย์ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยทั้งโรคมะเร็ง ไมเกรน อัมพฤกษ์อัมพาต พาร์กินสัน และโรคอื่นๆ ที่ยังคงเฝ้ารอด้วยความหวัง

คลินิกกัญชาของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นอีกหนึ่งองคาพยพที่พยายามจะพิสูจน์ให้สังคมไทยเห็นว่า การรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทยด้วยยาสมุนไพรจากกัญชา คือหนทางที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายลงได้ และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ยาเป็นสำคัญ

ปันอาหาร ปันชีวิต สู้ COVID-19

วิกฤติ Covid-19 สั่นคลอนความมั่นคงทางอาหาร

การสร้างพื้นที่อาหารในเมืองควรจะเป็นเรื่องปกติ

คำถามก็คือ ทำอย่างไรเมืองและชุมชนจึงจะมีพื้นที่สร้างอาหาร

และเป็นอาหารที่ปลอดภัยแก่การบริโภค

ความเหลื่อมล้ำของโรคระบาด กับสองชนชั้นในนครนิวยอร์ค

แปลและเรียบเรียงโดย ดร.จิตติพร ฉายแสงมงคล

 

มหานครนิวยอร์คถือเป็นศูนย์กลางการระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐอเมริกา โดยมีการประกาศพบผู้ติดเชื้อรายแรกอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งในวันที่ 7 มีนาคม แอนดรูว์ คูโอโม (Andrew Cuomo) ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ค ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน และมีประกาศปิดโรงเรียนทั้งหมดในนครนิวยอร์ค ในวันที่ 15 มีนาคม

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากชาวนิวยอร์คบางส่วนได้อพยพออกจากเมืองไปในช่วงเดือนมีนาคม จำนวนขยะในบางย่านลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ใครออกจากเมืองไปบ้าง และเรื่องนี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างไร

เควิน คีลลี (Kevin Quealy) จาก The New York Times กล่าวว่า ประชากรนครนิวยอร์คประมาณ 420,000 คน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 8,400,000 คน ได้อพยพออกจากเมืองในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 1 พฤษภาคม 2020 โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านแมนฮัตตันที่ร่ำรวยที่สุดของเมือง ซึ่งตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของวิกฤติ COVID-19 มีจำนวนผู้อาศัยลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ย่านอื่นมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จาก 3 สำนัก ได้ทำการประเมินการเคลื่อนตัวของประชากรโดยใช้ข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือแบบไม่ระบุตัวตน เพื่อประเมินว่าคนนิวยอร์คเดินทางมากแค่ไหน และเดินทางไปที่ใด แม้ว่าข้อมูลประเภทนี้จะมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่บทวิเคราะห์ทั้ง 3 ชิ้นได้ผลออกมาใกล้เคียงกันคือ ประชากรทั้งเมืองลดลง 4-5 เปอร์เซ็นต์ โดยคนที่อพยพออกไปส่วนใหญ่มาจากย่านแมนฮัตตัน

ยิ่งในย่านนั้นมีคนรวยมากเท่าไหร่ ยิ่งมีคนอพยพออกไปมากเท่านั้น / ที่มา: https://www.nytimes.com/interactive/2020/05/15/upshot/who-left-new-york-coronavirus.html

รวยกว่า หนีก่อน

คิม ฟิลลิปส์-ไฟน์ (Kim Phillips-Fein) จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤติส่งผลกระทบต่อคนแต่ละชนชั้นไม่เท่ากัน แม้นครนิวยอร์คจะมีวาทกรรมที่ว่า ‘เราจะไม่ทิ้งกัน’ แต่นั่นไม่สะท้อนความเป็นจริง

ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านแมนฮัตตันนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว จบการศึกษาสูง พวกเขาสามารถเดินหรือปั่นจักรยานไปที่ทำงาน หรือเลือกทำงานที่บ้านได้ และพวกเขามีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าคนอื่นๆ ในนครนิวยอร์คถึง 2 เท่า (คนย่านแมนฮัตตัน 8 แสนคน มีรายได้เฉลี่ย 3,850,000 บาทต่อปี คนที่เหลือในนิวยอร์ค จำนวน 7.6 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ย 1,940,000 บาทต่อปี)

นับตั้งแต่มีการระบาด ผู้มั่งคั่งในนครนิวยอร์คต่างย้ายไปอยู่ชานเมืองรอบๆ บ้างก็ไปหาเช่าหรือซื้อบ้านหลังที่สอง เพื่อหนีวิถีชีวิตที่แออัดในเมืองและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ บ้างก็มีบ้านพักตากอากาศอยู่ที่รัฐอื่น เช่น แถบชายหาดของรัฐฟลอริดา ซึ่งเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นช่วงหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ที่ขับเคลื่อนให้ตลาดบ้านชานเมืองนิวยอร์คคึกคักขึ้นมาพักหนึ่ง

กราฟแสดงร้อยละของผู้ที่อยู่บ้านจำแนกตามกลุ่มรายได้ ผู้มีรายได้สูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกในนิวยอร์ค เคลื่อนย้ายออกจากเมืองมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มวิกฤติ COVID-19 (แกนตั้งคือสัดส่วนคนที่อยู่บ้าน แกนนอนคือช่วงเวลาตั้งแต่ 1 มีนาคม – 1 พฤษภาคม 2020) / ที่มา: https://www.nytimes.com/interactive/2020/05/15/upshot/who-left-new-york-coronavirus.html

เรื่องของสองนคร

การระบาดของโคโรนาไวรัสเปิดเผยให้เห็นสังคมสองชนชั้นในนครนิวยอร์ค ในย่านคนผิวขาวที่มั่งคั่งกว่าจะสังเกตได้ว่าสภาพท้องถนนว่างเปล่า ลานจอดรถโล่ง เพราะผู้คนอพยพออกไปยังบ้านชานเมือง หรือทำงานจากที่บ้านและสั่งอาหารมารับประทานได้

ในขณะที่ย่านที่ยากจนกว่า อย่างย่านบรองซ์ ที่มีคนผิวสีอยู่กว่า 84 เปอร์เซ็นต์นั้น ถนนยังเต็มไปด้วยผู้คนที่ต้องเดินทางไปทำงาน เมื่อก่อนคนนิวยอร์คเคยเรียกพวกเขาว่า ‘พนักงานบริการ’ แต่ตอนนี้พวกเขาถูกเรียกว่า ‘พนักงานทัพหน้า’ (essencial workers) และต้องออกไปทำงานโดยไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานเหล่านี้เป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน หรือ ‘ชาวฮิสแปนิค’ และทำงานเป็น พยาบาล พนักงานรถไฟใต้ดิน พนักงานสุขาภิบาล พนักงานขับรถตู้ พนักงานขายของชำ คนทำความสะอาด คนส่งอาหาร และคนขับรถบรรทุก เป็นต้น

ความเหลื่อมล้ำในสังคมนิวยอร์คนั้นได้สะท้อนออกมาผ่านจำนวนผู้ติดเชื้ออีกด้วย โดยเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานว่าชาวแอฟริกันอเมริกันมีแนวโน้มที่จะป่วยหนักจาก COVID-19 และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนผิวขาวถึง 2 เท่า ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักรองลงมาคือ กลุ่มคนผิวขาวและคนเอเชีย

อูเช แบล็คสต็อค (Uché Blackstock) แพทย์เวชบำบัดวิกฤติในนิวยอร์ค กล่าวว่า “การระบาดครั้งนี้เผยให้เห็นความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ในนครนิวยอร์คมาตลอด ถ้าเราละเลยคนของเราและไม่ใส่ใจกับชุมชนของเรา นี่คือสิ่งที่เราได้รับ”

อ้างอิง

การบริหารจัดการโรคเรื้อรังในภาวะวิกฤติโควิด-19

คคส. ร่วมกับ สภาเภสัชกรรมทำหนังสือถึงสภานายกพิเศษ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แจ้งข้อเสนอต่อรัฐบาลเกี่ยวกับข้อห่วงกังวลของสภาเภสัชกรรม ต่อการบริหารจัดการโรคเรื้อรังในภาวะวิกฤติโควิด-19 ในวันที่ 10 เมษายน 2563 สรุปสาระดังนี้

1) รัฐบาลต้องจัดให้มีกลไกกลางในการจัดหาและกระจายยาในรายการที่จำเป็น โดยเชื่อมโยงการบริหารระดับนโยบาย ระดับบริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น องค์การเภสัชกรรม สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สภาเภสัชกรรม และนักวิชาการด้านยา

2) กระทรวงสาธารณสุขต้องมีนโยบายให้สถานบริการสั่งซื้อยาล่วงหน้า 6 เดือน แต่ทยอยการจัดส่งทุก 1-2 เดือน เพื่อให้โรงงานเตรียมจัดหาวัตถุดิบในการผลิตล่วงหน้า

3) ให้สถานบริการเร่งรัดการจ่ายเงินให้รวดเร็วภายในไม่เกิน 1 เดือนหลังจากได้รับใบแจ้งหนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมยาสามารถสำรองวัตถุดิบยาได้ 6 เดือนที่นานกว่าการสำรองปกติที่ 3 เดือน

4) ในกรณีจำเป็นตามคำเรียกร้องของสมาคมผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ให้รัฐบาลประสานกับประเทศจีน อินเดีย และประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบ เพื่อซื้อวัตถุดิบยา ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจัดเครื่องบินไปรับวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา รวมถึงบรรจุภัณฑ์

5) ให้อุตสาหกรรมยาสำรองวัตถุดิบในการผลิตยา 6 เดือน รวมทั้งองค์การเภสัชกรรม

ซึ่งต่อมาในวันที่ 20 เมษายน 2563 เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เชิญประชุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการ

หนังสือสภาเภสัชกรรม ถึงสภานายกพิเศษแห่งสภาเภสัชกรรม (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ข้อห่วงกังวลของสภาเภสัชกรรมต่อการบริหารจัดการโรคเรื้อรังในภาวะวิกฤติโควิด เรื่อง ขอนำส่งข้อห่วงกังวลของสภาเภสัชกรรมต่อการบริหารจัดการโรคเรื้อรังในภาวะวิกฤติโควิด-19

‘ฟ้าทะลายโจร’ ความหวังในวิกฤติ COVID-19

ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามคิดค้นวัคซีนเพื่อต่อสู้กับไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยเองก็ค้นพบว่าพืชสมุนไพรที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่าง ‘ฟ้าทะลายโจร’ เป็นอีกหนึ่งความหวังที่อาจทำให้มนุษยชาติรอดพ้นจากมหันตภัยโรคระบาดครั้งนี้ได้

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีคำอธิบายถึงผลการวิจัยในหลอดทดลองโดยความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เพื่อตอบคำถามสำคัญที่ว่า ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณป้องกัน รักษา หรือฆ่าเชื้อ COVID-19 ได้จริงหรือไม่อย่างไร

ผลการศึกษาในครั้งนี้เป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันอยู่ในขั้นศึกษาทดลองกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 คาดว่าอีกไม่กี่เดือนนับจากนี้ จะมีความคืบหน้าให้ติดตามต่อไป

 

ตรวจพบยาฆ่าหญ้าไกลโฟเซตตกค้างใน ‘ถั่วเหลือง’

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลตรวจ ‘ถั่วเหลือง’ พบยาฆ่าหญ้าไกลโฟเซตตกค้างใน 5 ผลิตภัณฑ์ จากทั้งหมด 8 ผลิตภัณฑ์ พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยืนยันมติเดิมที่ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรพาราควอต คลอร์ไพริฟอส ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 โดยไม่มีการเลื่อนออกไป และให้เร่งพิจารณาเพิกถอนไกลโฟเซตโดยเร็วที่สุด

จากการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เมล็ดถั่วเหลือง โดยนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2562 จำนวน 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกและค้าส่ง เพื่อตรวจหาสารตกค้างจากยาฆ่าหญ้าไกลโฟเซต ผลการทดสอบปรากฏดังนี้

ไม่พบสารไกลโฟเซต 3 ตัวอย่าง ได้แก่

  1. ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี
  2. ถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์
  3. ถั่วเหลืองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท

พบสารไกลโฟเซตตกค้าง 5 ตัวอย่าง ได้แก่

  1. ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ 0.53 มก./กก.
  2. ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน 0.50 มก./กก.
  3. ถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต 0.24 มก./กก.
  4. ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท 0.20 มก./กก.
  5. ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ 0.07 มก./กก.

ภาพ: นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แม้ปริมาณสารไกลโฟเซตที่ตรวจพบจะมีค่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารสากลที่กำหนด คือ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (MRL CODEX: glyphosate 2006) แต่การที่มีไกลโฟเซตตกค้างในผลิตผลทางการเกษตรก็ทำให้เกิดความเสี่ยงและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมี

สารีกล่าวว่า ไกลโฟเซตถือเป็นสารเคมีอันตราย เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2A การสัมผัสสารจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่งผลต่อต่อมไร้ท่อ ที่ผ่านมาพบว่ามีการตกค้างในเลือดแม่และสะดือทารกแรกเกิดสูงถึง 50.7 เปอร์เซ็นต์ และมีคดีที่ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฟ้องร้องบริษัท มอนซานโต้-ไบเออร์ มากกว่า 10,000 คดีในสหรัฐอเมริกา จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย เร่งรัดการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตโดยเร็วที่สุด รวมทั้งขอให้ยุติการเลื่อนการใช้สารเคมีอันตราย 2 รายการ ได้แก่ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสด้วย

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ประกอบการ ขอให้ระบุในฉลากให้ชัดเจน หากมีการใช้ไกลโฟเซตในการเพาะปลูกหรือมีการนำเข้า และเรียกร้องกระทรวงเกษตรฯ ต้องบังคับให้มีการแจ้งแหล่งที่มาของอาหาร โดยระบุว่า “มีการใช้สารไกลโฟเซตในกระบวนการผลิต” เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อ และเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีด้วยตนเอง

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 เมษายน 2563 จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งคาดว่าอาจมีการพิจารณาเลื่อนการยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปเป็นปลายปี 2563 จากเดิมที่มีมติให้ยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนสารไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ตามความเหมาะสม แต่ยังไม่มีมติให้เพิกถอน

องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงได้ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้จัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนร่วมกันชุมนุมออนไลน์ เพื่อแสดงพลังคัดค้านการเลื่อนการแบน 3 สารพิษ ด้วยการถ่ายรูปตัวเองหรือคนใกล้ชิด พร้อมติดแฮชแท็ก #MobFromHome #แบน3สารพิษเดี๋ยวนี้ #ครัวไทยต้องไม่ใช่ครัวโรค #อย่าฉวยโอกาสอ้างโควิดไม่แบน3สาร